คุณธรรมของนักบริหาร


คุณธรรมของนักบริหาร

               ผู้บริหารหรือผู้นำนั้น เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์การ  และด้วยเหตุที่มีความสำคัญยิ่งต่อองค์การนี้เอง  เราจึงมักได้พบตำรับตำราที่กล่าวถึงคุณสมบัติของนักบริหารไว้มากมายทั้งที่เป็นของไทยและต่างประเทศ ในส่วนที่เป็นของไทยเราก็มีทั้งการนำเอาคุณสมบัติของผู้นำสำคัญ ๆ ในวรรณคดีมาเป็นตัวอย่างกล่าวอ้าง  เช่น  กล่าวอ้างถึงลักษณะของโจโฉในเรื่องสามก๊ก  ว่า  เป็นผู้มีลักษณะเด่นเป็นผู้นำในการบริหาร 10 ประการ ดังนี้

         1.มิได้ถือตัวถึงผู้น้อยจะขัดว่าผิดหรือชอบ

          2.น้ำใจโอบอ้อมอารีต่อคนทั้งปวง  ทำการสิ่งใดคนทั้งหลายก็ยินดีด้วย

          3.จะว่ากล่าวสิ่งใดก็สิทธิ์ขาด  มีสง่า  คนทั้งปวงยำเกรงเป็นอันมาก

          4.ซื่อสัตย์  เลี้ยงทหารโดยยุติธรรม  ถึงญาติพี่น้องผิดก็ว่ากล่าวมิได้เข้าด้วยกับผู้ผิด

            5.จะทำการสิ่งใดเห็นเป็นความชอบ  ก็ตั้งใจทำไปจนสำเร็จ

            6.จะรักผู้ใดก็รักโดยสุจริตมิได้ล่อลวง

            7.คนอยู่ใกล้กับคนอยู่ไกลถ้าดีแล้วเลี้ยงเสมอกัน

            8.คิดการหนักหน่วงแน่นอนแล้วจึงทำการ

            9.จะทำการสิ่งใดก็ทำตามแบบธรรมเนียมโบราณ

            10.ชำนาญในกลศึกสงคราม  ถึงกำลังข้าศึกมากกว่าก็คิดเอาชนะได้

จากที่กล่าวมาทั้ง  10  ประการนี้  ก็เป็นคุณลักษณะผู้นำที่ดีของโจโฉ  ส่วนลักษณะที่ไม่ดีของอ้วนเสี้ยวกล่าวไว้ดังนี้.

          1.เป็นคนถืออิสริยยศ  มิได้เอาความคิดของผู้ใด

            2.เป็นคนหยาบช้า  ทำการด้วยโวหาร

            3.จะทำกิจการใดมิได้สิทธิ์ขาด  โลเล

            4.เห็นแก่ญาติพี่น้องของตัว  มิได้ว่ากล่าวเมื่อทำผิด

            5.คิดการสิ่งใดมักกลับเอาดีเป็นร้าย  เอาร้ายเป็นดี  มิได้เชื่อใจตนเอง

            6.จะเลี้ยงดูผู้ใดมิได้เป็นปกติ  ต่อหน้าว่ารักลับหลังว่าชัง

           7.กระทำความผิดต่าง ๆ เพราะฟังคำคนยุยง

            8.รักคนประจบสอพอใกล้ชิด  ผู้ใดห่างเหิน  ถึงสัตย์ซื่อก็มีใจชัง

            9.ทำการสิ่งใดเอาแต่อำเภอใจ  มิได้ทำตามธรรมเนียมโบราณ

            10.มิได้รู้ในกลศึก  แต่มักพอใจทำดีล่อลวง  จะชนะก็ไม่รู้  จะแพ้ก็ไม่รู้

           สรุปได้ว่า  คุณธรรมของนักบริหาร  จากลักษณะที่ดีหรือที่พึงประสงค์  และลักษณะที่ไม่ดีหรือไม่พึงประสงค์ที่กล่าวไว้ในวรรณคดีที่ได้กล่าวมานั้น  ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่เขียนไว้ในตำรับตำราปัจจุบันที่มีอยู่มากมาย  อย่างไรก็ตามคุณสมบัติในวรรณคดีนั้น  ก็ยังมีประโยชน์ต่อผู้บริหารที่จะนำมาพิจารณาทีละข้อ  หรือหลาย ๆ ข้อ  แล้วเลือกมาเป็นแนวในการปฏิบัติตน  ในแต่ละงานและแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นได้.

 

ลักษณะผู้นำที่พึงประสงค์

               ผู้บริหารหรือผู้นำที่ดีนั้น จะต้องเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการบริหารงานตามความประสงค์ของระบบการบริหารงาน  และจะต้องเป็นผู้นำที่ดีและพึงประสงค์ของผู้ร่วมงาน ดังนี้

               1.ความรอบรู้ในเชิงวิชาการ  (Knowledge)

               2.กล้าหาญทางจริยธรรม  (Courage)

                3.เป็นผู้นำที่มีความซื่อสัตย์  (Honesty)

               4.แต่เด็ดขาดเมื่อจำเป็น  (Decisiveness)

               5.เยือกเย็นเมื่อประสบปัญหา  (Cool)

               6.ท่วงท่าน่านับถือ  (Good   posture)

               7.กระตือรือร้นในการงาน  (Enthusiasm)

               8.มนุษย์สัมพันธ์สูงส่ง  (Human   relationship)

                 9.มั่งคงและรอบคอบ  (Stability)

                 10. อยู่ในกรอบของศีลธรรม (Morality)

 

ลักษณะผู้นำที่ไม่พึงประสงค์

         บุรัญชัย  จงกลนี ผู้บริหารหรือผู้นำที่ไม่ดี  หรือไม่พึงประสงค์นั้น  สำหรับการบริหารมีแต่จะทำให้องค์การนั้นเสื่อมเสีย  มีดังนี้.

             1.ตั้งอยู่ในความประมาท  (Careless)

             2.ขาดความเห็นอกเห็นใจ  (Lack  of  understanding)

            3.ชอบใช้อำนาจลงอาญา (Over  use  of   power)

            4.ไม่กล้าทางจริยธรรม   (Morally   weak)

            5.ไม่ปฏิบัติตามความถูกต้อง  (Wrong   doing)

           6.เห็นแก่พวกพ้องของตน  (Family  and   friends  only)

          7.มืดมนอยู่กับอบายมุข  (Gambling)

          8.ผิดถูกไม่รู้แน่  (Poor  judgment)

         9.ไม่เข้าใจถ่องแท้ในการงาน  (Poor  knowledge)

          10. และขาดการประมาณตน (Intemperance)

                สรุปได้ว่า ลักษณะที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์  ในฐานะที่เป็นผู้บริหารควรจะยึดถือคุณธรรมหรือคุณสมบัติของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานมาประพฤติปฏิบัติ เพราะอาจจะต้องเกี่ยวกับอาชีพและสิ่งแวดล้อมต่างกัน.

                พระราชดำรัสต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลประกาศออกมาเป็นระยะ ๆ โดยมีพื้นฐานความเชื่อว่า  คุณธรรมจะต้องครอบคลุมหน้าที่และภารกิจของผู้บริหาร 3 ประการ คือการครองตน  ครองคน  และครองงาน โดยมีพระราชดำรัสอยู่ตอนหนึ่งซึ่งได้พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าเนื่องในวโรกาสวันเฉลิม     พระชนมพรรษา  เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2527  เป็นข้อความที่ครอบคลุมมีเฉพาะที่จำเป็นและสำคัญในการใช้ปฏิบัติงานในฐานะผู้บริหารได้เป็นอย่างดี  ดังมีความว่า..

           “ .........  กำลังใจ  กำลังปัญญา  กำลังความคิด  ความซื่อสัตย์สุจริต ทุกสิ่งทุกอย่างมีความหมายทั้งนั้น  ไม่ใช่ไม่มีความหมาย  เวลาท่านผู้ใหญ่   ไปให้โอวาท  และบอกว่าขอ    ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต  ทำงานทำการด้วยความตั้งใจที่ดี   โดยใช้วิชาการให้ถูกต้อง   ท่านผู้ใหญ่ท่านพูดอย่างนั้นมีความหมาย  ท่านไปที่ไหนก็ต้องพูดอย่างนั้น  แล้วก็เลยกลายเป็นไม่มีความหมาย  ที่จริงมีความหมายต้องพูดซ้ำซากว่า   ขอให้ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  ทำด้วยรู้ทัน  ทำด้วยความรู้ไม่เผลอสติ   ทำด้วยความมีหลักวิชา   ทำด้วยการ  ไม่อคติ  ”.

จากพระบรมราโชวาทดังกล่าว  มีข้อความที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่าให้มีความซื่อสัตย์สุจริต  ไม่มีอคติ  ทำงานด้วยความตั้งใจที่ดี  ใช้หลักวิชาการให้ถูกต้อง  และเมื่อนำพระราชดำรัสดังกล่าวมาวิเคราะห์ดู ก็จะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ข้อใหญ่ ๆ ซึ่งสามารถใช้เป็นคุณธรรมของผู้บริหารเพื่อการประพฤติปฏิบัติในการครองตน  ครองคน  และครองงาน  ได้เป็นอย่างดี  นั่นก็คือ

                1.ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต

                2.ให้มีความยุติธรรม

                3.ให้ทำงานด้วยความตั้งใจที่ดีและใช้หลักวิชาการให้ถูกต้อง

+++++++++++++++++++++++++++++++

หมายเลขบันทึก: 299470เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2009 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท