เส้นตายกู้เศรษฐกิจ 3 เดือน นายกฯ จัดทัพใหญ่ ลุยแก้ปัญหาก่อนดิ่งหัว


ภาวะเศรษฐกิจ
       วานนี้ (23 พ.ค.) หลังการประชุม ครม. เพื่อติดตามการทำงานของรองนายกรัฐมนตรี พร้อมตรวจสอบดัชนีเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญ ๆ   ก่อนจะมีมติให้ความเห็นชอบในการหยิบยกเอาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สายที่มีความพร้อมมาเปิดประมูลใน ครม.ช่วงเช้า  
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุม ครม.นัดพิเศษอีกครั้ง ในเวลา 16.00 น. เพื่อหารือถึงแนวทางการ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นการเฉพาะ  ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กล่าวกับ    ที่ประชุมว่า ระยะเวลา 3 เดือนจากนี้ไป รัฐบาลรักษาการจะต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ให้ได้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างฉุดให้เศรษฐกิจร่วงลงมามาก หาก 3 เดือนนี้ แก้ไขไม่ได้ เศรษฐกิจประเทศไทยก็อาจจะ ดึงไม่ขึ้น และมีผลให้ดิ่งหัวลงไป ซึ่งในระยะเฉพาะหน้าเช่นนี้ จะต้องหาทางช่วยเหลือชนชั้นกลาง หรือมนุษย์เงินเดือนเป็นหลักก่อน เพราะขณะนี้คนทำงานในเมืองได้รับผลกระทบอย่างมาก จากอัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมัน     ที่เพิ่มสูงขึ้น  โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน ได้วางแผนที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว ซื้อบ้าน ซื้อรถ และเตรียมมีลูกไปแล้ว   แต่เมื่อราคาน้ำมันขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง มนุษย์ เงินเดือนจึงเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบสูงสุด
       ส่วนคนทำงานในระดับผู้บริหาร อย่างน้อยก็ยังมีผลตอบแทนอย่างอื่น ทั้งเงินประจำตำแหน่ง และค่าน้ำมัน จึงยังไม่ได้รับผลกระทบมาก ทำให้เห็นว่ายังมีช่องว่างในเรื่องของรายได้อยู่มาก และต้องหาทางเพิ่มรายได้ให้กับมนุษย์เงินเดือนด้วย กรณีดังกล่าว ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปประเมินตัวเลขว่า ขณะนี้อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ อยู่ที่ระดับใด หากจะต้องเพิ่มขึ้น จะต้องเพิ่มให้เท่าใด จึงจะเพียงพอ พร้อมทั้งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจ เพื่อนำมาประชุมแก้ไขปัญหา  กันอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 29 พ.ค.นี้
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การบ้านที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้วางกรอบให้รัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีทุกคนกลับไปพิจารณาคือ จะต้องประเมินสถานการณ์ได้ว่าเป็นอย่างไร พร้อมแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจฟุบ และสังคมไม่เกิดปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายแพง แต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการดูแลรักษาพยาบาลยังคงเป็นไปด้วยดีหรือไม่
สำหรับประเด็นที่จะหารือกันในวันที่ 29 พ.ค.นี้ จะอยู่บนพื้นฐานเรื่องปัญหาราคาน้ำมัน, ราคาสินค้า, อัตราดอกเบี้ย, ค่าจ้างแรงงาน, ราคาพืชผลทางการเกษตร, การทำงานของผู้ว่าฯซีอีโอ, และสินค้าโอทอป โดยมีกลุ่มคน 3 กลุ่มที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษคือ คนชนบท, มนุษย์เงินเดือน-ข้าราชการ และผู้ใช้แรงงาน
       น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงความห่วงใยของรักษาการนายกฯ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจปัจจุบัน ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กล่าวกับที่ประชุม ครม.ในช่วงเช้าว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้มีส่วนคล้าย ๆ แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียวกับช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ ในปี 2544 ขณะนั้นไม่มีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเลย แต่ในปีนี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวลดลง นอกจากนั้น ในปี 2544 ประชาชนไม่มีเงินใช้จ่าย แต่สำหรับปี 2549 ประชาชนมีเงินในกระเป๋า แต่ขาดความเชื่อมั่นจึงไม่กล้าใช้จ่าย ในขณะที่ภาคเอกชนเองก็ไม่กล้าลงทุน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงต้องใช้หลักการที่คล้ายกัน ที่จะต้องมุ่งเน้นไปแก้ที่เศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้สามารถสนับสนุนเศรษฐกิจในเมืองได้ และหลังจากนั้นเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงจะขยายความเชื่อมั่นไปในต่างประเทศได้ต่อเหมือน ๆ กับที่ได้เคยทำมาแล้ว และประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา
       ทั้งนี้ รักษาการนายกฯ ยังกล่าวด้วยว่า ระหว่างที่ได้เดินทางไปประเทศต่าง ๆ และได้พูดคุยกับผู้นำประเทศเหล่านั้น พบว่าความไม่แน่นอนทางการเมือง มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากญี่ปุ่นชะลอไปเพื่อรอดูสถานการณ์    อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลใช้ดัชนีใดมาเป็นเครื่องชี้วัดว่าภาวะเศรษฐกิจของปีนี้คล้ายกับปี 2544 ก็ได้รับคำตอบเพียงว่า รักษาการนายกฯ พูดเพียงเท่านั้น และเห็นได้จากปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาความเชื่อมั่นของประชาชน และนักลงทุน และจากความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้คนที่มีเงินในกระเป๋าไม่กล้านำเงินออกมาจับจ่ายใช้สอย

ไทยรัฐ  24  พ.ค.  49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 30638เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2006 12:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท