เวทีวิพากษ์แผนจัดกระบวนการเรียนรู้ตามนโยบาย 3D ของกระทรวงศึกษาธิการ


ต้องการระดมความคิดในการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับนโยบาย 3D ของกระทรวงศึกษาธิการ

เวทีวิพากษ์แผนจัดกระบวนการเรียนรู้ตามนโยบาย 3D ของกระทรวงศึกษาธิการ 4-5 ตุลาคม 2552 ณ โรงแรมเกษมการ์เดนส์ จ.สุรินทร์
เวทีนี้จัดขึ้นเนื่องจากทาง กศน.สุรินทร์ได้ ต้องการระดมความคิดในการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับนโยบาย 3D ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยรวมๆ นโยบายนี้มุ่งให้สถานศึกษาเน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมประชาธิปไตย คุณธรรมจริยธรรมและความเป็นไทย และภูมิคุ้มกันยาเสพติด

อีกประการหนึ่งทางหน่วยงานเองก็ต้องการจะให้ความสำคัญของการวางแผนให้สอดคล้องก้ับการปฏิบัติงานจริงๆ มากขึ้น ในเวทีนี้จึงเป็นการเริ่มวางแผนโดยผู้ปฎิบัติงานมีส่วนร่วม การวิพากษ์ถึงข้อดีข้อเสียและความเป็นไปได้ของแผน

สำหรับกิจกรรมในวันแรกนี้เป็นการให้แต่ละอำเภอมานำเสนอแผนการจัดกิจกรรมเหล่านี้ และให้เพื่อนๆ อำเภออื่นๆ ได้ได้แสดงความคิดเห็น

ผมจะขอเล่าประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ ที่มีการวิพากษ์พร้อมความคิดเห็นของผมต่อประเด็นเหล่านั้น

1. หน้าที่ของ กศน. คือการจัดกระบวนการเรียนรู้
ผอ.ท่านหนึ่งได้แสดงทัศนะว่า

การจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นหน้าที่ของ กศน. และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ กศน.ต่างจากหน่วยงานอื่นๆ ยกตัวอย่างเรื่องการเปิดสอนวิชาชีพเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก มีหลายๆ หน่วยงานที่จัดกิจกรรมนี้ ถ้า กศน. จัดจะต้องมีการสอดแทรกกระบวนการเรียนรู้อยู่ข้างในด้วย

อีกตัวอย่างคือกิจกรรมแซนโฎนตา้ สิ่งที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนคือกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม การให้ความรู้เรื่องพิธีกรรมกับผู้เรียนไม่ใช่เป้าหมายหลัก สิ่งนี้เป็นแค่เครื่องมือหรือสิ่งที่ใช้เล่าเรื่อง

ตัวผมก็ไม่ได้คิดเรื่อง "สื่อ" กับ "สาร" มาก่อนและตลอดทั้งวันผมได้เห็นการส่งสารเดียวกันผ่านสื่อแบบต่างๆ เช่น การสร้างกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยโดย สื่อที่เป็นเพลง "ไม่ใช่แฟนทำแทนไ่ม่ได้", ผ่านการวิเคราะห์ข่าวการเมือง หรือผ่านการเรียนรู้จากคนต้นแบบ เป็น

2. โทษของการซื้อสิทธิ์ขายเสียงใครๆ ก็รู้ แต่ทำไมก็ยังมีอยู่ ?

ผู้ตั้งคำถามก็ฝากให้เอาไปลองคิดดู

ผมชอบคำถามนี้มากที่สุด ผมคิดว่าเราได้รณรงค์เรื่องโทษของการซื้อสิทธิ์ขายเสียงมามากพอแล้ว จริงๆ ก็เกินพอซะด้วยซ้ำ ที่โรงเรียนก็มีการสอน ในโทรทัศน์ก็มีสปอตโฆษณา ป้ายตามถนนเห็นได้ทั่วไป การรณรงค์เพิ่มเติมไม่น่าจะช่วยอะไรแล้ว หรืออาจจะช่วยแค่ทำให้เสียงที่ขายมีราคาเพิ่มก็ไม่รู้

บางทีเรื่องการซื้อเสียงเพื่อถอนทุนอาจเป็นแค่ปัจจัยประกอบการตัดสินใจหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยเท่านั้น และคำถามทำนองนี้ได้เราได้ยินบ่อยๆ
- การสูบบุหรี่/ดื่มสุราไม่มีประโยชน์ ใครๆ ก็รู้แต่ทำไมไม่หยุด
- การพนันเป็นสิ่งไม่ดี ใครๆ ก็รู้ แต่ทำไมเขาไม่หยุด ฯลฯ

3. ทำไมก่อนจะเริ่มกิจกรรมต่างๆ ต้องเริ่มกิจกรรมด้วยสันทนาการ ?
หลังจากหลายๆ อำเภอมานำเสนอแผนซึ่งรูปแบบมันออกจะซ้ำๆ เช่น การเริ่มต้นด้วยกิจกรรมสันทนาการ ก็มีผู้ร่วมวิพากษ์คนหนึ่งถามคำถามนี้ขึ้นมา

คำตอบก็มาจากในวงว่า กิจกรรมสันทนาการเป็นวิธีหนึงในการเตรียมความพร้อมและสร้างบรรยายกาศการเรียนรู้ บางคนก็คิดว่ามีแค่การเล่นเกมส์ จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเล่นเกมส์ก็ได้บางทีก็ใช้การนั่งสมาิธิหรือทำอย่างอื่นๆ ก็ได้อีกเหมือนกัน

4. ในกระบวนการจะมีจุัดหนึ่งที่ให้ผู้เรียนสัมผัสหรือทำความเข้าใจกับแก่นของเนื้อหา
อันนี้ผมตั้งข้อสังเกตเองว่า ในการจัดกิจกรรมหนึ่งๆ จะมีช่วงที่ให้ให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ตอบโจทย์บางอย่าง ซึ่งโจทย์ข้อนั้นเกี่ยวข้องกับแก่นเนื้อหาที่กำหนดให้

อธิบายยากแฮะ ยกตัวอย่างจากการจัดกิจกรรมวันแซนโฎนตา จะมีช่วงหนึ่งที่ให้ผู้เรียนได้ระดมสมองสร้างปฎิทินประเพณี หรือมีกลุ่มหนึ่งพูดถึงแผนการจัดกิจกรรมต้านยาเสพติด หลังจากให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจความหมายพิษภัยของยาเสพติดแล้ว ก็ลองให้สร้างแผนที่ความเสี่ยงหรือแผนที่ที่ระบุแหล่งมั่วสุม เป็นต้น

การทำแบบนี้ทำให้ผู้เรียนได้หาความคิดรวบยอด แก่นของเนื้อหานี้มักจะเป็นสิ่งนั้นจะเล็กๆ เรียบง่ายๆ ไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่สามารถมองเห็นภาพรวมและเป็นพื้นฐานของสิ่่งอื่นๆ ต่อไปได้

5. การประเมินผลกิจกรรมต่างๆ แบบง่าย
ผอ.ท่านหนึ่งได้แนะนำให้เราหมั่นประเมินผลกิจกรรมต่างๆ ที่เราลงมือทำไป จะช่วยให้เราไม่หลงทาง โดยตั้งคำถามเหล่านี้เรื่อยๆ
- เราอยากให้เกิดอะไรขึ้น? สิ่งนั้นเกิดหรือไม่? ทำไมมันเกิดหรือไม่เกิด?
- แล้วอะไรที่เกิดขึ้นจริงเมื่อปฎิบัติจริง ? เพราะอะไรมันเกิดเช่นนั้น ?
- เราได้เรียนรู้อะไร และนำไปใช้ได้อย่างไร

ุ6. ความสับสนระหว่างแผนปฏิบัติงานกับแผนการเรียนรู้
เวทีต้องการวิพากษ์แผนการเรียนรู้แต่ก็มีบางอำเภอก็นำเสนอแผนการจัดกิจกรรมเป็นหลักซะนี่

แผนการเรียนรู้จะอธิบายว่ามีแนวคิด กิจกรรม อะไรเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาที่เราต้องการสื่อ(หรือแผนการสอนในสมัยก่อน) ส่วนแผนการดำเนินงานนั้นจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการดำิเนินงานต่างๆ (ที่ไม่เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้) เช่น จะประชุมคณะทำงานเมื่อไหร่ ? ใครทำอะไรบ้าง? งบประมาณเท่าไหร่ ? ฯลฯ

บทส่งท้าย
เดิมทีผมตั้งใจจะเขียนบทความนี้เป็นสองตอน ตอนละหนึ่งวัน เมื่อถีงวันที่สองก็พบว่าเนื้อหาออกจะซ้ำกันมากๆ ประเด็นที่มีปัญหาก็มีการวิพากษ์กันไปตั้งแต่วันแรกแล้ว เลยรวบมาเขียนบทความเดียวให้เสร็จซะเลย

หมายเลขบันทึก: 304538เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

26 - 28 ตุลาคม นี้ก็คงมีเรื่องราวบอกเล่ากันฟังอีกนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท