เลียบเลาะคลองประวัติศาสตร์รำลึกประวัติศาสตร์คลองสระบัว


คลองสระบัวแห่งกรุงศรีอยุธยาแหล่งเรียนรู้ที่อนุชนควรศึกษา


       คลองสระบัวเป็นคลองขุดสมัยโบราณขนาดใหญ่ เรือพระราชพิธีแล่นไปได้ เดิมทีด้านหลังมีอีกคลองขนานกันและวิ่งมาชนกันเรียกว่า "คลองผ้าลาย" หรือ "คลองปลาหมอ" เมื่อเรือขุนวรวงศาธิราชถูกกระบวนเรือสกัดปิดหน้าปิดท้าย เพื่อไม่ให้วิ่งไปถึงเพนียด จึงได้เบนหัวเรือชิดตลิ่ง และรบไล่กันมาบริเวณนี้ แต่คลองสระบัว และคลองปลาหมอปัจจุบันตื้นเขินแล้ว

        คลองสระบัวใช้เป็นเส้นทางคมนาคมตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ดังปรากฎร่องรอยวัดสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น วัดตะไกร วัดจงกลม คลองสระบัวคงมีความสำคัญมากขึ้น เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์โปรดให้ย้ายเพนียดคล้องช้างวัดซอง บริเวณตำบลหัวรอ ไปยัง ณ ตำบลสวนพริก (ปัจจุบัน) คลองสระบัว จึงถูกกำหนดให้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไปยังเพนียดคล้องช้าง สาเหตุที่เรียกคลองสระบัวเนื่องจากลำคลองไหลผ่านซึ่งเดิมเป็นสระบัว

 

       จากการศึกษาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ท้าวศรีสุดาจันทร์(ธิดาในเชื้อวงศ์อู่ทอง)ที่ออกญาศรีเทพ เจ้าเมืองศรีเทพ(เชื้อวงศ์อู่ทองเฉกเดียวกัน)ได้ออกอุบายพาพระนางมาถวายให้เป็นพระสนมเอกของพระไชยราชา มีหน้าที่คอยอภิบาลพระยอดฟ้า(พระโอรสของพระไชยราชากับ พระนางจิตรวดีซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ของพระศรีสุริโยทัย) ซึ่งในเพลาต่อมาพระนางก็ทรงมีพระประสูติกาลพระโอรส พระนามว่า พระศรีศิลป์ก็ทรงได้เลื่อนขึ้นเป็น‘แม่ยั่วเมือง’ ในตำแหน่งมเหสีรอง เมื่อพระราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ จึงเป็น “แม่เจ้าอยู่หัว” ในฐานะพระพันปีหลวงของพระเจ้าแผ่นดิน

        ต่อมาออกญาศรีเทพได้กราบทูลยุยงให้ท้าวศรีสุดาจันทร์คิดก่อกบฎช่วงชิงพระราชสมบัติจากวงศ์สุพรรณภูมิคืนมา และสถาปนาวงศ์อู่ทองให้ขึ้นมามีอำนาจดังเดิม และนำพันบุตรศรีเทพ(บุญจันทร์) บุตรชายคนโตผู้ที่เชี่ยวในการขับกาพย์โคลงกลอนเข้ามาเป็นพราหมณ์เฝ้าหอพระฝ่ายใน โดยที่ท้าวศรีสุดาจันทร์ลอบเป็นชู้กับพันบุตรศรีเทพอย่างลับๆ ซึ่งต่อมาพันบุตรศรีเทพได้เลื่อนขึ้นเป็นขุนชินราช และสมคบลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระไชยราชาโดยนำยาพิษใส่ในน้ำนมโคด้วยฝีมือของท้าวศรีสุดาจันทร์ พระยอดฟ้าจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นผู้สืบทอดราชสมบัติแทนขณะที่มีพระชนม์ ๑๐ พรรษา โดยมีพระเทียรราชา(พระอนุชาของพระบิดา)คอยถวายคำปรึกษา

        ต่อมาท้าวศรีสุดาจันทร์ออกอุบายปล่อยข่าวลือใส่โทษพระเทียรราชาว่าซ่องสุมไพร่พลเพื่อก่อการกบฎช่วงชิงราชสมบัติจากพระราชนัดดา พระองค์จึงต้องทรงเสด็จออกผนวช ณ วัดราชประดิษฐานและ ต่อมาพระยอดฟ้าก็ทรงเสด็จสู่สวรรคาลัยเนื่องด้วยทรงต้องยาพิษในน้ำนมโคเฉกเดียวกัน แล้วสถาปนา ขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า ขุนวรวงศาธิราชครองราชย์สมบัติแทน (แต่ในพงศาวดารจารึกไว้ว่า ไม่นับ      ขุนวรวงศาธิราชเป็นอีกรัชสมัยหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา)

        ต่อมาขุนพิเรนทรเทพออกญาเมืองพิษณุโลกสองแคว ได้ล่วงรู้ข่าวการเกิดทุรยุคในครั้งนี้ จึงเร่งเดินทางจากเมืองพิษณุโลกคืนกรุงศรีอโยธยาแลออกอุบายนำไพร่พล ออกสำเร็จโทษขุนวรวงศาธิราชแลท้าวศรีสุดาจันทร์(ขึ้นมามีอำนาจเหนือราชบัลลังก์อยุธยา เป็นเวลา ๑ ปี ๒ เดือน กับอีก ๔๒ วัน)ในขณะที่ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จทางชลมารคเลียบคลองสระบัวเพื่อขึ้นฝั่งไปคล้องช้างเผือกเป็นผลสำเร็จ และได้เสียบหัวประจานไว้ที่วัดแร้ง ในการนี้มีขุนอินทรเทพ หลวงศรียศ แลหมื่นราชเสน่หาร่วมมือกันกำจัดทุรยุคไปจากแผ่นดิน แล้วอัญเชิญพระเฑียรราชาให้ลาสิกขาบทขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่าพระมหาจักรพรรดิ์ ครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๑

        สำหรับ “พระศรีศิลป์” โอรสอีกพระองค์ของ พระแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์กับพระไชยราชาธิราชนั้นจะถูกประหารชีวิตในระยะถัดมาในข้อหาซ่องสุมคิดกบฎต่อพระมหาจักรพรรดิ์

        กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ พื้นที่รอบนอกเป็นที่ราบแผ่ออกไปทั่วทุกทิศ กำแพงเมือง สร้างด้วยหิน วัดโดยรอบได้ ๒ ไมล์ฮอลันดา นับว่าเป็น นครหลวงที่กว้างขวางใหญ่โตมาก ภายในพระนคร มีวัดวาอาราม สร้างอยู่ติด ๆ กัน มีประชาชนพลเมือง อาศัยอยู่หนาแน่น ในตัวเมืองมีถนนสร้างตัดตรงและยาวมาก มีคลองที่ขุดเชื่อมต่อจากแม่น้ำเข้ามาในตัวเมืองทำให้สดวกแก่การสัญจรไปมาได้อย่างทั่วถึง

        นอกจากถนนหลัก และคลองหลักแล้ว ยังมีตรอกซอย แยกจากถนนใหญ่ และคูเล็กแยกจากคลองใหญ่ ทำให้ในฤดูน้ำ บรรดาเรือพายทั้งหลาย สามารถไปได้ถึงหัวกะไดบ้าน บ้านที่อยู่อาศัยสร้างตามแบบอินเดีย แต่หลังคา มุงด้วยกระเบื้อง บรรดาโบสถ์ วิหาร ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๓๐๐ แห่ง ได้ก่อสร้างขึ้น อย่างวิจิตรพิศดาร บรรดาพระปรางค์ เจดีย์ และรูปปั้น รูปหล่อ ซึ่งมีอยู่มากมายใช้ทองฉาบเหลืองอร่าม นับว่าเป็นมหานครที่โอ่อ่า มีผังเมืองที่ วางไว้อย่างเป็นระเบียบ ตั้งอยู่ในทำเลทีเหมาะสม อยู่ในภูมิฐานที่ดีและมั่นคง ยากที่ข้าศึกจะโจมตีได้โดยง่ายเพราะในทุกปีจะมีน้ำท่วมถึง ๖ เดือน ทั่วพื้นที่นอกกำแพงเมือง ทำให้ข้าศึก ไม่สามารถตั้งทัพอยู่ได้

        บรรดาถิ่นฐานที่อยู่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และยังดำรงคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ตลาดขวัญ ปากเกร็ด บ้านกระแซง สามโคก บางไทร บางปะอิน หัวรอและหัวแหลม เป็นต้น

        สำหรับย่านชุมชนทั้งในและนอกพระนครมีหมู่บ้านของชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำมาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ร้านค้า และตลาดของ ชาวต่างประเทศเท่าที่ปรากฏหลักฐานก็มี ร้านไทยมอญ ตลาดมอญพม่า ตลาดจัน พวกนี้อยู่ในพระนคร ที่อยู่นอกพระนครก็มี ตลาดบ้านญี่ปุ่น และหมู่บ้านแขก แถบคลองตะเคียน เป็นต้น

        นอกจากนั้นยังมีพวกเลกที่เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท ก็ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้อยู่อาศัยรวมกันเป็นย่าน เพื่อทำการผลิตสิ่งของต่าง ๆ ตามที่มีพระราชประสงค์ เท่าที่มีหลักฐานมีอยู่ดังนี้

        ย่านสัมพะนี ย่านนี้จะผลิตน้ำมันงา น้ำมันลูกกระเบา ทำฝาเรือนไม้ไผ่กรุ ทำมีดพร้า และหล่อครกเหล็ก เป็นสินค้าออกขาย

        ย่านเกาะทุ่งขวัญ แบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ บ้านปั้นหม้อ บ้านทำกระเบื้อง บ้านศาลาปูน (เผาปูน) และบ้านเขาหลวงจีน ตั้งโรงต้มเหล้า เป็นสินค้าออกขาย

        ย่านเกาะทุ่งแก้ว แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม มีอาชีพหล่อเต้าปูนทองเหลือง ปั้นตุ่มนางเลิ้ง เลื่อยไม้กระดาน ทำตะปูเหล็ก ทำแป้งหอมน้ำมันหอม ธูปกระแจะ ปั้นกระโถนตะคันช้างม้าตุ๊กตา และบ้านโรงฆ้องนำกล้วยมาบ่มเป็นสินค้าออกขาย

หม้อดินเผาคลองสระบัว

        อาชีพปั้นหม้อของชุมชนสองฝั่งคลองสระบัว (เป็นงานอาชีพหัตถกรรมที่เก่าแก่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี) และเดิมคลองสระบัว มีชื่อเรียกว่า คลองหม้อ ปัจจุบัน คงเหลือผู้ปั้นหม้อเพียงสิบกว่าหลังคาเรือน และหม้อที่ยังคงปั้น มีอยู่ ๕ ชนิด คือ หม้อต้น หม้อกลาง หม้อจอก หม้อหู และ หม้อกา โดยสามอย่างแรก เป็นหม้อลักษณะกลมก้นมนมีฝาปิด (แบบหม้อต้มยา) ส่วนหม้อหู คือหม้อแกงมีหู และหม้อกา คือกาต้มน้ำ ที่นิยมทำขาย คือ หม้อกลาง และหม้อจอก เฉพาะขนาดพอเหมาะใช้สำหรับหุงต้ม

      ดังนั้นอนุชนรุ่นหลังในฐานะที่เป็นคนไทยได้อาศัยแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาทำมาหาเลี้ยงชีพควรจะได้ศึกษาเรียนรู้และให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์สืบสานตำนาน “คลองสระบัว” แห่งนี้ให้คงอยู่คู่พระนครศรีอยุธยาตราบนานเท่านาน

หมายเลขบันทึก: 299302เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2009 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท