ผชช.ว.ตาก (13): ร่วมประชุมH2Pที่เวียดนาม วันที่สี่


ประะานาธิบดีโอบามา กล่าวไว้ว่า เราต้องการสร้างความมั่นใจว่าเราไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความตื่นตระหนกแต่เราส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและการเตรียมความพร้อม

       ผมตื่นเช้าสายๆราว 8 โมงเช้า มองออกไปนอกหน้าต่างฟ้าครึ้ม เมฆหมอกบางๆ บนถนนยังคงเปียก แสดงว่าเมื่อคืนฝนตก ลงไปทานอาหารเช้าอย่างเร่งรีบเพื่อจะได้เข้าห้องประชุมทันเวลา อาจารย์รัฐพลีกลับเมืองไทยตั้งแต่เมื่อคืนเพราะติดประชุมอีกเรื่องหนึ่งที่กรุงเทพฯ และคุณยาสุ ก็กลับแล้วเช่นกัน คุณอำนวยคู่เดิมยังคงทำหน้าที่ต่ออย่างขันแข็ง

           เริ่มต้นด้วยคุณวิทนีย์การมาเล่าเรื่องหลักสุตรการฝึกอบรมเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมรับการระบาด (Health Training Curriculum) ทั้งในส่วนผู้ปฏิบัติและผู้บริหาร มีคู่มือการฝึกอบรมที่ชัดเจนดีมาก โดยหลักสูตรการฝึกอบรมนี้ มีหัวข้อหลัก 5 หัวข้อคือ

1. อะไรคือการระบาดใหญ่ไข้หวัดใหญ่ (What is Pandemic Influenza)

2. ส่งสารหลักเพื่อการป้องกันโรค (Teaching Preventive Messages about Influenza) โดยเน้นประเด็นสำคัญ 4 ข้อคือรักษาระยะห่างจากคนอื่น (Keep your distance) ล้างมือ (Wash your hands) ปิดปากเวลาไอหรือจาม (Cover Coughs & Sneezes) และกักกันผู้ป่วย (Separate the sick) เขาเรียกว่า 4 ปราการต้านไข้หวัดใหญ่ (The 4 Flu-Fighters)

3. ผู้นำท้องถิ่นสามารถช่วยรับมือได้ (Action local leaders can take to fight pandemic Influenza)

4. การควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในกลุ่มผู้ทำงาน (Infection control for community health responders) เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของคนดูแลลงในระหว่างการระบาดใหญ่

5. การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home-based care for person ill) โดยแยกผู้ป่วยในบ้าน กักไม่ให้เข้าชุมชน มีหมอประจำบ้านดูแล จัดการดูแลพื้นฐาน รักษาไข้ ดูแลให้ได้น้ำเพียงพอและสังเกตุอาการรุนแรง

           ต่อด้วยการนำเสนอตัวอย่างและบรรยายของคุณมาร์คและคุณซีซิล เกี่ยวกับกลยุทธ์การวางแผนการสื่อสาร ซึ่งผมว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะบ้านเราเจอปัญหาสื่อสารตามใจชอบ ตามความคิดเห็น ให้ข้อเท็จจริงแบบใส่ความรู้สึกจนชาวบ้านสับสน ในการสื่อสารเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ ควรดำเนินการ 4 ด้าน คือ

1. Risk communication แจ้งสถานการณ์การระบาดให้ทราบ ให้ชาวบ้านเชื่อ ไว้ใจว่าเราพูดจริง ไม่หมกเม็ด ปกปิด ซึ่งต้องมีเทคนิคทางด้านการประชาสัมพันธ์เข้ามาช่วย คล้ายๆการแจ้งข่าวร้ายแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Breaking bad news) ที่ต้องทำเป็นระยะๆ ประเมินผู้รับสาร ความรู้สึก ความเข้าใจ ความเชื่อของประชาชนในประเทศ ก่อนจะปล่อยมาตรการและข้อมูลใดๆออกไป

2. Social mobilization การเข้าถึงและสร้างความเชื่อมั่นแก่ชุมชน สังคม ว่าเรารับมือได้ และขอให้มีการขับเคลื่อนทางสังคมที่สนับสนุนการรับมือการระบาดใหญ่ นั่นคือสร้างความตระหนักไม่ใช่ตระหนก

3. Behavioral Change communication มุ่งเน้นที่การปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล เช่นการทำตามมาตรการ 4 ปราการต้านหวัด เป็นต้น

4. Advocacy/Public relations ให้ความรู้ ความเข้าใจและสถานการณ์กับความจำเป้นที่ต้องดำเนินการแก่ผู้มีอำนาจในการปรับเปลี่ยนและริเริ่มนโยบายต่างๆ รวมทั้งผู้ที่มีอิทธิพลต่อผู้มีอำนาจเหล่านี้ด้วย เช่น การกำหนดมาตรการปิดโรงเรียน หรือนโยบายการเรียงลำดับความสำคัญของผู้ที่ควรได้วัคซีนก่อน เป็นต้น รวมไปถึงสื่อมวลชนที่ต้องให้ความร่วมมือเสนอข่าวสารที่สร้างความมั่นใจของสังคมต่อศักยภาพในการรับมือของรัฐบาล

        เรื่องของAdvocacy หรือการโน้มน้าวให้ผู้มีอำนาจดำเนินการนี้ สรุปได้ง่ายๆว่าเป็นการส่งสารเฉพาะแก่บุคคลเฉพาะเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายและการกระทำขึ้น (Advocacy is to send specific messages to specific audiences to make the change in the policies amd action)

        ก่อนปิดการประชุมแต่ละกลุ่มจากแต่ละประเทศก็พูดคุยกันว่าจะทำอะไรต่อไปและให้นำเสนอโดยสรุปให้ห้องประชุมได้ทราบ แล้วก็ประเมินผลการประชุมและปิดประชุม ผมเดินไปขอบคุณวิทยากรที่มาร่วมบรรยายและมอบของที่ระลึกให้คุณแดเนียล ผู้ที่เป็นธุระด้านต่างๆให้แก่ผู้เข้าประชุม เดิมผมคิดว่าเขาเป็นผู้ชายเพราะติดต่อกันทางอีเมล์ มาเจอตัวจริงจึงรู้ว่าเป็นผู้หญิงฝรั่งตัวเล็กๆ

         หลังจากนั้นออกไปเดินชมเมือง ดูสินค้ากับหมอนายและพี่ปัท ฝนตกปรอยๆ ดีที่เอาร่มติดไปด้วย พี่ปัทกับหมอนายแวะดูหุ่นกระบอกน้ำ ผมเคยดูแล้วจึงเดินกลับที่โรงแรม ทานอาหารเย็นแล้วเข้าห้องพัก เก็บกระเป๋าเสื้อผ้าเตรียมตัวเดินทางกลับพรุ่งนี้เช้า ผมคิดว่าโชคดีที่ได้มาประชุมครั้งนี้ เดิมคิดแค่ว่ามาดูเขาประชุมกันอย่างไร แต่พอมาจริงก็ได้เพื่อนได้ความรุ้ที่มีประโยชน์กลับไปด้วยฃ

          ได้เห็นอีกอย่างหนึ่งว่า ในการประชุมครั้งนี้เขาประยุกต์ใช้KM ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยที่ไม่ได้บอกเลยวากำลังทำKM เขาให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู็อย่างธรรมชาติ สอดคล้องไปกับกิจกรรมที่เขากำหนดขึ้น โดยใช้ทั้งสุนทรียสนทนาและเรื่องเล่าเร้าพลัง คนเล่าก็เล่าอย่างน่าสนใจ มีสไลด์ประกอบแต่ไม่ใช่แบบบรรยาย เล่าตามที่ตนเองทำมา คนฟังก็ฟังอย่างตั้งใจ ถามอย่างอยากรู้และชื่นชม นับเป็นการประชุมที่ประยุกต์ใช้KMได้ดีมาก เข้าทำนอง "พูดอย่างจริงใจ ฟังอย่างตั้งใจ ถามอย่างซาบซึ้งใจ จดอย่างเข้าใจใส่ใจ"

           คืนนี้อากาศเย็นกว่าทุกวันที่มา ฟ้ามืดเพราะฝนตกพรำๆ ไม่มีเสีนงฟ้าร้อง คิดถึงบ้านมากแล้วล่ะ วันนี้เป็นวันครบรอบที่พ่อผมเสียชีวิต แต่ก็ยังไม่ได้ไปทำบุญ เพราะไม่มีวัดไทยอยู่ รอกลับไปถึงเมืองไทยก่อน ราตรีสวัสดิ์ครับ

หมอพิเชฐ

โรงแรมมีเลีย ฮานอย เวลา 23:28 น. 16 กันยายน 2552

        

หมายเลขบันทึก: 298282เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2009 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท