อ่านหนังสือเข้าไปทำไมทำธุรกิจไม่ได้ซักที


อ่านหนังสือเข้าไปทำไมทำธุรกิจไม่ได้ซักที

หากต้องการความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ มักจะพบว่าในร้านหนังสือทุกแห่งจะมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่มากมาย

 

แต่เมื่อหยิบจับหนังสือแต่ละเล่มเปิดอ่าน ผู้เขียนมักรู้สึกว่าหาหนังสือที่เหมาะกับผู้สนใจที่เป็นมือใหม่ได้ยากมากจริงๆ

 

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมประชากรไทยจำนวนกว่าเจ็ดสิบล้านคน จึงมีสัดส่วนของการเป็นเจ้าของกิจการไม่ถึง 20%

 

ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวผู้เขียนไม่ขอยืนยันแหล่งที่มาของสถิติ เพราะเป็นเพียงคำบอกเล่าที่เคยได้ยินมาเท่านั้น แต่หากพิจารณาด้วยการสุ่ม โดยการดูจากจำนวนสินค้าที่มีวางจำหน่ายในประเทศ ผู้เขียนก็เริ่มจะคล้อยตาม เพราะพบว่าสินค้าที่ผลิตและวางจำหน่ายโดยบริษัทเจ้าของคนไทยเมื่อเทียบกับชาวต่างประเทศแล้วก็มีจำนวนที่น้อยกว่ามากจริงๆ

 

ผู้เขียนชอบที่จะซื้อหนังสือประเภท How-to มาอ่าน เพื่อเสริมความรู้ และหวังว่าความรู้ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เขียนสามารถประกอบธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งขึ้นมาได้บ้าง

 

แต่ผ่านมานานหลายปี ผู้เขียนก็ยังไม่มีธุรกิจเป็นของตนเองซักที ทั้งนี้อาจจะโทษที่สภาพแวดล้อมภายนอกเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้แน่นอน

 

แต่ก็นั่นแหละใครเล่าจะไม่เข้าข้างตัวเอง (จึงขอยกไว้ไม่วิจารณ์ ฮ่าฮ่าฮ่า)...

 

ย้อนไปเมื่อประมาณซัก 10 ปีก่อน ผู้เขียนไปเดินเลือกหนังสือตามร้าน มักพบว่าหนังสือ How-to โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านต่างๆ ภายในองค์กรธุรกิจ มากกว่าจะเป็นหนังสือที่ให้รายละเอียดในการทำธุรกิจที่เป็นของตนเอง 

 

ต่อมาในสมัยหนึ่งก็เกิดมีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดในสังคม โดยภาครัฐมีการสนับสนุนกระตุ้นให้คนหันมาสนใจที่จะประกอบธุรกิจของตนเอง เริ่มมีคำศัพท์ที่เรียกว่า SMEs เข้ามาให้ได้ยิน จนปัจจุบันกลายเป็นที่คุ้นหู 

 

หนังสือ How-to ก็เริ่มเปลี่ยนไป เป็นหนังสือที่เน้นในเรื่องของการประกอบธุรกิจด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น โดยที่เนื้อหาส่วนใหญ่ก็มักจะเอ่ยแบบกว้างๆ และสิ่งที่พบในหนังสือเกือบทุกๆ เล่มก็คือบทสรุปสุดท้ายมักไปจบลงตรงที่การทำแผนธุรกิจ

 

แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งในขณะนั้นก็เริ่มเน้นในเรื่องการสอนให้เขียนแผนธุรกิจกันอย่างแพร่หลาย จนหลายๆ ครั้ง ผู้เขียนเกือบจะสรุปว่า หากสามารถเขียนแผนธุรกิจได้สำเร็จแล้ว ก็สามารถจะทำธุรกิจได้เป็นผลสำเร็จตามไปด้วย

 

หนำซ้ำผู้เขียนยังเคยได้ยินท่านผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆ ท่านกล่าวเป็นทำนองเดียวกันว่า การทำธุรกิจนั้นหากไม่มีแผนธุรกิจ ก็เหมือนการขับเรือที่ไม่มีหางเสือและขาดเข็มทิศนำทาง การมีแผนธุรกิจจึงเป็นการประกันได้ว่าธุรกิจที่ต้องการจะทำนั้นได้ประสบผลสำเร็จไปแล้วกว่า 50% (มีกั๊กๆ ไว้ด้วยนะ ว่า 50% แต่น้ำเสียงนั้นให้ความเชื่อมั่นต่อผู้ฟังเกิน 100% เลยว่าต้องเขียนแผนธุรกิจให้สำเร็จเท่านั้นจึงจะธุรกิจได้สำเร็จ)

 

ผู้เขียนจึงพยายามสมัครเข้ารับการอบรมการเขียนแผนธุรกิจมา 2 - 3 แห่ง และพยายามเลียบๆ เคียงๆ ถามวิทยากรว่าเคยทำธุรกิจอะไรมาบ้าง ก็ได้พบความจริงอันน่าตกตะลึงพรึงเพริด (ฮ่าฮ่า) ว่าวิทยากรส่วนใหญ่ในช่วงที่ไปอบรมนั้นล้วนเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแทบทั้งสิ้น

 

ผู้เขียนรู้สึกยินดีปรีดาเป็นอย่างมาก ว่าวิชาความรู้ที่ได้รับการอบรมในครั้งนั้นจะต้องทำให้ผู้เขียนสามารถเป็น SME กับเขาได้บ้างอย่างแน่นอน โดยลืมนึกไปว่าระยะเวลาการอบรมมันแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น

 

จนแล้วจนรอด วิชาความรู้ที่ได้รับการอบรมมานั้นเหมือนมันจะมีมากซะจนผู้เขียนจดจำไม่หมด และสุดท้ายคงจะเป็นเพราะความที่จดจำได้ไม่หมดล่ะกระมัง ผู้เขียนจึงไม่กล้าที่จะเริ่มธุรกิจอย่างจริงๆ จังๆ กับเขาสักที

 

แต่ผู้เขียนก็มักจะปลอบใจตัวเองเสมอๆ ว่าก็ไม่น่าแปลกอะไรนี่นา ขนาดนักศึกษาที่ร่ำเรียนมาโดยตรงกับอาจารย์ที่มาเป็นวิทยากรนั้น เป็นปีๆ (อย่างน้อยๆ ก็ 4 ปีล่ะ) เมื่อจบออกจากรั้วมหาวิทยาลัยมาแล้ว ส่วนใหญ่ยังต้องไปยื่นใบสมัครงานเป็นลูกจ้างพนักงานบริษัทกันเลย จะหาได้ซักกี่รายที่หาญกล้าท้าทายโชคชะตาด้วยการเปิดธุรกิจของตนเองขึ้นมาได้ในทันที

 

แน่นอนวิชาความรู้ในหนังสือกับการปฏิบัติจริงย่อมไม่เหมือนกัน นักศึกษาผู้ขาดประสบการณ์จึงต้องมีการสร้างเสริมประสบการณ์ตรงก่อน แต่เมื่อผ่านเวลาของการเป็นลูกจ้างพนักงานไปเป็นปีๆ ผู้เขียนก็พยายามมองหาว่ามีใครบ้างไหมหนอที่จะประสบความสำเร็จด้วยการหันกลับมาเริ่มทำธุรกิจของตนเองจากวิชาความรู้ที่ได้รับมาจากรั้วมหาวิทยาลัยอย่างจริงๆ จังๆ

 

โชคไม่ดี ที่ผู้เขียนไม่พบคำตอบในประเด็นนี้เพราะไม่สามารถติดตามหาผู้ประสบความสำเร็จในเงื่อนไขแบบดังกล่าวได้ คือ..อาจจะมีแต่ผู้เขียนไม่ได้เจอบุคคลผู้นั้น นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากเพื่อนๆ รอบข้าง ก็พบว่าส่วนใหญ่มักจะล้มลุกคลุกคลาน เปิดตำราแทบไม่ทัน และสุดท้ายคนที่ยืนหยัดบนเส้นทางธุรกิจได้อย่างจริงๆ จังๆ กลับบอกว่าความรู้จากหนังสือหนังหาที่เรียนมาในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น มันคืนอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยไปหมดแล้วตั้งกะตอนรับปริญญา หุหุ

 

เปล่า! เพื่อนผู้เขียนมิได้เป็นศิษย์เนรคุณ แต่ความจริงในโลกธุรกิจที่เขาเจอนั้นโหดร้ายกว่าทฤษฎีบทที่เรียนมามากมายหลายเท่านัก และลึกๆ เชื่อว่าเขาคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ความรู้ภายในรั้วมหาวิทยาลัยที่แม้จะบอกว่าได้คืนอาจารย์ไปหมดแล้วก็ตาม แต่จริงๆ ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมานั้นจะต้องได้ตกผลึกกลายเป็นฐานความคิดสำคัญที่ทำให้เขาสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มาได้โดยไม่ล้มจมดินจนสิ้นทางไป

 

ที่สำคัญคือประสบการณ์เหล่านั้น เมื่อผ่านแล้วก็มักจะผ่านไป ไม่มีการถ่ายทอดต่อไปยังบุคคลอื่นให้เกิดการเรียนรู้ เราจึงไม่เคยเจอกรณีศึกษาของคนที่เริ่มต้นทางธุรกิจใหม่ๆ ให้ได้ศึกษากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวซักเท่าไร และหากว่ากันโดยลักษณะประจำชาติแล้ว เมื่อใครซักคนได้ผ่านวิกฤตอันแสนสาหัสไปได้ ก็คงมิได้สนใจที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับใครในวงกว้างต่อไป

 

และผู้เขียนก็เชื่อต่อไปอีกว่า โดยวัฒนธรรมส่วนตนประจำชาติสำหรับคนไทยแล้ว  การที่คนคนหนึ่งได้ผ่านประสบการณ์ตรงอันสุดแสนจะลำเค็ญมาแล้ว มักจะมีน้อยคนนักที่จะคอยสนใจถ่ายทอดเคล็ดลับที่ตนได้เอาชีวิตทั้งชีวิตเข้าแลกมาให้ใครต่อใครได้ทราบกันอย่างจริงๆ จังๆ

 

ผู้เขียนจึงยังไม่เคยเจอหนังสือที่เป็นของคนไทยซึ่งเขียนเรื่องราวการเริ่มประกอบธุรกิจจากประสบการณ์ตรงแบบที่อ่านแล้วสามารถนำไปใช้เป็นบทเรียนสำหรับเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้เลยซักเล่ม ผิดกับอีกหลายๆ ประเทศที่มีหนังสือแนวนี้ค่อนข้างแพร่หลาย แต่ก็อีกนั่นแหละแม้จะเคยเจอหนังสือแปลอยู่หลายเล่มซึ่งมีลักษณะตรงใจ แต่เมื่อเทียบเคียงกับการเริ่มต้นทำธุรกิจในประเทศไทยแล้ว มักพบว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เขายกตัวอย่างมามันช่างแตกต่างกันซะเหลือเกินกับธุรกิจในประเทศไทย

 

สรุปสุดท้าย ด้วยความที่พยายามอ่าน พยายามรู้ พยายามฟัง เพื่อให้สร้างความมั่นใจอย่างสุดๆ ก่อนเริ่มธุรกิจของผู้เขียน ก็เลยกลายเป็นความเรื่องมาก และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ สุดท้ายเลยกลายเป็นข้ออ้างสำคัญของผู้เขียนว่า ตนเองยังรู้ไม่มากพอที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจได้ จึงยังไม่สมควรทำธุรกิจอย่างที่ใจคิดในเวลานี้.....(และเวลาผ่านไปอีกไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปีแล้ว ข้ออ้างนี้ก็ยังคงใช้ได้ผลอยู่อย่างดีเยี่ยม..ฮ่าฮ่า)

คำสำคัญ (Tags): #สัพเพเหระ
หมายเลขบันทึก: 297241เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2009 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท