เรียงลำดับความทุกข์


การผ่าตัด ก็เหมือนคนเดินข้ามถนนจ้ะ ระหว่างอยู่กลางถนน ถ้าไม่มีรถวิ่งมาชน หรือมีอุบัติเหตุใดๆ ก็ปลอดภัยจ้ะ

  ในยามที่มีความทุกข์ คนมักไม่มีกระจิตกระใจที่จะตัดสินใจอะไร มักว้าวุ่นยุ่งยากใจ บางครั้งก็วนเวียนหาทางออกไม่เจอ...

  สองสามวันมานี้ ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากลูกสาวคนไข้คนหนึ่ง เล่าว่าแม่ไม่สบายตรวจพบถุงน้ำในมดลูก ไม่ใช่มะเร็ง มีขนาด ๑๐ ซม. ที่ไปหาหมอเพราะตกขาว และมีอาการอึดอัดท้อง คุณหมอแนะนำให้ผ่าตัดออก และให้กลับมาผ่าที่โรงพยาบาลที่ใช้สิทธิ์บัตรทองได้

   ต่อมาผู้เขียนก็ยังได้รับโทรศัพท์อีกหลายสาย ฟังดูแล้วทั้งญาติทั้งคนไข้ สับสน และผู้เขียนก็ให้คำแนะนำไม่แล้วสักที จบเรื่องนี้ ก็เรื่องโน้น ไปเรื่อยๆ ที่สุดผู้เขียนจึงขอให้เขามาที่สถานีอนามัยของผู้เขียน เพื่อจะได้พูดคุยกันให้กระจ่าง

  บ่ายเมื่อวานนี้ ผู้เขียนจึงได้พบหน้าคนไข้ และญาติ

ฟังคนไข้เล่าเรื่องราวไปได้สักพัก ก็พอสรุปได้ว่า อาการที่ตกขาว และอึดอัดท้องนั้น คุณหมอให้ยามากิน ก็มีอาการหายไปสนิท แต่กังวลที่คุณหมอให้คำแนะนำว่า ควรผ่าตัดเอาถุงน้ำออกเสีย

  ที่จริงก็น่าจะไปผ่าตามคำวินิจฉัยของหมอ ซึ่งท่านก็บอกแล้วว่า อาการต่างๆจะได้ไม่กำเริบอีก แต่ทำไมคนไข้จึงโทรมาปรึกษาหลายครั้งเหลือเกิน คนไข้กำลังทุกข์อยู่ในใจ ทุกข์หลายเรื่อง ซ้ำบางเรื่องก็ยังไม่ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังเลย มีทุกข์ท่วมใจ

  ไปฟังทุกข์ของป้าปราณีกัน

*** ฉันไม่อยากเอาไว้ อยากผ่าตัดออกไปให้รู้แล้วรู้รอดกัน

*** ที่จริงกินยาหมอก็อาการดีแล้ว หรือจะหายาสมุนไพรกินก่อนดี

*** น้ำหนักฉันลดนะหมอ ๓-๔ เดือนมานี่ ลดไป ๒-๓ กิโลกรัม

*** ฉันจะไปผ่าที่ไหนดี โรงพยาบาลอำเภอจะดีหรือ อยากไปที่โรงพยาบาลจังหวัด

*** ผ่าตัดจะอันตรายไหม เพราะฉันเป็นโรคความดันโลหิตสูง

*** ฉันก็อยากผ่าตัดโดยไม่เสียเงิน จะใช้บัตรทอง

ฯลฯ

*** แล้วฉันจะทำอย่างไรดี

................................... ?

ผู้เขียนก็ปล่อยให้คนไข้ค้นความทุกข์ของตัวเอง ออกมาเรื่อยๆจนหมด แล้วก็ถึงคำถามสุดท้าย ฉันจะทำอย่างไรดี?

  ระหว่างนั่งฟัง ผู้เขียนก็นึกในใจว่า ต้องให้ป้าเรียงลำดับความทุกข์ตัวเองให้ได้ก่อน อันไหนทุกข์มาก อันไหนทุกข์น้อย ใครจะรู้ดีเท่าป้านะ

 จึงถามคำถามแรกว่า แล้วป้าอยากจะผ่าตัดไหม ถ้าถุงน้ำจะขออยู่กับป้าไปเรื่อยๆ อาจมีรบกวนบ้าง แต่ก็อยู่กันมานานแล้วนี่ ใหญ่ตั้ง ๑๐ ซม. แต่ไม่เห็นจะเป็นอะไรมาก ป้าจะว่าอย่างไร

  ป้าตอบเสียงแจ๋ว ฉันไม่อยากเอาไว้ หรอก ไม่สบายใจเลยตั้งแต่รู้ว่ามีถุงน้ำนี้

   งั้นก็แปลว่า ผ่าตัดไปเถอะ  แล้วอยากผ่ากับหมอที่ไหน คนไหน ถ้าไปผ่าที่โรงพยาบาลจังหวัด แล้วสบายใจใช่ไหม แต่คงใช้บัตรทองไม่ได้ เพราะข้ามขั้นตอน การผ่าตัดแบบนี้ โรงพยาบาลที่อำเภอนี้ เขาก็มีแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งถ้าเขาทำไม่ได้ เขาก็ส่งจังหวัดอยู่ดี แต่ถ้าทำได้ก็ต้องทำ และใช้สิทธิ์ที่นี่

  ป้าก็ตอบว่า ฉันก็ไม่อยากไปไกล อีกอย่างหมอที่คลินิกที่ฉันไปตรวจ เขาจะเป็นคนผ่าให้หรือเปล่าก็ไม่รู้

   ผู้เขียนก็บอกว่า ถ้าเราต้องการให้หมอคลินิกผ่าตัด ก็คงมีการนัดหมาย อาจเป็นโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชนก็ไม่แน่ แต่ที่แน่ๆ ก็เสียค่าใช้จ่ายเต็มๆค่ะ

 

   ป้าก็นิ่งๆไป สักพักก็ว่า ถ้าถุงน้ำมันไม่ร้ายแรง ฉันก็จะผ่าตัดที่โรงพยาบาลอำเภอนี่แหละจ้ะ

....................................................... ........

   ผู้เขียนเห็นว่าป้าเริ่มตัดสินใจได้แล้ว จึงพูดถึงรายละเอียดอื่นว่า ขอบัตรทองหน่อยนะ หมอจะเช็คสิทธิ์ให้ ส่วนเรื่องความดันโลหิตนั้น กินยาอยู่ประจำ และไม่สูงมานานแล้ว ก็ไม่ต้องกังวล ก่อนผ่าตัดคุณหมอเขาต้องตรวจเช็ค ความสมบูรณ์ของคนไข้ก่อนเสมอ

     อ้อ แล้วที่ถามว่า การผ่าตัดน่ากลัว หรืออันตรายขนาดไหน หมอขอตอบว่า การผ่าตัด ก็เหมือนคนเดินข้ามถนนจ้ะ ระหว่างอยู่กลางถนน ถ้าไม่มีรถวิ่งมาชน หรือมีอุบัติเหตุใดๆ ก็ปลอดภัยจ้ะ

  เพื่อความอุ่นใจ ผู้เขียนจึงให้คุณป้า ไปที่คลินิกคุณหมอ ซึ่งผู้เขียนรู้จักดี และมีความชำนาญเรื่องนี้ ของโรงพยาบาลอำเภอที่นี่เสียก่อนที่คลินิก เหมือนได้พบและจองตัวหมอ และถ้าหมอเห็นว่า การผ่าตัดครั้งนี้ สบายมาก คุณหมอก็จะนัดเอง แต่ถ้านะ ถ้ามันเป็นเรื่องใหญ่ เรากลับมาคุยกัน และวางแผนกันไหม ยังมีเวลาอีก

  เมื่อคนไข้รู้สึกสบายใจขึ้น และการเตรียมการที่ ที่ช่วยกันคิดได้เรียบร้อยลง ป้าได้เรียงลำดับความทุกข์ของตัวเอง และช่วยกันดับทุกข์ไปทีละข้อๆแล้ว จึงได้เวลาร่่ำลากัน

  ก่อนเขียนบันทึกนี้ ได้รับโทรศัพท์บอกเล่าว่า พรุ่งนี้หมอนัดให้นอนโรงพยาบาลเลย และก็คำถามสุดท้ายเช่นเคย

หมอช่วยถามหมอให้หน่อย อยากใส่ซองพิเศษให้ แต่ไรู้เท่าไหร่ดี

     นั่น แล้วผู้เขียนจะรู้ไหมนี่ แต่ก็เอาเถอะ จะถามหมอให้นะ คืนนี้ บอกป้าว่าอย่าลืมสวดมนต์ ด้วยล่ะ

 ผู้เขียนหวังว่า การผ่าตัดครั้งนี้

จะปลอดภัย

 เหมือนการข้ามถนนที่ว่างๆนะจ๊ะ

หมายเลขบันทึก: 309036เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2009 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ

  • อ่านแล้วมีความสุขมากกว่าความทุกข์ค่ะ
  • มีความสุขที่คุณตันติราพันธ์  รับฟังความทุกข์ของคุณป้า  ทำให้คุณป้าหาทางออกได้
  • การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทำได้หลายอย่าง  ขึ้นอยู่กับจิตใจที่มีให้กันค่ะ
  • ดีใจที่ได้อ่านบันทึกนี้ค่ะ  ขอขอบพระคุณ
  • สวัสดีค่ะ
  • ขึ้นชื่อเรื่องได้น่าสนใจค่ะ  เขียนได้น่าติดตาม
    การผ่าตัด ก็เหมือนคนเดินข้ามถนนจ้ะ ระหว่างอยู่กลางถนน ถ้าไม่มีรถวิ่งมาชน หรือมีอุบัติเหตุใดๆ ก็ปลอดภัยจ้ะ
  • เปรียบเทียบได้ดีค่ะ

สวัสดีค่ะครูพี่คิม

ขอบคุณและดีใจที่พี่ครูคิมมีความสุขกับเรื่องเล่าเล็กๆในวันทำงานของน้อง

บางทีความทุกข์กับความสุขก็อยู่ใกล้กันมาก

และตามธรรมชาติเราก็จะมีความคิดได้ทีละเรื่องอยู่แล้ว

เมื่อหมดทุกข์ก็กลับมาสุขอีกครั้งค่ะ

สวัสดีค่ะคุณธรรมทิพย์

เป็นคำถามที่ตอบยากค่ะ

คนมาปรึกษาต้องการความเชื่อมั่น

แต่ใครหนอจะรู้เนาะคะ

เลยเปรียบเทียบให้ฟัง

ก็ดูเหมือนว่าป้าจะทำใจได้ระดับหนึ่ง

ได้ข่าวว่ากำลังมีความชื่นบานในการรอผ่าตัดที่โรงพยาบาลค่ะ

ว่าหมอเอาใจใสดีมากค่ะ

ขอบคุณคุณธรรมทิพย์ที่มาเยี่ยมอ่านค่ะ

เจริญพร โยม ตันติราพันธ์

การรับรู้โดยอาศัยความรู้สึก ยังเป็นความรับรู้ที่ผิวเผิน ด้านเดียว

การรับรู้ทางเหตุผลเท่านั้น จึงจะเป็นความรับรู้ที่ถูกต้อง

เจริญพร

กราบนมัสการเจ้าค่ะท่านพระปลัด

เป็นเช่นนั้นเจ้าค่ะ

การเป็นกัลยาณมิตรต่อกันจึงสำคัญ

และไม่ควรละเลยแม้คนที่ไม่คุ้นเคยกัน

แต่เมื่อเข้ามาในชีวิตเราก็ควรให้ความอนุเคราะห์กันไป

เมื่อรู้เหตุรู้ผลจึงผ่อนคลายทุกข์ร้อนเจ้าค่ะ

พี่เลี้ยง ที่ปรึกษา เพื่อนพี่งพายากทุกข์ใจ

  • การให้อาหารแก่คุณหิว
  • การให้น้ำแก้คนกระหาย
  • การให้ความรู้แก่คนไม่รู้
  • การให้คำปรึกษา แก่คนทุกข์ใจ
  • เป็นบุญ..นักแล
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะพี่เกษตรยะลา

งั้นก็ขอให้บุญนี้จงถึงแด่พี่และผู้เลี้ยงผู้รักษาของพี่ด้วย

ถั่วอะไรคะ น่าหม่ำจัง

พันธุ์เกษตร ยะลา ใช่หรือเปล่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท