มารู้จักภัทรพร ชูสกุล มากยิ่งขึ้นกับนิตยาสาร สกุลไทย


แล้วคุณจะรู้จักเจ้าของกระทู้มากยิ่งขึ้น

  บทกวี-เด็กและเยาวชน  

 

รางวัลแด่ความฝันอันยิ่งใหญ่ของภัทรพร ชูสกุล เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๘
โดย  ปลายวาด

ฉบับที่ 2668 ปีที่  52 ประจำวัน  อังคาร ที่  6 ธันวาคม  2548

 
ภัทรพร ชูสกุล

        “ภัทร พร เพริศเพี้ยง เพลงพิณ
พร ดุริย นาฏศิลป์ เศกแก้ว
ชู มรดก แผ่นดิน ไทยเทิด
สกุล เกียรติประวัติแพร้ว ประภัสร์พร้อม ภัทรพร”

...โคลงกระทู้บทนี้แต่งขึ้นโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ เพื่อมอบให้กับเด็กสาวคนหนึ่ง ซึ่งหลงใหลในเสน่ห์ของนาฏศิลป์ไทยอย่างที่สุด เมื่อครั้งที่เธอได้พบปะ พูดคุยและบอกเล่าเรื่องราวความนัยใจที่มีต่อศาสตร์แขนงดังกล่าวให้ท่านได้ฟัง

สาวน้อยคนนั้น คือ ภัทรพร ชูสกุล หรือ น้องอู๋ บุตรสาวคนโตของคุณพ่อชัชวาล และ คุณแม่ยุวเรศ ชูสกุล เจ้าของเรื่องราวที่เราได้นำมาร้อยเรียงลงบนหน้า “เยาวชนของเรา” ประจำฉบับนี้...

ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเรียนชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษา น้องอู๋เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนราชินี ซึ่งในช่วงเวลานั้นเธอก็ได้เรียนเต้นแจ๊ซซ์ บัลเล่ต์ ตลอดจนโมเดิร์นด๊านซ์ (Modern Dance) เป็นกิจกรรมยามว่างควบคู่ไปกับการเรียนด้วย ครั้นพอถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เธอก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมนาฏศิลป์ของโรงเรียน และมีโอกาสได้ไปชมการแสดงรำละคร ที่ โรงละครแห่งชาติ ประกอบกับที่ทำงานของคุณพ่อ ตั้งอยู่ใกล้ๆกับศูนย์สังคีตศิลป์ ซึ่งจะจัดให้มีการแสดงศิลปะ วัฒนธรรมไทยเป็นประจำทุกวันศุกร์ และน้องอู๋เองก็มักจะติดสอยห้อยตามท่าน เพื่อแวะเวียนเข้าไปดูอยู่เสมอ เธอจึงพบคำตอบให้กับตัวเองอย่างหนึ่งในท้ายที่สุดว่า อยากจะมุ่งหน้าไปตามเส้นทางสายนี้...

“ตอนเด็ก ๆ หนูชอบวาดรูปเล่น แล้วก็มีเรียนเต้นทั่ว ๆ ไปบ้าง จนมาถึงจุดจุดหนึ่งค่ะ จำได้ว่าตอนเรียนอยู่ ป.๖ ที่โรงเรียนพาไปดูละคร ที่โรงละครแห่งชาติซึ่งมีการแสดงรำ ก็รู้สึกว่าสวย แล้วพอดีคุณพ่อก็ทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาใกล้ ๆ กับ ศูนย์สังคีตศิลป์ ซึ่งหนูก็มักจะตามท่านไปดูรำทุกอาทิตย์อยู่แล้ว ดูไปก็รู้สึกว่าสวยดีนะ ก็เกิดความชอบหรือว่าซึมซับหรือเปล่าไม่ทราบนะคะ เพราะอย่างแจ๊ซซ์หรือบัลเล่ต์ ท่าบางท่าจะเป็นภาษาอังกฤษ บางครั้งถึงเราจะรู้ว่าความหมายแปลว่าอะไร แต่ก็ไม่ได้ลึกซึ้ง ขณะที่นาฏศิลป์ไทยเนี่ย เราเป็นคนไทยอยู่แล้ว เรื่องอากัปกิริยาท่าทางต่าง ๆ เราสามารถสื่อสารออกไปได้อย่างเข้าถึงลึกค่ะ แล้วก็คิดว่ามันเป็นมรดกของชาติ น่าที่จะอนุรักษ์เอาไว้ ไม่อยากให้มันสูญหายไป ก็เลยเหมือนมีแรงขึ้นมาค่ะว่า เราเป็นคนไทย น่าจะเรียนนาฏศิลป์ไทย ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทยไว้ค่ะ...

...จากนั้นก็เลยทดลองปฏิบัติ เริ่มเรียนอย่างจริงจังตอนเข้าชมรมนาฏศิลป์ที่โรงเรียนค่ะ พอรำไปรำมาก็ชอบ ถนัด แล้วคุณครูก็แนะนำว่าถ้าชอบจริง ๆ ให้ลองไปสอบเข้าที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ดู ก็เลยตัดสินใจขอคุณพ่อ คุณแม่ไปเรียนที่นั่นค่ะ ตอนแรกท่านก็ตกใจนะคะ เพราะเหมือนกับว่าเราเปลี่ยนทางไปเรียนสายอาชีพ แต่ก็ขอท่านว่าอยากไปเรียนจริง ๆ ท่านก็เลยอนุญาตค่ะ ก็เริ่มเรียนมาตั้งแต่ ม.๑ ซึ่งที่นั่นเขาจะเรียกว่าชั้นต้น ๑ จนถึงตอนนี้ หนูอยู่ชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ ๓ แล้วค่ะ”

อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้เรื่องรำของน้องอู๋ ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในรั้ววิทยาลัยที่กำลังศึกษาอยู่เท่านั้น เพราะด้วยความใฝ่รู้และมุ่งมั่น ได้เป็นแรงผลักดันให้เธอพร้อมที่จะก้าวออกไปแสวงหาคำตอบให้กับบางคำถามที่ค้างคาอยู่ภายในใจ ยังโลกภายนอกอันกว้างใหญ่อีกด้วย เฉกเช่นเมื่อคราวที่เด็กสาวอยากเข้าถึงหัวใจของศิลปะล้านนาอย่าง การตีกลองสะบัดชัย กระทั่งดั้นด้นเดินทางไปไกลถึงจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ของพ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (พื้นบ้าน-ช่างฟ้อน) ปีพ.ศ.๒๕๓๕

“หนูมีความชอบกลองสะบัดชัยอยู่แล้วค่ะ ตอนประมาณม.๒ เคยเห็นพี่ผู้ชายคนหนึ่งตีแล้วรู้สึกว่าเท่ เสียงกลองก็กระหึ่ม และไม่ใช่ว่าตีกลองอย่างเดียว แต่ต้องมีลีลาด้วย ก็รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ น่าดึงดูดดีค่ะ เลยอยากจะลองศึกษาดู เริ่มอย่างจริงจังก็ตอนปวช.ปี ๑ ค่ะ คือ หนูเป็นเลขาฯประจำชมรมไพรีล้านนา เกี่ยวกับกลองสะบัดชัย และพอดีว่าครูและรุ่นพี่ที่สอนเห็นแวว ก็เลยให้ไปสาธิตให้คณะกรรมการของโรงเรียนดู ก็เป็นที่ประทับใจ แล้วคนดูก็จะแปลกใจว่าเออ ...ผู้หญิงตีกลองสะบัดชัยได้ด้วย เพราะว่าค่อนข้างที่จะใช้แรงเยอะ ลีลาก็ต้องได้ บางครั้งก็รู้สึกเหนื่อยค่ะ ทำอย่างไรให้มันดัง ท่าก็ต้องสวย ก็ยากเหมือนกัน แต่เป็นคนชอบท้าทายค่ะ คิดว่าไม่มีสิ่งไหนที่เราทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ลองทำ ก็ฝึกมาเรื่อย ๆ จนพี่ที่สอนอยู่ที่ชมรมซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ เขาบอกว่าให้ลองติดต่อหาครูคำ กาไวย์ ดู...

...ตอนนั้นประทับใจพ่อครูอยู่แล้ว เคยเห็นภาพพ่อครูตอนม.๒ เกี่ยวกับกลองสะบัดชัย และทราบว่าได้รางวัลสาขาช่างฟ้อน ชาวล้านนายกย่องท่านให้เป็นศิลปิน สายตาของพ่อครูดูแล้วอ่อนโยน พอพี่เขายิ่งพูด ก็เลยพยายามไปหาตามนิตยสาร ตามอินเทอร์เนตว่าเขาอยู่ที่ไหน ตอนแรกคืออยากคุยกับพ่อครู แล้วพอได้คุยก็รู้สึกอยากไปเรียนค่ะ เพราะเป็นคนที่อยากรู้อะไรแล้วต้องรู้ให้ลึกซึ้ง ก็เลยขอคุณพ่อ คุณแม่อีกเหมือนกันค่ะ ว่าหนูอยากไปเรียนกลองสะบัดชัย และอยากไปเรียนฟ้อนดาบด้วย ก็ทำให้คุณแม่ตกใจอีกครั้งค่ะ หลังจากที่ขอย้ายโรงเรียน คราวนี้จะขึ้นไปเรียนที่เชียงใหม่ตัวคนเดียวอีก...

ภัทรพร ชูสกุล

...คืออยากจะไปจริง ๆ ค่ะ อยากไปหาความรู้ ไหน ๆ ครูเขาก็เปิดโอกาสให้เราแล้ว ไม่อยากให้โอกาสนี้เสียไป คุณพ่อก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นพ่อไปด้วย ...ก็ไปกัน ๒ คนค่ะ ไปตามหาบ้านครูที่ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง ไปพักที่วัดใกล้กับบ้านครู ๒ อาทิตย์ ตอนแรกอยากจะอยู่เป็นเดือนเลย แต่ก็เกรงใจพ่อครูและวัดด้วย ก็เลยขอเวลาเท่านี้โดยที่เราจะตั้งใจเรียน ฝึกตลอด ตั้งแต่เช้าจนถึง ๓-๔ ทุ่มเลย พ่อครูเขาก็เอ็นดูเราค่ะ ก็ได้ความรู้ต่าง ๆ ทั้งเรื่องตีกลองและฟ้อนดาบ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนแถวนั้น แล้วก็ได้ความรักจากพ่อครู และชาวบ้านซึ่งอาจจะดูเล็กน้อยในสายตาของคนอื่น ๆ แต่มีคุณค่ามากสำหรับหนูค่ะ”

ครั้นเมื่อใช้เวลาทุ่มเทให้กับทั้งการเรียนนาฏศิลป์และการทำกิจกรรมซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งยังได้นำความอ่อนช้อย งดงามออกไปแสดงตามโอกาสต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างไม่ขาดสายแล้ว ก็ทำให้ฝีไม้ลายมือในการร่ายรำของเธอพัฒนาขึ้นมากเป็นลำดับ จนกระทั่งได้รับประกาศนียบัตร และโล่รางวัลมาเป็นเครื่องหมายการันตีความสามารถของเธอมากมาย เช่น...

เมื่อพ.ศ.๒๕๔๕ ได้รับคัดเลือกเป็นทูตวัฒนธรรมของประเทศไทย ไปแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ณ ประเทศตุรกี พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับคัดเลือกให้แสดงศิลปวัฒนธรรมไทยในงานประชุม 55th Annual General Conference of Iaeste พ.ศ.๒๕๔๗ ได้รับคัดเลือกให้เป็นทูตวัฒนธรรมของประเทศไทย ไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ณ นครกวางโจวและมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับคัดเลือกให้เป็นเยาวชนอาเซียน เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมในโครงการค่ายเยาวชนอาเซียน (Asean Youth Camp) ในหัวข้อ “บทบาทของเยาวชนในเรื่องมรดกวัฒนธรรม” ณ ประเทศกัมพูชา และที่สร้างความปลื้มปีติให้กับเธอ และครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง คือ การได้รับการคัดเลือกให้เป็น เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาศิลปวัฒนธรรม ประจำปี ๒๕๔๘

“สำหรับหนูแล้ว การเรียนนาฏศิลป์ให้ทั้งความรู้และโอกาส อย่างเช่น รางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติที่เพิ่งได้รับมา เป็นอะไรที่ภูมิใจที่สุดในชีวิตค่ะ เหมือนกับว่าที่เราเรียนรำต่าง ๆ มานั้นสัมฤทธิผล คือ ทำให้คนอื่น ๆ ยอมรับในความสามารถทางด้านนาฏศิลป์ไทยของเราได้ แล้วก็ได้เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ได้ทำอะไรเพื่อสังคมด้วย ก็ต้องขอขอบพระคุณคุณพ่อ คุณแม่ด้วยค่ะที่คอยสนับสนุนให้ได้ทำในสิ่งที่รักและชอบมาตลอด ...ตอนนี้คิดไว้ว่าถ้าเรียนจบแล้วก็จะต่อปริญญาตรีที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในเครือของวิทยาลัยนาฏศิลป์เลยค่ะ เพราะรู้สึกว่าเราเกิดที่นี่ อยู่ที่นี่แล้ว ก็ขอจบปริญญาตรีที่นี่ด้วยเลยละกัน หลังจากนั้นก็อยากจะไปเป็นครูค่ะ”

สุดท้าย บทสนทนาก็จบลงไปด้วยความประทับใจทั้งที่เรามีต่อเยาวชนคนเก่งคนนี้ และที่ตัวเธอเองมีต่อศิลปะอันเป็นที่รักซึ่งเห็นได้จากดวงตาเป็นประกาย ฉาบทอด้วยรอยน้ำตาบาง ๆ บนใบหน้าเปี่ยมสุข อันเกิดจากความซาบซึ้งเมื่อเอ่ยถึงสิ่งที่ได้ทำ พร้อมกับคำกล่าวที่น้องอู๋ฝากเอาไว้ว่า...

“เราเป็นคนไทยค่ะ ถึงในบางครั้งเราอาจจะรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาซึ่งก็ไม่ปฏิเสธว่าส่วนดีก็มีอยู่เยอะนะคะ แต่บางอย่างที่ไม่ดี เราก็ไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง จึงอยากให้ช่วยกันรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยเอาไว้ เพราะมันเป็นความภาคภูมิใจของชาติ ‘รักษ์ไทย’ ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออย่างที่คิดค่ะ ลองเปิดประตูความคิด มาสัมผัสกันดูบ้าง แล้วจะรู้ว่าประเทศเรามีศิลปะที่งดงาม น่าหวงแหน รักษาอยู่ค่ะ”

หมายเลขบันทึก: 301975เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2009 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ก้อชื่นชมกบน้องสาวคนนี้นะ

ขอบคุณมากที่ตอนงานย่าวงษืที่น้องอู๋มารำให้ย่า สวยงามมาก

ก็ขอให้ก้าวเดินตามฝันให้เร็วที่สุดและไขว่คว้าความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสมควรรู้มาให้ได้นะ

ขอแสดงความดีใจกับครอบครัว ชูสกุลด้วย ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวที่น่ารัก ความดีงามของครอบครัวนี้มีมาก ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จงคุ้มครองครอบครัวชูสกุลและขอให้โชคดีตลอดไปด้วย

สวัสดีครับหนูภัทร...

ลุงอ่านแล้วชื่นชมหนูมาก  ที่เห็นคุณค่าของศิลปะล้านนา..หากมีเวลาว่างได้ไปเชียงใหม่เชิญแวะที่แหล่งเรียนรู้ผะหญาล้านนา  สวนชาปิ้งหินไฟ... บ้านป่ารวก  ต.ดอนแก้ว  อ.แม่ริม  จ.เชียงใหม่   อยู่หน้าศูนย์ราชการ  หัวสะพานข้ามน้ำปิงด้านตะวันตก..

ลุงยินดีให้ความรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับล้านนาครับ...

ด้วงยความปรารถนาดีจากลุงหนาน....พรหมมา

อยากทราบว่ารู้จักกับผู้แสดงเป้นพระอินทร์แปลงที่ชื่อสัจจะ ภู่แพ่งสุทธิ กับภานุพล กาญจนกฤต พอดีทำศิลปนิพนธ์เกี่ยวกับฉุยฉายอินทรชิตของครูไพฑูรย์ เลยอยากสัมภาษณ์คะ ถ้ารู้ช่วยโทกับมาเบอร์0825459512ด้วยคะ

ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท