Site Visit: หลายเรื่องดี ที่ตำบลวังอ่าง (๒)


ฝึกกลุ่มเยาวชนให้เป็น "คุณลิขิต" ทำหน้าที่รวบรวมความรู้ดีๆ เช่น เรื่องสมุนไพร เอาไว้ ขณะเดียวกันก็ให้เป็น "คุณกิจ" ที่ได้เรียนรู้จากสิ่งที่ตนเองทำด้วย

ตอนที่

หลังรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ เราไปดูธนาคารต้นไม้ของกลุ่มเยาวชน ซึ่งก็เหมือนเรือนเพาะชำ เวลาคนมาเอาต้นไม้ไปปลูก เขาเก็บเงินต้นละ ๕ บาท ไม่ให้ฟรี

 

กลุ่มเยาวชนและส่วนหนึ่งของธนาคารต้นไม้

ต่อจากนั้นจึงไปเยี่ยมกลุ่มปุ๋ยชีวภาพ ที่ทำเพื่อขายด้วย แล้วแวะไปดูสวนแห่งหนึ่ง เห็นมีเงาะกำลังออกลูกเล็กๆ มีบ่อเลี้ยงปลา เขาวางท่อพลาสติกฟ้าๆ พิงๆ ไว้ ก็มีมดดำเข้าไปอาศัย เอามาเคาะลงในบ่อก็ใช้เป็นอาหารปลาได้

 

ซ้าย กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ ขวา ท่อสีฟ้าวางพิงไว้ มดจะเข้ามาอยู่เอง เอาไว้เป็นอาหารปลา

ที่ต่อไปคือสวนสมุนไพร เดิมลุงเจ้าของสวนมีอาชีพไปเก็บสมุนไพรในป่ามาขาย ตอนหลังได้เอามาปลูกไว้ด้วย ดิฉันได้รู้เพิ่มเติมว่าลุงมีภรรยาเป็นอัมพาตจึงพยายามหายามารักษา มองขึ้นไปบนบ้านเห็นปี๊ปวางเรียงอยู่เป็นแถว นั่นคือที่ใส่สมุนไพรตากแห้ง

 

เจ้าของและสวนสมุนไพร

ลุงเอาสมุดที่จดบันทึกมาให้ดู มีการจดชื่อสมุนไพรและสรรพคุณสั้นๆ ลุงบอกว่าเรียนน้อยเขียนหนังสือไม่เก่ง เยาวชนเอายาดองมาให้ชิม รสชาติดี กินแล้วรู้สึกเหมือนจะสดชื่น เราได้ยาดองกลับมาด้วย ๑ แบน

ต่อจากนั้นเราไปเยี่ยมกลุ่มที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพ มีการทำชาสมุนไพร มีบริการนวด ที่นี่ทำขนมพื้นบ้านใส่สมุนไพรเลี้ยงเรา พื้นที่แถวนี้มีการปลูกขมิ้นขายด้วย มีราคาดี

คุณอ้อยพาแวะที่บ้านของชาวบ้านหลังหนึ่ง ได้เห็นการทำสวนที่มีการปลูกสมุนไพรปะปนกับพืชผักและผลไม้ต่างๆ ใช้ทั้งเป็นอาหารและเป็นยา ป้าเจ้าของบ้านไม่รู้ตัวมาก่อนว่าเราจะมาเยี่ยม แต่ก็ให้การต้อนรับด้วยความเต็มใจ พาเราชมต้นไม้ แนะนำให้รู้จักสมุนไพรหลายชนิด ดิฉันเก็บมะนาวมา ๑ ลูก มีน้ำมาก แทบจะไม่มีเมล็ดเลย เยาวชนเด็ดมะละกอใกล้สุกจากสวนนี้ให้มา ๑ ลูก เนื้อแน่นและมีรสหวาน เพิ่งรู้ว่าดอกอัญชันสามารถกินเป็นผักสดได้ บังที่เป็นโชเฟอร์ขับรถให้เรา บอกว่ามีรสหวาน

 

สวนตามบ้านที่มีทั้งพืชผัก สมุนไพร และผลไม้ปะปนกัน

เราได้เยี่ยมชมน่าจะครบทั้งตำบล เส้นทางถนนที่นี่สูงๆ ต่ำๆ บางช่วงถนนยังไม่ดี บริเวณอ่างเก็บน้ำมีวิวสวย แต่ไม่ได้แวะถ่ายภาพ ริมทางมีดอกบัวตองสีเหลืองให้เห็นด้วย สังเกตดูที่นี่ไม่ค่อยมีผู้สูงอายุให้เห็น ตำบลวังอ่างเป็นที่ที่น่าอยู่ ผู้คนมีความเป็นมิตร ดิฉันจึงบอกคณะของชาววังอ่างว่าจะให้นักศึกษาพยาบาลจาก Edith Cowan ออสเตรเลีย ที่จะมาในเดือนพฤศจิกายน มาที่นี่เพื่อเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน การดูแลสุขภาพตนเองด้วยการใช้สมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุกคนนึกสนุกว่าจะต้องเตรียมพูดภาษาอังกฤษเอาไว้

อีกอย่างหนึ่งที่ดิฉันคิดจะทำ ประธานสภาฯ สมพงค์บอกว่าตำบลวังอ่างมีปัญหาเรื่องการทำคลังความรู้ ดิฉันจึงเกิดความคิดที่จะฝึกกลุ่มเยาวชนให้เป็น "คุณลิขิต" ทำหน้าที่รวบรวมความรู้ดีๆ เช่น เรื่องสมุนไพร เอาไว้ ขณะเดียวกันก็ให้เป็น "คุณกิจ" ที่ได้เรียนรู้จากสิ่งที่ตนเองทำด้วย อย่างเรื่องธนาคารต้นไม้ เยาวชนน่าจะได้เรียนรู้เรื่องการเติบโตของต้นไม้แต่ละชนิดและเรื่องอื่นๆ เช่นเดียวกับนักเรียนของโรงเรียนชาวนา

วันนี้เราใช้เวลาอย่างเต็มที่ กว่าจะกลับถึงที่พัก ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก็ราวๆ ๑๘.๓๐ น.

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 310254เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2009 00:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท