สวัสดีครับ
ตอนนี้ที่ชุมพรฝนกำลังตกหนัก เลยเปิดดูบันทึกเก่าก็พบว่าในบันทึก"วันนี้...เราใช้เครื่องมือKMถูกทางแล้วหรือยัง " มีผู้เข้ามาอ่านจำนวนมากแสดงว่าเป็นประเด็นที่มีคนสนใจจำนวนมาก ก็คงขออนุญาติขยายความต่อในประเด็นนี้นะครับ
จากประสบการณ์การทำงานที่คลุกอยู่วงในของการพัฒนาระบบราชการในยุคนี้ (ยุคที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่) เมื่อพิจารณาในการพัฒนายุทธศาสตร์แบบองค์รวมโดยไม่แยกส่วน จะเห็นว่าในส่วนของ การเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานภาครัฐ การเพิ่มคุณภาพการบริการประชาชน การพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานภาครัฐ (ก.พ.ร.กำหนดเป็นมิติที่ 2 3 4 ) มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันแนบแน่นอย่างแยกไม่ออก ซึ่งเป็นไปตามแนวคิด Balance Scorecard ที่ก.พ.ร.นำมาปรับใช้โดยเป็นกรอบการพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐของส่วนราชการต่างๆ การจัดการความรู้ (KM) นั้นอยู่ในมิติการพัฒนาศักยภาพองค์กร ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งในฐานะเครื่องมือบริหารการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 มิติที่จะนำไปใช้อย่างแนบแน่นกับเครื่องมือทางการบริหารอื่นๆไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์(Human Resource Stratetigic) ซึ่งก็คือการวิเคราะห์สมรรถนะของหน่วยงานภาครัฐ(ที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์)ที่จำเป็นเพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์ และนำไปสู่ตารางอิสรภาพ (ตารางประเมินสมรรถนะของหน่วยงาน) และนำไปใช้ประเมินบุคลากรเพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานต่อไป
ปัญหาของกระบวนการKmที่สำคัญที่สุดก็คือ
1.การไม่สามารถนำไปเชื่อมโยงกับการปฏิบัติงานจริง (ที่ส่งผลชัดเจนต่อการเพิ่มขีดสมรรถนะของหน่วยงาน) บางคนรู้สึกว่าเป็นเครื่องมือที่ขาดพลังที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง
2.มุ่งเน้นในส่วนการจัดการความรู้อย่างแยกส่วนอยู่ในกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย (ไม่สามารถขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกันทั้งหมด)
3.ขาดทิศทางในการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในระยะยาว (ไม่สามารถกำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวได้อย่างชัดเจน)
สาเหตุหลักก็คือ
1.การมุ่งเน้นเทคนิคการจัดการความรู้ที่ขาดความเชื่อมโยงบริบทของการปฏิบัติงานที่แท้จริงของหน่วยงาน
2.การมองและพิจารณาการจัดการความรู้อย่างแยกส่วนขาดการมีส่วนร่วมของบุคลากรขององค์กร
3.การขาดการวางแผนยุทธศาสตร์การจัดการความรู้ในภาพรวมของหน่วยงาน(การนำการจัดการความรู้ไปเชื่อมโยงกับการวางแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน)
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของความจำเป็นเบื้องต้นในขั้นตอนของกระบวนการ KM 3ประการก็คือ
1. จำเป็นต้องมีการสร้างเครื่องมือ KM ที่เหมาะสม(เหมาะสมไม่ใช่สมบูรณ์แบบ)
เครื่องมือนี้ก็คือ กรอบความคิดการจัดการความรู้ตั้งแต่การกำหนด KV นำไปสู่การกำหนดสมรรถนะหลัก สมรรถนะรอง นำไปสร้างเกณท์การประเมินสมรรถนะ(ตารางอิสระ) การค้นหาความรู้เปิดเผยที่จำเป็นตามสมรรถนะต่างๆ การสกัดขุมความรู้จากการปฏิบัติงานจริง การนำมาจัดทำแผนที่ความรู้ตามสมรรถนะของหน่วยงาน ทั้งหมดจะต้องใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แผนปฏิบัติการการจัดการความรู้
2. จำเป็นต้องฝึกฝนผู้ใช้เครื่องมือ KM ชิ้นนั้นพอสมควร(สามารถใช้งานได้ไม่ใช่เชี่ยวชาญ)
การฝึกฝนเครื่องมือข้างต้นตามความเหมาะสมด้วยกรอบของเวลาที่มีอยู่ อย่ามุ่งสู่การเป็นเลิศ เชียวชาญ ชำนาญการ จนเกินความจำเป็น ขอเพียงแต่สามารถใช้งานได้จริงก็น่าจะเกิดประโยชน์มากเพียงพอในสถานการณ์ปัจจุบัน
3. จำเป็นต้องให้นำมาใช้ในงานจริง(การปฏิบัติงานจริงไม่ใช่วาดความฝัน)
การนำมาใช้งานจริงในบริบทจริงของการปฏิบัติงานและมีความเชื่อมโยงกับเครื่องมือการบริหารอื่นๆ ไม่ว่าเทคนิค การปรับปรุงกระบวนการคุณภาพการให้บริการ การปรับปรุงกระบวนงาน การออกแบบกระบวนงานใหม่ การทบทวนปรับปรุงแผนปฏิบัติการ การพัฒนาบุคลากร การประเมินผลการปฏิบัติงาน
ขั้นตอนสำคัญของการนำไปปฏิบัติงานจริงมีดังต่อไปนี้ครับ
1.การสกัดขุมความรู้จากการปฏิบัติงานจริง(Knowledge Assets)
2.การจัดทำแผนที่ความรู้(Knowledge Mapping)ของหน่วยงาน
3.การกำหนดความเชื่อมโยงและการประเมินสมรรถนะหลักของหน่วยงาน(นำไปสรุปเป็นข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงของหน่วยงานในส่วนของบุคคลากร)
การจัดการความรู้ หากนำมาใช้อย่างถูกต้องจะเป็นเครื่องมือการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังอย่างยิ่ง จะนำมาซึ่งการเพิ่มขีดสมรรถนะของหน่วยงานอย่างชัดเจน
พรสกล ณ ศรีโต
27/8/2548