คุณธรรมและจริยธรรม (๑)


บทบัญญัติของความดีและความงามของจิตใจที่ส่งผลให้บุคคลประพฤติดีประพฤติชอบ

ความรู้เบื้องต้น

          คุณธรรมและจริยธรรมเป็นเสมือนบทบัญญัติของความดีและความงามของจิตใจที่ส่งผลให้บุคคลประพฤติดีประพฤติชอบ คุณธรรมและจริยธรรมจึงเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อการประกอบการในวิชาชีพของบุคคลในทุกสาขาอาชีพ การทำความเข้าใจกับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมจะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีความตระหนักถึงคุณประโยชน์และโทษที่เป็นผลสืบเนื่องจากการมีคุณธรรมจริยธรรมและการขาดคุณธรรมและจริยธรรม นักจริยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้ให้ความหมายของคุณธรรมและจริยธรรมทั้งที่เป็นพื้นฐานของความคิดและความหมายที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับพฤติกรรมในด้านอื่น ๆ ด้วย  ดังที่ อาริสโตเติล (Aristotle)ได้กล่าวถึงความหมายของธรรมชาติและคุณธรรมจริยธรรมว่าเป็นคุณลักษณะที่ทำให้ปัจเจกชนทั้งหลายอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข (จำเริญรัตน์ เจือจันทร์, 2548) ความสุขจึงมีความเชื่อมโยงกับคุณธรรมและจริยธรรมด้วยเช่นกัน จากผลการศึกษาและงานวิจัยคุณธรรมและจริยธรรมในหลายสถานการณ์ที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมด้านคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ ได้

 

ความหมายของคุณธรรมและจริยธรรม 

          คุณธรรม ประกอบด้วยคำสองคำ คือ คำว่า คุณ แปลว่า ประโยชน์ และคำว่า ธรรม ในทำนองเดียวกันกับคำว่า จริยธรรม ก็ประกอบด้วยคำว่า จริย แปลว่า ความประพฤติที่พึงประสงค์ ทั้งคุณธรรมและจริยธรรม มีคำว่า ธรรม เป็นคำร่วม ซึ่ง พระเทวินทร์ เทวินโท (2544) อธิบายความหมายของคำว่าธรรม ว่า หมายถึง ความจริง ความประพฤติดี ความถูกต้อง คุณความดี ความชอบ คำสั่งสอน ดังนั้นเพื่อความเข้าใจในความหมายของทั้งสองคำนี้จึงควรพิจารณาคำนิยามตามแนวทัศนะของจริยศาสตร์และสังคมศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย

         คำว่า  คุณธรรม (Moral)  และจริยธรรม  (Ethics) ในทัศนะของจริยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีความหมายดังต่อไปนี้

          คุณธรรม หมายถึง หลักจริยธรรมที่สร้างความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีคุณงามความดีภายในจิตใจอยู่ในขั้นสมบูรณ์จนเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขความยินดี (ประภาศรี สีหอำไพ, 2543)

          คุณธรรม หมายถึง สิ่งที่บุคคลยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีงามมีประโยชน์มากมายและมีโทษน้อย (ดวงเดือน พันธุมนาวิน, 2538)

          จริยธรรม หมายถึง ความประพฤติปฏิบัติที่มีธรรมะเป็นตัวกำกับ  จริยธรรมก็คือ ธรรมที่เป็นไป ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม ( พระเทวินทร์ เทวินโท, 2544)

          จริยธรรม ในความหมายของ สุนทร โคตรบรรเทา (2544) กล่าวว่า ถ้าจะตีความแคบๆ จริยธรรมคงหมายถึง ศีลธรรมประการหนึ่งและคุณธรรมอีกประการหนึ่งรวมเป็นสองประการด้วยกัน 

          นอกจากนี้ วริยา ชินวรรโณ (2546) ได้ประมวลความหมายของคำว่า จริยธรรม ตามที่บุคคลต่าง ๆ ได้กล่าวไว้ ดังนี้

          พระราชชัยกวี (ภิกขุพุทธทาส อินทปัญโญ) กล่าวว่า จริยธรรมเป็นสิ่งพึงประพฤติ จะต้องประพฤติ ส่วนศีลธรรม นั้น คือสิ่งที่กำลังประพฤติอยู่หรือประพฤติดีแล้ว 

          วิทย์  วิศทเวทย์ อธิบายว่า จริยธรรมคือความประพฤติตามค่านิยมที่พึงประสงค์

          สาโรช   บัวศรี ให้ความหมายของจริยธรรมว่า คือ หลักความประพฤติที่อบรมกิริยาและปลูกฝังลักษณะนิสัยให้อยู่ในครรลองของของคุณธรรมหรือศีลธรรม 

          สุลักษณ์  ศิวรักษ์ กล่าวว่า จริยธรรม คือสิ่งที่คนในสังคมเกิดความเชื่อถือซึ่งมีตัวตนมาจากปรมัตถสัจจะ

          ก่อ  สวัสดิพาณิชย์ กล่าวว่า จริยธรรม ประมวลความประพฤติและความนึกคิดในสิ่งที่ดีงามและเหมาะสม

          ดวงเดือน  พันธุมนาวิน  (2538)  กล่าวว่า คำว่า จริยธรรม นั้น หมายถึง ระบบการทำความดี ละเว้นความชั่ว ซึ่งเป็นระบบที่หมายถึงสาเหตุที่บุคคลจะกระทำหรือไม่กระทำ และผลของการกระทำและไม่กระทำ ตลอดจนกระบวนการเกิดและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านี้ด้วย สำหรับความหมายของจริยธรรมในการทำงาน ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2538) กล่าวว่า คือ ระบบการทำความดีละเว้นความชั่ว ในเรื่องซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบและเกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติ เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การทำงาน เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงาน และผลงานตลอดจนเกี่ยวข้องกับผู้รับผลประโยชน์หรือโทษจากผลงานนั้น ๆ

          จากความหมายของทั้งสองคำดังกล่าว พบว่ามีความใกล้เคียงกันเป็นอย่างมากจึงมักเป็นคำที่ใช้คู่กัน แต่อย่างไรก็ตามสรุปได้ว่าการมีคุณธรรมและจริยธรรมของบุคคลทั้งในการดำรงชีวิตประจำวันและในการทำงานหรือการประกอบวิชาชีพจะส่งผลให้บุคคลมีความสุขในการอยู่ร่วมกันในสังคม

 

แหล่งกำเนิดคุณธรรมและจริยธรรม

          คุณธรรมและจริยธรรม เป็นหลักการที่มนุษย์ในสังคมควรยึดถือปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในสังคม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดคุณธรรมและจริยธรรมขึ้นในสังคมตลอดมา เนื่องจากมีความพยายามที่ต้องการสร้างหลักคุณธรรมและจริยธรรมที่เป็นสากลให้บุคคลเกิดความรู้สึกในเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมในแนวทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรม แหล่งก่อกำเนิดของคุณธรรมจริยธรรมอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประการ คือ

          1.2.1 แหล่งกำเนิดภายในตัวบุคคล อริสโตเติล (Aristotle) ได้แยกแยะแหล่งที่เกิดของคุณธรรมว่าเป็นคุณธรรมอันเกิดจากปัญญา และคุณธรรมอันเกิดจากศีลธรรมและจริยธรรมว่า คุณธรรมอันเกิดจากปัญญา เป็นคุณธรรมในระดับปัจเจกบุคคล กล่าวคือ ผู้ที่มีสติปัญญามักจะสามารถพัฒนาจริยธรรมได้ด้วยหลักของการคิดไตร่ตรอง ส่วนคุณธรรมอันเกิดจากศีลธรรมและจริยธรรมนั้น เป็นคุณธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติจริงด้วยการเรียนรู้จากการอยู่ร่วมกัน เป็นการแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องซึ่งนำไปสู่สภาวะของความเป็นสุข (จำเริญรัตน์ เจือจันทร์. 2537)

          แหล่งกำเนิดนี้กล่าวถึงพื้นฐานของมนุษย์ที่ได้มาจากธรรมชาติเป็นตัวกำหนด ซึ่งแบ่งแยกออกเป็น 2 ประการ คือ

          1) ตัวกำหนดมาจากพันธุกรรมที่ส่งทอดมาจากบรรพบุรุษ มนุษย์เกิดมาพร้อมด้วยคุณภาพของสมองที่จะพัฒนาขึ้นเป็นความเฉลียวฉลาดด้านปัญญาโดยได้รับการถ่ายทอดส่วนนี้มาจากบรรพบุรุษโดยผ่านกระกระบวนการทางพันธุกรรม การพัฒนาของสมองจะดำเนินไปตามรหัสพันธุกรรมที่กำหนดไว้ตั้งแต่เกิด แม้ว่าการพัฒนาด้านการคิดและสติปัญญาจะเจริญพัฒนาต่อมาภายใต้อิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม แต่คุณภาพของสมองที่บุคคลได้รับจะเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ดังเช่น ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ธรรมได้ด้วยตนเองด้วยปัญญาของพระองค์ แต่การเกิดมโนธรรมในมนุษย์ พระองค์ได้ทรงแบ่งประเภทของบุคคลออกเป็นดอกบัวประเภทต่าง ๆ  บุคคลที่เป็นประเภทดอกบัวที่อยู่บานชูช่อเหนือน้ำ คือ บุคคลที่สามารถเรียนรู้และประจักษ์ในความดีและความชั่วด้วยปัญญานั่นเอง ส่วนบุคคลที่เป็นประเภทดอกบัวประเภทอื่น ๆ ก็อาจสามารถรู้ผิดชอบชั่วดีได้ด้วยการอบรมสั่งสอนตามระดับความสามารถของสติปัญญา นอกจากนี้ สัญชาตญาณแห่งชีวิต (Life instinct) ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์คิดหาแนวทางในการที่จะมีชีวิตอยู่รอด และการมีสติปัญญาในระดับที่สูง ทำให้มนุษย์สามารถคิด พิจารณา และแยกแยะเหตุและผลได้เพื่อมีชีวิตอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

          2) ตัวกำหนดมาจากสภาพจิต จากแนวความคิดที่ว่าจริยธรรมมีแหล่งกำเนิดจาก ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ซึ่งเกิดขึ้นจากมโนธรรมที่อยู่ในความรู้สึกนึกคิด ดังนั้น แหล่งกำเนิดของคุณธรรมและจริยธรรมจึงเป็นคุณภาพของสมองในการคิด และคุณภาพของจิตที่สามารถแยกแยะความถูก ความผิดได้เป็นพื้นฐาน สภาพของจิตนั้นทำให้บุคคลจดจำสิ่งที่เป็นเคียดแค้น บาดหมางใจ หรือรู้สึกผิดตลอดเวลากับการตัดสินที่พลาดพลั้งไป ดังนั้นสภาพจิตก่อให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกที่อาจนำไปสู่การมีคุณธรรมและจริยธรรมและการขาดคุณธรรมและจริยธรรมได้เท่า ๆ กัน

          แต่อย่างไรก็ตามคุณธรรมและจริยธรรมมีความสัมพันธ์กับสติปัญญา นักบริหารการศึกษาที่มีคุณสมบัติด้านสติปัญญาย่อมได้เปรียบในด้านความคิดและการแสวงหาเหตุผล และสามารถพิจารณาผลที่จะบังเกิดขึ้นจากการกระทำของตนได้ นักบริหารที่มีสติปัญญาในระดับสูงจะเป็นผู้ที่สามารถคิดแก้ปัญญาโดยยึดหลักเหตุผลที่ให้ประโยชน์สุขแก่ตนเองและไม่ทำให้ตนเองได้รับความเดือดร้อนในภายหลังได้ ซึ่งกล่าวได้ว่าเกิดเป็นผลประโยชน์ที่ยังความสุขมาให้อย่างยั่งยืน

              1.2.2 แหล่งกำเนิดภายนอกตัวบุคคล ส่วนสาเหตุภายนอกตัวบุคคล ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2538) กล่าวว่า ในการที่บุคคลนั้นจะทำความดี หรือละเว้นการกระทำที่ไม่น่าพึงปรารถนามากน้อยเพียงใดนั้น สาเหตุที่สำคัญ คือ คนรอบข้าง กฎระเบียบ สังคม วัฒนธรรมและสถานการณ์ที่บุคคลประสบอยู่ นอกจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน การมีหรือการขาดแคลนสิ่งเอื้ออำนวยในการทำงาน ตลอดจนบรรยากาศทางสังคมในที่ทำงาน กลุ่มเพื่อนและวัฒนธรรมในองค์กร จะมีผลต่อพฤติกรรมการทำงาน และสุขภาพจิต ตลอดจนความสุขความพอใจในการทำงาน

          วริยา   ชินวรรโณ (2546) ได้อธิบายถึงอิทธิพลที่เป็นผลต่อการเกิดคุณธรรมและจริยธรรมในประเทศไทยซึ่งเริ่มมีขึ้นในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นรากฐานของแหล่งคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งสามารถนำมาอธิบายได้ ดังนี้

          1)  อิทธิพลของคำสาบานกฎหมาย ระเบียบและวินัย หลักจริยธรรมที่ได้จากคำสาบาน ถือเป็นราชประเพณีที่ผู้บริหารบ้านเมืองต้องกระทำ นอกจากกฎหมายที่ระบุไว้เป็นจริยธรรมหรือวินัยของผู้ปฏิบัติงาน การให้คำสาบานจึงเป็นการกำหนดพฤติกรรมที่เป็นคุณธรรมจริยธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไขผูกมัดด้วยวาจาที่เชื่อมโยงกับความศักดิ์ของพิธีกรรม ซึ่งทำให้เกิดเป็นข้อกำหนดแนวทางความประพฤติซึ่งมีวัฒนธรรมเป็นตัวกำกับอยู่ด้วยและอาจกลายมาเป็นกฎเกณฑ์ในที่สุด  

          ส่วนในเรื่องของกฎหมายในปัจจุบัน นักบริหารต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายอย่างเป็นธรรม กฎหมายบ้านเมืองเป็นตัวกำหนดคุณธรรมและจริยธรรมในด้านการกระทำต่อกันในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ เพื่อขจัดความขัดแย้งระหว่างประชาชนในประเทศนั้น ๆ ประชาชนจำเป็นจะต้องเรียนรู้และต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เป็นเป็นกฎหมายสำหรับประชาชนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินชีวิตประจำวันซึ่งเป็นเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2538) พบว่า การที่บุคคลรู้ว่าอะไรดีอะไรเหมาะสมและสำคัญนั้นไม่เพียงพอ ที่จะทำให้เขามีพฤติกรรมตามนั้นได้ เพราะคนที่ทำผิดกฎหมาย เช่น ไปลักทรัพย์หรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น ไม่ได้ทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ทำไปทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผิด เพราะหลังจากที่กระทำลงไปแล้วก็จะหลบหนีซ่อนตัวเพราะกลัวถูกจับมาลงโทษนั่นเอง นักบริหารก็เช่นกัน เมื่อรู้ตัวว่ากระทำผิดมักจะรู้แก่ใจและมักจะแสดงพฤติกรรมอื่น ๆ เพื่อกลบเกลื่อน    

          2)  อิทธิพลของศาสนา ทุกศาสนาย่อมมีคำสั่งสอนเป็นศีลและธรรมให้บุคคลผู้นับถือและศรัทธาให้การยอมรับและเชื่อฟัง พร้อมที่จะปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไง ดังเช่น พุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย ได้กล่าวแถลงธรรมในการบริหารจัดการและการปกครองแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ อันได้แก่ ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ และราชวสดีธรรม เป็นต้น (วริยา ชินวรรโณ, 2546) ธรรมเหล่านี้อันที่จริงแล้วเป็นหลักธรรมที่ข้าราชการ ผู้บริหารและผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ควรยึดถือปฏิบัติตามด้วย

          ทศพิธราชธรรม คือ ธรรมของพระราชา มีข้อปฏิบัติรวม 10 ประการ ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ได้ กับหลักการบริหารอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรมได้ ดังนี้

          1)  ทาน คือ การให้ทานทรัพย์สินสิ่งของ

          2)  ศีล คือ ความประพฤติที่ดีงาม

          3)  ปริจจาคะ คือ การบริจาค การยอมสละผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

          4)  อาชชวะ คือความซื่อตรงต่อตนเองและผู้อื่น มีความเป็นกลาง คือ ความไม่ลำเอียงหรือมีอคติ

          5)  มัททวะ คือ ความสุขภาพอ่อนโยนต่อปวงชนทั้งปวง มีสัมมาคารวะ

          6) ตบะ คือ มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน มีความพยายามแสวงหาแนวทางสู่ความสำเร็จ

          7)  อักโกธะ คือ ความไม่โกรธ การทำจิตใจให้ผ่องใส มีสติและรู้เหตุผลอยู่ตลอดเวลา

          8)  อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนข่มเหง ความไม่ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น

          9) ขันติ คือ ความอดทน ความคงสภาพให้สามารถต่อสู่กับอุปสรรคได้โดยไม่ท้อถอย

          10)  อวิโรธนะ คือ ไม่ประพฤติผิดในธรรม ไม่ผิดพลาด เป็นผู้ที่ทำแต่ความดีและได้ผลลัพธ์ของการกระทำที่ดี

          จักรวรรดิวัตร คือ หลักธรรมที่พระมหากษัตริย์และข้าราชการของพระองค์ใช้ในการดำเนินนโยบายทางการบริหารบ้านเมือง มีหลักปฏิบัติ 12 ประการ ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ให้ตรงตามกับบทบาทหน้าที่ได้ ดังนี้

          1)  การอบรมผู้ปกครองให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม

          2)  การผูกสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

          3)  การให้รางวัลอันสมควรแก่ผู้บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          4)  การเกื้อกูลผู้ทรงศีล เครื่องพรต และไทยธรรม และอนุเคราะห์คหบดี ด้วยความช่วยเหลือให้สิ่งที่จำเป็นสำหรับอาชีพ

          5)  การอนุเคราะห์ให้เลี้ยงชีพได้ตามควรแก่อัตภาพ

          6)  การให้ความอุปการะแก่ผู้ทรงศีลที่ประพฤติชอบ

          7)  การห้ามการเบียดเบียนสัตว์

          8)  การชักนำให้บุคคลทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรม ขจัดการทำบาปทำกรรม และความไม่เป็นธรรม

          9)  การให้การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ขัดสนไม่พอเลี้ยงชีพ

          10)  การเข้าหาผู้ทรงศีลในโอกาสอันควร เพื่อศึกษาถึงบุญบาป

          11)  การตั้งวิรัติจิตไม่ให้เกิดธรรมราคะดำกฤษณา

          12)  การระงับความโลภ ห้ามจิตใจไม่ให้ปรารถนาลาภที่ไม่ควรได้

            ราชวสดีธรรม คือ ธรรมที่เป็นหลักในการปฏิบัติราชการ ซึ่งมีสาระสรุปได้เป็น 3 หลักใหญ่ รวม 49 ข้อปฏิบัติ หลักใหญ่ 3 ประการ ได้แก่

          1)  หลักธรรมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตนต่อพระราชาโดยตรง

          2)  หลักธรรมที่เกี่ยวกับการควบคุมตนเอง

          3)  หลักธรรมที่เกี่ยวกับการทำงาน

 

          3) อิทธิพลที่ได้จากหลักธรรมตามแนวพระราชดำริและพระบรมราโชวาท รวมทั้งโอวาทของผู้นำระดับสูงในอดีต ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองโดยพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นที่รักเคารพอย่างยิ่ง ดังนั้นพระบรมราโชวาทของพระมหากษัตริย์ทุกประองค์เป็นเสมอนหลักธรรมในการครองตน ครองคนและครองงาน ดังเช่น

 

          พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ให้ไว้เมื่อ วันที่ 8 กรกฎาคม 2520 ที่จะขออัญเชิญมาแสดงไว้ ณ ที่นี้ ความว่า

          “...การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจและความถูกต้องเป็นธรรม ประกอบด้วย เพราะเหตุว่า ความรู้นั้นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนที่ไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรมดังกล่าวเป็นเหมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทาง ด้วยความสวัสดี คือ ความปลอดภัย จนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์…”

          พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ให้ไว้เมื่อ วันที่ 15 มีนาคม 2526 ที่จะขออัญเชิญ มา แสดงไว้ ณ ที่นี้ มีข้อคิด 4 ประการ ความว่า

          “ การกระทำการงานสร้างเกียรติยศชื่อเสียง และความเจริญก้าวหน้า นอกจากจะต้องใช้วิชาความรู้ที่ดีแล้ว แต่ละคนยังต้องมีจิตใจที่มั่นคงในความสุจริต และมุ่งมั่นต่อความสำเร็จเป็นรากฐานรองรับ กับต้องอาศัยกุศโลบายหรือวิธีการอันแยบคาย ในการประพฤติปฏิบัติเข้าประกอบอีกหลายประการ

          ประการแรก ได้แก่ การสร้างศรัทธาความเชื่อถือในงานที่ทำซึ่งเป็นพละกำลัง ส่งเสริมให้เกิดความพอใจ และความเพียรพยายามอย่างสำคัญในอันที่จะทำการงานให้บรรลุผลเลิศ

          ประการที่สอง ได้แก่ การไม่ประมาทปัญญา ความรู้ความฉลาด ความสามารถทั้งของตนเองทั้งของผู้อื่น ซึ่งเป็นเครื่องช่วยทำงานให้ก้าวหน้ากว้างไกล

          ประการที่สาม ได้แก่ การรักษาความจริงใจทั้งต่อผู้อื่นและต่อตัวเอง ซึ่งเป็นเครื่องทำให้ไว้วางใจร่วมมือกัน และทำให้งานสำเร็จโดยราบรื่น

          ประการที่สี่ ได้แก่ การกำจัดจิตใจที่ต่ำทราม รวมทั้งสร้างเสริมความคิดจิตใจที่สะอาด เข้มแข็งที่จะช่วยให้ฝักใฝ่แต่ในการที่จะปฏิบัติดี ให้เกิดความก้าวหน้า

          ประการที่ห้า ได้แก่ การรู้จักสงบใจ ซึ่งเป็นเครื่องช่วยให้ยั้งคิดได้ ในเมื่อมีเหตุทำให้เกิดความหวั่นไหวฟุ้งซ่าน และสามารถพิจารณาแก้ไขปัญหาได้โดยถูกต้อง...”  

          นอกจากนี้พระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงกล่าวถึง คนดี ก็เป็นพระราชดำรัสที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึกในคุณธรรมและจริยธรรม ดังความว่า

          คนดีของฉันรึ จะต้องเป็นคนไม่พูดปด ไม่สอพลอ ไม่อิจฉาริษยา ไม่คดโกงและไม่มีความทะเยอทะยานอย่างบ้าๆ แต่พยายามทำหน้าที่ของตนให้ดีในขอบเขตของศีลธรรม

          สำหรับคุณธรรมจริยธรรมในวิชาชีพทางการศึกษานั้น สุภัทร ปัญญาทีป (2546) กล่าวว่า องค์ความรู้ด้านคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมตะวันออกและสังคมตะวันตกมีอิทธิพลต่อคุณธรรมจริยธรรมของไทย โดยเฉพาะในวงการการศึกษาว่า เมื่อนำมาพิจารณาถึงกรอบขององค์ความรู้อาจมาจาก 3 แหล่ง คือ 

          1)   แหล่งศาสนา ซึ่งเป็นแหล่งของคำว่า จริยธรรม ศีลธรรมและคุณธรรม จนกลายเป็นบทบัญญัติที่เป็นกฎระเบียบ – จรรยาบรรณ ในวิชาชีพต่าง ๆ

          2)   แหล่งปรัชญา โดยเฉพาะสาขาที่เป็นคุณค่าวิทยา ซึ่งได้แก่ จริยศาสตร์ ศีลธรรม สุนทรียศาสตร์ และปรัชญาการศึกษา

          3)   จากแหล่งจริยธรรม ประเพณีทางสังคม เช่น กฎหมาย ภูมิปัญญา วิถีประชา ค่านิยม ภาษา และ วัฒนธรรม เป็นต้น

          แหล่งองค์ความรู้เหล่านี้ล้วนเป็นกรอบความประพฤติที่นำมาสู่การวางแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐานของวิชาชีพและนำไปสู่การกำหนดไว้เป็นจรรยาบรรณวิชาชีพ

          1.2.3 ปัจจัยทั้งภายนอกและภายในร่วมกัน การที่คนเราจะทำความดีหรือไม่ มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุทั้งภายนอกและภายในตัวบุคคล สาเหตุภายในคือลักษณะจิตต่างๆ เช่น การไม่เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ส่วนรวม การมุ่งอนาคตและความสามารถในการควบคุมตนเอง ความเชื่อที่ว่าทำดีจะนำไปสู่ผลดี และการทำชั่วต้องได้รับโทษ นอกจากนั้นการมีความพอใจและเห็นด้วยกับความดีต่าง ๆ และเห็นความสำคัญของความดีเหล่านั้น เช่น ความซื่อสัตย์ การเคารพกฎระเบียบละกฎหมาย ความสามัคคี เป็นต้น ลักษณะทางจิตเหล่านี้มีความสำคัญมาก (ดวงเดือน พันธุมนาวิน, 2538)  

          บุคคลแต่ละคนจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของจิตใจของตนและสภาพแวดล้อมภายนอกไปพร้อมๆ กัน ในการที่จะกล่าวว่าการทำหรือไม่ทำพฤติกรรมต่าง ๆ นั้น จิตใจหรือสภาพแวดล้อมจะมีอิทธิพลมากกว่ากัน ในการที่บุคคลนั้น จะทำความดีละเว้นความชั่วก็ตอบได้ว่าใครจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของสภาพแวดล้อมมากหรือน้อยนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพทางจิตใจของบุคคลนั้น คนที่จิตใจยังไม่พัฒนาไปสู่ขั้นสูง  เช่น เด็ก หรือคนที่มีจิตใจต่ำแม้ว่าจะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม จะเป็นผู้ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสภาพแวดล้อมภายนอก บุคคลนั้นจะทำความดีละเว้นความชั่ว ในสถานการณ์ที่มีคนออกคำสั่งคอยสอดส่อง และควบคุมบังคับเท่านั้น และจะทำความดีเพราะต้องการรางวัล หรืองดเว้นการกระทำที่ไม่ดีเพราะกลัวถูกลงโทษ กลัวคนอื่นเห็น กลัวโดนจับได้เท่านั้น ส่วนผู้ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสภาพแวดล้อมน้อยจะกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดจึงมักขึ้นอยู่กับการพิจารณาโดยตนเองอย่างรอบคอบโดยไม่เห็นแก่ตัว แต่ทำตามกฎระเบียบ ทำงานเพื่องานอย่างเต็มความสามารถด้วยใจรัก และทำเพื่อหน่วยงานและส่วนรวมเป็นสำคัญ ผู้ที่มีจิตใจแกร่งไม่พ่ายแพ้ต่อสถานการณ์ที่ยั่วยุให้ทำชั่ว มีระเบียบวินัย ควบคุมบังคับตนเองได้ ทำความดีเสมอ แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่นก็ตาม บุคคลประเภทนี้มีจิตใจสูง

          จากการพิจารณาพฤติกรรมด้านคุณธรรมและจริยธรรมของ สุนทร โคตรบรรเทา (2544) ซึ่งกล่าวว่า จริยธรรม คือ ค่านิยมในระดับต่าง ๆ ซึ่งสังคมและบุคคลจำเป็นต้องยึดมั่นถือมั่นในการที่จะศึกษาเรื่องค่านิยมให้ลึกซึ่งต้องศึกษาเรื่องค่านิยมให้กว้างขวางออกไป แสดงว่าสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเกิดคุณธรรม คือ ค่านิยม เพราะค่านิยมหมายถึงสิ่งที่บุคคลยอมรับว่ามีความสำคัญมากซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามกลุ่มบุคคลและวัฒนธรรม เช่น ค่านิยมในการมีการศึกษาระดับสูง ความกตัญญูต่อบิด มารดาและครูอาจารย์นั้น ในบางสังคมเห็นว่าสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ในบางกลุ่มอาจเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ เพราะอาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น หรือความกตัญญูอาจจะมีความสำคัญในระดับที่ต่ำเพราะยังมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าความกตัญญู  เช่น ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและความเสียสละ เป็นต้น

         ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า คุณธรรมและค่านิยมของบุคคลนั้น คือ การยอมรับว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว สิ่งใดสำคัญสิ่งใดไม่สำคัญ สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ การเห็นผิดเป็นชอบ ย่อมขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ซึ่งเป็นประสบการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน นอกจากนั้นการที่บุคคลจะมองเห็นว่าสิ่งใดสำคัญมากหรือน้อยก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ ตามสถานการณ์และยุคสมัยด้วย เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาตินั้น เป็นคุณธรรมและค่านิยมที่มีความสำคัญมากกว่าในอดีต เป็นต้น คุณธรรมและค่านิยมต่าง ๆ นั้นจึงเป็นสาเหตุของการทำดีละเว้นความชั่ว การที่บุคคลมีคุณธรรมและมีค่านิยมที่เหมาะสมแล้วน่าจะเป็นผู้ที่มีจริยธรรมที่เหมาะสมด้วย

หมายเลขบันทึก: 300097เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท