พระแก้วมรกต


วัดที่คนไทยควรรู้จัก
 
การสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)


           การสถาปนาวัดนี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๑
ได้ทำเป็น ๒ ระยะ ระยะแรกได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ที่ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทร์เป็นศูนย์กลางที่สำคัญ ล้อมรอบด้วยพระระเบียง ทำนองเดียวกับการมีพระระเบียงล้อมรอบพระสถูปเจดีย์ในสมัยอยุธยา มีศาลาราย ๑๒ หลังรอบพระอุโบสถ สร้างหอระฆังขึ้นทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ นอกจากนั้นทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ มีหอพระไตรปิฎกประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองที่โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาขึ้น หอพระไตรปิฎกนี้ต้องอยู่กลางสระน้ำ ตามธรรมเนียมของการสร้างหาไตรทั่วไปในสมัยนั้น เรียกว่า หอพระมณเฑียรธรรม มีพระเจดีย์ทอง ๒ องค์ สร้างอุทิศถวายพระราชบิดาและพระราชมารดา

           ต่อมาในระยะหลังได้เกิดเพลิงไหม้หอพระมณเฑียรธรรมจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิม โดยถมสระน้ำที่อยู่ล้อมรอบหอพระมณเฑียรธรรม สร้างอาคารขึ้นใหม่เรียกว่า พระมณฑป รวมทั้งได้ขยายเขตวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปทางทิศเหนือ และสร้างหอพระมณเฑียรธรรมขึ้นใหม่เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับอื่นๆ และเป็นที่บอกหนังสือพระด้วย นอกจากนั้นยังสันนิษฐานว่าโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระขึ้น ๒ พอเรียงกันในแนวเดียวกับหอพระมณเฑียรธรรมหลังที่สร้างขึ้นใหม่ได้แก่ หอพระนาก ประดิษฐานพระนาก และพระวิหารขาวหรือหอพระเทพบิดรประดิษฐานพระเทพบิดร ซึ่งเป็นเทวรูปพระเจ้าอู่ทองจากวัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำมาแปลงเป็นพระพุทธรูปหุ้มเงิน พร้อมทั้งสร้างพระปรางค์ ๘ องค์ขึ้นที่หน้าวัดนอกพระระเบียง นอกจากสถาปนาอาคารต่างๆ ในพระอารามแล้ว ยังทรงมีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ๒ ชุด คือเครื่องทรงสำหรับฤดูร้อนและฤดูฝน

           สมัยรัชกาลที่ ๒ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหรือปฏิสังขรณ์อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างใดๆ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สันนิษฐานว่าคงจะเป็นช่วงที่อาคารต่าง ๆ ยังอยู่ในสภาพดี ไม่จำเป็นต้องบูรณะแต่ประการใด

           สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและพระมณฑปเป็นการใหญ่ พร้อมทั้งปรับปรุงหอพระทั้ง ๒ หลัง หลังหนึ่งคือพระวิหารขาวเรียกว่า พระเศวตกุฎาคารวิหารยอด ประดิษฐานพระเทพบิดรและพระพุทธรูปที่พระองค์ทรงนับถือศรัทธา อีกหลังหนึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี แต่เรียกตามความเคยชินว่า หอพระนาก และได้บูรณะปฏิสังขรณ์ พระปรางค์ ๘ องค์ ตามที่รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้ พร้อมทั้งสร้างกำแพงแก้วโอบล้อมพระปรางค์ไว้อีกชั้นหนึ่ง นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้ตกแต่งลานวัดเป็นต้นว่า ก่อภูเขา ทำแท่นที่นั่ง กระถางต้นไม้ และตั้งตุ๊กตาหินรูปต่างๆ เป็นเครื่องประดับพระอาราม พร้อมทั้งปั้นยักษ์ยืนประตูจำนวน ๖ คู่กันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ นอกจากการปฏิสังขรณ์พระอารามแล้วยังทรงสร้างพระพุทธรูปรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถและสร้างเครื่องทรงพระแก้วสำหรับฤดูหนาวเพิ่มขึ้นด้วย

           สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ได้มีพระราชประสงค์จะสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ เพราะทรงเห็นว่าพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) อยู่ต่ำกว่าพระมณฑปที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธปรางค์ปราสาทขึ้นที่ด้านหน้าพระมณฑป เพื่อจะประดิษฐานองค์พระแก้วมรกตและสร้างพระเจดีย์ทรงลังกา แบบพระมหาเจดีย์ที่วัดพระศรีสรรเพชญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ด้านหลังของพระมณฑปในแนวแกนเดียวกัน ตามแบบการสร้างพระวิหารและพระพุทธเจดีย์ในสมัยอยุธยา แต่ด้วยเหตุที่พระมณฑปมีฐานสูงถึง ๓ ชั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานพระพุทธปรางค์ปราสาทและพระศรีรัตนเจดีย์ให้สูงเสมอกับฐานชั้นที่ ๓ ของพระมณฑป สร้างเป็นฐานร่วมเรียกว่า ฐานไพที ด้วยเหตุที่มีการถมฐานให้กว้างใหญ่ขึ้นในลักษณะนี้ ทำให้ฐานนั้นยาวเกินกว่าพระระเบียง จึงต้องขยายพระระเบียงออกไปทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โอบอ้อมเอาพระปรางค์หน้าวัดไว้ ๒ องค์ ในการขยายพระระเบียงครั้งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างประตูที่พระระเบียงขึ้นทั้ง ๒ ด้านที่ขยายไปใหม่ โดยด้านทิศตะวันออกทำเป็นซุ้มมียอดทรงมงกุฎและมีเกยทั้ง ๒ ข้าง ส่วนด้านทิศตะวันตกเป็นซุ้มไม่มียอด มีเกยข้างเดียว

           นอกจากนั้นการที่พระองค์ทรงธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในสมัยที่ทรงพระผนวช ได้ทรงพบพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ พระเจดีย์โบราณและพระปรางค์โบราณ เมื่อทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามจึงได้นำมาสร้างเป็นถาวรวัตถุ เช่นสร้างพระมณฑปยอดปรางค์ ประดิษฐานพระเจดีย์โบราณบนฐานไพทีเดียวกันกับหอพระคันธารราษฎร์ และประดิษฐพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ที่หน้าหอ สร้างพระโพธิธาตุพิมานประดิษฐานพระปรางค์โบราณ ตั้งอยู่ระหว่างหอพระราชพงศานุศรและหอพระราชกรมานุสร ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นลักษณะประจำของสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่มักจะทรงสร้างอาคารหลายหลังบนฐานไพทีเดียวกัน นอกจากนั้นได้ทรงนำแบบอย่างของลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยามาใช้ เช่น การสร้างพระสถูปเจดีย์แบบทรงลังกา นำแบบอย่างการวางพระวิหารลงหน้าพระเจดีย์ในแนวแกนเดียวกัน นำยอดปรางค์มาใช้กับพระพุทธปรางค์ปราสาท พระโพธิธาตุพิมานและพระมณฑปยอดปรางค์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแผนผังและรูปแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

           นอกจากการสร้างอาคารต่าง ๆ เพิ่มขึ้นแล้ว ที่บนลานทักษิณของพระมณฑปยังโปรดเกล้าฯ ให้ถ่ายแบบจำลองนครวัดจากประเทศเขมรมาสร้างถวายเป็นพุทธบูชา และให้ประชาชนชมว่าเป็นของแปลก

           สมัยรัชกาลที่ ๕ การก่อสร้างและการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารต่าง ๆ ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้กระทำขึ้นนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะพระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ใน พ.ศ. ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะและปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามครั้งใหญ่จนแล้วเสร็จ พร้อมกับการสมโภชพระนครครอบ ๑๐๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๒๕ หลังจากนั้นจึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างบุษบกตราแผ่นดินขึ้นที่ฐานไพทีของพระมณฑปรวม ๓ องค์ เฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ต่อมาในปลายรัชกาลได้เกิดเพลิงไหม้เครื่องบนของพระพุทธปรางค์ปราสาท จึงโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่แต่ยังไม่ทันเสร็จก็ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน

           สมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ พระพุทธปรางค์ปราสาทและตกแต่งเครื่องประดับภายใน พระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร ประดิษฐานพระบรมรูปพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อน ๆ ทั้ง ๕ พระองค์ ในการบูรณะปราสาทพระเทพบิดรครั้งนี้ได้ชะลอพระเจดีย์ทองทั้ง ๒ พระองค์เลื่อนไปไว้ที่มุมด้านทิศตะวันออก รื้อซุ้มประตูและบันไดชั้นฐานประทักษิณปราสาทพระเทพบิดรด้านทิศตะวันออก ด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ทำบันไดใหม่ปูด้วยหินอ่อน รวมทั้งบันไดด้านที่ตรงกับพระศรีรัตนเจดีย์ด้วย นอกจากนั้นโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพนมหมาก ขึ้นที่กำแพงแก้วรอบฐานไพที พร้อม ๆ กับการรื้อซุ้มประตูและบันไดดังกล่าวแล้ว ส่วนที่บันไดทางเข้าพระอุโบสถทั้งด้านหน้าและหลังก็โปรดเกล้า ฯ ให้แก้ขั้นบันไดให้เตี้ยลงและปูพื้นใหม่ด้วยหินอ่อน

           สมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์อาคารต่าง ๆ รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครอบ ๑๕๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ การบูรณะปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ได้ยึดถือหลักการว่า ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ไปตามแบบเดิม เพียงแต่แก้ไขเปลี่ยนแแปลงวัตถุและวิธีการก่อสร้างให้เป็นไปตามหลักวิชาการสมัยใหม่ เพื่อให้อาคารมีความคงทนถาวรยิ่งขึ้น

           สมัยรัชกาลที่ ๘ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นบางส่วน เช่นการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงเป็นต้น

           สมัยรัชกาลปัจจุบัน ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๓ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่กองดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารและสิ่งก่อสร้างทั่วทั้งพระอาราม เพื่อเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ พร้อม ๆ กับการบูรณะในครั้งนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างบุษบกตราแผ่นดิน ขึ้นอีก ๑ องค์ที่ฐานไพทีทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประดิษฐานพระบรมราชสัญลักกษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 30425เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2006 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กำลังสนใจเรื่องนี้พอดีเลยค่ะ  ขอบคุณมากนะคะ  เอกสารอ้างอิง  ได้มาจากไหนคะ

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท