Work group ไม่เหมือนกับ Work team


คุณค่าของการเป็นสมาชิกของทีมหรือกลุ่มนั้น น่าจะอยู่ที่ได้มีส่วนร่วมในการทำงานจริงหรือไม่ และ อยู่ที่ผลของงานมี่ออกมา

เมื่อวันก่อน (18 พ.ค. 49) ได้ไปฟังการบรรยายเรื่อง “Team Building” ในเวทีหัวหน้าภาค ครั้งที่ 16 จัดโดย กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานอธิการบดี  วิทยากรก็คือ ผศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ อดีต ผอ.โรงพยาบาลของพวกเรานั่นเอง  อาจารย์บอกว่า เป็นผู้บริหารมานาน รู้ว่าทีมดีๆ เป็นอย่างไร แต่พอให้บอกว่า สร้างทีมทำอย่างไร ก็ไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร ก็ต้องค้นคว้าหาอ่านมาเล่าให้ฟัง

มีประเด็นน่าสนใจให้คิดต่อ และนำมาบอกกล่าวชาวบล็อก คือเรื่อง work group ไม่เหมือนกับ work team

Work group คือ กลุ่มของคนที่มารวมกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อช่วยในการตัดสินใจในการทำงานหรือดำเนินการใดๆ  กลุ่มทำงานแบบนี้ เราพบโดยทั่วไปในหน่วยงานราชการ ซึ่งเรามักใช้คำว่า “คณะกรรมการ”  กลุ่มทำงานแบบนี้ บ่อยครั้ง เราจะพบว่า ผลงานที่เกิดขึ้น น้อยกว่าศักยภาพของแต่ละคนรวมกัน หรือ 1+1 < 2

Work team คือ การรวมกลุ่มของคน ที่แต่ละคน มีทักษะ ความสามารถ ซึ่งส่งเสริมกันและกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายของงาน จนก่อให้เกิดผลที่มากกว่าผลรวมของการลงแรงของแต่ละคน พูดง่ายๆ คือ 1+1 > 2   การรวมกลุ่มที่เป็น work team หรือ ที่เรามักใช้ว่า team work ที่ชัดเจน เช่นทีมกีฬา เช่น กีฬาฟุตบอล ซึ่งผู้เล่นกองหน้า จะต้องเล่นเข้าขากัน ช่วยเสริมซึ่งกันและกัน จึงจะยิงประตูได้เป็นต้น

ดังนั้น องค์กรไหนๆ ก็คงอยากได้ work team มากกว่า work group แน่นอน  แต่ในหน่วยงานราชการดูเหมือนจะติดที่ตั้งกรรมการ เพื่อดำเนินการเรื่องต่างๆ โดยมักจะเลือกคนมาทำงาน ตามตำแหน่งอย่างเป็นทางการ หรือตามตำแหน่งภายในองค์กร หรือบ่อยครั้งก็เลือกเพื่อให้มีตัวแทนครบทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และก็มักพบสภาพ กรรมการมาประชุมเพียงเพื่อแสดงความคิดเห็น ไม่ได้มีบทบาทความรับผิดชอบชัดเจน
 
กลับมาทบทวนตนเอง ในช่วงที่รับตำแหน่งใหม่ๆ ก็ตั้งกรรมการเต็มไปหมด  จนมาถึงโครงการ Path Otop  ทำกันเป็นทีมทำงานเล็กๆ แต่ก็ได้ผลงานที่เหนือความคาดหมาย เรียกว่าเป็น 1+1 >>>>2 ก็เป็นเรื่องให้เรียนรู้  เมื่อมีงานเข้ามา ก็อยากหาคนมาทำงานเป็นทีม โดยไม่แต่งตั้งในรูปกรรมการมากกว่า  อย่างไรก็ตาม ก็พบความขัดแย้ง (conflict) จากวัฒนธรรมเดิม  มีคนกระซิบว่า น่าจะตั้งเป็น “กรรมการ” ให้เป็นกิจจะลักษณะนะ เพื่อให้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วกัน ไม่แน่ว่า เพราะเขารู้สึกว่า “คณะกรรมการ” ศักดิ์ศรีดีกว่า “คณะทำงาน” หรือไม่

ตรงนี้ ก็อยากสร้าง ค่านิยม ว่า คุณค่าของการเป็นสมาชิกของทีมหรือกลุ่มนั้น น่าจะอยู่ที่การได้มีส่วนร่วมในการทำงานจริงจัง และ อยู่ที่ผลของงานที่ออกมา มากกว่า อยู่ที่การจะได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ (กรรมการ) หรือไม่

อย่างไรก็ตาม รูปแบบกรรมการ ก็ยังอาจเหมาะสมในบางบริบท เช่น งานที่ต้องทำต่อเนื่อง เช่นงานคุณภาพ เป็นต้น ดังนั้น โจทย์ของผู้บริหาร และผู้นำกลุ่ม คือ ทำอย่างไร ให้ work group ในรูปกรรมการต่างๆ ทำงานเป็น team work คือ (1+1 >>>> 2) ให้ได้  ตอนนี้ คงจะต้องไปเรียนรู้จาก อ.เสาวรัตน์ ว่าทำอย่างไร ให้กรรมการ สสพ. เป็น team work ที่มีผลงานยอดเยี่ยมดังเช่นที่ปรากฎขณะนี้

 

คำสำคัญ (Tags): #บริหาร
หมายเลขบันทึก: 30288เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2006 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
เห็นด้วยค่ะ ว่าภาคเราน่าจะสร้างค่านิยม ซะใหม่ เพราะการแต่งตั้งมันก็เป็นแค่ชื่อเท่านั้น น่าจะขึ้นกับผลงานมากกว่า แต่ปัจจุบันพอมีการเขียนภาระงาน ตำแหน่งกรรมการมันก็เป็นแต้มอย่างหนึ่งที่จะนำมาคิดค่ะ ก็อยากจะฝากในการคิดแต้มของกรรมการก็อาจจะมีการประเมินการทำงานของกรรมการด้วย แทนที่จะเป็นคะแนนดิบ อย่างคะแนนกรรมการคณะ  (แต้ม = 10 ) คะแนนกรรมการภาค (แต้ม = 5 )  ---ถ้าจำไม่ผิด
  • ขึ้นกับว่าผู้นำกลุ่มจะทำให้ทีมงานรู้สึกว่า เขากำลังอยู่อย่าง "โดดเดี่ยว" ... หรือ... อยู่ด้วยความ "อบอุ่น"
  • สุดยอดคุณอำนวย  คือคำตอบ...ค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอ

  • ครูอ้อยจะได้ไปสงขลา 25 พ.ค.นี้
  • ครูอ้อย ไม่ทราบว่าจะได้พบท่านอาจารย์หมอ และ คุณเม่ย คุณโอ๋ ที่ครูอ้อยคิดถึงหรือเปล่าค่ะ

คิดถึงอาจารย์หมอเสมอค่ะ

สวัสดีค่ะ ครูอ้อย

ครูอ้อยไปงาน Gotoknow ใช้ใหม่คะ ถ้าใช่ได้เจอกันแน่นอนค่ะ

ขอบคุณมากๆ ค่ะ สำหรับความระลึกถึง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท