BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เงินเพื่ออะไร ๓


เงินเพื่ออะไร ๓

ทำพลี ๕ อย่าง เป็นข้อที่สี่ นั่นคือ เราต้องแสวงหาเงินหรือโภคทรัพย์มาใช้จ่ายเพื่อกระทำพลิกรรม ได้แก่

  • ญาติพลี คือ บำรุงญาติ
  • อติถิพลี คือ ต้อนรับแขก
  • ปุพพเปตพลี คือ ทำบุญอุทิศให้ผู้ตายไปแล้ว
  • ราชพลี คือ บำรุงราชการ
  • เทวตาพลี คือ ทำบุญอุทิศให้เทพยดา

 

จะเห็นได้ว่า คำว่า พลี หรือ พลิกรรม นั้น ความหมายในภาษาไทยแปลยักเยื้องได้ตามความเหมาะสม เพราะหาคำเดียวกันที่ใช้ให้ตรงความหมายไม่ได้ หรือบางครั้งก็ใช้ทับศัพท์ ซึ่งผู้เขียนสงสัยอยู่เกินสิบปีกว่าจะขบประเด็นปัญหานี้ออกมาได้

คำว่า พลี แยกศัพท์ออกมาเป็น พล+อี = พลี โดย พละ แปลว่า กำลัง ส่วนสระ อี เป็นปัจจัยในตัทธิตโดยใช้แทนความหมายว่า มี ดังนั้น พลี จึงแปลว่า มีกำลัง ... พลี+กรรม = พลิกรรม แปลว่า การกระทำให้มีกำลัง

ญาติพลี คือ การช่วยเหลือญาติ บำรุงญาติ นั่นก็คือ ถ้าเราช่วยเหลือญาติพี่น้องแล้วก็จะทำให้เราเข้มแข็งยิ่งๆ เช่น ในบางคราวก็อาจอาศัยญาติพี่น้องเป็นที่พึ่งพิงช่วยเหลือได้ คนที่ถูกกล่าวขานว่ามีญาติพี่น้องมากและได้รับการยอมรับจากบรรดาญาติพี่น้องน่าจะเป็นคนที่ได้รับความเกรงใจในสังคมยิ่งกว่าคนที่หัวเดียวกระเทียมลีบ คนที่มีน้ำใจต่อญาติพี่น้อง ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญจากวงศาคณาญาติต่างจากคนที่ไร้น้ำใจซึ่งย่อมได้รับการติฉินนินทา ดังนั้น การช่วยเหลือและมีน้ำใจต่อญาติพี่น้องจึงจัดว่าเป็นการกระทำให้เกิดกำลังต่อตนเองในความเป็นอยู่

การจะช่วยเหลือญาติพี่น้องได้ก็ต้องอาศัยเงินหรือโภคทรัพย์ แม้จะไม่ใช่ทุกกรณีก็ตาม ดังคำพังเพยที่ว่า มีเงินก็นับว่าน้อง มีทองก็นับว่าพี่ หมดเงินหมดทอง พี่น้องไม่มี ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรื่องญาติพลีไว้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากโภคทรัพย์ที่แสวงหามาได้   

 

อติถิพลี คือ การต้อนรับแขกตามแต่กรณี จัดว่าเป็นการกระทำให้เรามีกำลัง มีความมั่นคงในการใช้ชีวิตในสังคมยิ่งขึ้น เพราะบรรดาแขกที่ได้รับการต้อนรับ บางคนอาจนำคุณของเราไปสรรเสริญในสถานที่ต่างๆ เราอาจได้รับการเกรงใจหรือต้อนรับเมื่อเข้าสู่สังคมอื่นๆ ในภายหลัง หรือบางคราวที่ไปเป็นแขกก็อาจได้รับการต้อนรับตอบแทน ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรื่องการต้อนรับแขกหรืออติถิพลีว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากโภคทรัพย์ที่แสวงหามาได้

 

ปุพพเปตพลี คือ การทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ประเด็นนี้ยากที่จะยกข้อเท็จจริงมาแสดงว่า ผู้ที่ตายไปแล้วจะช่วยเพิ่มกำลังหรือทำให้เรามีความมั่นคงเข้มแข็งในการใช้ชีวิตได้อย่างไร แต่การทำบุญอุทิศให้ผู้ตายก็ยังมีในยุคปัจจุบัน และถ้าจะสืบต่อไปยังอดีต จะเห็นได้ว่าชนทุกชาติศาสนาก็มีพิธีกรรมทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ตายไปแล้ว เพียงแต่รายละเอียดเท่านั้นที่แตกต่างกันไป และน่าจะกล่าวได้ไม่เกินความจริงว่าเรื่องทำนองนี้มีอยู่คู่กับมนุษย์

ในติโรกุฑฑสูตร พระพุทธเจ้าได้สรุปอานิสงส์การทำบุญอุทิศให้ผู้ตายที่สังเกตได้ในโลกนี้ไว้ ๔ ประการ กล่าวคือ

  • โส ญาติธมฺโม จ อยํ นิทสฺสิโต
  • เปตาน ปูชา จ กตา อุฬารา
  • พลญฺจ ภิกฺขูนมนุปฺปทินฺนํ
  • ตุมฺเหหิ ปุญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกํ
  • ญาติธรรมนี้นั้น ได้แสดงให้ปรากฏแล้ว
  • การบูชาผู้ที่จากไปอย่างโอฬาร ได้กระทำแล้ว
  • กำลังของภิกษุทั้งหลาย ได้ให้การสนับสนุนแล้ว
  • บุญมีประมาณไม่น้อย ท่านทั้งหลายก็ได้ขวนขวายบำเพ็ญแล้ว

 

ซึ่งจะทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ตายได้นั้น ก็ต้องอาศัยเงินเป็นทุนเช่นเดียวกัน ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสประโยชน์ของการแสวงหาโภคทรัพย์ว่าเพื่อใช้ในการทำบุญให้ผู้ตายในข้อนี้

คำสำคัญ (Tags): #เงินเพื่ออะไร
หมายเลขบันทึก: 304713เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท