ฉางสำรองพันธุ์ข้าวของชุมชน


หากเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการ และเป็นการแก้ปัญหาของชุมชน...โดยชุมชนเอง

          วันที่ 15 พฤษภาคม 2549  นายพิสุทธิ์  บุษยพรรณพงศ์  นายอำเภอพรานกระต่าย  เป็นประธานเปิดฉางสำรองพันธุ์ข้าวชุมชน  หมู่ที่ 4  บ้านท่าไม้  ตำบลท่าไม้  อำเภอพรานกระต่าย  จังหวัดกำแพงเพชร

           ข้าพเจ้า  นายประสิทธิ์  อุทธา  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6 ว  ผู้รับผิดชอบตำบลท่าไม้  มีโอกาสร่วมให้คำแนะนำการดำเนินการตั้งแต่ต้น  เริ่มจากการประชุมเวทีชุมชน  มีมติให้สร้างฉางสำรองพันธุ์-ข้าว  เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว  แต่ขาดงบประมาณ  ผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชน จึงเสนอใช้งบประมาณรายได้จากการบริหารกองทุนการเลี้ยงสัตว์ในหมู่บ้านให้เป็นทุนเริ่มต้น 8,000 บาท  สำหรับที่ดินก่อสร้างฉางมีเกษตรกรในหมู่บ้าน บริจาคให้ 50 ตารางวา  ส่วนไม้ชาวบ้านช่วยกันบริจาคกันและร่วมกันสร้างจนแล้วเสร็จ คิดเป็นเงินประมาณ 7,555 บาท  จึงเรียนเชิญนายอำเภอพรานกระต่ายเป็นประธานเพื่อความเป็นศิริมงคล  ก่อนวันเปิดชาวบ้านช่วยกันจัดเตรียมสถานที่โดยนำวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ  มาจัดเช่น เต็นท์เก้าอี้ , เครื่องเสียง , เครื่องครัว  ซึ่งซื้อจากงบประมาณ เอส เอ็ม แอล (SML) ทำให้การจัดเตรียมสะดวกมากตอนกลางคืนชาวบ้านต่างแสดงออกถึงความยินดีที่สร้างฉางเสร็จ  โดยการจัดงานรื่นเริงตามประสาชาวบ้าน    

          ตอนเช้าวันที่ 15 พฤษภาคม 2549  ทุกคนตื่นแต่เช้า  ต่างพากันนำข้าวปลาอาหารมาทำบุญตักบาตรพอสายหน่อยพระสงฆ์เดินทางมาถึงพร้อมกับประธานก็เดินทางมาพอดี  ก่อนหน้านี้ฝนตกลงมาทำให้ทุกคนวิตกว่าฝนจะไม่หยุด   แต่พอถึงเวลาฝนหยุดตก  ประธานเริ่มพิธีสงฆ์มีการเจริญพระพุทธมนต์ถวายภัตราหารแด่พระสงฆ์  ระหว่างพระฉันท์อาหารมีพิธีเปิดฉางโดยผู้ใหญ่บ้านกล่าวรายงาน  ประธานกล่าวเปิด  มอบเกียรติ-บัตรให้แก่ผู้สนับสนุน   และมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีแก่สมาชิกฉางสำรองพันธุ์ข้าว เพื่อนำไปใช้ทำพันธุ์ในฤดูกาลที่จะถึง  จากนั้นทุกคนร่วมรับพรจากพระและร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันอย่างสนุกสนาน

           ที่บันทึกมาทั้งหมดนี้  ทำให้สรุปได้ว่าการทำงานนักส่งเสริมการเกษตร  เป็นผู้แนะนำการทำงานให้ผู้นำหรือกลุ่มโดยการ  ร่วมคิด  ร่วมทำ  ชาวบ้านจะมีกำลังใจและแสดงความสามารถของเขาออกมา โดยเราไม่ต้องมอบหมายหรือสั่งการแต่ประการใด  ดังเห็นได้จากการร่วมกันสร้างฉางสำรองพันธุ์ข้าวชุมชนของหมู่ 4 ตำบลท่าไม้  ซึ่งทางราชการไม่ต้องเสียงบประมาณแต่ประการใด  หากเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการ  และเป็นการแก้ปัญหาของชุมชน...โดยชุมชนเอง  เขาจึงได้มีส่วนร่วมในการทำงานกันอย่างแข็งขัน  ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งกับชุมชนอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 30847เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2006 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • มาทักทายครับ
  • รออ่านอีกครับพี่
  • ตามมาอ่านด้วยค่ะ
  • อยากให้ตัวหนังสือใหญ่กว่านี้ค่ะ
  • จะได้อ่านง่ายขึ้น สายตาไม่ดีค่ะ
นายประสิทธิ์ อุทธา

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ท้งสอง(อ.แอ๊ดและอ.Paew)ที่กรุณาให้กำลังใจ หายไปนานตั้งแต่น้ำท่วมต้องดูแลพี่น้องเกษตรกรและดำเนินการขอความช่วยเหลือ  ยังไม่เสร็จดีมีข่าวว่าเอลนิลโญจะทำแล้งอีกแล้ว กำลังออกพื้นที่ฟื้นฟูอาชีพ จะต้องออกสำรวจภาวะความแห้งแล้ง จึงต้องกราบอภัยทุกท่านด้วย คนพื้นที่จึงต้องดูแล(ไม่ใช่แลดู) คนในพื้นที่ให้พึงพอใจก่อนถึงแม้จะสดุดบ้างแต่ใจยังดี เพราะมีคนให้กำลังใจ นี่แหละครับ  ขอบคุณนะครับแล้วจะมาบ่อยๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท