ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อการใช้เทคโนโลยีการสารสนเทศต่อการจัดการศึกษา ในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2540 – 2544 มุ่งเน้นให้สถาบันการศึกษาและองค์การสื่อมวลชนต่างๆ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยขยายการบริการการศึกษาให้มีทางเลือกที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีโอกาสเลือกตามความถนัดและเหมาะสมกับสภาพปัญหาหรือข้อจำกัดของตน และพัฒนาระบบข้อมูลให้เป็นระบบและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารกับแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ทั้งในและนอกระบบโรงเรียนเข้าด้วยกัน เพื่อใช้เป็นแหล่งของกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิตของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป (วันชัย ศิรชนะ. 2543 : 6)
นอกจากนี้แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 8
ยังสนับสนุนการนำเทคโนโลยีการสารเทศที่ทันสมัยมาพัฒนาการเรียนการสอน
โดยการจัดหาฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์
และเทคโนโลยีการสารเทศที่จำเป็นต่อการศึกษา เช่น คอมพิวเตอร์
ระบบเครือข่าย อุปกรณ์ต่อเชื่อม โปรแกรมประยุกต์ต่างๆ
และการพัฒนาระบบงานสารสนเทศเพื่อการบริหารและงานที่สนับสนุนการศึกษา
สถาบันราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
มีภารกิจในการจัดการศึกษาการค้นคว้าวิจัย การให้บริการทางวิชาการ
การปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ให้แก่คนในท้องถิ่น
สถาบันราชภัฏในแต่ละแห่งมีองค์ประกอบของท้องถิ่นที่หลากหลาย ได้แก่ คน
วัฒนธรรม ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม
และลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของแต่ละสถาบันราชภัฏ
ส่งผลต่อแนวทางหรือนโยบายการพัฒนาในด้านการบริหาร การจัดการศึกษา
และด้านอื่นๆ มีความเหมือนและต่างกัน
ฉะนั้นสถาบันราชภัฏแต่ละแห่งต้องรู้จักบูรณาการความรู้ ภารกิจ
ทรัพยากรต่างๆ ตลอดจนบุคลากร ร่วมกับท้องถิ่น
โดยเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นและสถาบันมีส่วนร่วมวางแนวทางดำเนินการในการบริหารและการจัดการศึกษา
ซึ่งสถาบันราชภัฏแต่ละแห่งมีอิสระในการดำเนินการบริหารและจัดการด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาของท้องถิ่นตนเอง