การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัยศึกษา


การพัฒนาหลักสูตร

การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัยศึกษา
ของสถานศึกษาในเครือข่าย
โครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วัฒนา ปุญญฤทธิ์ กรรมการประจำหลักสูตร ครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการจัดการการปฐมวัยศึกษา

พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน วารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 กรกฏาคม-ตุลาคม 2549

ในการจัดการศึกษานั้น มีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาคนให้มีความเจริญงอกงามทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา

 

สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข มีความสามารถในการพัฒนาตน พัฒนางาน และพัฒนาสังคม สามารถดำรงชีวิตได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ อยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลอยู่ตลอดเวลา อันเป็นผลที่เนื่องมาจากความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยี ดังนั้น การศึกษาจึงมีหน้าที่สองประการคือ การจัดการด้านความรู้ในการสืบสานความรู้เดิม เพิ่มเติมความรู้ใหม่ และการก้าวสู่ความรู้ในอนาคต และการจัดการสร้างสรรค์วิธีการปรับการดำเนินงานและชีวิตให้สอดคล้องกับการ เปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทั้งนี้การจัดการศึกษาตามหลักการดังกล่าว ควรจะกำหนดเป็นแนวทางไว้ในหลักสูตรการศึกษา แต่จากการวิจัยเกี่ยวกับสภาพการใช้หลักสูตรที่ผ่านมาพบว่า การจัดการศึกษามักถูกกำหนดมาจากกรอบและของเขตของหลักสูตรที่กำหนดโดยส่วน กลาง ซึ่งจากการวิจัยของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ. 2544) พบว่าการกำหนดหลักสูตรจากส่วนกลางไม่สะท้อนสภาพความต้องการที่แท้จริงของ สถานศึกษาและท้องถิ่น โดยเฉพาะหลักสูตรระดับปฐมวัยศึกษา ที่มีปัญหาว่าการจัดการศึกษาในระดับนี้มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้มีปัญหาในการนำหลักสูตรไปใช้ กล่าวคือ ในการจัดการศึกษาเด็กยังขาดโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ครูผู้สอนยังสอนเนื้อหาวิชามากเกินไป การสอนยังเน้นตนเองเป็นศูนย์กลาง จึงมีผลให้การจัดการศึกษายังไม่พัฒนาเด็กโดยองค์รวมตามหลักการจัดการศึกษา จึงมีความจำเป็นที่สถานศึกษาจะต้องมีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อให้สอด คล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ที่ระบุถึงแนวการจัดการศึกษาที่ยึดหลักว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็ม ตามศักยภาพ โดยการจัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ให้มีการร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ ดังนั้นสถานศึกษาจึงต้องพัฒนาหลักสูตรขึ้นใช้เอง เนื่องจากสถานศึกษามีความใกล้ชิดกับผู้เรียน รับรู้ปัญหาและความต้องการของผู้เรียนและชุมชน การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาจะสามารถสนองความต้องการ ความถนัดและความสามารถของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง โดยยังมีจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องกับหลักสูตรระดับชาติ

มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการ ศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงและถ่ายทอดเทคโนโลยี บำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู (สำนักวางแผนและพัฒนา. 2543) สำหรับภารกิจด้านการบริการวิชาการแก่สังคมนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ซึ่งเป็นสถาบันผลิตครูแห่งแรกของประเทศไทย ได้มีการดำเนินงานการผลิตครู และบริการวิชาการแก่สังคมมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพนั้น มหาวิทยาลัยได้มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้รับความรู้ทั้งด้านวิชาการและการ ปฏิบัติ ซึ่งนักศึกษาจะได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพจากแหล่งฝึกประสบการณ์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะนักศึกษาสาขาการศึกษาได้จัดให้มีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในสถาน ศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้บทบาทและหน้าที่ของผู้สอน สำหรับนักศึกษาโปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดให้นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูทุกขั้นตอนในสถาน ศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ ที่เป็นสถานศึกษาในเครือข่ายโครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของมหาวิทยาลัย มาโดยตลอดตั้งแต่เปิดสอนโปรแกรมวิชาการจัดศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2535 จึงถึงปัจจุบัน
ตามบทบาทด้านวิชาการ ของสถานศึกษาที่ได้รับการกำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งต้องสร้างหลักสูตรสถาน ศึกษาของตนเอง ทำให้สถานศึกษาระดับปฐมวัยศึกษาในเครือข่ายโครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ต้องมีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาของตน เพื่อนำมาใช้สำหรับพัฒนาเด็กปฐมวัยในสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาดังกล่าวได้ขอความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยในการพัฒนาหลัก สูตรสถานศึกษาด้วยการขาดความรู้ ความเข้าใจ และขาดประสบการณ์ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ดังนั้นด้วยภารกิจของมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่ในการให้การศึกษาวิชาการและ บริการวิชาการแก่สังคม ผู้วิจัยในฐานะเป็นอาจารย์ผู้สอนในโปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย และรับผิดชอบสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรระดับปฐมวัยศึกษา จึงมีความประสงค์ที่ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัยศึกษาร่วม กับสถานศึกษาระดับปฐมวัยศึกษา ในเครือข่ายโครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรของสถานศึกษามีความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตร และมีหลักสูตรสถานศึกษาที่มีคุณภาพ มีความเหมาะสมกับความต้องการ สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลต่อคุณภาพของสถานศึกษา และเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูที่มีคุณภาพ สำหรับนักศึกษาโปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย และจะเป็นตัวอย่างแก่สถานศึกษาอื่นที่จะนำไปพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาระดับ ปฐมวัยศึกษาต่อไป

ความมุ่งหมายของการวิจัย
เพื่อพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัยศึกษา ของสถานศึกษาในเครือข่ายโครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ขอบเขตของการวิจัย
การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัยศึกษาในการวิจัยครั้งนี้มีขอบเขต ดังนี้
1. การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัยศึกษา ได้จากการสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตร หลักสูตรระดับปฐมวัยศึกษา และจากประสบการณ์ในการเป็นประธานกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และผู้เชี่ยวชาญในการตรวจเครื่องมือในการใช้ วิเคราะห์หลักสูตร และเป็นกรรมการเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรระดับปฐมวัยศึกษา และจากความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร
2. การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัยศึกษาครั้งนี้เป็นการร่วมพัฒนากับสถาน ศึกษาระดับปฐมวัยศึกษาในเครือข่ายโครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จำนวน 2 โรงเรียน มีครูและผู้บริหารเข้าร่วมพัฒนาหลักสูตร จำนวน 56 คน
3. การประเมินคุณภาพหลักสูตรสถานศึกษาดำเนินการโดยการทดลองใช้หลักสูตรสถาน ศึกษา ในสถานศึกษาที่เป็นผู้พัฒนาหลักสูตรในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2546 และประเมินผลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของครูและผู้ปกครอง

วิธีดำเนินการวิจัย
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
1.1 ประชากรที่ใช้ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ได้แก่ สถานศึกษาระดับปฐมวัยศึกษาในเครือข่ายโครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ปีการศึกษา 2546 จำนวน 5 แห่ง
1.2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ได้แก่ สถานศึกษาระดับปฐมวัยศึกษาในเครือข่ายโครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ปีการศึกษา 2546 จำนวน 2 แห่งที่แสดงความประสงค์จะพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ได้แก่โรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์ และโรงเรียนอนุบาลวัดไตรรัตนาราม มีบุคลากรเข้าร่วมพัฒนาหลักสูตรทั้งสิ้น 54 คน

2. เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลหลักสูตรสถานศึกษา
ในการวิจัยครั้งนี้มีเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลหลักสูตรสถานศึกษาคือ แบบสอบถามความคิดเห็นของครู/ผู้บริหาร และผู้ปกครอง โดยแบ่งเป็นแบบสอบถามเพื่อใช้ในสถานศึกษาแต่ละแห่งดังนี้
2.1 โรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์ มีแบบสอบถาม 2 ชุด คือ
1) แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อหลักสูตรสถานศึกษาของผู้บริหารและครู เป็นแบบสอบถามแบบมาตราประมาณค่า 3 ระดับ ครอบคลุมองค์ประกอบหลักสูตรสถานศึกษา 13 องค์ประกอบรวม 42 ข้อคำถาม
2) แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อหลักสูตรสถานศึกษาของผู้ปกครอง เป็นแบบสอบถามแบบมาตราประมาณค่า 3 ระดับ ครอบคลุมองค์ประกอบหลักสูตร รวม 18 ข้อคำถาม
2.2 โรงเรียนอนุบาลวัดไตรรัตนาราม มีแบบสอบถาม 2 ชุด คือ
1) แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อหลักสูตรสถานศึกษาของครูและผู้บริหาร เป็นแบบสอบถามแบบมาตราประมาณค่า 3 ระดับ ครอบคลุมองค์ประกอบหลักสูตรสถานศึกษา 13 องค์ประกอบ รวม 42 ข้อคำถาม
2) แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อหลักสูตรสถานศึกษาของผู้ปกครอง เป็นแบบสอบถามมาตราประมาณค่า 3 ระดับ ครอบคลุมองค์ประกอบหลักสูตร รวม 16 ข้อคำถาม

3. ขั้นตอนการวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ดำเนินการเป็น 4 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 สร้างความรู้เรื่องการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้สถานศึกษาที่เป็นกลุ่ม ตัวอย่าง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างได้รับความรู้ และกลับไปศึกษาหาข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษาร่วมกับชุมชน ซึ่งได้แก่กรรมการสถานศึกษา ซึ่งถือเป็นตัวแทนชุมชน
ขั้นตอนที่ 2 แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมดังนี้
1) พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของสถานศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างใน 13 องค์ประกอบ โดยวิธีการจัดประชุมพัฒนาและให้สถานศึกษาไปปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรในสถาน ศึกษา โดยบุคลากรทุกฝ่ายและกรรมการสถานศึกษาภายใต้คำปรึกษาของผู้วิจัย
2) นำหลักสูตรสถานศึกษาเสนอคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อวิพากษ์หลักสูตร
3) สถานศึกษาปรับปรุงหลักสูตรตามข้อสังเกตของผู้ทรงคุณวุฒิ ภายใต้คำปรึกษาของผู้วิจัย
ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้หลักสูตรสถานศึกษา 1 ภาคการศึกษา โดยใช้ปฏิบัติการจัดประสบการณ์และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่กำหนดในหลักสูตร และผู้ใช้หลักสูตรบันทึกผลการใช้หลักสูตรเพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงหลัก สูตรในโอกาสต่อไป
ขั้นตอนที่ 4 ประเมินผลหลักสูตรสถานศึกษา หลังจากสถานศึกษาทดลองใช้หลักสูตรไปแล้ว โดยการสอบถามความคิดเห็นจากผู้ใช้หลักสูตรสถานศึกษาได้แก่ กลุ่มครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง

ผลการวิจัย
ผลการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัยศึกษา ของสถานศึกษาในเครือข่ายโครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มีผลดังนี้
1. การดำเนินการในขั้นตอนที่ 1 การสร้างความรู้เรื่องการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้กับสถานศึกษากลุ่ม ตัวอย่าง โดยการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้วิจัยเป็นผู้ให้ความรู้และให้กลุ่มตัวอย่างฝึกปฏิบัติการในการพัฒนา หลักสูตรสถานศึกษา พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ในระดับปฐมวัยศึกษา ที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลว่าก่อนหน้านี้ได้ส่งบุคลากรของสถานศึกษาไป รับการอบรมการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา แต่ขาดความเข้าใจในการปฏิบัติเพราะมีข้อมูลหลากหลายไม่เป็นทิศทางเดียวกัน เมื่อผู้วิจัยได้จัดอบรมปฏิบัติการให้กลุ่มตัวอย่าง โดยเชิญวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาหลักสูตรระดับปฐมวัยศึกษา อีกทั้งวิทยากรบางท่านเป็นกรรมการพัฒนาหลักสูตรปฐมวัยศึกษาพุทธศักราช 2546 ของกระทรวงศึกษาธิการ และได้ทดลองพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษามาแล้ว ทำให้กลุ่มตัวอย่างเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถาน ศึกษาที่ยึดหลักสูตรแกนกลางเป็นเกณฑ์ และเมื่อได้ฝึกปฏิบัติโดยมีการแนะนำ ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากวิทยากร ทำให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ สามารถนำความรู้ความเข้าใจไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรได้ และเมื่อปฏิบัติแล้วเผชิญกับปัญหา กลุ่มตัวอย่างสามารถสอบถาม ปรึกษาหารือกับวิทยากรและผู้วิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือข้อสงสัย
หลังจากได้ฝึกปฏิบัติในการอบรมวิธีการในการพัฒนาหลักสูตรแล้ว กลุ่มตัวอย่างได้กลับไปพัฒนาหลักสูตรในขั้นของการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ร่วมกับชุมชน โดยเป็นการศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปและศักยภาพของสถานศึกษา การศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการของสถานศึกษาและชุมชน จากนั้นกลุ่มตัวอย่างจึงได้กำหนดเป็นปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจและเป้าหมายของสถานศึกษา และได้ร่วมกับกรรมการสถานศึกษารวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องอาทิเช่น ข้อมูลที่ไปของสถานศึกษา แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น สาระการเรียนเรียนรู้ในท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเด็กปฐมวัยของสถาน ศึกษา ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาต่อไป
2. การดำเนินการในขั้นตอนที่ 2 ผลการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของกลุ่มตัวอย่างพบว่า สถานศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มได้พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาอย่างมีส่วนร่วมคือ การให้คำปรึกษาของผู้วิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิ บุคลากรทุกฝ่ายของสถานศึกษาและตัวแทนกรรมการสถานศึกษา ผลจากการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา กลุ่มตัวอย่างได้หลักสูตรสถานศึกษาที่ประกอบด้วย
ปรัชญาการศึกษาปฐมวัย
วิสัยทัศน์
พันธกิจ
เป้าหมาย
มาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์
ตัวบ่งชี้
สภาพที่พึงประสงค์
สาระการเรียนรู้
การจัดหน่วยการจัดประสบการณ์
การจัดประสบการณ์
ตารางกิจกรรมประจำวัน
การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้
สื่อและแหล่งการเรียนรู้
การประเมินผลพัฒนาการและการเรียนรู้
หลังจากการจัดทำหลักสูตร สถานศึกษาแล้วได้จัดให้มีการวิพากษ์หลักสูตรโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จากนั้นสถานศึกษาได้ปรับปรุงหลักสูตรตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ
3. การดำเนินการในขั้นตอนที่ 3 ผลการทดลองใช้หลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งระหว่างการ ทดลอง ครูผู้สอนได้มีการบันทึกผลการใช้หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสาระการเรียนรู้ใน แต่ละระดับชั้นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงในโอกาสต่อไป
4. การดำเนินการในขั้นตอนที่ 4 ผลการประเมินหลักสูตรสถานศึกษาของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 โรงเรียนพบว่า หลักสูตรสถานศึกษาที่พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสมในระดับมาก ทั้งตามความเห็นของครู ผู้บริหารและผู้ปกครอง โดยครูและผู้บริหารแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นจากกระบวน การนำหลักสูตรไปทดลองใช้ ส่วนผู้ปกครองเป็นการประเมินจากผลการปฏิบัติของสถานศึกษาที่ผู้ปกครองได้รับ รู้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
4.1 ผลการประเมินหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์ใน 13 องค์ประกอบของหลักสูตรสถานศึกษาตามความเห็นของครูและผู้บริหาร โดยภาพรวมพบว่ามีความเห็นว่ามีความเหมาะสมในระดับมากคือค่าเฉลี่ย 2.96 และเมื่อพิจารณาเป็นรายองค์ประกอบพบว่า องค์ประกอบหลักสูตรที่มีความเหมาะสมมากในระดับ 3.00 มีถึง 4 องค์ประกอบ ซึ่งได้แก่องค์ประกอบด้านปรัชญาการศึกษาปฐมวัย ด้านมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ด้านการจัดประสบการณ์ และด้านการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ พบว่ามีความเหาระสมระดับมากเช่นเดียวกัน ส่วนความเห็นของผู้ปกครองที่รับรู้ความเหมาะสมของหลักสูตรจากการปฏิบัติของ สถานศึกษา มีความเห็นว่าหลักสูตรมีความเหมาะสมในระดับมากคือค่าเฉลี่ย 2.96
4.2 ผลการประเมินหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนอนุบาลวัดไตรรัตนาราม ใน 13 องค์ประกอบ ของหลักสูตรสถานศึกษาตามความเห็นของครูและผู้บริหาร โดยภาพรวมพบว่ามีความเห็นว่ามีความเหมาะสมในระดับมากคือค่าเฉลี่ย 2.95 และเมื่อพิจารณาเป็นรายองค์ประกอบพบว่าองค์ประกอบหลักสูตรที่มีความเหมาะสม มากในระดับ 3.00 มีถึง 6 องค์ประกอบคือ องค์ประกอบด้านปรัชญาการศึกษาปฐมวัย ด้านเป้าหมาย ด้านมาตรฐานและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ด้านตัวบ่งชี้ ด้านสภาพที่พึงประสงค์และด้านการจัดประสบการณ์ ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ ที่พบว่ามีความเหมาะสมระดับมากเช่นเดียวกัน ส่วนความเห็นของผู้ปกครองที่รับรู้ความเหมาะสมของหลักสูตรจากการปฏิบัติของ สถานศึกษา มีความเห็นว่าหลักสูตรมีความเหมาะสมในระดับมากที่ค่าเฉลี่ย 2.96
ผลการประเมินดังกล่าว แสดงว่าหลักสูตรสถานศึกษาที่พัฒนาขึ้นของกลุ่มตัวอย่างมีความเหมาะสมในระดับ มาก และเมื่อนำไปทดลองใช้ผลปรากฏในรูปของการปฏิบัติซึ่งผู้ปกครองสามารถสังเกต และรับรู้ได้ และได้ประเมินผลหลักสูตรตามความเห็นว่ามีความเหมาะสมในระดับมาก แสดงว่าหลักสูตรมีประสิทธิภาพสามารถนำไปใช้พัฒนาเด็กเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ที่สถานศึกษากำหนดไว้

ข้อสังเกตจากการวิจัย
1. สถานศึกษาควรได้ทดลองใช้หลักสูตรให้ครบ 1 ปีการศึกษาและนำข้อสังเกตทั้งหมดที่ได้จากครู ผู้บริหาร และผู้ปกครองมาสรุปเพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงหลักสูตรต่อไป
2. สถานศึกษาควรดำเนินการจัดปรับปรุงหลักสูตรโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น และควรให้โอกาสผู้เรียนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลด้วย โดยเฉพาะในด้านสาระการเรียนรู้

บรรณานุกรม

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
ใจทิพย์ เชื้อวัฒนพงษ์. (2539). การพัฒนาหลักสูตร : หลักการและแนวปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : อลีน เพรส.
รัตนะ บัวสนธ์. (2535). การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น : กรณีศึกษาชุมชนแห่ง หนึ่งในเขตภาคกลางตอนล่าง. ปริญญานิพนธ์ กศ.ด. (การวิจัยและพัฒนาหลักสูตร). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ.
วัฒนาพร ระงับทุกข์. (2545). การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544. กรุงเทพฯ : บริษัทพริกหวาน กราฟฟิค จำกัด.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2543). รายงานการศึกษาแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาของสถานศึกษาใน รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Management). / อุทัย บุญประเสริฐ. กรุงเทพฯ.
_________. (2542). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : บริษัทพริกหวาน กราฟฟิค จำกัด.
อุมาพร หล่อสมฤดี. (2545). รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียน. กรุงเทพฯ : วิทยานิพนธ์ การศึกษาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
Pratt, D. (1980). Curriculum design and development. New York : Harcourt Brace Jovanovich.
Tuckman. Bruce W. (1985). Evaluating Instructional Programs. (second edition). Allyn and Bacon, Inc. Massachusetts.
Tyler, Ralph. (1949). Basic Principle of Curriculum and Instruction. University of Chicago Press.

 
หมายเลขบันทึก: 299471เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2009 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นับว่าเป็นงานวิจัยที่ดีมากเล่มหนึ่ง แต่อยากเรียนถามว่า งานวิจัยฉบับเต็มที่จะให้ผู้อื่นได้ศึกษาแนวทางการทำวิจัยของอาจารย์ จะหาศึกษาได้ที่ไหนครับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วัฒนา ปุญญฤทธิ์ พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน วารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ปีที่ 4 ฉบับที่ 1

กรกฏาคม-ตุลาคม 2549 ถ้าอยากหาฉบับเต็มน่าจะลองไปค้นได้ที่ห้องสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร นะครับ หรือเสริทในthilis ดูอาจจะมีที่ใกล้เคียงเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรระดับปฐมวัย ครับ

นอกจากนั้น ยังมีห้องสมุด มศว.ที่มีวิทยาพนธ์เกี่ยวกับการศึกษาปฐมวัยเยะเลยที่เดียวครับมีเวลาว่างสามารถเค้าไปค้นได้

แต่ถ้าสนใจผลงานของอาจารย์วัฒนา ปุญญฤทธิ์ มีเว็บไซด์นี้ครับเข้าไปศึกษาข้อมูลได้เลย http://www.poonyarit.com ตามนั้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท