อีกหนึ่งความสุขเล็กๆ ที่เกิดจากการต้อง "เลือก" ของหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย


เขายืนยันชัดเจนว่า จะส่งผู้แทนจำนวนสองคนเข้าไปทำหน้าที่เรียนในชั้นแทนทุกคน พร้อมๆ กับการทำหน้าที่สื่อสารกับอาจารย์ผู้สอนให้รับรู้ว่า เพื่อนที่เหลือนั้น กำลังเรียนวิชา “นอกห้องเรียน” อยู่กับชาวบ้าน...

เดือนเศษๆ มานี้ ผมยังค้นหาวันหยุดไม่เจอเลยสักวัน  ขับรถขึ้นเหนือล่องใต้ไปแบบไม่รู้อิ่ม 
จนหลายคนทักถี่ขึ้นว่า  ระยะหลังนี้  ดูเหมือนผมจะใช้ชีวิตราวกับว่ามีบ้านอยู่บนท้องถนน
เลยทีเดียว

 

และนั่นก็คือสาเหตุหลักของการนำพาตัวเองห่างหายไปจากโลกแห่งบันทึกอันแสนงามใบนี้ 
ครั้นมีเวลาอันน้อยนิด  ก็พยายามอย่างเหลือทนกับการกลับไปพลิกค้นความทรงจำที่ล่วงเลย
ของตัวเองอย่างละเอียด  ซึ่งก็พลอยให้รู้ว่า  เรื่องหลายเรื่องยังคงถูกปล่อยวางไว้อย่างมากมาย  และแต่ละเรื่องก็ยังคงขานเรียกให้ผมเจียดเวลานำพาพวกเขามาปรากฏตัวในโลกแห่งบันทึกนี้
ให้เร็วที่สุดเท่าที่ผมพึงมีพลังจะกระทำได้

 

และหนึ่งในเรื่องที่กวักมือและขานเรียกอย่างน่ารักที่สุดก็คงหนีไม่พ้นภาพและฉากชีวิตการเรียนนอกห้องเรียนเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2552 ณ วัดศรีสุข (บ้านดอนหน่อง) ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม นั่นแหละ..

 

 

กิจกรรมในวันนั้นมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน ครั้งที่ 6” ซึ่งชื่อนี้เป็นชื่อที่ผมตั้งขึ้นเมื่อเกือบๆ จะสิบปีที่แล้ว  โดยครั้งนั้นผมวิ่งเต้นหาเงินจำนวนหนึ่งไปสร้างลานกีฬาให้กับเยาวชนในหมู่บ้านละแวกมหาวิทยาลัย  เพื่อให้เด็กๆ และคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านได้มีลานกีฬาเป็นของตัวเองสักที  เพราะที่ผ่านมาอย่างเนิ่นนานนั้น  พวกเขาทั้งหลายต่างก็ต้องเล่นกีฬากันอยู่กลางทุ่งแทบทั้งนั้น  หรือไม่ก็ต้องทอดเท้าเดินไปเล่นที่โรงเรียนประจำของหมู่บ้านอีกหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปพอสมควร

 

และนับจากวันนั้นเป็นต้นมา  ผมก็ยืนหยัดชัดเจนว่า  โครงการนี้จะยัง “ขับเคลื่อนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และจะเป็นการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดของการให้บริการแก่ชุมชน หรือหมู่บ้านรายรอบมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ หรืออย่างน้อยก็จะอยู่ในละแวกพื้นที่จังหวัดมหาสารคามนี่แหละ...”

 

 

 

เป็นธรรมดาครับ  ผมเป็นคนประเภทมีความฝันแล้วให้ความเคารพต่อความฝันของตัวเองเสมอ  เมื่อชัดเจนกับความฝันของตัวเอง ก็ไม่ลังเลที่จะลงมือทำความฝันนั้นให้เป็นรูปเป็นร่าง  จนบางทีก็ดูเหมือนผมเป็นคนหัวดื้อหัวรั้นอยู่มากเลยทีเดียว  แต่จะทำยังไงได้ล่ะ  เมื่อผมเชื่อและศรัทธาเสมอมาว่า  การลงมือทำความฝันของตัวเองถือเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ของชีวิต  ทำแล้วจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น  มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องถอดบทเรียนสอนตนเองให้แจ่มชัด  แต่ถึงไม่สำเร็จก็เถอะ  มันก็ยังดีกว่าการไม่ลงมือทำเลยมิใช่หรือ...

 

สำหรับโครงการ “มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน ครั้งที่ 6” นี้เกิดจากแรงบันดาลใจที่ผมได้นั่งคุยกับชาวบ้านในบ่ายคล้อยอันร้อนอบอ้าวของต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 

 
บุคลากรในทีมงาน ถอดหัวโขนลงแรงกายแรงใจกับงานอย่างเป็นหนึ่งเดียว

 

ครั้งนั้น  แกนนำชาวบ้านบอกเล่าให้ฟังว่ากำลังลงแรงสร้างกุฏิสงฆ์ให้เจ้าอาวาส  แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงหยุดชะงักชั่วคราว  เนื่องจากไม่มีงบประมาณสานต่อให้แล้วเสร็จ  ดังนั้นเมื่อได้ฟังเรื่องราวโดยสังเขปเช่นนั้น  ผมก็ไม่ลังเลที่จะสะพานกล้องคู่ใจตรงดิ่งลงดูสภาพการณ์ความเป็นจริงของพื้นที่ด้วยตนเอง และสิ่งที่พบเจอในวันนั้นก็คือ “มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมคิดว่า ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่ผมและทีมงานจะสานต่อภารกิจนั้นให้แล้วเสร็จลงได้”

 

ถัดจากวันนั้น ผมก็ไม่รีรอที่จะนำเรื่องราวทั้งปวงมาหารือกับทีมงานเพื่อกำหนดทิศทางของการก้าวเข้าไปเติมเต็มการงานของชาวบ้านอย่างเร่งด่วน  โดยผมพยายามวิ่งเต้นหางบประมาณก้อนกลมๆ  ส่วนทีมงานก็ระดมแรงคิดแรงกายและแรงใจในการนำพาน้องๆ นิสิตเข้ามาสู่กระบวนการของการ “เอาใจนำพาเอาศรัทธานำทาง” ร่วมกัน

 

 

การงานแห่งชีวิต หรือภารกิจแห่งใจในครั้งนี้  ทีมงานได้ประสานความร่วมมือไปยังนิสิตหลายองค์กร เป็นต้นว่า  พรรคชาวดิน พรรคช่อราชพฤกษ์ ชมรมรักษ์ทางไทย  คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์..ซึ่งทุกองค์กรก็เทใจมาร่วมกันอย่างน่ายกย่อง  มีบางวันที่พวกเขารวมตัวกันเป็น “หมอลำบอกบุญ”  ออกตระเวนร้องลำเพื่อขอรับบริจาคเงินตามวิถีถนนในมหาวิทยาลัยอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

 

และนั่นก็คือกระบวนการ หรือวิธีการที่พวกเขาคุ้นชินที่สุดก็ว่าได้  โดยจำนวนเงินที่ได้รับบริจาคมานั้น  เรากล้ายืนยันว่า  มันไม่ใช่ประเด็นหลัก  แต่การแฝงนัยยะแห่งการเชิญชวนให้นิสิตได้ร่วมสัญจรออกไปเรียนรู้ “นอกห้องเรียน”  ร่วมกันนั้นต่างหาก คือสิ่งที่เราทุกคนปักธงไว้อย่างเงียบๆ...

 

 

 

กระทั่งวันอันเป็นภารกิจแห่งใจเดินทางมาถึง  ผู้บริหารและนิสิตก็เริ่มแห่เทียนพรรษาและผ้าป่าเล็กๆ เข้าสู่ตัววัดอย่างเรียบง่าย เสร็จแล้วก็ถวายภัตตาหารเช้า-เทียนพรรษาและจำนวนเงินผ้าป่าอีกในราวๆ เกือบจะ 5,000 บาท

 

เสร็จจากนั้นนิสิตจากชมรมรักษ์ทางไทย ก็เปิดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางภูมิปัญญาร่วมกับชาวบ้านด้วยการขับร้องสรภัญญะอย่างไพเราะเสนาะหู  ส่วนเจ้าบ้านก็ไม่ยอมที่จะสิ้นลายของตัวเอง  โดยการเข็นเอาทีมสรภัญญะของหมู่บ้านรุ่นเก๋าที่ใครๆ ก็เกือบจะหลงลืมกันไปจนสิ้นแล้วออกมาประชันอย่างออกรสออกชาติ...

 

 
การขับร้องสรภัญญะและกาประชันกลอนลำของนิสิตกับชาวบ้าน

 

ไม่เพียงแต่เฉพาะเท่านั้น  ทีมหมอลำของนิสิตก็ไม่วายลุกขึ้นมาขับร้องร่ายรำกรีดลีลาอย่างน่ารัก  ฟากชาวบ้านก็ไม่ยอมที่จะยกธงขาวอีกเหมือนเคย  มีการไปเชื้อเชิญหมอลำรุ่นลายครามออกมากู้สถานการณ์ของหมู่บ้านไว้อย่างเฉียดฉิว  ซึ่งบรรยากาศของวันนั้นต้องบอกตามตรงว่า ราวกับเป็นมหรสพดีๆ นั่นเอง

 

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็ทยอยลงจากศาลาการเปรียญไปสู่การงานที่กำหนดไว้อย่างไม่อิดออด  บ้างแยกย้ายไปสู่การทาสีกุฏิสงฆ์หลังใหม่  บ้างก็เทถนนคอนกรีตรอบอุโบสถ  หรือไม่ก็นั่งคัดตัวบรรจงลงในแผ่นป้ายเพื่อทำเป็นป้ายสุภาษิตสอนใจติดไว้ตามต้นไม้ในบริเวณวัด

 

 

เช่นเดียวกับอีกกลุ่มที่มาจากคณะสาธารณะสุขศาสตร์ก็ยังคงปักหลักให้ความรู้เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009  สลับไปมากับกลุ่มร้องรำทำเพลงบนศาลาวัด  และที่มีสีสันชวนเพ่งมองไม่แพ้กิจกรรมอื่นๆ เลยก็คือ  การให้บริการตรวจสุขภาพแก่เด็กๆ และชาวบ้านใต้ร่มไม้ใหญ่นั่นแหละ  เพราะเห็นได้ชัดว่า  จำนวนผู้คนที่ทอดเท้าเข้ามารับบริการนั้นมีจำนวนมากและดูจะเพิ่มขึ้นๆ ทุกขณะ  จนผมเองก็เกรงว่า หยูกยาที่เตรียมมาจะไม่พอต่อการให้บริการ  จึงได้แต่บอกกล่าวกับน้องนิสิตว่า "ขอให้พวกเขาทั้งหลายทำให้เต็มที่และเต็มความสามารถ หรืออย่างน้อยก็ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพก็ได้  เพื่อส่งต่อข้อมูลนี้ไปยังสถานีอนามัยประจำชุมชนต่อไป"

 

 

กระทั่งเกือบๆ จะห้าโมงเช้านั้นแหละ  น้องนิสิตจากคณะพยาบาลก็มากระซิบว่า”ได้เวลาต้องกลับไปเรียนแล้ว”  ซึ่งผมก็เห็นพ้องว่า ทุกคนก็ควรต้องกลับไปทำหน้าที่เรื่องเรียนของตัวเองด้วยเช่นกัน โดยจะให้รถมหาวิทยาลัยกลับไปส่งให้ถึงห้องเรียนเลยทีเดียว  (....ซึ่งพวกเขาก็เห็นด้วยตามนั้น  ก่อนปลีกตัวออกไปแจ้งข่าวกับผองเพื่อนที่กำลังตรวจสุขภาพให้กับชาวบ้านอย่างขะมักเขม้น)

 

แต่ไม่นานนัก  ตัวแทนนิสิตจากกลุ่มเดิมก็เดินกลับมาหาผมอีกรอบ  พร้อมๆ กับบอกเล่าให้ผมรับรู้ว่า  นิสิตพยาบาลเกือบทั้งหมดจะยังยืนหยัดให้บริการตรวจสุขภาพแก่เด็กๆ และชาวบ้านไปจนเสร็จสิ้นคนสุดท้าย  เพราะพวกเขาไม่อาจตัดใจจากภาพชีวิตเหล่านั้นได้  ส่วนเรื่องเรียนนั้น  เขายืนยันชัดเจนว่า จะส่งผู้แทนจำนวนสองคนเข้าไปทำหน้าที่เรียนในชั้นแทนทุกคน  พร้อมๆ กับการทำหน้าที่สื่อสารกับอาจารย์ผู้สอนให้รับรู้ว่า เพื่อนที่เหลือนั้น กำลังเรียนวิชา “นอกห้องเรียน”  อยู่กับชาวบ้าน...

 

สำหรับผมแล้ว  ในห้วงวินาทีที่ได้ยินเช่นนั้น บอกไม่ถูกเหมือนกันว่า ตัวผมกำลังตกอยู่ในภาวะอารมณ์ใดกันแน่  รู้แต่เพียงว่าภายในจิตใจของผมนั้นอัดแน่นและปนเปเต็มไปด้วยความรู้สึกสุขใจและสะเทือนใจอย่างหลากล้นกับการตัดสินใจของนิสิต  เพราะผมไม่คิดเลยว่าพวกเขาทั้งหลายนั้น  จะเลือกหยัดยืนอยู่กับวิถีนอกห้องเรียนอันมีชาวบ้านที่เป็นทั้งครูและนักเรียนให้พวกเขาได้สัมผัสและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

 

นี่คือความจริงเกี่ยวกับการเรียนการสอนในหลักสูตรที่รุกคืบกินอาณาเขตมาถึงวันหยุดอย่างไม่อาจทัดทานได้  ซึ่งผมก็เคยได้วิพากษ์ไปหลายยกแล้วว่า  บัดนี้แทบไม่เหลือพื้นที่ในทางเวลาใดๆ ให้นิสิตได้เดินทางไปสู่การเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างเต็มที่สักเท่าไหร่  หากยังไม่ถกคิดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง มีหวังกระทบต่อการเติมเต็มการเรียนรู้วิชาคนและวิชาสังคมให้กับนิสิตอย่างมากมายเป็นแน่...

 

แต่สำหรับผมแล้ว  ผมไม่เคยสิ้นหวังกับเรื่องนี้  และพร้อมแล้วสำหรับการรุกคืบช่วงชิงพื้นที่เวลาว่างให้เอื้อต่อการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรมเสียที โดยการผูกโยงเอาเรื่องในหลักสูตรและนอกหลักสูตรมาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

และสำหรับวันนี้  ถึงแม้จะพบเจอปัญหาเช่นนี้ก็ตามเถอะ  ผมก็ยังไม่วายที่จะปลอบโยนตัวเองและนิสิตอย่างแผ่วเบาไม่ได้ว่า...นี่คือปรากฏการณ์ธรรมดาๆ ของชีวิตในแบบฉบับ “ได้อย่างเสียอย่าง”  หากแต่การได้อย่างเสียอย่างของวันนี้เป็นเรื่องของเหตุและผลที่ควรค่าต่อการทำความเข้าใจเป็นยิ่งนัก  อย่างน้อยเรื่องทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชุมชนของวันนี้ก็คงบอกได้บ้างกระมังว่า “มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชนครั้งที่ 6” คือความสุขง่ายๆ ที่เกิดจากจิตใจอันเต็มไปด้วยพลังแห่งการให้ที่เรียบง่ายและงดงามของนิสิตและมหาวิทยาลัยที่มีต่อชุนชน

 

 

หมายเลขบันทึก: 298590เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2009 07:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

เราได้อาสัยและเรียนรู้มากมายจากสังคมแล้ว

ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องตอบแทนให้สังคมได้อาศัยอะไรจากเราบ้าง
..ทำดีแล้วมีคนตอเตียน..ยังดีกว่าทำชั่วแล้วมีคนชม..

ธรรมฐิตขออนุโมทนาในสิ่งดีๆที่ร่วมกันทำขอรับ..

ทำดีแล้วมีคนตอเตียน..ติเตียน..

สวัสดี ครับ คุณแผ่นดิน

คงเป็นบันทึกสุดท้ายที่ได้อ่านเช้านี้

มาด้วยความระลึกถึง ครับ

 

 

นมัสการ พระอาจารย์ธรรมฐิต

ทำดีแล้วมีคนติเตียน..ยังดีกว่าทำชั่วแล้วมีคนชม..

เป็นวาทกรรมที่คมคายและเตือนใจได้เป็นอย่างดียิ่งเลยครับ

สวัสดีครับ แสงแห่งความดี

ต้องขออภัยจริงๆ นะครับ พักหลังนี้ผมไม่ค่อยได้ท่องแวะไปเยี่ยมเลย  ลำพังผมเองก็แทบไม่มีเวลาอยู่ในบล็อกเหมือนกัน

ยังไงเสีย ก็ขอให้มีพลังกาย พลังใจในการใช้ชีวิตนะครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

พอลล่า..... ):

อ่านแล้ว เข้าใจความรู้สึกของอาจารย์ เลยค่ะ

เป็นกำลังใจและติดตามการเรียนนอกรั้วโรงเรียน อยู่เสมอนะคะ

พอลล่าเองก็กำลังเรียนรู้นอก รพ. นอกมาตรฐาน เขาว่ากันว่าเป็นที่ปรึกษา นอกคอก อยู่ค่ะ อิอิ

คิดถึงและห่วงใยเสมอค่ะ

สวัสดีค่ะ

มาชมภาพกิจกรรมค่ะ

สวัสดีครับ ♥paula ♥ที่ปรึกษาตัวน้อย✿

ผมกำลังจะไปต่างจังหวัดอีกรอบ..เลยแวะกลับมาเติมกำลังใจอีกยก
การทำงานในวิถีของพอลล่า  เป็นเรื่องดีงามที่ควรต้องให้กำลังใจครับ ผมเองก็อยู่ในวิถีทำนองเดียวกันนั้น
ถ้าเราตอบโจทย์และการให้และการมีความสุขของเราและคนรอบข้างได้ ก็ไม่จำเป็นต้องลังเลใดๆ ต่อวิถีที่ก้าวย่างเช่นนั้น

ผมเป็นกำลังใจให้เสมอ-นะครับ

สวัสดีครับ..ณัฐรดา

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
ภาพแต่ละภาพบอกเรื่องราวได้ดีกว่าถ้อยคำ
ผมเองก็หลงรักการถ่ายภาพมาก เพราะนั่นคือการบันทึกความทรงจำและรายละเอียดของชีวิตได้ในเวลาอันจำกัด...

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

ได้อ่านเรื่องราวดี ๆ แล้ว ทำให้คิดถึงสมัยเรียน ป.โทที่ม.เกษตรศาสตร์ หลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ จะต้องเรียนรู้การฝึกงานในชุมชนเป็นเวลา 1 เดือน   สุนันทาไปฝึกงานที่บ้านน้ำพร อ.เชียงคาน จังหวัดเลย ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลก่อน ออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาชุมชน ได้ร่วมกิจกรรมประเพณีในท้องถิ่น ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ ประเพณีสงกรานต์เฉพาะท้องถิ่น และได้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอีกมากมายค่ะ และพวกเราก็อยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุขเช่นกันค่ะ เพราะผู้คนในชุมชนน่ารักและมีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่สำรวจและศึกษาข้อมูลชุมชน ออกแบบกิจกรรม ร่วมจัดกิจกรรม และร่วมประเมินผลในช่วงสุดท้ายของการทำงานร่วมกับชุมชนค่ะ และที่สำคัญที่พวกเรานักศึกษา ป.โท ได้เรียนรู้คือการอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน มีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน ทำอาหาร และสรุปบทเรียนทุกวันค่ะ พวกเราใช้สถานที่ของโรงเรียนเป็นสถานที่พักอาศัย เป็นเวลาหนึ่งเดือนค่ะ

ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ น่ะค่ะ

  • สุขใจที่ได้เห็นคนทำงานด้วยพลังแห่งความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวค่ะ
  • ทำแล้ว ผลคืออะไร คงไม่สำคัญที่ได้ทำร่วมกันนะคะ
  • ทุกอย่างนอกรั้วโรงเรียนคือครูและบทเรียนที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งจากหลาย ๆ บันทึกที่อ่านผ่านมา
  • ขอบพระคุณสำหรับเรื่องราวดี ๆ ค่ะ

สวัสดีครับ อ.สุนันทา

ผมอ่านประสบการณ์ชีวิตแบบฝังตัวในหมู่บ้านของอาจารย์แล้ว ชื่นชมเป็นที่สุด เพราะนั่นคือกระบวนการเรียนรู้แบบฝังลึกอย่างแท้จริง  การได้ใช้ชีวิตในแบบฉบับเช่นนั้น คือการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง อย่างน้อยก็ได้สัมผัสถึงความงามทางจิตใจของผู้คน และเห็นความบริสุทธิ์ของผู้คนในหมู่บ้านที่ยังต้องกรำชีวิตท่ามกลางกระแสของสังคมที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดหย่อน

ในสมัยที่ผมเป็นเด็ก  เคยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาฝึกงานที่หมู่บ้านของผมเป็นเวลาสามเดือน  ทั้งหมดเป็นคนภาคกลาง  พวกพี่ๆ ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ในทุกๆ เรื่อง และที่สำคัญก็คือ การได้เห็นและสัมผัสกับเรื่องที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน โดยเฉพาะในวิถีวัฒนธรรมนั้น พวกพี่ๆ..ต่างก็หลงรักความเรียบง่ายและแสนงามของคนในหมู่บ้านมาก 

ผมเองมาคิดอีกที ก็น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากพี่ๆ ด้วยเหมือนกัน  เพราะเห็นพี่จากมหาวิทยาลัย ก็อยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัยด้วยเหมือนกัน ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ.. เบดูอิน

ขอบคุณมากเลยครับสำหรับความรู้ใหม่ในวาทกรรมนี้ 

selamat hari raya aidil fitri‏

...

ขอให้วันนี้ เป็นวันดีๆ สำหรับโลกใบนี้ นะครับ

สวัสดีครับ..Sila Phu-Chaya

ผมประทับใจกับการนิยามประโยคนี้มาก "ทำแล้ว ผลคืออะไร คงไม่สำคัญที่ได้ทำร่วมกัน" ...

กิจกรรมนี้ ใช้กระบวนการทางธรรมและทางโลกผสมผสานเข้ากันเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายและท้าทายแก่นิสิต เป็นยกแรกๆ ที่เริ่มต้นขึ้น และถ้าไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไปนัก  ผมก็ถือว่าทุกอย่างสอบผ่าน...

ค่ายธรรมะครั้งนี้...
ผิดแผกจากที่นิสิตคิดไว้ล่วงหน้าพอสมควรเลยทีเดียว

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ พี่"แผ่นดิน"

  • ก่อนจะเข้าสู่วิถีแห่งดุษฎีนิพนธ์ เข้ามาอ่านก่อนเริ่มภารกิจอันหนักหน่วงดั่งเช่นทุกวัน ชอบค่ะกับคำกล่าวนี้ 
  • ผมเชื่อและศรัทธาเสมอมาว่า การลงมือทำความฝันของตัวเองถือเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ของชีวิต
  • จะขอตั้งใจมั่นดำเนินตามรอยตัวแบบที่แสนดีคนนี้อีกคนนะคะ

สวัสดีครับ ครูแป๋ม

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอนะครับ..
สำหรับพี่แล้ว
ก็ยังคงเป็นกำลังใจให้แป๋มทั้งในวิถีแห่งชีวิต และการงาน นะครับ

สาธุครับ..

ส่งเทียบเชิญมาถึงคุณแผ่นดิน 

และกัลยาณมิตรทุกท่าน 

ขอเชิญร่วมชมนิทรรศการ โครงงานคุณธรรม 

ในงาน"พลังเยาวชน พลังสังคม" ครั้งที่ 1 
"ร่วมสร้างประเทศไทย...ด้วยการให้"

และร่วมเวทีเสวนา


วันเสาร์ที่ 10 ต.ค. : ถอดองค์ความรู้โครงงาน สร้างเป็นบทภาพยนต์โทรทัศน์ 
เวลา10.00-16.30น. ณ หอประชุมชั้น5 หอศิลป์ฯ กทมฯ

วันอาทิตย์ที่ 11ต.ค. : ถอดรหัส ๙ วิธีฟื้นฟูชาติ 
เวลา13.00-18.00น. ณ หอประชุมชั้น5 หอศิลป์ฯ กทมฯ



ผมก็ถือโอกาสใช้เวทีเสวนาที่สยามกัมมาจลเป็นเจ้าภาพงาน จัดระดมความคิด หัวข้อ ถอดรหัส ๙ วิธีฟื้นฟูชาติ ขึ้น

ยังไงก็เรียนเชิญ กัลยาณมิตร ผู้รักแผ่นดินทุกท่าน ร่วม work shop ระดมความคิดในเวทีเสวนาได้นะครับ

 

 

สวัสดีครับ Man In Flame

กลับมาตอบช้ามากๆ ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้...
ชื่นชมกิจกรรมดีๆ นะครับ ผมไม่ได้ไปร่วม เพราะช่วงนั้น ก็ติดราชการจริงๆ...

แต่ก็ไม่เคยสิ้นหวังกับการขับเคลื่อนสังคม ผ่านพลังปัญญาของเยาวชน...

....

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท