การเรียนแบบ “KM ธรรมชาติ” ที่มหาชีวาลัยอีสาน


การไปนั่งเรียนในป่าปลูกที่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และมีครูบาสุทธินันท์ เจ้าของสวนป่าทำหน้าที่เป็น “ครูคน” ทำให้เห็นลำดับชั้นของต้นไม้อย่างเข้าใจวิวัฒนาการของระบบป่าไม้ที่มีลำดับชั้น วิวัฒนาการ และรูปแบบมากมาย ตั้งแต่ขั้นต้น จนถึงขั้นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และลำดับต้นไม้ชั้นบนสุดจนถึงล่างสุดของระบบต้นไม้แบบต่างๆ

ในระหว่างวันที่ ๑๗-๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสนำนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ของคณะเกษตรศาสตร์ ไปฝึกงานที่มหาชีวาลัยอีสาน ทั้งที่ศูนย์เรียนรู้ของครูบาคำเดื่อง ภาษี และสวนป่าสตึกของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ตามที่เคยบันทึกไว้แล้ว

การเดินทางครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพียงค่าน้ำมันรถของคณะเกษตรศาสตร์ ส่วนอื่นๆนักศึกษาต้องออกกันเอง

ทำให้ผมต้องใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ในเครือข่าย จนดูเหมือนจะเข้าข่าย “ติดลบ” ค่อนข้างมาก

ที่ท่านต่างๆในเครือข่าย ได้ช่วยให้งานนี้ลุล่วงไปด้วยดี

จากการประเมินผลหลังการฝึก (AAR) นักศึกษามีความประทับใจ มีความเข้าใจระบบทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทั้งๆที่ยังไม่ได้เรียนวิชาดังกล่าว

ที่เป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียนของนักศึกษา ที่จะมีขึ้นในปีต่อๆไป

ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากการใช้หลักการของ “KM ธรรมชาติ” ที่เน้นให้นักศึกษาเรียนจาก “ครูธรรมชาติ” มากกว่า “ครูคน” โดยมี “ครูเครื่อง” เสริมบ้างเล็กน้อย

P1380799

ครูธรรมชาติ ก็คือการได้สัมผัสของจริง ด้วยการเห็น และจับต้องของที่เป็นจริง

มีการขุดคุ้ยดินที่พัฒนาดีแล้ว ด้วยมือของตัวเอง ให้ได้สัมผัสดินที่ “อุดมสมบูรณ์” ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ได้เห็นความแตกต่างของดินที่มีการ “ฟื้นตัว” จากความเสื่อมโทรม ที่อายุตั้งแต่ ๑ ถึง ๕๐ ปี

ทำให้นักศึกษาเข้าใจถึงบทบาทของต้นไม้แต่ละชนิดในการช่วยพัฒนาดินจนทำให้เกิดวิวัฒนาการของชั้นดินต่างๆ โดยเฉพาะดินบนที่เห็นได้ง่าย เห็นการเจริญเติบโตของทั้งต้นและรากในรูปแบบต่างๆกัน

การไปนั่งเรียนในป่าปลูกที่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และมีครูบาสุทธินันท์ เจ้าของสวนป่าทำหน้าที่เป็น “ครูคน” ทำให้เห็นลำดับชั้นของต้นไม้อย่างเข้าใจวิวัฒนาการของระบบป่าไม้ที่มีลำดับชั้น วิวัฒนาการ และรูปแบบมากมาย ตั้งแต่ขั้นต้น จนถึงขั้นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และลำดับต้นไม้ชั้นบนสุดจนถึงล่างสุดของระบบต้นไม้แบบต่างๆ

นอกจากนี้ ในกระบวนการเรียนแบบ “ธรรมชาติ” นั้น ยังมี “ครูคน” ช่วยเปิดประเด็นนำทางและชี้ทางให้นักศึกษาได้คิดว่าการพัฒนาการตามความเป็นจริงคืออะไร ทำได้จริงหรือไม่ ที่ทำให้เกิดจินตนาการถึงพัฒนาการ และการจัดการแบบธรรมชาติ ในทุกประเด็น ตั้งแต่ระบบทรัพยากรและการจัดการ จนสามารถพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้สามารถพัฒนาเป็นสิ่งแวดล้อมที่พึงประสงค์ของเจ้าของพื้นที่ ที่ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของตนเองเท่านั้น แต่ยังตอบสนองระดับพื้นที่ ระดับชาติ และระดับโลก แบบบูรณาการอย่างเป็นธรรมชาติได้อีกด้วย ที่ทำให้ระบบติดของนักศึกษาวนเวียนอยู่กับระบบธรรมชาติ และติดตาม “ครูธรรมชาติ” อย่างใกล้ชิดไม่ออกนอกทางไปทางอื่น

ในกระบวนการของมหาชีวาลัยอีสานนี้ ยังมีทุนทางสังคมอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ “พันธมิตรอิงระบบ” ที่มาช่วยเป็นวิทยากรกระบวนการ และใช้วิทยาการกระบวนกร อย่างสอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้อย่างสอดคล้องกันอย่างดี

คุณเอก จตุพร จากเมืองปาย ได้แสดงวิทยายุทธ์ “กระบวนการ” แบบที่เรียกได้ว่า “อย่างละเอียดอ่อน” ในการตะล่อม ชักนำและสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ ทั้งด้านกระบวนการ และชุดความรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติจากประสบการณ์ที่เมืองปาย ให้กับนักศึกษา แบบ “เนียน” สุดๆ ในระดับ “กระบวนท่าพลิ้วไหวราวใบไม้ต้องลม”

ท่านอาจารย์แฮนดี้ พินิจ พันธุ์ชื่น จาก ม.ราชภัฏจันทรเกษม ก็แสดงวิทยายุทธ์การนำเสนอผ่านระบบ “ครูเครื่อง” ในด้านแนวทางการทำงานและข้อมูลที่ควรรู้ ได้อย่างสนุกสนุกสนาน และท่านยังมี “มือถือ” ไปสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้ ที่มีความสามารถในการทำงานทุกอย่างอย่างคล่องแคล่วทั้งด้านการเตรียมอาหารสมุนไพร อาหารสุขภาพ และช่วยในการจัดการการประเมินผลขั้นสุดท้าย

IMG_3398 by you.

เฉพาะด้านอาหารการกิน ก็ไม่มีบกพร่อง ทุกท่านที่เคยไปสวนป่า จะทราบดีว่า “แม่ฉวี” และทีมงาน จะทำงานด้าน “พลาธิการ” ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จนกระทั่งครูบาสุทธินันท์สามารถล้อเล่นได้ว่า “ถ้าอาหารไม่อร่อยจะเปลี่ยนแม่ครัวให้ใหม่” ได้อย่างไม่กังวลใดๆ

ในกลุ่มสนับสนุนทั่วไปก็มี “ครูน้อย สำเนียง” และ “คุณบรรเลง ผู้ช่วยปราชญ์” เป็นแรงสนับสนุน คอยดูแลทุกเรื่อง ทางด้านวัสดุอุปกรณ์ ทั้งเครื่องเสียง เครื่องเขียน และการจัดเตรียมสถานที่ อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

นอกจากนี้ยังมีคนงานในสวนไม่น้อยกว่า ๕ คน ที่ทำงานสนับสนุนอยู่เบื้องหลังอย่างเอาจริงเอาจัง และได้ผลตามคำสั่งของท่านหัวหน้าคนงาน (ครูบาสุทธินันท์) จนทำให้สถานที่มีความพร้อม ให้นักศึกษาเรียนรู้ได้ดี และยังได้วัวอีกหนึ่งตัว พืชผักสมุนไพรมาสนับสนุนการทำอาหารให้กับการฝึกงานของนักศึกษาครั้งนี้

วิทยากรเหล่านี้มีทั้งทำงานแบบ “ชัดแจ้ง” และทำงานแบบ “แฝงเร้น” ที่ไม่อาจกล่าวถึงได้หมด ที่ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้

โดยรวมแล้ว ในกระบวนการฝึกงานนั้น ได้ใช้ยุทธศาสตร์ของ “มหาชีวาลัยอีสาน” อย่างครบถ้วน ตามลำดับ และบูรณาการ อย่างสมบูรณ์แบบ

อันได้แก่

  1. การจัดการความรู้แบบธรรมชาติ
  2. มีพันธมิตรอิงระบบมาช่วยสนับสนุน และ
  3. ทำงานแบบบูรณาการ

โดยมี “ครูธรรมชาติ” เป็นฐานการเรียนรู้

“ครูคน” คอยชี้แนะ และอธิบายข้อสงสัยบางประการ

และ “ครูเครื่อง” สนับสนุนเชิงข้อมูล และการสืบค้นจากฐานข้อมูลของโลก

จากผลการดำเนินงาน ผ่านการประเมินเมื่อสิ้นสุดกิจกรรม ทั้งรายกลุ่ม และรายบุคคล พบว่า

นักศึกษาเรียนรู้ทั้งในเชิงธรรมชาติ วิชาการ และจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ ที่พร้อมจะทำหน้าที่ของมนุษย์ที่พึงมี พึงทำต่อโลก ต่อทรัพยากร ต่อสังคม ต่อชุมชน ต่อครอบครัว และต่อตนเอง ได้อย่างถูกต้อง

ทุกคน (๑๐๐ %) ประทับใจในกระบวนการเรียนรู้ และต้องการกลับไปเรียนอีก เมื่อมีโอกาส

ที่แสดงว่าการเรียนรู้ครั้งนี้ ได้กระตุ้น “ต่อมการเรียนรู้” และ “จิตวิญญาณ” ของนักเรียน ออกมาทำงานได้ดีกว่า จนสามารถ "เรียนได้ดี" กว่าที่เคยเป็นมา

ที่อาจถือได้ว่า การเรียนโดยหลักของ KM ธรรมชาติ มี “ครูธรรมชาติ” นำทาง เป็นวิธีการที่ดี ที่จำเป็นต้องมีการสนับสนุนด้วย “ครูคน” จาก “พันธมิตรอิงระบบ” ไม่ติดกรอบภาระหน้าที่ แต่ทำงานวิชาการแบบถึงลูกถึงคน เป็นวิทยากรกระบวนการ ที่ไม่ใช่แบบบรรยายไปเรื่อยๆ และมี “ครูเครื่อง” คอยสนับสนุนอยู่ห่างๆ แบบ “บูรณาการ” ตามสไตล์ของ “มหาชีวาลัย”

ที่อาจใช้เป็นตัวอย่างของการเรียนการสอนแบบ “บูรณาการ” ได้เป็นอย่างดี

นักศึกษาที่มีผลการเรียนในห้องเรียนอ่อนขนาดไหน (ตกแล้วตกอีก) ก็สามารถมาเรียนรู้ได้ดีเท่าๆกับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี

ที่ผมคิดว่านักศึกษาที่มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้มีผลการเรียนระดับ “ดีเลิศ” เกินกว่าจะมีคะแนนให้ได้ และจากผลการประเมินรายกลุ่ม และรายบุคคล พบว่าอย่างน้อยนักศึกษาน่าจะได้ “คะแนนเต็ม” ทั้งหมด

นี่คือปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผล และผลลัพธ์ที่ได้จาการฝึกงานครั้งนี้ครับ

ที่ผมเชื่อมั่นว่านักศึกษาชุดนี้จะมีความจำระยะยาวมากพอที่จะไปเรียนวิชาการที่เกี่ยวข้องได้ดีกว่าเดิม

และหวังว่า นักศึกษาเหล่านี้จะสามารถประเมิน “คุณภาพการสอน” ของอาจารย์ทั้งหลายได้อย่างสร้างสรร ได้อีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 307903เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2009 06:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะ

  • ดิฉันเคยพานักเรียนระดับชั้นมัธยมต้นไปที่สวนป่า ๒ ครั้งค่ะ
  • กลับมาแล้วเขาได้จดจำนำความรู้ที่ได้จากสวนป่ามาปฏิบัติทั้งที่โรงเรียนและบ้านค่ะ
  • เด็ก ๆ รักพ่อครูบาสุทธินันท์มาก
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

อยากเห็นการประเมินแบบนี้ใช้กับการประเมินระดับชาติ ที่เป็นการประเมินการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง สัมผัสจริง

เกิดคุณค่ามาก ภูมิปัญญามีแนวคิดมองไกลว่าคนธรรมดาคิดมาก มีความลึกซึ้งและเกิดความปลอดภัยในคุณภาพชีวิต

ในอนาคต

การปรับ แนวคิด คนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย

ผมก็เคยไปดูงาน ปราชญ์ ชาวบ้านมา เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว

ไปดู แล้ว มัน ไม่ถูกจริตครับ

แต่อย่างไรก็ตาม

ผมก็เห็นด้วย กับแนวคิดปลูกต้นไม้ใหญ่

และ กสิกรรมธรรมชาติ หรือ เกษตรอินทรีย์อยู่ไม่น้อยครับ

สมัยเด็กๆ เกือบ ได้ เรียนเกษตร ที่กำแพงแสนแล้ว

น่าเสียดาย ที่ ไม่มี วาสนา

พอโต มา ทำงาน เลย หวน หาการเกษตรครับ

สวัสดีค่ะ 

  • มาเรียนรู้และร่วมยินดีกับความสำเร็จในการใช้ KM ธรรมชาติ ที่มหาชีวาลัยอีสาน 
  • อยากจะมีโอกาสได้ไปสัมผัสการเรียนรู้อย่างนักศึกษาบ้าง
  • ยังคิดถึงข้าวหอมอินทรีย์ของอาจารย์เสมอค่ะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

ทองแท้สวยงามเสมอ จริงๆ

  • เปิดดูตั้งแต่อยู่ในกระบวนการฝึกอบรมครูต่างชาติที่ Thai Sikh International School of Bangkok .. ชื่นใจครับ
  • กลับมาถึงมหาวิทยาลัย เข้ามาอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่า ควรทำกับนักศึกษาปีหนึ่ง ทุกสาขาวิชา เพื่อสร้างสัมมาทิฏฐิ ก่อนออกเดินทางไปบนเส้นทางแห่งการเรียนรู้
  • หากทำได้ดี และเนียนพอ "ฉันทะแท้" เพื่อการเรียนรู้ที่สมบูรณ์จะก่อเกิดได้ไม่น้อย
  • Congratulation ! 

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร.เเสวง ครับ

ดีใจกับความสำเร็จที่น้องๆ นศ.ทุกท่าน มีความสุขในเวทีที่เราจัดกระบวนการเรียนรู้ไป ผมได้มากกว่าครับ ได้เรียนรู้กับมุมคิดของเด็ก นศ. ได้เรียนรู้กับ ปรมาจารย์ทั้งสามท่าน (พ่อครูบาสุทธินันท์,ดร.เเสวง และ อ.พินิจ)ทั้งสามท่านเป็นบุคลากรของสังคมที่หายากครับ...

ผมยังด้อยประสบการณ์มากนักครับ แต่หากมีภารกิจใดที่ไว้วางใจผม ผมยินดีเสมอและพร้อมจะทุ่มเทครับ น้อง นศ. ทั้ง ๓๘ ชีวิต ถือว่าเขาโชคดีที่ได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์ ดร.เเสวง ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า กิจกรรมที่สวนป่าฯ อย่างน้อย สิ่งเหล่านี้จะผนึกลงในใจของพวกเขา

ขอบคุณที่ให้เกียรติครับอาจารย์ครับ

ที่กล่าวชม “กระบวนท่าพลิ้วไหวราวใบไม้ต้องลม”

โอ้...ไม่ขนาดนั้นหรอกครับ

ธรรมชาติให้ในสิ่งที่มนุษย์ต้องการเสมอ ขอให้เข้าใจในธรรมชาตินะคะ ครูน้อยเห็นด้วยกับท่านอาจารย์พินิจคือ "ควรทำกับนักศึกษาปีหนึ่ง ทุกสาขาวิชา เพื่อสร้างสัมมาทิฏฐิ ก่อนออกเดินทางไปบนเส้นทางแห่งการเรียนรู้" และอยากให้ผู้เรียนไม่ว่าจะอยู่ในช่วงชั้นใด ระดับใด ได้มีโอกาสเรียนรู้ในกระบวนการธรรมชาติเช่นนี้ เพื่อหลอมรวมกระบวนการและการเรียนรู้แบบธรรมชาติมาบูรณาการเข้ากับชีวิต ก็จะทำให้คนทุกคนเห็นคุณค่าของตนเอง มีความสุขในการเรียนรู้ รู้ในสิ่งที่เรียน และจะกลายเป็นคนเก่งกันทุกคนนะคะ ดีใจที่ได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ทั้งสามท่านค่ะ

They just impressed by nature but they don't even know the nature.How many question did they ask during that time? But no matter what happen that day it is very good for them and I am agree with your idea, hope one of them will grow up to win a nobel prize or stand upon a giant 's shoulder and give a wisdom light of knowledge to all mankinds.Did I ask a little bit too much but i really mean it with all my heart.

ขอบคุณทุกท่านเลยครับ ที่มาสนับสนุนแนวทางในการใช้ KM ธรรมชาติ เพื่อการเรียนแบบหลายวัตถุประสงค์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อ "สัมมาทิฐิ"

ผมคิดว่าถ้าเราหันมาใช้ KM ธรรมชาติ เราจะไม่มีวันทะเลาะกัน ไม่มีต่างมุมมอง

ผมเคยอ่านหนังสือท่านพุทธทาสตอนหนึ่งบอกว่า

ที่ยอดเขา ทุกคนจะมองเห็นวิวเดียวกัน

ที่แตกต่างกันก็เพราะขึ้นเขาคนละด้านเท่านั้นเอง

ดังนั้น หลักของ KM ธรรมชาติน่าจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ในทุกระดับ และใช้ได้กับทุกคน

แต่ทั้งๆที่มีข้อดีแบบยังหาข้อเสียไม่พบ ผมก็ยังไม่ทราบว่าทำไมเราไม่เน้นเรื่องนี้ในกระบวนการเรียนการสอนของเรา

ดังนั้น ผมกลับคิดเข้าข้างตัวเองอย่างสุดๆ ว่า

ยุทธศาสตร์ของมหาชีวาลัย ทั้งสามข้อ และครูทั้งสามแบบ ควรที่จะเป็นแนวนโยบายการศึกษาชาติด้วยซ้ำ

เสียดายจริงๆ

สงสัยจะต้องรอให้ "ผู้เชี่ยวชาญ(ในการทำลาย)การศึกษา" ของชาติ ที่กำลังชี้นำการศึกษาอย่างผิดทางตายและสูญพันธุ์ให้หมดก่อนละมัง

กับแค่พานักศึกษาออกฝีกงานแบบนี้ในครั้งนี้ ผมก็ยังต้องรอให้ "นัก(ต่อต้านการพัฒนา)การศึกษา" ในมหาวิทยาลัยเกษียณไปเสียก่อน

(เขาว่าถ้าไม่เรียนทฤษฎีให้จบก่อน "เด็ก" จะไม่มีวันเข้าใจหรือจำอะไรได้ ทำไปก็เสียเวลาเปล่าๆ)

อนาถใจจริงๆ กับแนวคิดนี้

ผมต้องรอมาตั้งนาน

แต่ถึงวันนี้ก็นับว่าคุ้มอยู่ครับ

เพียงแต่เสียดายโอกาสของนักศึกษาและของชาติเท่านั้นแหละครับ

อ่านข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอาจารย์ ข้างบนนี้เเล้ว ก็ถอดใจหลายเรื่อง แต่ก็ไม่สิ้นหวังครับ

มุมมองที่มองจากนักการศึกษา ก็หลากหลาย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทุนของนักการศึกษาที่มอง ทั้งประสบการณ์การศึกษา วิธีคิด ความเชื่อ ที่สำคัญก็คือ นักการศึกษาที่มองมุมเดียวเเล้วตัดสินใจว่าใช่ เเละมองมุมอื่นผิดพลาด เป็นมิจฉาทิฎฐิ โดยแท้ ...

งานที่ผมทำมาทั้งหมดจนถึงวันนี้ ก็ไม่ได้ใช้ทฤษฏีนำแต่อย่างใด ก็เพียงแต่ ทำไปเรียนรู้ไป สุดท้ายมาอ่านทฤษฏี ก็ อ้อ...มันเรื่องเดียวกัน เเต่เส้นทางวที่เราเลือกมันเหมาะกับเรา จริตเเบบเรา ภูมิสังคมที่เรามี

ที่เราล้มเหลวซ้ำซากทุกวันนี้ ไม่เพราะเราผูกติดความคิดตัวเองกับทฤษฏีหรอกหรือ เราล้มเหลวและไม่มีเส้นทางเลือกใด ก็เพราะนักการศึกษาที่คับเเคบในมุมมอง ที่กุมชะตาชีวิตผู้คนเยาวชนที่เเรกเริ่มเรียนเรียนรู้

ให้กำลังอาจารย์ในการทำสิ่งที่ควร อาจจะหนักบ้างก็ให้กำลังใจ

เก็บปลาดาวทิ้งลงทะเล ก่อนแดดเเรงจะเผาให้มันตายคาชายหาด ได้ไม่กี่ตัวก็ยังดีนะครับ...

เรียนท่านอาจารย์แสวงที่เคารพ

          ศิษย์รอดได้เพราะของจริง ศิษย์คงไม่ศรัทธาทฤษฎีที่ไม่สามารถจับต้องได้  เพราะของปลอมๆไปสร้างสัญญาบางอย่างในสมองเป็นระยะเวลายาวนาน ต้องอาศัยของจริงสลัดออกไปเรื่อยๆ และประกบให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทฤษฎีแบบไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ ผิดแปลกไปมากจากของจริง ถ้ารู้ตัวหรือไหวตัวไม่ทัน ศิษย์คงย่อยยับไปกับการวาดวิมานแน่นอน ศิษย์กลับมาตั้งหลักที่บ้านเก่าก่อน มันเป็นทางรอดของชีวิตและเชื่อว่าทางรอดของชาติด้วย

 
 ด้วยความเคารพครับผม

นิสิต

 

สาธุครับ

เห็นเช่นนี้ก็น่าชื่นใจ 

เรียนเชิญ ดร. มาช่วยกันเป็น พ่อครูอาสา และร่วมกันเป็นเครือข่ายในม.จิตอาสาด้วยนะครับ

ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย มหา'ลัยจิตอาสาแห่งแรกของประเทศไทย!!


ขอเชิญชวนพี่น้องบัณฑิตอาสาสมัคร 

และกัลยาณมิตร มาร่วมกันก่อตั้งม.จิตอาสา

ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะขยายวงงานจิตอาสาให้เต็มแผ่นดินไท 

ใช้ฐานประสบการณ์ องค์ความรู้ที่ได้จากบอ. มาต่อยอดพัฒนา เป็นมหา'ลัย จิตอาสาครับ 



ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย 

มหา'ลัยจิตอาสาแห่งแรกของประเทศไทย!! 

http://www.moralproject.com/allnetwork/home/space.php?uid=12&do=blog&id=31

เรามาร่วมกันพลิกฟื้นแผ่นดินนี้ด้วยศาสตร์ของพระราชาเถิดครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท