เรื่องเล่าชาว "กรรมกร..."


ช่วงนี้เราเองต้องมาทำงานก่อสร้างต้องเจอ ต้องสัมผัสกับทั้งช่างและทั้ง "กรรมกร..."

ช่างกับกรรมกรถ้าสัมผัสจริง ๆ แล้วเขาเป็น "คนใจกว้างนะ" มีอะไรก็บอกเรา ไม่มีเล่ห์ ไม่มีปิด ไม่มีบัง
แตกต่างกับพวก "ผู้รับเหมา" พวกนี้ เล่ห์เหลี่ยมเยอะ โดยเฉพาะพวกเถ้าแก่และ "คนขายของ" พวกนี้นี่ถ้าดูให้ดีมีมารยามากกว่า "ห้าร้อยเล่มเกวียน"

กรรมกร ชีวิตเขาก็ไม่มีอะไร ตื่นเช้ามากินข้าวแล้วก็ทำงาน
ถึงเวลาเที่ยงก็กินข้าว มีเวลาเหลือก็ "หลับ....zzzzz"
บ่ายเขาก็ตื่นขึ้นมาทำงาน ทำงานเสร็จเย็นก็กินข้าว
กินเข้าวเสร็จไม่ทำโอก็กลับบ้าน...
ชีวิตไม่เห็นต้องวุ่นวายอะไรมาก

ร้อนเขาก็เอาหมวกมาใส่ ฝนตกเขาก็เอาร่มมากาง
ทำงานไปก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ให้ทำอะไรก็ทำ

แต่พวกผู้รับเหมานี่ "คิดมาก" จะทำให้อะไรอย่างหนึ่งก็คิดแล้วคิดอีก อีกอยู่แต่ว่า "จะคุ้มหรือไม่คุ้ม"
พวกผู้รับเหมานี่ จะสามารถเรียกหรือนิยามได้ว่า "พวกทำนาบนหลังคน"
เขาคิดอยู่แต่ว่าจะทำอย่างไรให้เงินเหลือเยอะ ๆ
การที่จะทำให้เงินเหลือเยอะ ๆ คือ จะต้องจ้างกรรมกรด้วย "เงินน้อย ๆ"
จ่ายค่าจ้างน้อย ๆ และใช้งานหนัก ๆ

การคิดแบบนี้ทำให้ "ผู้รับเหมา" ซึ่งวัน ๆ ไม่ได้ทำอะไรมากกลายเป็นคนใจแคบ
ผู้รับเหมา ตอนเช้าก็มีหน้าที่ขับรถมาส่งคนงานแล้วก็ "รอ"
ตอนรอนี้ก็ไปเที่ยวบ้าง นอนบ้าง หลับบ้าง ถึงเวลาก็มารับกลับ
กรรมกรทำอะไรเสียหายก็ "หักเงิน"
คิดค่าข้าว ค่ารถ (ทั้ง ๆ ที่บอกว่าเลี้ยง)
หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ พอถึงเวลาก็จะมา "เบิกเงิน" กับเรา
แล้วก็เอา "เศษเงิน" ไปแบ่งให้กับ "กรรมกร" ที่ต้องทำงานตากแดด ตากลม

แต่กรรมกรเขาก็ใจกว้างอยู่ดี
เขายอมรับ "ชะตากรรม" เขาก็ทนสู้ทำงานได้เงินวันละร้อย สองร้อย
กินน้ำกระติกเดียวกัน (แต่ก็ไม่เห็นเป็นโรคอะไร)
เรื่องน้ำนี่ก็แปลกนะ
กรรมกรเขาจะมีกระติกน้ำแข็งอยู่กระติกหนึ่ง
คนงานกี่คนเขาก็กินกระติกเดียวกันนี่แหละ ใช้แก้วน้ำใบเดียวกัน กระติกน้ำใบเดียวกัน เขาก็ไม่เห็นจะเป็นโรคอะไร
มิหนำซ้ำบางครั้ง คนมาส่งของ คนงานที่อื่นมา เขาก็มาขอน้ำกระติกนี้กิน ใช้แก้วน้ำใบนั้นนั่นแหละ เขาก็จะกว้าง "แบ่งกันกิน" เขาไม่เห็น "บ้าโรค" คือ กลัวโรคอย่างเราเลย

ไอ้เรานี้นะแก้วน้ำนี่ก็ต้องมีส่วนตัว ล้างแล้ว ล้างอีก ล้างแก้วไม่พอ ต้องล้างมืออีกต่างหาก
พอถึงปีไปตรวจสุขภาพก็เป็นนั่นเป็นนี่
แต่กรรมกรเขาไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย
สุขภาพ อนามัยเหรอ ไม่ต้องพูดถึง นอนกับดิน กินกับทราย
แผลเลือดออกเหรอ ไม่ต้องถามถึงแอลกอฮอล์เช็ดแผล
เลือดมันออกได้ มันก็แห้งเองได้
เหมือนตอนแรกก่ออิฐ เป็นแผลทุกวัน ทั้งวัน
โดนโน่นนิด นี่หน่อย เลือดออกก็ปล่อยมัน ถ้ามันจะตายเพราะทำงานก็ให้มันตายไป
แล้วมันก็ไม่เห็นเป็นอะไร แผลมันก็หายดี ไม่เห็นเป็น "บาดทะยัก"...

ทำงานมาก ๆ นอกจากใจกว้างแล้วจะ "ไม่กลัวตาย" อีกด้วยนะ
มาฝึกใจกว้างด้วยการทำงาน แล้วชีวิตนี้จะสวยงามขึ้นอีกเยอะ...

คำสำคัญ (Tags): #r2r#กรรมกร
หมายเลขบันทึก: 299043เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2009 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

กรรมกรนี่...น่าจะให้ความหมายว่าอย่างไรดีน๊า...?

ทำไมเราถึงเรียกเฉพาะช่าวก่อสร้างว่าเป็นกรรมกรหนอ?...

อย่างตัวเองนี่ทุกครั้งๆ ...ก็จะเจียมตัวเสมอว่า การงานที่ตนเองทำนั้นไม่ได้ต่างไปจากกรรมกรที่คนทั่วไปรู้จัก...เพียงแต่ใช้อวัยวะของส่วนร่างกายต่างกันเท่านั้นเอง แต่ลักษณะการทำงานนี้ มองดูแล้วนะไม่ได้เลิศล้าไปจากเขาเหล่านี้เลย...

อืม..แล้วกรรมกร..นี่จริงๆ แล้วคืออะไรกันเล่า?...

 

กรรมกร คือ ผู้มี "กระทำ" การต่าง ๆ ด้วย "มือ..."

555 อันนี้แปลแบบกำปั้นทุบดินเลยนะ

กรรมกร เขางานด้วย "มือ" คือ

คนที่การทำงานด้วยมือ คือ คนที่ไม่ทำงานด้วย "ปาก"

ถ้าเปลี่ยนคนทำงานด้วยปากมาทำงานด้วยมือได้สักครึ่งนี้ สังคมไทยนี้คงจะพัฒนาไปอีกมาก

กรรมกรต้องออกแรง ต้องเสียเหงื่อจึงจะได้งาน งานซึ่งจะนำมาซึ่ง "เงิน" เงินที่จะนำไป "เลี้ยงชีวิต...

คนเดี๋ยวนี้สั่งไขว่ห้างอยู่กับห้าง ใช้ปากพูดโทรศัพท์ มือก็แทบไม่ต้องยกหูโทรศัพท์ด้วยนะ เพราะเดี๋ยวนี้มี Bluetooth...

แล้วคนพวกหลังนี่เอง มักฉกฉวยผลประโยชน์จากคนที่ทำงานด้วยมือ เขาจึงเรียกกันว่า "ชุบมือเปิบ..."

คนทำงานด้วยมือ แล้วได้อะไรตอบแทนมาด้วยสองมือนั้นคือ "ความสุข..."

สุขเพราะคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้ "ลงทุน" ไป...

คนเดี๋ยวนี้ชอบลงทุนน้อยแต่ก็คอยหวังที่จะได้กลับมามาก

แต่กรรมกรเขาลงทุนคุ้มกับสิ่งที่ได้กลับมา

กรรมกรตามความหมายก็แปลได้แบบกำปั้นทุบดินแบบนี้

หรือท่านว่าอย่างไร...?

ทีแรกก็คิดว่า... กรรมกร คือ ผู้ใช้มือทำการกระทำต่างๆ...

แต่..แหม..มันก็จะกำปั่นทุบดินเกินไป๊...ก็เลยว่า นะนะ...มันต้องเป็นอะไรที่มากกว่าความหมายที่ว่า

แต่ก็มัวแต่ตีความ...นี่ก็ไม่ใช่กรรมกรอีกน่ะนะ มัวแต่นั่งตีความ ก็คงจะไม่ต่างจากคนที่ท่านเปรียบเปรยไว้...

ทำงานดั่งกรรมกร...

คือ...ทำไป ทำไป ...ทำไปเพียงเพราะหน้าที่

หากสังเกตดีดีนะ กรรมกรน่ะจะเป็นผู้ได้รับความฝึกฝนในความอดทน (ขันติ) เหมือนเกิดมาเพื่อฝึกตนในเรื่องนี้เลยล่ะ อาศัยการฝึกผ่านการกระทำทางกาย - ร่างกาย ยืนมองดู อืม ...อดทนมาก เหนื่อยหนักแค่ไหน ก็ทำ เบื่อหน่ายแค่ไหน ก็ทำ ...ทำไป๊..ทำไป...ทำอย่างไม่ย่อท้อ

ก็เลย...อ้า!..เราทำงานเหมือนกรรมกรเลยนี่นา...

ทำไป ด้วยความอดทน ไม่ย่อท้อ ต่อความยากลำบาก

ความลำบากทั้งกายและใจนี่ล่ะ...ที่เราได้มาจากการไปยืนดูกรรมกรทำงาน

จึงย้อนกลับมาดูตัวเอง...

ถึงได้รู้ว่าวิถีที่ตนเองทำงานทุกวันนี้ ก็เป็นดั่งเช่นกรรมกรนี่เอง

^__^

กรรมการน้อย Ka-Poom

 

กรรมการน้อย Ka-Poom ==> กรรมกรน้อย Ka-Poom

เช้านี้ขอมาใช้ (กรรม) "กำปั้น (กร) " ทุบดินต่อ...

ขอเปรียบเทียบสองหน้าที่ในการทำงานคือ กรรมกรและโฟร์แมน

กรรมกรมีที่มา คือ เรียนจบ ป.6 ม.3 แล้ว ไม่ได้เรียนต่อก็เลยมาทำงาน "ก่อสร้าง"

หรือลูก หลาน ภรรยา ของกรรมกร มาช่วยงาน "กรรมกร" ก็เลยเริ่มต้นเป็น "กรรมกรน้อย ๆ"

การเรียนรู้ของกรรมกรนี้ถ้าดูให้ดี "ฉลาด" กว่าพวกเรานะ

เพราะเขาเรียนรู้แบบ "งานต่องาน" คือ ทำงานไปเรียนสู่ไป ถ่ายทอดกันไปจากรุ่นสู่รุ่น

ที่ว่าฉลาดกว่าเราก็คือ เขาเรียนด้วยได้ "ตังค์" ด้วย แต่ตอนพวกเราเรียนนั้น "เสียตังค์..."

ที่ว่าฉลาดอีกอย่างก็คือ เขาเรียนด้วยได้ "ออกกำลังกาย" ด้วย แต่เราต้องทำงานทั้งวัน แล้วก็ยังต้อง "เสียตังค์" ไปเข้า Fitness

แล้วต่อมาพวก "โฟร์แมน"

โฟร์แมนนี้มีที่มาจากสองแหล่งหลัก ๆ

ที่มาแรกคือคนที่เรียนจบ ตั้งแต่ ปวช. ปวส. ปริญญาทางด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกรรมศาสตร์

ที่มาแรกนี้ เขาใช้ "หัว" กับ "ปาก" ทำงาน ไม่ค่อยได้ลงมาใช้ "มือ" ทำงานสักเท่าไหร่

อีกที่มาหนึ่งคือ "กรรมกรน้อย" ที่ถูกเลื่อนขั้น ทำงานมานานแล้ว พอไว้วางใจได้แล้วก็เลื่อนขั้นขึ้นมา "คุมงาน"

การเลื่อนตำแหน่งนี้มีเรื่องที่น่าแปลกคือ พอเลื่อนตำแหน่งปุ๊บ นิ้วมือจะหายไป 9 นิ้วปั๊บ

คือเมื่อก่อนจะใช้นิ้วมือทั้ง 10 นิ้วทำงาน แต่พอเลื่อนตำแหน่งจะใช้เพียงนิ้วเดียวทำงานคือ "นิ้วชี้"

ชี้อย่างเดียว ชี้โน่น ชี้นี่ ชี้แล้ว กรรมกรต้องทำให้ได้

มือชี้ไป ปากก็สั่งไป

ชี้ไป ชี้ไปบางครั้งก็ไม่รู้ว่ามันยากมันง่ายขนาดไหน แต่กรรมกรจะทำได้อย่างไรนั้นมันเรื่องของ "กรรมกร"

อ้อ... อีกมือหนึ่งของโฟร์แมนอาจจะมีไว้ใช้งาน "กางร่ม" คือ ผิวชักเริ่มจะโดนแสงแดดไม่ค่อยได้

ก่อนออกแดดจะต้องมีทั้งหมวก ทั้งร่ม ทั้งเสื้อคลุม พร้อมกับ "ครีมกันแดด"

โฟร์แมนทำงาน "ชี้นิ้ว" ตอนกลางวันเสร็จ ตอนเย็นก็ต้องขับรถไปเข้า Fitness ต่อ เพราะกลางวันไม่ได้ออกแรง เสียเหงื่อ

วิศวกรนี่ก็ยิ่งแล้ว บางครั้งเขียนแบบหาสูตรมา ก็ลืมนึกไปว่า "ความจริง" มันเป็นเช่นไร

ทั้งหัว (วิศวกร) ทั้งหาง (กรรมกร) นั้นต้องเข้ากัน "เป็นปี่ เป็นขลุ่ย" งานถึงจะดำเนินไปได้

วิศวกรและโฟร์แมนจะต้องต้องเพิ่มนิ้วขึ้นมาอีก 4 นิ้วในการทำงาน คือ ต้องใช้นิ้วทั้งห้านิ้ว หัดตบหลัง ตบไหล่ แสดงความใกล้ชิดกับ "เพื่อนร่วมงาน (กรรมกร)" บ้าง

ก็คงไม่ต้องกลัวสกปรกหรอกนะ เดี๋ยวนี้เทรนด์ "เจลล้างมือ" กำลังฮิต ถ้าไปตบไหล่กรรมกรแล้ว ก็แอบ ๆ ไปใช้เจลล้างมือล้างก็ได้ แต่อย่าไปล้างต่อหน้าเขานะ เดี๋ยวเขาจะเอาขามาตบที่ก้านคอเรา...

กรรมกร หรือผู้ที่กระทำการด้วย "มือ" จะต้องสร้างสรรค์โลกนี้ด้วย "มือ" ใช้มือนำการกระทำต่าง ๆ

อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน, จัตตาโร ธัมมาวัฑฒันติ, อายุ วัณโณ สุขัง, พะลัง.

ธรรมสี่ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติกราบไหว้ มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ...

เสน่ห์อะไรใน G2K

 

คำถามนำนี้น่าตอบมาก ๆ เจ้าค่ะ ............

ขอโอกาสตอบ  ส่วนตัวที่เข้ามาใช้ G2K เป็นแหล่งองค์ความรู้ที่ดีเยี่ยม

ที่ได้รับคำแนะนำจาก ครูบาอาจารย์ให้มาอ่าน

พออ่านแล้วรู้สึกได้ว่าหลาย ๆ ท่าน

เขียนจากใจเป็นการสกัดองค์ความรู้ออกมาจากผู้ปฏิบัติเอง ในแต่ละสาขา

รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ รู้สึกได้ถึงความงดงาม ที่อยู่ภายในของผู้

เขียนบันทึก.....เป็นเสน่ห์ที่น่าหลงไหลของ G2K

 

    ที่น่าทึ่งคือ ทำให้เห็นตนเองในหลากหลายมุมมองมากยิ่งขึ้น

แต่บางทีโยมเอง ก็มีความปิดกั้นในการรับข้อมูล

เพราะเลือกอ่านเพียง บันทึกที่รู้สึกสนใจ หรือติดตามเท่านั้น

ส่วนบันทึกอื่น ๆ หรือ สาขาอื่น ๆ ที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อน มักจะโดนมองข้ามไป......แต่ทุกครั้งที่เข้ามาอ่าน มาเสพ

บันทึกของพระอาจารย์

ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง............เมื่อมีเวลา จึงแวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสายเจ้าค่ะ แต่บางครามิได้ตอบเท่านั้น

 

 

 

แต่หลังจากที่ปรับโฉมใหม่

 

ยอมรับว่า งง หาอะไรไม่เจอเจ้าค่ะ

พลอยทำให้ความถี่การแวะมาลดลงจนกลับไปพิจารณาตนเองว่า

เอ.......เราปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้สึกใหม่หรือไม่

จึงลองเปิดใจแล้วให้โอกาสตนเอง แต่ว่าของใหม่ ก็ ยังเป็นของใหม่

 

ก็ต้องค่อย ๆ เรียนรู้กันไป

 

เป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่เข้ามาถอดบทเรียนและเป็นกำลังใจ

ให้ทีมงาน G2K นะคะ

อ้าว ขออภัยเจ้าค่ะ

โยมกำลังงง กับการจัดการความคิดเห็น

โพสอนุทินเสร็จแล้ว error ทุกครั้ง งง แล้วรู้สึกขุ่นมั่ว

ลองหาสาเหตุไป ๆ มา ๆ กลายเป็นว่า

อักษร เกินกำหนด

แล้วพอเปิดบันทึกของพระอาจารย์

กลายเป็นว่าโยมเผลอ

กดคอนโทล V แล้วโอเค

โยมจึงขอกราบขอขมา

กับความคิดเห็นที่ 6

ที่มันอยู่เป็นที่ ผิดเวลาเจ้าค่ะ

ขอได้โปรด อภัยให้โยมด้วยเจ้าค่ะ

("-^_^)

ขอโอกาสแลกเปลี่ยนใน บันทึกนี้ค่ะ

กรรมกร..........ข้าราชการ?

สองสิ่งนี้ต่างกันไหม?

ผู้บริหาร หลายท่านดูเหมือนเข้าสู่วิถีของคนนิ้วหายไป 9 นิ้วแบบที่ท่านสุญฺญตา กล่าวไว้

ที่น่าประหลาดใจและสงสัย

เดี๋ยวนี้ข้าราชการเป็นโรคนิ้วหายกันเยอะ

เอะ อะ อะไร ก็ จ้างเหมา

เอะ อะ อะไร ก็ ไม่มีเวลา

เอะ อะ อะไร ก็ติดประชุม

อืม พอเข้าห้องประชุม ก็ วิวาทะ

หาสาระ ไม่ได้

พอค้นพบสิ่งดี ๆ พอที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชน

ก็กลัวโดนแย่งชิง ไปทำการค้า หรือ งานนี้ใครจะได้หน้า

ทำงานไปก็บอกว่า ไม่ได้สองขั้น

แต่ก็ยังดี ที่มีข้าราชการหลายท่าน ที่เป็นข้าแห่งองค์ราชะ

ตั้งอก ตั้งใจทำหน้า เพื่อ ประโยชน์แห่งผู้คน

โดยที่ไม่หวังผลตอบแทน สิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน

ทำให้เห็นระบบราชการในปัจจุบัน

เกิดความสั่นคลอน

กลายเป็นว่า

คนทำงานไม่ดัง

แต่คนดังไม่ทำงาน

ทำยังไงน้อ จึงจะให้กำลังใจคนทำงานให้มีพลังสู้และอดทน ทำหน้าที่ต่อไป

ไม่มีปัญหา สบาย สบาย...

ข้าราชการ กับ "กรรมกร" ต่างกันมั๊ยเหรอ...?

ถ้าสมมติให้ต่างก็คงต่างกัน

ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใด แม้แต่ใน "องค์กร" เดียวกัน

ถ้าอีกคนหนึ่งเป็น ข้าราชการ แล้วอีกคนหนึ่งเป็นเพียง "ลูกจ้าง" ก็ต่าง ๆ กันเพียง "กรรม"

กรรมคนหนึ่งเคยทำมา "ดี" เขาก็มีเกียรติ มียศ มีฐานะ มี "สวัสดิการ" ดีกว่าหน่อย

กรรมอีกคนหนึ่งทำมา "น้อย" เขาก็ต้องตั้งตา ตั้งตาคอย หมดเวร หมดกรรม

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องงานแล้ว ข้าราชการกับกรรมกรก็ไม่ต่างอะไรกัน ก็เพราะว่าต้อง "ทำงาน" เหมือนกัน

ข้าราชการที่ทำหน้าที่เป็นกรรมกรก็มี คือ ทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ ทุ่มเท เสียสละ "ทำงานด้วยมือ..."

กรรมกรที่เป็นข้าราชการมีไหม...?

มีนะ คนทำงานที่อุทิศหัวใจและร่างกายเพื่อประเทศชาติ ก็คือว่าเป็น "ข้าราชการ" เหมือนกัน

ข้าราชการเขาแปลว่าอะไรน๊า...? ตอนนี้รีบ ๆ คิดไม่ออก

เรื่องระบบราชการนี่คิดแล้วก็ "ปวดหัว...?"

แต่ว่าคิดไปคิดมาก็ได้ "ภาวนา" ดีเหมือนกัน

ทำงานในระบบราชการก็ดีอย่างได้ "ปฏิบัติธรรม" ทั้งวัน

ได้พิสูจน์นิยามของคำว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป..."

ข้าราชการไทยสั่นคลอนเพราะกลอนประโยคนี้มาก

แต่การสั่นคลอนนี่แหละเป็นการ "ภาวนา" ที่ดียิ่ง

การตั้งมั่น มั่นคง ไม่หวั่นไหว

การพิสูจน์แรงใจและ "ศรัทธา"

การตั้งหน้า ตั้งตา "ทำความดี"

การทำความดีที่ไม่หวัง "ผลตอบแทน"

ชื่อเสียง เกียรติยศ ที่ไม่มีก็สามารถปลด "โลกธรรม" ได้

โอกาสดีมาถึงแล้ว ขอให้นำระบบราชการนี้ "พิจารณา" ชีวิต

ชาตินี้เกิดมาเป็นข้าราชการแล้วก็อย่าให้เสียชาติเกิด ที่ได้อัตภาพอันประเสริฐเกิดมาเป็นมนุษย์และพบ "พระพุทธศาสนา..."

อยู่ในระบบราชการนั้นทุกข์มาก ก็ขอให้ใช้ทุกข์นั้นให้เกิดประโยชน์

ยิ่งทุกข์มาก ยิ่งมีโอกาส "พ้นทุกข์" มาก

คนติดสุขนี้แก้ยากกว่าคนติดทุกข์เสียอีก

ดีแล้วที่ข้าราชการนั้น "ทุกข์" จะได้สามารถนำความทุกข์มา "ภาวนา"

ภาวนามาก ๆ นะ ภาวนามาก ๆ จะได้ "บารมี" อันองอาจในการ "ทำงาน..."

นมัสการเจ้าค่ะ

ที่ท่านกล่าวว่า"ชาตินี้เกิดมาเป็นข้าราชการแล้วก็อย่าให้เสียชาติเกิด ที่ได้อัตภาพอันประเสริฐเกิดมาเป็นมนุษย์และพบ "พระพุทธศาสนา..." อยู่ในระบบราชการนั้นทุกข์มาก ก็ขอให้ใช้ทุกข์นั้นให้เกิดประโยชน์ ยิ่งทุกข์มาก ยิ่งมีโอกาส "พ้นทุกข์" มาก"

เป็นบทเรียนที่ข้าราชการทุกคนต้องเรียนรู้และใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงเจ้าค่ะ         เป็นข้าราชการ เป็นข้าของแผ่นดิน  เป็นผู้ทำงานรับใช้ปวงประชา                          ในการที่จะสร้างประโยชน์ต่อโลก อันไม่ใช่ทำงานเพื่อลาภ ยศ สรรเสิญนั้น             เราต่างเคยติดบ่วงทุกข์กันเป็นส่วนใหญ่  กว่าจะก้าวข้ามมาได้  ต้องใช้พลังของการเยียวยาตนเองด้วยวิถีของการยึดมั่นต่อการทำความดี เพื่อดีค่ะ                                เพราะเราเป็นข้าราชการที่เป็นเพียงปุถุชนผู้ก้าวสู่เส้นทางการเรียนรู้ค่ะ ท่านใดที่เรียนจบหลายบท  ก็มาถอดบทเรียนไว้ในG2K  ให้ผู้มาทีหลังได้ร่วมศึกษากันนะคะ

ถูกต้อง ถูกต้อง

มาร่วมทำหน้าที่ด้วยกันและกัน

"ข้าของแผ่นดิน เป็นผู้ทำงานรับใช้ปวงประชา"

อ่านประโยคข้างต้นแล้วทำย้อนนึกถึงความหมายของคำว่า "ราชภัฏ" ซึ่งแปลว่า "คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน..."

เป็นบุญอันประเสริฐแล้วที่เราได้เกิดมาเป็นคนไทย และได้เกิดมาอยู่ในใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร

การกระทำความดีใด หากวันนี้เราทำได้ ก็ขออุทิศ ทุ่มแรง ทุ่มใจ ตั้งหน้า ตั้งใจ "กระทำ"

บทเรียนของชาวไทยไม่เคยแพ้บทเรียนของชนชาติใดในโลก

บทเรียนของชนชาตินี้มีคุณค่า ขอเราร่วมกันมา "ถอดบทเรียน"

บทเรียนแห่งชีวิต สองมือนี้เป็นผู้ลิขิต

บทเรียนใดได้ลิขิต บทเรียนนั้นย่อมสร้างสรรค์ชีวิตให้สวยงาม...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท