โพธิวิชชาลัย


สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีพ สัมมาวาจา

                                               

โพธิวิชชาลัย

                จังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัด ๑ ใน ๘ จังหวัดของภูมิภาคตะวันออก ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีโครงการให้เป็นจังหวัดที่ตั้งของโพธิวิชชาลัย แต่ท่ามกลางการดำเนินงาน ก็ได้ก่อให้เกิดคำถามและข้อสงสัยต่อโครงการต้นแบบ ดังกล่าวจากประชาคมภายใน มศวและทั้งจากสังคมภายนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะคำถามและข้อสงสัยบางประการก็คือ ทำไมจึงเลือกพื้นที่ตั้งโครงการที่ จังหวัดสระแก้วและวิถีคิดของโครงการต้นแบบโพธิวิชชาลัยคืออะไร

คำตอบก็คือ
                เพราะจังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดชายแดนภาคตะวันออก ที่มีอาณาเขตติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งมีเรื่องราวความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน รวมทั้งมีประวัติศาสตร์ของความขัดแย้ง เผชิญหน้า ประวัติศาสตร์ของข้อพิพาทปัญหาชายแดนจนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงที่ยังยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ประการต่อมา เพราะบริเวณแนวตะเข็บชายแดนจังหวัดสระแก้ว เคยเป็นพื้นที่ที่มีปัญหา
ความมั่นคง เคยเป็นพื้นที่ที่คนไทยด้วยกันเคยต่อสู้กันเองในยุคสงครามลัทธิอุดมการณ์

ประการสำคัญ
                เพราะเป็นจังหวัดที่เป็นที่ตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายโครงการโดยทุกโครงการล้วนมีความเกี่ยวข้อง กับปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากแค้นขัดสนของราษฎรพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออก นอกจากนั้นจังหวัดสระแก้วยังถือเป็นจังหวัดป่าต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง แต่ป่าต้นน้ำผืนนี้ กลับถูกบุกรุกทำลายอย่างรุนแรง พร้อมไปกับการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ประเภทยูคาลิปตัสมากที่สุดของประเทศ เพื่อสนองการลงทุนของอุตสาหกรรมข้ามชาติที่มุ่งหวังกำไรเป็นตัวตั้ง

ประการสุดท้าย
                เพราะเป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาแบบเบียดเบียน และทำลายอย่างเป็นรูปธรรม จนเกิดวิกฤติภัยแล้ง ผืนดินถูกทำลายด้วยเกษตรผิดวิธี และเกษตรเคมี อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่ราษฎรประสบปัญหาความยากจน ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา เกิดปัญหาสุขภาวะแย่งชิงผลประโยชน์จากทุกภาคส่วน หรือแม้แต่คนในภาคส่วนเดียวกันก็ไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ฝ่ายเครือข่ายการเรียนรู้ ซึ่งรับผิดชอบยุทธศาสตร์ การจัดการความรู้เพื่อสังคมได้ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้วตั้งแต่ช่วงปลายปี ๒๕๔๘ โดยพบกับผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรภาคประชาสังคมและสื่อมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนเป็นทางการอย่างต่อเนื่องจนมีความเห็นร่วมไปในทิศทางเดียวกัน


จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่ถึงพร้อมด้วยนานาปัญหา ที่ไม่สามารถแหก้ปัญหาได้โดยอาศัยวิถีทางทางการเมืองตามแบบที่เป็นอยู่แต่เพียงด้านเดียว แต่จะต้องมีการดำเนินการสร้างองค์กรพลังร่วม เป็นภาคีเครือข่ายต้นแบบในพื้นที่ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ภายใต้อุดมการณ์เดียวกันเพื่อเป็นแก่นแกนของการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่และระดับจังหวัด

                จากปลายปี พ.ศ.๒๕๔๘ แนวความคิดดังกล่าวได้นำไปสู่กระบวนการประสานองค์กรเครือข่ายที่มีปูมหลัง วัฒนธรรม ภารกิจ ที่มีความแตกต่างและที่ไม่มีความไว้วางใจให้กัน จนกาลเวลาได้พิสูจน์ความตั้งใจดีต่อกัน ทำให้ก้าวข้ามปัญหาข้างต้น สู่การประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการในนามขององค์กรเบญจภาคี ขึ้นที่ศูนย์ราชการจังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ ท่ามกลางตัวแทนภาคีต่างๆเข้าร่วมประชุมประมาณ ๑,๐๐๐ คน

                ทั้งนี้ ภาคีภาควิชาการ หรือมหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ มีภาระหน้าที่ที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การสร้างโครงการต้นแบบวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย เพื่อภารกิจวิจัยสร้างองค์ความรู้ ผลิตบัณฑิตคืนถิ่น บริการวิชาการแก่ชุมชนอย่างเข้าใจชุมชน และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม์แบบเคารพอัตลักษณ และความหลากหลายของชุมชน 

โครงการต้นแบบวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย ในเบื้องต้น ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัทน้ำตาลขอนแกน จำกัด (มหาชน) ที่มีศรัทธาต่อจุดหมายของวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย 
จึงบริจาคที่ดินให้ ๘๑ ไร่ บริจาคเงินทุนก่อสร้างอาคารทรงงาน อาคารอเนกประสงค์ จัดภูมิทัศน์และสร้างฐานเรียนรู้พึ่งตนเอง ๒๐ ล้านบาทและบริจาคทุนการศึกษาให้กับโครงการบัณฑิตคืนถิ่น ๓ ล้านบาท โดยการกระบวนการก่อสร้าง พลังร่วมของชุมชนที่ผ่านอบรมหลักสูตร 

การพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการก่อสร้างอาคารและการจัดภูมิทัศน์ อย่างแข็งขันทุ่มเท โดยใช้เวลาประมาณ ๑๐๐ วัน ภาระหน้าที่ได้รับมอบหมายก็เสร็จทันเวลาการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๑

                ฝ่ายเครือข่ายการเรียนรู้ ได้สังเคราะห์ข้อมูลจากที่ประชุมสัมมานาวิชาการ โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยจำนวน ๔ ครั้ง พร้อมสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุม ชุมชนเกษตรอาสา ที่เข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้น โดยความร่วมมือระหว่างเครือข่าย การเรียนรู้กับแกนนำเครือข่ายในพื้นที่ รวมการอบรมระยะสั้น ๑๓ ครั้ง ครั้งละ ๔ คืน ๕ วัน จาก ๙ อำเภอ มีผู้เข้าร่วมอบรม ๖๕๐ คน ภายใต้ การสนับสนุนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกระบวนดังกล่าว ได้กลายเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง ในการยกร่างหลักสูตรและการจัดทำโครงการจัดตั้งวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยในเวลาต่อมาท่ามกลางการดำเนินงาน กระบวนการตระเตรียมห้องเรียนนอกพื้นที่โครงการจัดตั้งวิทยาลัย


วิชชาลัยเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ของบัณฑิตคืนถิ่น และยังประโยชน์ต่อชุมชนควบคู่กันไปนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ได้ขจัดความรู้สึกที่ว่าโพธิวิชชาลัย คือสถานศึกษาเพื่อการค้าออกไป และ คนมหาวิทยาลัยคือคนอยู่เหนือชาวบ้านออกไป


ทำให้ได้รับความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้นอกพื้นที่ ที่สนองหลักสูตรการเรียนการสอนได้อย่างหลากหลายรวม ๑๔ – ๑๕ ฐานเตรียมความพร้อมห้องเรียนโพธิวิชชาลัย ก่อนพัฒนาเป็นฐานเรียนรู้เชิงปฏิบัติการที่สมบูรณ์แบบต่อไป อีกทั้ง มหาวิทยาลัยยังได้รับพระราชานุญาต ให้พื้นที่จัดตั้งวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย เข้าสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในโครงการพระราชดำริ พร้อมไปกับการได้รับอนุมัติให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

                พัฒนาโรงสีข้าวพระราชทานบ้านคลองทราย ที่เชื่อมโยงกับวิถีกสิกรรมธรรมชาติ เป็นอีกห้องเรียนหนึ่งของวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยอีกด้วย ถึงเวลานี้ เป็นเวลาประมาณ ๓ ปีเศษ ของการขับเคลื่อนโครงการต้นแบบวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยที่ส่งผลทำให้ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัย และฝ่ายเครือข่ายการเรียนรู้ มีประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจากพื้นที่จริง และประสบการณ์ดังกล่าว ถือเป็นทุนที่สำคัญ
ต่อการฟันฝ่าอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้าอีกมากมาย

                อย่างไรก็ตาม การสร้างองค์กรต้นแบบวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยต้นแบบของการสร้างภาคีเครือข่ายอันเปรียบเสมือนการแตก่หน่อใหม่เพิ่มขึ้นอีกหน่อหนึ่งของครอบครัวมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หน่อใหม่ ที่มุ่งหวังการเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาเพื่อการให้ ให้กับคนในชุมชนคนในพื้นที่ที่ตกอยู่ท่ามกลางทุกภาวะ จากโครงสร้างที่เอารัดเอาเปรียบและเบียดเบียน ทั้งจากภายใน และจากภายนอกประเทศ

                ซึ่งหน่อใหม่ของโครงการต้นแบบนี้ แท้ที่จริงแล้วก็คือ เพื่อการตอบสนองตอบปรัชญาของมหาลัยว่า การศึกษา คือความเจริญงอกงามที่เจริญงอกงามได้ทั้งบนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ และเจริญงอกงามได้ทั้งบนแผ่นดินที่แห้งแล้งขัดสนซึ่งมีอยู่จริงบนผืนแผ่นดินนี้


ที่มา:http://www.pothi.org

หมายเลขบันทึก: 310262เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2009 02:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 12:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยากทราบรายระเอียดล่าสุด เกี่ยวกับข้อมูลการสมัคฝึกอบรม สนใจมาก

แต่ไม่รู้รายระเอียดเลย เช่นจะมีการฝึกอบรมอีกเมื่อไหร่ ใครรู้ช่วยบอกหน่อยครับ

ทราบเบื้องลึกว่ายังไม่เกิด ราชการเทคโอเวอร์จากปราชญ์ชาวบ้านไป ทำให้ยังทำงานแบบติดกรอบเหมือนมหาลัยทั่วไป

ลองสอบถาม

และติดต่อมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติครับ

www.agrinature.or.th/

เราเป็นคนสระแก้ว เมื่อก่อนไม่ค่อยกลับบ้าน พ่อแม่ชอบพูดถึงเรื่องแนวๆนี้

ก็ฟังผ่านๆเพราะคิดว่ามันไม่ทำให้รวย! แต่พอมีโอกาสกลับบ้านจึงได้เห็นว่าหลายๆสิ่งเปลี่ยนไป

ถ้าบรรยายมันก็คงยืดยาว(กว่านี้) เอาเป็นว่าหน่วยเกษตรโยธินที่นั่นเดินหน้า"คืนชีวิตให้แผ่นดิน"อย่างเต็มกำลัง

จนเราเองก็อดไม่ได้ที่จะโดดงานไปร่วมขบวน แต่ในส่วนของโพธิฯยังไม่เคยเข้าไปยุ่ง

ญาติๆกันก็เป็นปราชญ์ชาวบ้าน มีฐานการเรียนรู้ แต่ยังไม่มีโอกาสคุยกันถึงเบื้องลึกเบื่องหลัง

ก็เห็นเขาทำงานกันปกติ ชาวบ้านที่ทำงานตรงนั้นศรัทธาแนวทางของอาจารย์ยักษ์ มากๆ

ถ้ามีใครสนใจเรื่องนี้จริงๆ ก็น่าจะติดต่อมูลนิธิอย่างที่คุณ man in flame แนะนำ

ยินดีต้อนรับผู้ร่วมอุดมการณ์ เราอาจได้เจอกันที่สระแก้ว ที่มาบเอื้อง ฯลฯ

เจอกันเพราะว่า...ชาติต้องการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท