สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 8 ขาดความรับผิดชอบ


ขอให้นึกถึงความรับผิดชอบที่มีต่อบ้านเกิดเมืองนอน ร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่โดดเด่น มีรูปแบบที่ถูกต้องสมบูรณ์เอาไว้ อาจจะลำบากสักนิด ยังดีกว่าที่จะเก็บสะสมเอาข้อผิดพลาดบกพร่องมาเก็บไว้

สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจ 

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 8)

ขาดความรับผิดชอบต่อบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน)

         ที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดเดียวที่จัดเวทีส่งเสริมการแสดงเพลงอีแซวสุพรรณฯ มานาน เป็นยิ่งกว่าการอนุรักษ์ เป็นยิ่งกว่าการสืบสานศิลปะท้องถิ่น เพราะที่นี่คือแหล่งกำเนิดเพลงอีแซวตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว ในวันนี้วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร มีน้าจำลอง รุญเจริญ เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องไม่เคยขาดตอน

         วันนี้น้าจำลอง รุญเจริญอายุมากแล้ว เริ่มไม่คล่องตัวในการเดิน การเคลื่อนไหว (ยังถีบจักรยานได้) ท่าจะเดินเข้าออกระหว่างบ้านของท่านกับวัดป่าเลไลยก์ทุกวัน (บ้านท่านอยู่หน้าวัด) แล้วจะมีใครมาแทนท่านได้ หรือ ณ สถานที่อื่น ๆ จะมีคนที่คิดอย่างท่านอีกบ้างไหม ความจริงในส่วนลึก ๆ มาจากคณะกรรมการทั้งหมด แต่ว่าถ้าที่มีกรรมการที่เข้มแข็งสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นได้ยากมาก ครับ

       

        นักเรียนของผมยังเสนอความเห็นเอาไว้อีกบางประเด็นเท่าที่ผมพอจะหยิบยกเอามานำเสนอในบทความนี้ได้ คือ การขาดความรับผิดชอบต่อบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง  เด็ก ๆ หลายคนถามผมว่า “อาจารย์ทำเพลงพื้นบ้านมานานก่อนที่พวกผม/หนูจะเข้ามาอยู่ในโรงเรียนนี้เสียอีก อาจารย์ไม่เบื่อบ้างหรือ ครับ/ค่ะ” ผมตอบนักเรียนไปว่า “ก็มีเบื่อบ้าง บางครั้งครูก็อ่อนล้า หมดแรง เหนื่อยใจ แต่ว่าไม่ใช่มีที่มาจากเด็ก ๆ ในวงเพลงพื้นบ้านของโรงเรียน แต่สิ่งที่ทำให้ครูท้อแท้ มาจากสภาพแวดล้อมและผลกระทบจากที่อื่น ๆ ต่างหาก”

        ผมพูดคุยกับนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเล่าถึงที่มาของการทำวงเพลงพื้นบ้าน โดยที่ครูไม่คิดว่า จะตั้งวงเพลงออกไปรับใช้สังคมได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะจุดเริ่มต้นมาจาก ครูรัก ครูสนใจ ครูอยากร้องรำทำเพลง จึงฝึกหัดเอาไว้เป็นความรู้ติดตัวแล้วค่อย ๆ พัฒนาจนมีความสามารถสูงขึ้นเพราะได้รับความรู้จากครูเพลงหลายท่านสอนให้ครูทำได้ ทำเป็นถูกรูปแบบแนวทาง (ได้เล่นเพลงกับนักแสดงรุ่นครู) มันเป็นความใฝ่ฝันที่มีติดตัวมานานโดยที่ไม่มีใครชักชวน  ไม่มีใครบังคับ แล้วเด็ก ๆ เขาก็ขอให้ผมร้องเพลงขอทานให้ฟัง พอผมร้องจบเด็ก ๆ บอกว่า “ไม่เหมือนกับที่เขาได้ยินจากละครโทรทัศน์”

        ในฐานะที่เราเกิดมาบนแผ่นดินที่มีศิลปินเก่าก่อนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะการแสดงทีมีอายุนับ 100 ปี ผมมีความภาคภูมิใจในศิลปะพื้นบ้านทุกภาคของประเทศไทย เป็นความสวยงาม เป็นวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกัน แต่มีความเหมือนกันที่ เป็นความสนุกสนาน บันเทิง สุขหัวใจเมื่อได้เข้าไปสัมผัส หากไม่มีการสานต่อแล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ผมจึงทำงานเพลงพื้นบ้าน และทำงานศิลปะอีกหลายอย่างควบคู่กันมาตลอดเวลายาวนานในการรับราชการเกือบ 40 ปี และตลอดชีวิตของผม ย่างเข้าปีที่ 59 แล้ว ในทุกลมหายใจยังแว่วแต่เสียงร้องของครูเพลงที่สอนผมมาไม่ขาดสาย

          ผมไม่มีวาสนาที่จะได้ทำหน้าที่ที่ใหญ่โต ผมไม่มีอำนาจที่จะสั่งการหรือดลบัลดานให้ใครทำอะไรก็ได้ ผมมีเพียงความสามารถที่ติดตัวมานานด้วยการฝึกฝนพอที่จะนำเอามาอบรมแนะนำลูกศิษย์ที่ผมสอน และเด็ก ๆ ที่สนใจเพลงพื้นบ้าน ได้รับการถ่ายทอภูมิปัญญาแขนงนี้ไปสู่ผู้อื่นโดยไม่คิดเสียดาย

        

        

ยังมีศิลปินตัวจริงอีกหลายท่านที่มีความคิดอย่างนี้ ได้แก่

         - พี่ขวัญจิต  ศรีประจันต์ (ศิลปินแห่งชาติ)

         - พี่สุจินต์ ศรีประจันต์ (ศิลปินดีเด่นจังหวัด)

         - ขวัญใจ  ศรีประจันต์  (น้องสาวพี่ขวัญจิต)

         - นกเอี้ยง  เสียงทอง  (นักเพลงอาชีพ)

         - นกเล็ก  ดาวรุ่ง  (หัวหน้าคณะเพลงอีแซว) และอีกหลาย ๆ คน พวกเรายินดีที่จะถ่ายทอดความรู้จนหมดตัว เพื่อเป็นวิทยาทานต่อเด็ก ๆ รุ่นหลัง เพียงแต่ว่าไม่มีผู้ที่จะเข้ามารับความรู้หรือที่มาก็เพียงส่วนน้อย อยากให้นึกถึงความรับผิดชอบที่มีต่อบ้านเกิดเมืองนอน ร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่โดดเด่น มีรูปแบบที่ถูกต้องสมบูรณ์เอาไว้ อาจจะลำบากสักนิด ยังดีกว่าที่จะเก็บสะสมเอาข้อผิดพลาดบกพร่องมาเก็บไว้

(ติดตามตอนที่ 9 สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น)

 

หมายเลขบันทึก: 301460เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2009 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • อยากถามอยาจารย์ว่า งานเขียนของอาจารย์มีมากมายขนาดนี้ ชาวบ้านจริง ๆ ได้อ่านบ้างไหม
  • อาจารย์พิมพ์เผยแพร่บ้างหรือเปล่า
  • อาตมาคิดว่าคนในชุมชนบ้านอาจารย์ถ้าได้อ่านงานอาจารย์น่าจะภูมิใจมาก
  •  เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องที่หมู่บ้านตนมีของดีอยู่
  •  ประมาณว่าบ้านของตัวมีเรื่องมาคุยมาอวดชาวบ้านเขาเมื่อได้คุยกับคนอื่น
  • ส่วนนักเรียนน่าจะมีข้อมูลพูดคุยกันเพื่อนต่างถิ่นได้เยอะแยะ
  •  และสามารถโชว์ของดีที่บ้านตนมีแก่ผู้อื่น
  • น่าดีใจแทนชาวด้วย ที่ชุมชนบ้านอาจารย์ไม่ว่างเปล่าในโลกอินเตอร์เน็ต

ขอเจริญพร

นมัสกาล ท่านมหาแล ที่เคารพ

  • ขอกราบขอบคุณท่านอีกครั้ง ครับ ที่ให้ความเมตตา คนเล่นเพลงพื้นบ้านแก่ ๆ คนหนึ่ง
  • งานเขียนของผมมีลงในวาสารของมหาวิทยาลัยราชมงคล และในระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ gotoknow.org เฉพาะในบางเรื่อง ครับ ชาวบ้านคงเข้าไมถึง
  • อีกส่วนเคยลงในหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ แต่ก็หลาย ๆ ปีมาเก็บเรื่องราวไปลงให้ครั้งหนึ่งก็มีหลายฉบับ เดลินิวส์ บ้านเมือง มติชน ชนบท คมชัดลึก ฯลน
  • นักเรียนมีข้อมูลจากการเรียนรู้ในวิชาเพิ่มเติมกับผมหลายกลุ่ม ครับ และวงเพลงพื้นบ้านของโรงเรียนออกไปรับใช้สังคมมานาน 18 ปี เศษล่าสุดได้โล่รับรางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ โดยรัฐสภา (15 กันยายน 2552)
  • ส่วนนิสิต นักศึกษา อาจารย์จากสถาบันระดับมหาวิทยาลัยก็มีมาเยี่ยมเยือนเสมอ ๆ
  • ภาพการแสดงจะไปปรากฏในจอโทรทัศน์มีมากครับ 119 ครั้งในทุกช่องทีวี และจะยังมีอีกหลายรายการทั้งฟรีทีวี และเคเบิลทีวี
  • เด็ก ๆ เขาจบออกจากโรงเรียนไปก็มีที่เรียนต่อกันดี ๆ เพราะความสามารถพิเศษนี้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท