"ภัยทางเพศ" คำนี้
สำหรับผู้ชาย
คงเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว ตราบเท่าที่มันไม่เกิดกับแฟน กับลูก
กับเมียของเขา
ในเมือง ปัจจุบันมีการตื่นตัวและเฝ้าระวังเรื่องนี้กันมากขึ้น แต่สำหรับชนบท เรื่องนี้เป็นสิ่งฉาวโฉ่ไม่แพ้กัน แต่มีการตื่นตัวกันน้อยกว่า และมักจะลงเอยด้วยการโทษผู้หญิง
ในอำเภอที่ผมอยู่ ข้อมูลจากปากคำของชาวบ้านสะท้อนถึงแนวโน้มความรุนแรงทางเพศที่เพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง
การทำร้ายผู้หญิง การคุกคามทางเพศในระดับต่างๆ ไปจนถึงการล่อลวง ข่มขืน การทำแท้ง ไปจนถึงการฆ่าเพราะความหึงหวง มีให้ได้ยินทุกเดือน
โรงพยาบาล หรือไม่ว่าจะหน่วยงานไหนๆ มองไปก็เจอแต่ป้าย "ยินดีตั้งรับ" อันนี้ก็ไม่ว่ากัน เพราะแต่ละสถาบันก็มีงานล้นมืออยู่ แค่จะหามือดีมาสละความสะดวกสบายมาทำงานกับคนยากคนจนยังยาก จะเอาเวลาเอาคนที่ไหนไปทำงานเชิงรุก
แต่เรื่องภัยทางเพศดังกล่าวนี้ จะปล่อยไว้ไม่ได้ ชะล่าใจไม่ได้เลย ก็ดีใจที่อย่างน้อยก็มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งสนใจต่อสู้กับปัญหานี้ และอยากจะช่วยเหลือสังคม ไม่มีเงินตอบแทนก็ไม่เป็นไร ขอให้หนูได้ทำเพื่อส่วนรวมมากกว่านี้เถอะ จะทำเท่าที่แรงพวกหนูจะมี
....ได้ฟังอย่างนี้ ผู้ใหญ่หลายคนก็อาจจะเริ่มย้อนมองดูตัวเอง
ที่อำเภอปางมะผ้าเรามีกลุ่มเยาวชนที่มาฝึกศิลปะการต่อสู้ ที่เรียกว่า "ไอคิโด" กันทุกเย็นครับ "ไอคิโด" นี้เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ถือกำเนิดจากญี่ปุ่นประมาณร้อยกว่าปีนี้เอง ลักษณะเป็นการนำแรง เปลี่ยนทิศทางแรง สลายแรงของคู่ต่อสู้ ผสมผสานกับการหัก บิดข้อต่อส่วนต่างๆของร่างกายโดยเฉพาะข้อมือ และการทุ่ม
สิ่งสำคัญที่ซ่อนอยู่ในศิลปะชนิดนี้ ก็คือการฝึกฝนทางจิตใจ มิใช่เพื่อหักหาญทำร้ายทำลายใคร หากแต่ต้องให้เกียรติและอ่อนโยน แม้กับผู้ที่มาจู่โจมเรา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการเติบโตทางจิตวิญญาณของผู้ฝึกที่สำคัญยิ่ง
การฝึกซ้อมที่มุ่งแข่งขัน อวดเบ่งอัตตาว่าเหนือกว่าผู้อื่นผู้ใดนั้น ไม่ใช่วิสัยของศิลปะชนิดนี้
สำหรับผมชั่วโมงฝึกซ้อม "ไอคิโด" จึงเป็นชั่วโมงฝึกธรรมะเชิงปฏิบัติอย่างหนึ่ง ซึ่งเราไม่แยกออกจากศิลปะการต่อสู้
วันที่ 9 - 11 มิ.ย.นี้ คาดว่าฝนคงจะไม่เพลาลงแน่ แต่จะมีครูใหญ่พานักเรียนฝ่าฝน 8 กิโลจากดอยมาฝึกกับทางสโมสรเยาวชนของเราที่ตัวอำเภอปางมะผ้า
ผมก็ซึ้งใจในศรัทธา และยินดีที่จะช่วยอาสาเป็นวิทยากรให้ทั้งสามวัน อย่างอิ่มใจ
แต่ ณ นาทีนี้ ผมรู้สึกอิ่มใจยิ่งกว่า ที่ชมรมไอคิโด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ผมมายินดีให้การสนับสนุน
บางคนจะมาช่วยสอน บางคนจะบริจาคชุด บางคนจะช่วยเรื่องเบาะ และอีกหลายคนส่งแรงใจมาช่วย
ลึกๆก็ภูมิใจ ที่เห็นว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้ทิ้งประชาชน
อันนี้ ผมอยากจะยกตัวอย่างให้เป็นกำลังใจกับคนทำงานพัฒนาในชนบทนะครับว่าอย่าท้อ มีคนอยากจะสนับสนุนพวกท่านอยู่ ขอให้ยืนหยัดต่อไป
สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างเสริมการรวมกลุ่มของชาวบ้านอย่างจริงจังและต่อเนื่องนะครับ อย่าหนีหายไปไหน ต้องอดทนกับการเรียนรู้ที่อาจจะงุ่มง่ามของพวกเขา แม้ว่าจะเปลี่ยนงานไป แต่จิตใจของชาวบ้านจะฝังจำนักพัฒนาในดวงใจของเขาไว้เสมอ แม้เวลาจะผ่านไปเป็นสิบๆปีก็ตาม
ท่านอาจจะลืมไปแล้ว แต่ชาวบ้านไม่ลืมท่าน ถ้าท่านเป็นคนที่พวกเขาศรัทธา
สุดท้ายนี้ ก็เลยเอารูปการฝึก "ไอคิโด" ที่ทางสโมสรผู้นำเยาวชนเพื่อการศึกษาและพัฒนาชุมชน (สยช.) อำเภอปางมะผ้า ของเรามาฝาก ตอนนี้เด็กๆตั้งใจมาก เพราะเขารู้ว่า สิ่งที่เขาฝึกนั้น ไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์ต่อตัวเขาเอง แต่ยังสามารถถ่ายทอดเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆในจังหวัดของเขาได้อีกจำนวนมาก
และผมก็หวังว่า นี่จะเป็นการแสดงความรักต่อในหลวงของผม และคารวะต่ออาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชานี้มา...โดยที่ท่านไม่จำเป็นต้องทราบก็ได้