แนวทางการดำเนินชีวิตให้มีความสุขในสังคมยุคใหม่


มีระเบียบวินัยในการทำงาน การประหยัดอดออม จริยธรรมวิชาชีพ และครอบครัวมีสุขจากการทำงาน

 

1. ความมีระเบียบวินัยในการทำงาน

          ความมีระเบียบวินัยในการทำงาน หมายถึง การรู้จักการทำงานอย่างมีขั้นตอน และมีความรับผิดชอบทุกขั้นตอนของการทำงาน ซึ่งมี 3 ขั้นตอน คือ

          1. การเตรียมตัวก่อนการทำงาน ในการทำงานทุกอย่างต้องมีการเตรียมตัว ก่อนการทำงาน งานจึงจะสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งมีขอบข่ายการเตรียมตัวก่อนการทำงาน ดังนี้

              1.1 จัดหาอุปกรณ์ เครื่องใช้ และตรวจทดลองว่าใช้การได้หรือไม่

              1.2 ประสานกับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความจำเป็นมาก ในการทำงาน เพราะงานบางอย่างต้องอาศัยความร่วมมือกับผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่น

              1.3 วิเคราะห์ปัญหาหรืออุปสรรคที่จะเกิดในการทำงานแต่ละครั้ง รวมทั้งเตรียมเลือกแนวทางการแก้ปัญหาไว้หลาย ๆ แนวทาง

              1.4 การเตรียมตนเองก่อนการทำงาน เช่น สุขภาพร่างกาย

ตลอดจนความพร้อมด้านวิชาการ หรือประสบการณ์ในงานที่จะทำ

              1.5 การกำหนดแผนงานก่อนการทำงาน หมายถึง การเอาแผน ปฏิบัติงานมาปฏิบัติให้เป็นจริง ต้องมีการเตรียมการก่อนการลงมือปฏิบัติ

          2. การรักษาระเบียบวินัยในระหว่างการปฏิบัติงาน เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เพราะงานจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุเป้าหมายของงานที่ทำ ควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้

              2.1 การเต็มใจทำงานโดยใช้ความรู้ความสามารถของตนอย่างเต็มที่ ไม่ออมแรง

              2.2 ปฏิบัติงานตามระเบียบหรือขั้นตอนในแผนปฏิบัติการที่วางแผนล่วงหน้าใน

ขั้นแรกไว้แล้ว โดยจัดลำดับความสำคัญของงานให้ชัดเจน ไม่ควรทำงานข้ามขั้นตอน

              2.3 เมื่อเกิดปัญหาในระหว่างการปฏิบัติงาน ควรแจ้งผู้เกี่ยวข้องให้รับทราบทันที ไม่ควรปล่อยปัญหาให้ล่วงเลยจนไม่สามารถแก้ไขได้

              2.4 การประสานงานกับบุคคลอื่นในระหว่างการปฏิบัติงานร่วมกัน ควรเป็นไป ด้วยความราบรื่น ไม่ควรนำเรื่องอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจต่อกันมาพูดใน

ระหว่างการปฏิบัติงาน

              2.5 ในระหว่างการปฏิบัติงาน ควรใช้ความอดทน อดกลั้น ต่อภาวะกดดันที่เกิดขึ้น

ในระหว่างปฏิบัติงาน โดยมุ่งมั่นให้งานได้เสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้

              2.6 ในระหว่างการปฏิบัติงานควรมีช่องว่างของการพักผ่อนในระยะเวลาอันสั้น เพื่อลดความตึงเครียด ทำให้จิตใจสบาย

              2.7 สรุปและนำเสนอผลงาน เป็นช่วงสุดท้ายของการปฏิบัติงาน ควรมีการทำทุกวันก่อนเลิกงานและนำเสนอหัวหน้างาน หรือบันทึกผลการสรุปงานไว้เป็นหลักงานเพื่อที่จะได้เริ่มงานในวันต่อไป

          3. การสร้างระเบียบวินัยหลังการปฏิบัติงาน หลังจากสรุปงานในแต่ละครั้งหรือแต่ละวัน ก็จะต้องมีการเก็บงาน ซึ่งมีทั้งงานที่ปฏิบัติเสร็จเรียบร้อยกับงานที่กำลังดำเนินการ ควรมีแนวทาง ในการปฏิบัติดังนี้

              3.1 เก็บเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ที่ใช้ปฏิบัติงานให้อยู่ในสภาพปกติ ทำความสะอาด และเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย

              3.2 เก็บเอกสารงานที่ปฏิบัติให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะดำเนินการในวันต่อไปได้

              3.3 สรุปปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงาน เพื่อหาแนวทางแก้ไขในวันต่อไป หรือสรุปเพื่อเป็นแนวทางให้บุคคลที่จะรับช่วงงานต่อจากตัวเราให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น

 

แนวทางการสร้างความมีระเบียบวินัยในการทำงานให้เกิดขึ้นกับบุคคลหรือหน่วยงาน

          ความมีระเบียบวินัยในการทำงานเป็นอุปนิสัยส่วนบุคคลที่เกิดจาก การให้การศึกษาและการอบรมเลี้ยงดูเมื่อเยาว์วัย แต่ก็สามารถให้การศึกษา พัฒนาให้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ โดยวิธีการดังนี้

          1. การฝึกฝนด้วยตนเอง โดยวิธีการเตือนตนเองอยู่เสมอว่า ในแต่ละวันได้ทำอะไรบ้าง และจะทำอะไรก่อนหลัง ก็จะเกิดความเคยชินและติดเป็นนิสัยตลอดไป

          2. การฝึกฝนให้ตนเป็นคนเคารพต่อกฎเกณฑ์ของส่วนรวม หรือของหน่วยงาน

          3. การฝึกฝนความรับผิดชอบ ทำงานตรงต่อเวลา

          4. การเอาใจใส่ในภารกิจส่วนตัวทุกเรื่อง มีความคิดตริตรองรอบคอบ

          5. ฝึกเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และให้ความเคารพ ต่อความคิดเห็นของผู้อื่น

          6. ฝึกให้เป็นคนรักความสะอาด ชอบสิ่งที่สวยงาม รู้จักการปรับสภาพ แวดล้อมให้สะอาดตา เจริญใจ จะทำให้ชีวิตสดชื่น

 

2. การประหยัดและอดออม

          การรู้จักประหยัดและอดออม จะเป็นแนวทางการ ดำเนินชีวิตให้มีความสุข มีความมั่นคงในชีวิตครอบครัว ในยุคปัจจุบัน เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงข้อมูลข่าวสาร การสร้างหลักประกัน ให้เกิดกับตนเองและครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะบุคคลในวงการธุรกิจจะต้องสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ ถ้าทำงานผิดพลาดอาจทำให้ถึงกับล้มละลายได้ในทันที ดังนั้น บุคคลที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จจะต้องรู้หลักวิธีการ ประหยัดและอดออมตามแนวทาง ดังนี้

          1. การรู้จักเลือกใช้สิ่งของให้เหมาะสมกับฐานะ ความเป็นอยู่ของตนเอง โดยเลือกใช้วัสดุสิ่งของที่ผลิตและจัดหาได้ภายในท้องถิ่น

          2. การรู้จักวิธีการออมทรัพย์ตามระบบของหลักการสหกรณ์ โดยมีการรวมกลุ่มกันผลิต หรือเลือกใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศของเรา

          3. การจัดหาให้ได้มากแต่ใช้ให้น้อย เหลือเก็บไว้เป็นหลักประกันในอนาคต

          4. การรู้จักนำเอาวัสดุที่ใช้แล้วกลับคืนมาใช้ประโยชน์อีก เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้บ้าง

          5. การขจัดความซ้ำซ้อนของงาน จะช่วยในการลดค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนในการผลิต

          6. การใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่แทนแรงงานคนและสัตว์ ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงไปเป็นจำนวนมาก

          7. การปรับปรุงหน่วยงานให้กะทัดรัด ลดขั้นตอนบางขั้นตอนที่ไม่สำคัญออก ก็จะทำให้หน่วยงานมีความคล่องตัว ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย

 

3.  จริยธรรมวิชาชีพ

          จริยธรรมวิชาชีพ หมายถึง การประกอบอาชีพที่สุจริต มีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพที่ตนทำอยู่ โดยยึดหลักคุณธรรมและ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ดูถูกงานอาชีพของตน การที่บุคคล มีจริยธรรมวิชาชีพ ก็จะช่วยให้สังคมมีความสุข ไม่มีปัญหาวุ่นวาย จากการแย่งอาชีพหรือแข่งขันจนเกิดความไม่สงบในสังคม ดังนั้น การทำงานให้มีความสุขและประสบความสำเร็จ จะต้องมีจริยธรรม ในการประกอบอาชีพ ก็จะเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตให้มีความสุข ในสังคมยุคใหม่ หลักการของจริยธรรมวิชาชีพ

          1. ความรักความศรัทธาในอาชีพ เป็นจริยธรรมวิชาชีพทุกอาชีพ เพราะการมีความรักความ ศรัทธาในงานที่ทำ ก็จะเป็นการส่งเสริมให้การทำงานมีความสุข งานจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ถ้าขาดความรักความศรัทธาในอาชีพ ที่ทำอยู่ จะเกิดความไม่มั่นใจในการทำอาชีพนั้น จะคิดเปลี่ยนงาน ทิ้งงาน และหนีงานในที่สุดการสร้างความรักความศรัทธา ในอาชีพทุกอาชีพจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้อาชีพมีความมั่นคง

          2. ความซื่อสัตย์สุจริตในวิชาชีพ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการประกอบการงานทั้งปวง เพราะความซื่อสัตย์ สุจริตจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจ มีความสบายใจ ในการทำงาน การปฏิบัติงานก็จะราบรื่น สามารถทำงานได้อย่างสง่าผ่าเผย ก็จะเป็นจุดเด่นในงานอาชีพนั้น ได้รับการยอมรับจากบุคคลทุกวงการ การส่งเสริมให้บุคคลทุกอาชีพมีความซื่อสัตย์สุจริต จึงเป็นแนวทางหนึ่ง ที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตในสังคมยุคปัจจุบันดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย

บังเกิดผลดีต่อชาติบ้านเมือง

          3. การให้ความเคารพต่อกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือจรรยาบรรณในวิชาชีพ ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อจริยธรรมวิชาชีพเพราะงานอาชีพบางอย่างมีข้อบังคับ พิเศษที่ผู้ประกอบอาชีพถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ถ้าหากฝ่าฝืนอาจทำให้ไม่สามารถ ประกอบอาชีพต่อไปได้ เช่น จริยธรรมวิชาชีพแพทย์ ต้องมีคุณธรรมที่จะรักษาคนป่วย โดยไม่เลือกเพศ วัย หรือฐานะความเป็นอยู่ ถ้าแพทย์ทิ้งคนป่วย ไม่ให้การดูแลรักษา ก็จะถูกถอนใบประกอบอาชีพ ดังนั้น จริยธรรมวิชาชีพมีความสำคัญมาก การฝึกฝนให้บุคคลให้ความเคารพในกฎข้อบังคับของวิชาชีพ ก็จะช่วยให้การทำงานมีความสุข ดำรงตนเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติสืบไป

          4. ยกย่องให้เกียรติผู้ประกอบอาชีพเดียวกัน จุดบกพร่องอันหนึ่งในสังคมไทยในปัจจุบัน คือ การไม่ยกย่องให้เกียรติกัน เพราะสภาพของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมบีบบังคับให้ต้องแข่งขันแย่งงานกันทำ จึงดูเหมือนว่าบุคคลที่ทำอาชีพเดียวกันไม่ยกย่องหรือให้เกียรติผู้ประกอบอาชีพ เดียวกัน ทำให้ขาดจริยธรรมวิชาชีพ ดังนั้น การสร้างความเข้าใจให้บุคคล ในวงการอาชีพเดียวกัน เกิดความสำนึกในเกียรติภูมิศักดิ์ศรีในวิชาชีพตน ก็จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเดียวกันได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพปัจจุบันและปัญหาในแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย

          5. การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความมั่นคงในวิชาชีพ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะ ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในอาชีพ เพราะการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นชมรม หรือสมาคม จะช่วยให้การแบ่งพื้นที่หรือขอบเขตที่เป็น ธรรมในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเดียวกัน การทำงานก็จะได้รับความ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เกิดความรัก ความสามัคคี ก็จะทำให้การทำงาน มีความสุข มีความมั่นคงในอาชีพของตน

 

4. ครอบครัวมีสุขจากการทำงาน

          ความสุขที่ได้จากการทำงาน เป็นความสุขส่วนตัวและ ความสุขภายในครอบครัว เป้าหมายในชีวิตของคนเราไม่มีอะไร ยิ่งใหญ่ไปกว่าการสร้างความมั่นคงให้เกิดความสุข ความสมหวังใน ชีวิตครอบครัว งานอาชีพทุกงานต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของ สมาชิกในครอบครัว แนวทางการดำเนินชีวิตให้มีความสุขในสังคมยุคใหม่ จุดเริ่มต้นน่าจะอยู่ที่การสร้างความสุขให้เกิดในครอบครัว แนวทางการทำงานให้มีความสุขในชีวิตครอบครัว

          1. การเลือกงานเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ในสังคมยุคปัจจุบัน ความเจริญทางวิทยาศาสตร์เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการนำเครื่องทุ่นแรงมาใช้แทนแรงงานคนและสัตว์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน หรือการแย่งงาน การจัดการศึกษา ไม่สามารถสนองตอบความต้องการของบุคคลได้อย่างทั่วถึง ทำให้มีปัญหาในการเลือกงาน ปัญหาการว่างงาน และปัญหาการทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษา แนวทางการแก้ไข คือ ควรที่จะเปลี่ยนแนวคิดของบุคคลในสังคมตั้งแต่เยาว์วัย ให้รู้จักการช่วยเหลือตนเอง ด้วยการคิดและสร้างงานในอาชีพอิสระให้มากขึ้น งานที่จะทำให้ชีวิตมั่นคงมากที่สุดในสังคมปัจจุบันนี้ ก็คือ งานอาชีพอิสระที่เริ่มต้นจากการริเริ่มของสมาชิกในครอบครัว

          2. การเลือกคู่ครองเพื่อสร้างความสุขในชีวิตครอบครัว การทำงานอย่างมีความสุขจะต้องเกี่ยวพันกับการเลือกคู่ครอง เพราะในชีวิตครอบครัวจะครองรักครองเรือนกันอย่างมีความสุข ชีวิตสมรสต้องมีความสมดุลกันทุกด้าน โดยเฉพาะด้านจิตใจ ต้องมีความจริงใจต่อกัน มีความซื่อสัตย์ต่อกัน รวมทั้งต้องช่วยกันสร้างฐานะให้อยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุข คนทำงานหลายคนเกิดความท้อแท้ผิดหวังจากชีวิตคู่ ทำให้พลอย เสียงาน เสียอนาคต กับการเลือกคู่ครองที่ผิดพลาด ดังนั้น เพื่อให้ การทำงานมีความสุขจึงควรเลือกคู่ครองที่มีความรัก ความศรัทธา ในงานอาชีพซึ่งกันและกัน จะช่วยให้อยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่นตลอดไป

          3. การทำงานเพื่อสร้างอนาคตให้กับครอบครัว บุคคลที่ประสบ ความสำเร็จในชีวิตและการงาน ควรจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

                   3.1 ขยัน

                   3.2 อดทน

                   3.3 พยายาม

                   3.4 จริงจังและจริงใจ

                   3.5 ซื่อสัตย์ กตัญญู

                   3.6 ขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ

                   3.7 มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

          4. การกระทำความดี ละเว้นการทำชั่ว ถือเป็นหลักสำคัญ ทางพุทธศาสนา ในการทำงานให้มีความสุขในชีวิตครอบครัว ต้องยึดหลักธรรมและนำมาปฏิบัติให้เป็นจริง จึงขอเสนอแนะแนวทางทำให้ชีวิตมีความสุข โดยใช้หลักความจริง 8 ประการ ดังนี้

                   4.1 ขยันประกอบสัมมาอาชีวะ

                   4.2 ขยันเอาชนะสิ่งชั่วมั่วตัณหา

                   4.3 ขยันพูดแต่สิ่งดี มีเมตตา

                   4.4 ขยันหาความรู้เชิดชูตน

                   4.5 ขยันคิดเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์

                   4.6 ขยันขจัดมวลกิเลส มีเหตุผล

                   4.7 ขยันทำกิจกรรมเพื่อปวงชน

                   4.8 ขยันพ้นการพนัน สุขสันต์เอย

          5. สนุกกับการทำงาน การหาความสุขหรือสนุกกับทำงาน หมายถึง การทำงานด้วยความพอใจ ทำงานด้วยความเต็มใจ ตั้งใจทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

                   5.1 บรรลุเป้าหมาย คือ การทำงานจนเสร็จเรียบร้อย

                   5.2 ทันเวลา คือ เป็นไปตามกำหนดที่ตั้งไว้

                   5.3 ได้ผลตามเกณฑ์ที่คาดหมาย คือ มีประสิทธิภาพและถูกต้อง

          การทำงานให้มีความสุขในชีวิตครอบครัว มีความสนุกกับการทำงาน จะต้องมีความตั้งใจจริง มีความเสียสละ ให้คิดเสมอว่า เราทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมบ้าง โปรดอย่าคิดว่าสังคมจะทำประโยชน์อะไรให้กับเรา

หมายเลขบันทึก: 300518เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท