BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เงินเพื่ออะไร ๑


เงินเพื่ออะไร ๑

เงินเพื่ออะไร ?

 

สำหรับฆราวาส คือผู้ครองเรือน หรือชาวบ้านทั่วไป คงจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว ถ้าจะมีใครถามว่า ที่ทำงานหาเงินอยู่ทุกวันนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ? และเมื่อจะค้นหาคำตอบนี้ ผู้เขียนคิดว่าแต่ละคนคงจะให้คำตอบไม่แตกต่างกันนัก ส่วนที่แตกต่างกันน่าจะอยู่ที่ประโยชน์ซึ่งแต่ละคนเล็งเห็นและการจัดลำดับความสำคัญแห่งประโยชน์เหล่านั้นต่างหาก...

ประเด็นนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพระพุทธเจ้าเคยตรัสอธิบายให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังในอาทิยสูตร โดยจัดประโยชน์ในการแสวงหาโภคทรัพย์ไว้ ๕ ประการ กล่าวคือ

๑. เลี้ยงตนเอง มารดาบิดา บุตร ภรรยา และคนใช้ ให้เป็นสุข

๒. เลี้ยงมิตรสหาย ให้เป็นสุข

๓. ใช้ป้องกันอันตรายที่จะบังเกิดขึ้นจาก ไฟ น้ำ พระราชา โจร และทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เป็นต้น

๔. ทำพลีกรรม ๕ ประการ กล่าวคือ

                ๔.๑. ญาติพลี (บำรุงญาติ)

                ๔.๒. อติถิพลี (ต้อนรับแขก)

                ๔.๓. ปุพพเปตพลี (ทำบุญอุทิศให้ผู้ตายไปแล้ว)

                ๔.๔. ราชพลี (บำรุงราชการ)

                ๔.๕. เทวตาพลี (ทำบุญอุทิศให้เทพยดา)

๕. บำเพ็ญทักษิณาบุญในพระสงฆ์ผู้ประกอบด้วยสมณธรรม

 

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่าที่แสวงหาเงินก็เพื่อนำมาใช้จ่าย ๕ ประการเหล่านี้นั่นเอง ซึ่งผู้เขียนจะนำมาขยายความเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น

ข้อแรกและข้อที่สองนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสรุปไว้ในพระคาถาว่า เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยง ซึ่งคนที่ควรเลี้ยงในข้อแรกคือ ตนเอง มารดาบิดา บุตรภรรยา และคนใช้ จะเห็นได้ว่าบุคลเหล่านี้คือผู้ที่เราเกี่ยวข้องโดยตรง มีลักษณะเป็นภาคบังคับว่าเราจะต้องเลี้ยงหรือรับผิดชอบมิอาจเพิกเฉยได้ ส่วนข้อที่สองคือ มิตรสหาย หรือเพื่อนนั้น จัดเป็นคนนอกบ้าน ไม่มีลักษณะเป็นภาคบังคับ แต่เป็นภาคสมัครใจ นั่นคือเราจะเลี้ยงหรือไม่เลี้ยงก็ได้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสแยกออกมาเป็นสองข้อ...

มาพิจารณาเฉพาะข้อแรก คนที่ควรเลี้ยงภาคบังคับ พระพุทธเจ้าทรงระบุ ตนเอง ขึ้นก่อน นั่นคือผู้ที่เราต้องเลี้ยงและรับผิดชอบเป็นเบื้องต้น ผู้เขียนคิดว่าน่าจะไม่มีใครเถียงหรือคัดค้านว่าเราต้องเลี้ยงตัวเราเองให้ได้หรือพาตัวเราเองให้รอดก่อน เพราะถ้าเอาชีวิตตัวเองไม่รอดแล้ว จะป่วยกล่าวไปใยถึงคนอื่นๆ นี้เป็นเรื่องธรรมดา

ส่วนคนอื่นๆ มารดาบิดา คือบุคลที่เราต้องรับผิดชอบถัดมา ตามสำนวนบาลี มารดาคือแม่จะต้องขึ้นก่อนบิดาคือพ่อเสมอ นั่นคือ แม่มีความสำคัญกว่าพ่อ ดังนั้น คนที่ควรเลี้ยงสำคัญที่สุดนอกจากตัวเราเองก็คือแม่ ถัดต่อมาก็เป็นพ่อ

บุตรภรรยา เป็นลำดับต่อมาก็ทำนองเดียวกัน ตามสำนวนบาลี บุตรคือลูกจะต้องขึ้นก่อนภรรยาคือเมียเสมอ นั่นคือ ลูกมีความสำคัญกว่าเมีย ดังนั้น คนที่ควรเลี้ยงต่อจากแม่และพ่อแล้วก็คือลูกและเมีย

อนึ่ง ผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงหรือสตรีเพศ อาจคิดว่าตนเองต่างหากเป็นคนหาเลี้ยงสามีหรือผัว มิใช่ผัวเป็นผู้หาเลี้ยงตนเอง ประเด็นนี้ก็ถูกต้อง เพราะอาจอรรถาธิบายนัยตรงข้ามได้ว่า คนที่ควรเลี้ยงต่อจากแม่และพ่อแล้วก็คือลูกและผัว ซึ่งนัยตรงข้ามทำนองนี้คัมภีร์รุ่นต่อมาได้บ่งชี้ไว้ชัดเจน แต่ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าบุตรภรรยาเพราะพระองค์ทรงแสดงให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีที่เป็นผู้ชายหรือบุรุษเพศฟังนั่นเอง

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นภาคบังคับตามความเป็นอยู่ยุคปัจจุบันก็คือ คนใช้ หรือลูกน้อง (ตามคัมภีร์ระบุ ทาส ไว้ด้วย) คนเหล่านี้ตราบใดที่ยังทำงานอยู่กับเรา ยังอาศัยอยู่ภายใต้ร่มเงาของเรา ก็จัดว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงดูพวกเขาให้เป็นสุขตามสมควรตราบนั้น แต่หากพวกเขาเป็นอิสระไปจากเราก็อาจถือว่าเป็นเพียงคนอื่นหรือคนรู้จักเท่านั้น และมิใช่คนที่ควรเลี้ยงภาคบังคับอีกต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #เงินเพื่ออะไร
หมายเลขบันทึก: 304709เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท