การพัฒนาบุคลากรของส่วนราชการมีสาเหตุมาจาก...


การพัฒนาบุคลากรของส่วนราชการ

การพัฒนาบุคลากรของส่วนราชการมีสาเหตุ ดังนี้ค่ะ...

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 1 บททั่วไป มาตรา 75 บทบัญญัติในหมวดนี้เป็นเจตจำนงให้รัฐดำเนินการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่าจะดำเนินการใด ในระยะเวลาใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการรวมทั้งปัญหาและอุปสรรคเสนอต่อรัฐสภาปีละหนึ่งครั้ง สำหรับมาตรา 76คณะรัฐมนตรีต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อแสดงมาตรการและรายละเอียดของแนวทางในการปฏิบัติราชการในแต่ละปีของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับ นโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องจัดให้มีแผนการตรากฎหมายที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน และส่วนที่ 3 แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 78 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (4) พัฒนาระบบงานภาครัฐ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ คุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทำงาน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐใช้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ

2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2549) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550 – 2554) ซึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทการพัฒนาในกระแสโลกาภิวัฒน์ สถานะและทิศทางการปรับตัวของประเทศไทย ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน ยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาคน ยึดมั่น หลักคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริตมีเหตุมีผล ความรอบรู้ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติและการติดตามประเมินผล ซึ่งสรุปเป็นการขับเคลื่อน แผน ฯ 10 สู่การปฏิบัติ

3. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 “มาตรา 3/1การบริหารราชการตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจการอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงานในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรานี้ จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติราชการและการสั่งการให้ส่วนราชการและข้าราชการปฏิบัติก็ได้”

4. แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ.2546 – 2550) ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ค่ะ...

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การปรับเปลี่ยนกระบวนการและวิธีการทำงาน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การรื้อปรับระบบการเงินและการงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การสร้างระบบบริหารงานบุคคลและค่าตอบแทนใหม่

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม สำหรับการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยมของระบบราชการ ซึ่งได้มีการกำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของข้าราชการเพื่อรองรับการพัฒนาระบบราชการวม 8 ประการ ได้แก่ การทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี (Integrity) ขยันและตั้งใจทำงานเชิงรุก (Activeness) มีศีลธรรมและคุณธรรม (Morality) รู้ทันโลก ปรับตัวทันเหตุการณ์ สอดคล้องกับความต้องการของสังคม (Relevancy) มุ่งเน้นประสิทธิภาพ (Efficiency) รับผิดชอบต่อการดำ เนินงาน (Accountability) มีใจและการกระทำที่เป็นประชาธิปไตย มีส่วนร่วม โปร่งใส (Democracy) มุ่งเน้นผลผลิต (Yield) หรือเรียกว่า “I AM READY”

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การเสริมสร้างระบบราชการให้ทันสมัย

ยุทธศาสตร์ที่ 7 : การเปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2551 - 2555) แบ่งได้เป็น 4 ประการ ดังนี้ค่ะ…

1. ยกระดับการให้บริการและการทำงาน เพื่อตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของประชาชนที่มีความสลับซับซ้อน หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

2. ปรับรูปแบบการทำงานให้มีลักษณะเชิงบูรณาการ เกิดการแสวงหาความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

3. มุ่งสู่การเป็นองค์การที่มีขีดสมรรถนะสูง บุคลากรมีความพร้อมและความสามารถ ในการเรียนรู้ คิดริเริ่ม เปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ต่าง ๆ

4. สร้างระบบการกำกับดูแลตนเองที่ดี เกิดความโปร่งใส มั่นใจ และสามารถตรวจสอบได้รวมทั้งทำให้บุคลากรปฏิบัติงานอย่างมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อประชาชนและต่อสังคมโดยรวม

6. สำหรับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หมวด 1 การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มาตรา 6 การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อบรรลุเป้าหมาย มีดังต่อไปนี้ค่ะ...

1. เกิดประโยชน์สุขของประชาชน

2. เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ

3. มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ

4. ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น

5. มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์

6. ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ

7. มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ

จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นผลทำให้มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของสถาบันอุดมศึกษา โดยผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของมหาวิทยาลัย คือ สำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ เพื่อรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบค่ะ...

โดย หัวหน้าส่วนราชการได้เซ็นต์รับคำรับรองการปฏิบัติราชการของมหาวิทยาลัยกับสำนักงาน ก.พ.ร. ว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งตัวชี้วัดที่ 15 ระดับความสำเร็จของแผนพัฒนาบุคลากรและการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา ก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการให้การพัฒนาบุคลากรบรรลุวัตถุประสงค์ พัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมสอดคล้องกับภารกิจหลักและแผนปฏิบัติราชการ รวมถึงมีการจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพ ที่จะทำให้บุคลากรได้รับการพัฒนาและมีความก้าวหน้าตามลักษณะงานตามสาขาวิชาชีพและตามสมรรถนะ (Competencies) อย่างเหมาะสม

แผนพัฒนาบุคลากร หมายถึง แนวทาง กลยุทธ์ หรือวิธีการที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัย ทุกระดับทุกประเภท ตามลักษณะงานและสาขาวิชาชีพ เพื่อพัฒนาบุคลากรภายในสถาบันให้เป็นไปตามคุณลักษณะบุคลากรที่ต้องการ ได้แก่ มีคุณภาพ มีความรักองค์กร มุ่งมั่น ตั้งใจ ปฏิบัติหน้าที่ตามภาระงานที่กำหนด ได้รับมอบหมายงานตามศักยภาพ ความถนัด ความสนใจของแต่ละบุคคล มีความพึงพอใจในการทำงาน ก่อให้เกิดสมรรถนะในการปฏิบัติงานได้ดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและมีความก้าวหน้าในวิชาชีพตามสายงานที่ปฏิบัติหน้าที่ (Career path)

บุคลากรของมหาวิทยาลัย หมายถึง อาจารย์ประจำและบุคลากรประจำสายสนับสนุน

อาจารย์ประจำ หมายถึง อาจารย์ประจำทุกระดับ ได้แก่ อาจารย์ข้าราชการ อาจารย์พนักงานรวมถึงอาจารย์พิเศษที่มีสัญญาการจ้างทั้งปีการศึกษา (จ้างไม่ต่ำกว่า 9 เดือน)

บุคลากรประจำสายสนับสนุน หมายถึง ข้าราชการสาย ข และ ค พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยด้านสนับสนุนวิชาการ และการบริหารจัดการและธุรการ ซึ่งมีสัญญาจ้างทั้งปีการศึกษา (จ้างไม่ต่ำกว่า 9 เดือน)

การจัดการความรู้ หมายถึง การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสารมาพัฒนาให้เป็นระบบ และนำไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ทุกคนในมหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้มหาวิทยาลัย มีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด

กระบวนการจัดการความรู้ ประกอบด้วย การระบุความรู้ การคัดเลือก การรวบรวม การจัดระบบจัดเก็บความรู้ การเข้าถึงข้อมูลเพื่อสร้างเป็นความรู้และการแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย การสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในมหาวิทยาลัย การกำหนดแนววิธีปฏิบัติงานตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยให้ดียิ่งขึ้น

ซึ่งเป็นที่มาของที่มหาวิทยาลัยจะต้องมีการกำหนด Competency ของบุคลากรในมหาวิทยาลัยและให้บุคลากรทุกคนทุกประเภทต้องมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องค่ะ...

หมายเลขบันทึก: 299925เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2009 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2016 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นความรู้วิชาการที่ดีมากครับ ผมหาดูมานานแผนพัฒณานี่ได้ยินแต่ ท่าน ท่าน พูดกันอยากรู้ว่ารายระเอียดข้างในจะเป็นอย่างได ถ้าจะกรุณามีระเอียด ยิบ ยิบ เลยยิ่งดีครับ ขอบพระคุณขอรับ

ขอบคุณ คุณไกรษร ค่ะ...

เข้าไป download ตามหัวข้อที่ดิฉันเขียนใน google ก็ได้ค่ะ

จะได้รายละเอียดมากกว่านี้ค่ะ

ท่านที่สนใจสามารถ download หัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในไฟล์ ได้แล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท