องค์ประกอบการสอนบัญชีในสถานศึกษาอาชีวศึกษา


องค์ประกอบการสอนบัญชี

สาขางานและสาขาวิชาบัญชี ยังเป็นสาขายอดนิยมในสถานศึกษาสังกัด สอศ. ทั้งหลาย ที่เปิดสอนในประเภทวิชาพาณิชยกรรม/บริหาร  ถึงแม้ปัจจุบันจะเป็นรอง เฉพาะสาขางาน/สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ไม่นับสาขาอื่นที่จำนวนผู้สนใจเรียนลดลง อาจจะด้วยสาเหตุหลาย ๆ ประการเช่น  ความต้องการตลาดแรงงาน   ผู้ปกครองไม่สนับสนุนให้เรียนเช่นเดียวกันกับการเรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะ นักเรียน/นักศึกษาไม่รู้จักสาขานี้  ท้ายที่สุดผู้บริหารเห็นว่า ควรเปิดสาขายอดฮิตไว้ก่อน  สาเหตุที่ต้องเขียนถึงสาขานี้ ก่อนที่จะกลายเป็นสาขาที่หลุดจากความต้องการไปอีกสาขาหนึ่ง เนื่องจากพบบางจุดที่น่าจะยำมาปรับปรุงและแก้ไขได้ไม่ยากเช่นกัน มีอะไรบ้างมาดูกัน


ห้องเรียน
 สำหรับกลุ่มรายวิชาบัญชี เนื่องจากเป็นรายวิชาที่จะต้องมีการคิด คำนวณ ในการลงรายการและคิดยอดที่เป็นตัวเลข ผิดพลาดไม่ได้ จึงต้องมีสมาธิและต้องตั้งสติ แต่กลับพบว่า  ห้องเรียนรายวิชาบัญชี มีชั้นเรียนที่ติดกับห้องเรียนพิมพ์ดีดธรรมดา  ซึ่งมีเสียงดังเปาะแปะตลอดชั่วโมง จากภาพของอาคารเรียนและห้องเรียนยังสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องไปปรับปรุงและสร้างห้องเรียนใหม่ให้ยุ่งยาก หรืออาจจะเบรกด้วยห้องเครื่องใช้สำนักงานเพราะห้องนี้ เป็นห้องที่มีเครื่องใช้อย่างอื่นที่มีเสียงดังน้อยกว่าเครื่องพิมพ์ดีดธรรมดา เช่น เครื่องคำนวณ เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า  เครื่องสำเนาดิจิตอล เป็นต้น
 

โต๊ะเรียน  รายวิชาเหล่านี้จะประกอบไปด้วยเอกสารต่าง ๆ มากมาย หากเป็นการลงรายการในสถานการณ์จำลองหรือจริง  ผู้เรียนรายวิชานี้ก็จะมีสมุดบัญชีที่มีขนาดกว้างและใหญ่กว่าสมุดปกติ และเอกสารประกอบต่าง ๆ  ซึ่งต้องใช้เนื้อที่บนโต๊ะเรียนที่เหมาะสมแทนที่จะเป็นเก้าอี้เล็คเชอร์ที่ใช้กันทั่วไปในสถานศึกษาของอาชีวศึกษาของ สอศ. โต๊ะเรียนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการเรียนวิชานี้

 

 Photobucket

  


สื่อตำราเรียน    เอกสารตำราเรียนวิชานี้ ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนที่จะเลือกใช้หนังสือ ตำรา จากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ตามที่เห็นเหมาะสมและได้รับอนุญาต ก็พบว่า บางครั้งโจทย์ที่ใช้ประกอบค่อนข้างจะล้าสมัยหรือเป็นเรื่องที่ไกลจากชีวิตความเป็นจริงของผู้เรียน จนนึกภาพไม่ออก  ดังนั้น หากจะต้องคัดเลือกโจทย์ อาจจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับระดับชั้นของผู้เรียนหรือเป็นกิจกรรม/สินค้า/บริการ ที่ในท้องถิ่นมีธุรกิจประเภทนั้น ๆ เกิดขึ้น  เช่น ห้างไฮเปอร์มาร์ก  ห้างสะดวกซื้อ เป็นต้น  นอกจากนั้น
 

สื่อการเรียน  การเรียนวิชานี้เหมาะที่สุดตอนนี้ เท่าที่สังเกตการสอนคือ กระดาน ซึ่งปัจจุบันเป็นไวท์บอร์ดที่ครูจะต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม โดยเฉพาะปากกาเขียนไวท์บอร์ด และก็คงไม่ใช่ ครูยึดพื้นที่หัวหาดเพียงผู้เดียว การให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวออกมาร่วมเขียนกระดานบ้างบางจุด ก็จะได้ทำผู้เรียนคนอื่น ๆ ต้องเตรียมพร้อมไว้เผื่อครูจะได้เรียกขึ้นมาบ้าง นอกเหนือจากการถามแล้วให้นักเรียนตอบพร้อมกันทั้งห้องอย่างเดียว


เครื่องคิดเลข
กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับนักเรียนในการคิดคำนวณ ที่ผู้เรียนตอบคำถามได้อย่างรวดเร็ว สำหรับโจทย์ในการคำนวณระดับต้น ๆ ที่มีตัวเลขไม่ซับซ้อน จนทำให้ระบบการฝึกคิดคำนวณเลขด้วยวิธีการสอนแบบเดิม ๆ เช่น การคิดเลขในใจ การบวกลบคูณหารบนกระดาษทดหายไป  ครูลืมอะไรตรงนี้ไปหรือไม่ และก็คงจะไม่ไปโทษใครคนอื่นอีก เพราะว่า เราเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้ผู้เรียนได้ฝึกแบบนั้น พอถามการบวกลบง่าย ๆ ผู้เรียนก็ต้องใช้เวลามากกว่าจะตอบคำถามได้ถูกต้อง

  

Photobucket

 


น้ำยาลบคำผิด  ถัดจากเครื่องคิดเลข ก็เป็นเครื่องเขียนที่มีชื่อเรียกว่า   liquid paper  นี่แหละ ซึ่งในยุคของผู้เขียนไม่มีเช่นกัน  ผู้เรียนถูกฝึกใช้เครื่องเขียนชนิดนี้กันจนเปรอะ (ให้สังเกตพื้นผิวโต๊ะเรียน อย่างน้อยโต๊ะที่ใช้งานมาแล้วเกินหนึ่งปีหรือน้อยกว่า  จะต้องมีริ้วรอยหมึกสีขาวแต้มอยู่ไม่มากก็น้อย) แล้วมันเกี่ยวอะไรกับวิชาบัญชี เนื่องจากน้ำยาลบคำผิด ชื่อก็บอกอยู่แล้ว อะไรผิดก็ลบ ลามมาถึงตัวเลข ทางบัญชี  ผู้เรียนก็ได้รับสิทธิ์เช่นเคยคือลบตัวเลขในการลงบัญชีได้อีกเช่นกัน ซึ่งในหลักความเป็นจริงนั้น ตัวเลขทางบัญชีจะต้องใช้วิธีการขีดฆ่าและเซ็นชื่อกำกับ ดังนั้น ผู้สอนต้องฝึกเรื่องนี้ให้กับผู้เรียน เพราะมันเป็นทักษะที่จะต้องฝึกเช่นเดียวกับวิชาอื่น นั้นคือ  ความละเอียดรอบคอบ ความถูกต้องแม่นยำ และหากมีผิดพลาดก็สามารถมีหลักที่เป็นสากลให้ปฏิบัติ
 

ตารางสอน ความเข้าใจในเรื่องนี้  ฝ่ายวิชาการต้องให้ความสำคัญ หลายครั้งทีพบ สถานศึกษาเล็ก ๆ ผู้มีบทบาทในการจัดแผนการเรียนและตารางสอน ไม่ได้เป็นผู้ที่มาจากสาขาบัญชี  หรือครูแผนกวิชาบัญชี เป็นครูที่พึ่งมาสอนใหม่ยังไม่โอกาสได้แสดงความเห็นตรงนี้  พบว่า   วิชาบัญชี ในระดับ ปวช. 1  จะลากจำนวนชั่วโมงสอน 4 คาบติดกัน ซึ่งการสอนแบบนี้น่าจะเหมาะสำหรับในระดับสูงคือ ปวส. ถึงปริญญาตรี  คือผู้เรียนจะเจอครูสัปดาห์ละครั้งหายหน้าหายตากันไปเลย นี่ยังไม่พูดถึง  วิชาพิมพ์ดีดไทย ที่ไปพบว่า  ระดับ ปวช. 1 เรียน 4 คาบ (เหมือนกับไปลงเรียนโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดในสมัยก่อน พิมพ์ได้เรื่อยเปื่อย เหนื่อยก็พัก ไม่มีใครมาดูว่าจะถูกจะผิดอย่างไร) 

 

Photobucket

 

 

การจัดแผนการเรียน   รายวิชาของระดับ ปวช. พณิชยการ สาขางานบัญชี พบว่า แผนการเรียนของสถานศึกษาหลายแห่ง เนืองแน่นไปด้วยรายวิชาบัญชีที่เข้มข้นเบียดแน่นจนหาความเป็นพณิชยการไม่เจอ ในอนาคตที่ไม่ใกล้ไม่ไกล เราจะได้นักบัญชีตัวน้อย ๆ ที่พิมพ์งานเอกสารไม่ชำนาญ งานสำนักงานเบื้องต้นทำไม่เป็น  ใช้วัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานที่เป็นพื้นฐานไม่ได้หรือใช้ได้แต่ไม่ถูกขั้นตอน  ข้อนี้ให้คิดเผื่อไว้สำหรับการฝึกงานในสถานประกอบการ ทั้งระดับ ปวช. ปวส. ซึ่งงานบัญชีของแต่ละหน่วยงานนั้น เป็นข้อจำกัดลำดับต้น ๆ ที่จะให้นักเรียน/นักศึกษา เข้าไปเกี่ยวข้องได้


ครูบัญชี  การรับสมัครครูผู้ช่วย ครูจ้างสอนหรือลูกจ้างชั่วคราว ในปัจจุบัน สถานศึกษาได้รับบรรจุหรือทำการคัดเลือกเอง ได้วุฒิตรงกับที่สถานศึกษาต้องการ เมื่อเห็นรายงานวุฒิการศึกษาของครูในสถานศึกษาขนาดเล็ก ก็พบว่า มีอัตราของครูบัญชี ครูคอมพิวเตอร์ แต่ครูจบสาขาอื่นในคณะบริหารธุรกิจมีน้อยหรือแทบไม่มี ก็อนุมานเอาว่า รายวิชาอื่นของคณะบริหารธุรกิจ  สาขาพณิชยการ (ปวช.) สาขาบัญชี (ปวส.) มีครูบัญชีเหมารวมสอนวิชาอื่นด้วย  จึงอยากให้ข้อสังเกตนี้ กับสถานศึกษาต่าง ๆ เผื่อไว้สำหรับวุฒิการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจด้วย  ไม่ว่า จะเป็น วุฒิเลขานุการ/การจัดการสำนักงาน ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านงานสำนักงาน การผลิตเอกสารสำนักงาน หลักเกณฑ์และระเบียบวิธีการพิมพ์  วุฒิการขาย ที่มีความรู้เฉพาะด้านการขาย การตลาด ธุรกิจสถานประกอบต่าง ๆ โฆษณา  วุฒิการจัดการ เฉพาะด้านการจัดการ บริหาร การจัดองค์กร บริหารงานบุคคล  ซึ่งแต่ละวุฒิเหล่านี้ก็เฉพาะเจาะจงกับงานมากยิ่งขึ้น  ไม่ได้เหมารวมว่า จบบริหารธุรกิจ จะชำนาญไปเสียทุกด้าน บ่อยครั้งจึงพบว่า  นักเรียน/นักศึกษาไปฝึกงานแล้วความมั่นใจและความสามารถในการปฏิบัติงานยังไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้สถานประกอบการต้องใช้บุคลากรและเสียเวลาในการสอนงานใหม่

 

ข้อสังเกตและเสนอแนะต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอนวิชาบัญชีข้างต้น เป็นเพียงอีกมุมมองหนึ่ง ที่คิดว่า ครูผู้สอนและสถานศึกษานำไปปรับเปลี่ยนได้ไม่ยากนัก บางครั้ง สิ่งที่เราปฏิบัติกันมาจนเคยชิน อาจจะมองข้ามจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ  บางอย่างแต่สำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องมีต้องใช้ในวิชาชีพบัญชี  หากเป็นสถานศึกษาขนาดใหญ่ ปัญหาเหล่านี้ อาจจะเกิดขึ้นน้อยกว่า เนื่องจากมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ วัสดุอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนที่เอื้อในการจัดการ  ดังนั้น การคาดหวังเล็ก ๆ เพื่อให้บทความนี้  ช่วยสะท้อนในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าว ผลที่เกิดขึ้นทั้งหลาย จะส่งไปถึงผลผลิตของสถานศึกษาแห่งนั้น และโยงไปถึงภาพรวมทั้งหมดของการเรียนอาชีวศึกษาว่า เราได้ผลิตคนที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ 

 


 
 นางสาวพิมพร  ศะริจันทร์ ศึษานิเทศก์  เขียนวันที่ 14 กันยายน  2552
 
จากการนิเทศการสอนวิชาบัญชีในจังหวัดเชียงใหม่ 
 นิเทศติดตามการประกันคุณภาพ จ.สุโขทัย  จ.ตาก จ.เชียงราย
 และนิเทศติดตามโครงการอื่นใน จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พะเยา

 
ผู้ที่จะนำบทความ รูปภาพไปตีพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนเท่านั้น
 ผลงานและสิ่งพิมพ์ของผู้เขียน ปรับปรุงข้อมูล วันจันทร์, 14 กันยายน 2552

 ติดต่อผู้เขียนที่  
[email protected] 

หมายเลขบันทึก: 297421เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2009 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ดิฉันเป็นนักเรียนที่จบปวช. ปวส. และป. ตรี บัญชี ได้เข้าเรียนปวช. ที่โรงเรียนเอกชนประจำอำเภอ ในสมัยนั้น เจ้าของโรงเรียนเป็นผู้ที่มีความต้องการให้ลูกศิษย์มีรู้ มีการเลือกสรรหนังสือที่มีความรู้ทันสมัย และครูที่ทำหน้าที่สอน ก็สอนได้ชัดเจน มีการลงโทษในชั้นเรียน ให้การบ้านบัญชีทุกวัน ครูจะละเอียดมาก ตอนเรียนมองว่าเป็นเรื่องจุกจิก แต่เมื่อได้ทำการสอบเข้าโรงเรียนประจำจังหวัด ซึ่งมีชื่อเสียง พบว่าสิ่งที่ครูปวช. ได้ทำการเคี่ยวเข่นนั้น ทำให้เรามีความแม่นยำในการเรียน และรักการเรียนบัญชี ทำงานปัจจุบัน ก็ต้องใช้วิชาชีพบัญชี

มองว่าในการเรียนปัจจุบัน อาจารย์มิได้สอนเด็กให้มีความถนัดในเรื่องของวิชาชีพที่เลือกเรียน เคยคิดไหมค่ะว่าลูกศิษย์อาจจะกลายเป็ด (ทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่มีความชำนาญ) สังเกตุได้จากการที่มีนักศึกษามาฝึกงาน น้องยังบอกไม่ได้เลยว่าบางรายการจะลงในบัญชีใด

งานพิมพ์เอกสารไม่จำเป็นสำหรับนักบัญชีมากหรอกค่ะ แต่สิ่งที่จำเป็นคือการจัดทำบัญชีให้ครบวงจร และควรจะเพิ่มวิชาการวิเคราะห์งบการเงิน เพื่อเกี่ยวเนื่องกับการบริหารการเงิน และพิสูจน์ความผิดปรกติของกิจการน่าจะดีกว่า

เห็นด้วยกับบทความข้างต้นเป็นอย่างยิ่งค่ะ และดิฉันเป็นอาจารย์ท่านหนึ่งที่อยากให้ลูกศิษย์ได้เป็นทั้งนักปฏิบัติและเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านบัญชีและสำนักงานไปด้วยพร้อมกัน มีความรู้แต่ไม่สามารถเอาไปปรับใช้ได้ก็ถือได้ว่าไม่มีความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท