จากเวทีประกวดอาหารกลางวัน ถึง...สถานศึกษาอาชีวศึกษา


จากเวทีประกวดอาหารกลางวัน ถึง...สถานศึกษาอาชีวศึกษา

โครงการอาหารกลางวันเป็นโครงการที่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินการมาก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาจะยื่นมือเข้าไปร่วมงานเพื่อช่วยสร้างองค์ความรู้ให้กับโรงเรียนที่อยู่ความรับผิดชอบของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีต่าง ๆ ของแต่ละภาค  เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแต่ละภาคเรียนก็มีเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่าง โรงเรียนในสังกัด สพฐ. และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี โดยในปีนี้ (ปีการศึกษา 2551) ภาคเหนือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย ได้รับเป็นเจ้าภาพในการจัดเวที ซึ่งปีก่อนหน้าเป็นวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา และปีถัดไปจะเป็นวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่


กิจกรรมในเวทีครั้งนี้ ประกอบด้วย กิจกรรมแรกคือ การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่โรงเรียนสังกัด สพฐ. เป็น โรงเรียนยั่งยืนและโรงเรียนต้นแบบ  กิจกรรมที่ 2  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับภาค จากกิจกรรมเด่น 13 กิจกรรมได้แก่  1. โครงการปลูกผัก  2. โครงการไม้ผล  3. โครงการเตาเผาถ่านเก็บน้ำส้มควันไม้/เตาประหยัดพลังงาน 4. โครงการเลี้ยงสุกร  5. โครงการเลี้ยงปลา  6. โครงการผลิตแก๊สชีวภาพ  7. โครงการเลี้ยงไก่ไข่  8. โครงการเลี้ยงไก่พื้นเมือง  9. โครงการปุ๋ยอินทรีย์  10. โครงการเพาะเห็ด  11. โครงการธนาคารจุลินทรีย์  12. โครงการเรียนรู้/คลินิกเทคโนโลยี และ 13. โครงการต่อยอดผลิตภัณฑ์  กิจกรรมที่ 3  การคัดเลือก Best of the best practice ของแต่ละกิจกรรมของภาคเหนือ 

การเข้าร่วมในเวทีประกวดฯ ครั้งนี้ได้พบได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเหมือน/คล้ายหรือแตกต่างจาก สอศ. หลายข้อ ซึ่งมองว่า บางอย่างน่าจะนำมาปรับกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาของเราได้ไม่มากก็น้อย ดังนี้

 

Photobucket

 

โครงการในโรงเรียนสังกัด สพฐ.   มีโครงการต่าง ๆ มากมายเช่นเดียวกันกับ สอศ. แต่หลายโครงการนำมาปรับใช้ร่วมกันได้ เช่น โครงการอาหารกลางวันกับโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา ทำให้การดำเนินการเรื่องเดียวแต่ตอบคำถามได้หลายโจทย์ที่ตรงกัน   ขณะที่สถานศึกษาของ สอศ. บางแห่ง แยกส่วนกันทำแต่ละโครงการ จึงมีข้อจำกัดในเรื่องการวิเคราะห์งาน การประสานสอดคล้องกันจึงเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก

ความยั่งยืนของโครงการ   เป็นโครงการที่ทำอย่างยั่งยืน จนเกิดโรงเรียนยั่งยืนและโรงเรียนต้นแบบ  โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจากปีก่อน มีการพัฒนาโครงการจากปัญหาต่าง ๆ ที่พบเจอ นำเอาหลักการบริหารโครงการมาดำเนินการ สอดรับกับการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา  สำหรับ สอศ. มีโครงการต่าง ๆ  เกิดขึ้นใหม่เรื่อย ๆ แตกหน่อแตกก่อจากโครงการเดิมที่มีอยู่ หรือเป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ สอศ. ดำเนินการ ความยั่งยืนจึงขึ้นอยู่กับหน่วยงานระดับเหนือ  หากสถานศึกษาไม่มีการบูรณาการโครงการที่ชัดเจน โครงการต่าง ๆ จึงเป็นเพียงโครงการในหน้ากระดาษ แต่หาเนื้อข้างในไม่เจอ 

กิจกรรมของโครงการ  โรงเรียนที่เข้าร่วมเวทีครั้งนี้  หลายโรงเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับสถานศึกษาของ สอศ.  จำนวนนักเรียน  ครูและบุคลากรอื่น มีอยู่อย่างจำกัด  แต่สามารถดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย  และส่วนใหญ่ดำเนินกิจกรรมหลักมากกว่า 10 กิจกรรม (จาก 13 กิจกรรมหลัก) จากการพูดคุยและติดตามชมและนำเสนอในบู๊ธนิทรรศการ  การนำเสนอโครงการฯ ในเวทีแลกเปลี่ยน  พบว่า หลายแห่ง ดำเนินการโดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ได้ดี นั้นคือ ทำเล็ก ๆ เท่าที่จำนวนงบประมาณและจำนวนคน มีอยู่และเกิดประสิทธิผลตามที่ต้องการ  ไม่ต้องทำเกินตัวเพื่อจะโชว์หรือนำเสนอให้หน่วยงานระดับสูง แต่เดือดร้อนทั้งครู นักเรียน ผู้บริหารและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเกลี่ย    สำหรับ สอศ.  กิจกรรมโครงการของสถานศึกษาขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ในขณะที่สถานศึกษาใหญ่ พรั่งพร้อมไปด้วยงบประมาณ กำลังคน เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์  แต่ขนาดเล็กมีทรัพยากรดังกล่าวอยู่อย่างจำกัดก็ต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน นี่คือ สิ่งที่ท้าทายลำดับต้น ๆ ของผู้บริหารสถานศึกษาขนาดเล็ก


 

Photobucket

การบูรณาการเรียนการสอนในกิจกรรมของโครงการ  กิจกรรมทุกอย่างของโครงการอาหารกลางวันที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ครูสามารถบูรณาการจัดการเรียนการสอนกำหนดไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้ ทั้งในเนื้อหาสาระการเรียนรู้อื่น นอกเหนือจากสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ  แต่ สอศ.  ยังไม่ชัดเจนระหว่างกิจกรรม/โครงการและกิจกรรมการเรียนการสอนที่จะบูรณาการได้อย่างไร เพราะหลายกิจกรรม/โครงการไม่ได้ทำการวิเคราะห์ร่วมกันอย่างทั่วถึง จะด้วยภาระงานสอนหรือภาระหน้าที่ได้รับมอบหมายพิเศษอื่น ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากครู สพฐ. ที่ต้องรับผิดชอบงานเช่นเดียวกัน 

นักเรียนมีส่วนร่วม   กิจกรรมที่เกิดขึ้น นักเรียนส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านั้น อาจจะซ้ำคนในกิจกรรมต่าง ๆ  หากเป็นระดับที่สูงกว่าอนุบาลหรือประถมศึกษา การได้ฝึกการทำงานจริง  การเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบ เสียสละ อดทน ฯลฯ  ได้คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการเช่นเดียวกันกันกับ สอศ.  ในขณะที่นักเรียน/นักศึกษาของเราที่วุฒิภาวะสูงกว่า กลับถูกละเลยได้รับการฝึกฝนในเรื่องนี้ค่อนข้างจำกัด
 

ชุมชนมีส่วนร่วม   กิจกรรมที่เกิดขึ้น นอกจากจะเกิดประโยชน์กับตัวนักเรียนแล้ว  หลายโครงการตอบสนองความต้องการของชุมชน เช่น ปัญหากลิ่นมูลสัตว์ ที่โรงเรียนช่วยแก้ไข โดยการสร้างบ่อแก๊สชีวภาพ หรือการทำปุ๋ยอินทรีย์ โดยนำองค์ความรู้ที่ได้เผยแพร่ให้กับชุมชน เกิดความใกล้ชิดระหว่างโรงเรียนกับชุมชนก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีได้รับความร่วมมือเกือบทุกด้านหากโรงเรียนร้องขอ  เช่นเดียวกันกับ สอศ.  สถานศึกษาในสังกัดได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งการปฏิบัติจริงและการนำเสนอผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ ทำให้โครงการดังกล่าว เป็นที่ติดอกติดใจของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น  โครงการ fix it โครงการต้นกล้าอาชีพ  โครงการ 108 อาชีพ เป็นต้น
 

จากความเหมือน/คล้าย แตกต่างแต่ละข้อดังกล่าว เป็นเพียงการสะท้อนอีกมุมมอง ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเกิดจากปัจจัยในสถานศึกษาที่บางอย่างคล้ายกันและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่จุดมุ่งหมายที่เหมือนกันคือ เป็นหน่วยงานที่ต้องการให้ผลผลิตคือ ตัวนักเรียน/นักศึกษา  ได้เป็นคนเก่ง คนดี และมีคุณภาพของสังคมและประเทศชาติต่อไป

  

อ้างอิง:
สูจิบัตรในงานเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน กลุ่มภาคเหนือ ปีงบประมาณ 2551


 นางสาวพิมพร  ศะริจันทร์ ศึษานิเทศก์  เขียนวันที่ 15 กันยายน  2552
 
จากการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินงานในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการอาหารกลางวนแบบยั่งยืน
 วันที่ 27-28 สิงหาคม 2552  ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย  จ.สุโขทัย
 
ผู้ที่จะนำบทความ รูปภาพไปตีพิมพ์ต้องได้รับอนุ
ญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนเท่านั้น
 ผลงานและสิ่งพิมพ์ของผู้เขียน ปรับปรุงข้อมูล วันพุธ, 16 กันยายน 2552

 ติดต่อผู้เขียนที่  
[email protected]

 

หมายเลขบันทึก: 298064เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2009 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท