กระบวนการสร้างอัตลักษณ์อีสานในวรรณกรรมของคำพูน บุญทวี Process of the construction E-SAN identities in the literary of Khampoon Buntawee


อัตลักษณ์ของคนเกิดขึ้นจากความต้องการที่จะมีความสุขอันเป็นผลมาจากความกลัว

บทคัดย่อ 

                การศึกษาเรื่อง กระบวนการสร้างอัตลักษณ์อีสานในวรรณกรรมของคำพูน  บุญทวี ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการสร้างอัตลักษณ์สังคมอีสานในวรรณกรรมของคำพูน  บุญทวี ซึ่งเป็นการศึกษาวิเคราะห์เชิงพรรณนาอธิบาย โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเอกสารจากวรรณกรรมประเภทนวนิยายจำนวน 3 เล่ม  ประกอบด้วย มนต์รักแม่น้ำชี สาวอีสานต้องซ่า และข้ามาจากทุ่งกุลา

                ผลการศึกษาพบว่า กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ถูกสร้างขึ้นโดยการหยิบลักษณะต่างๆ ใน 4 ประการคือ ประการแรกการสร้างอัตลักษณ์โดยการอาศัยถ้อยคำหรือคำพูดสื่อออกมาโดยตรง เช่น ลูกอีสาน ลูกข้าวเหนียว ในขณะที่สร้างอัตลักษณ์ของความเป็นอื่นว่า ลูกข้าวเจ้า ประการที่สอง    อัตลักษณ์ถูกสร้างโดยใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ผญาและกลอนลำ ประการที่สามใช้ลักษณะนิสัยของคนในสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่หาได้ยากในสังคมอื่น และประการสุดท้ายอัตลักษณ์ถูกสร้างด้วยความเชื่อ โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องผีปอบ อันเป็นผีที่มีอยู่เฉพาะในสังคมอีสานเท่านั้น

                โดยสรุป ปัจจัยทั้งสี่ประการที่พบในการศึกษาล้วนสามารถที่จะอธิบายหรือบอกความแตกต่างของความเป็นสังคมอีสาน(เรา)และสังคมอื่น(เขา) ได้

 

บทนำ

                ปัจจุบันโลกมีวิวัฒนาการจากเดิมเป็นอย่างมาก วิวัฒนาการดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความเจริญทางด้านวัตถุและอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันสังคมแบบพึ่งพาธรรมชาติในอดีตได้เปลี่ยนไปเป็นสังคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มโนทัศน์ของคนย่อมเปลี่ยนวิธีคิดและปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพร้อมกับตระหนักถึงการคงสภาพเดิมให้คงอยู่ด้วยการผสมผสานเข้าด้วยกัน

                ในอดีตการอ้างสิทธิ์เข้าคอบครองประเทศอื่นของประเทศมหาอำนาจคือ เรื่องการไม่มีประวัติศาสตร์ความเป็นชาติที่ชัดเจน ทำให้เกิดคำถามตามมาเรื่องของความเป็นไทยเริ่มต้นเมื่อใด คำตอบคือเริ่มนับจากสมัยสุโขทัย โดยมีหลักฐานที่ปรากฏชัดคือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้วยเหตุผลดังกล่าวส่งผลให้นักวิชาการสมัยใหม่หลายคนไม่ยอมรับความเชื่อดังกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่าการสร้างหลักศิราจารึกนั้นคงสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3-4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อป้องกันการยึดครองจากมหาอำนาจ และสามารถตอบคำถามในเรื่องประวัติศาสตร์ชาติได้ นั่นคือการนิยามตัวตนหรือบอกว่าตนเป็นใคร ซึ่งตรงกับคำศัพท์ทางวิชาการด้านมานุษยวิทยาที่ว่า “อัตลักษณ์” (Identity)

                การบอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นการอธิบายให้เห็นความเป็นเขา-เรา ทำให้ผู้อื่นได้ทราบถึงกำเนิดและความมีอยู่ของตน อันเป็นผลมาจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและสังคมของตนและสังคมอื่นๆ ซึ่งสามารถแสดงออกได้สองระดับคือ[1] อัตลักษณ์ระดับบุคคล (Personal Identity) และอัตลักษณ์ทางสังคม (Social Identity)

                 กระบวนการแสดงออกเรื่องอัตลักษณ์มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอำนาจโดยเฉพาะอำนาจรัฐที่ก่อตัวขึ้นเป็นรัฐชาติ อัตลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นจึงมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ของอำนาจ เวลา และสิ่งที่ไปมีปฏิสัมพันธ์ เช่น อัตลักษณ์ที่ปรากฏกับครูและเพื่อนนักเรียน อัตลักษณ์ที่แสดงออกนี้ย่อมเลื่อนไหลและแตกต่างกันไปตามบุคคลที่ไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย อำนาจของความเป็นครูย่อมมีอิทธิพลต่ออัตลักษณ์มากกว่าความเป็นเพื่อน หรืออัตลักษณ์กับเพื่อนนักเรียนด้วยกันขณะอยู่ในห้องเรียนและอยู่ที่บ้านยังมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้อำนาจในเรื่องพื้นที่และเวลาเข้ามาเป็นตัวกำหนดอัตลักษณ์ในลักษณะของอำนาจ

                ภาคอีสาน(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ของประเทศไทยมีพื้นที่มากที่สุด การศึกษาอัตลักษณ์เกี่ยวกับภาคอีสานจึงเป็นที่น่าสนใจ เนื่องจากภาคอีสานมีลักษณะที่แตงต่างจากภาคอื่นๆ ในหลายประการและที่สำคัญภาคอีสานประกอบขึ้นจากกลุ่มคนหลายกลุ่มเช่น กลุ่มลาวอีสาน กลุ่มสาวใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กลุ่มกุย กลุ่มญ้อ ไทพวน ผู้ไท ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ต่างมีประวัติศาสตร์ ประเพณีที่เป็นของตนเองมาก่อน ดังเช่นปฐม  หงษ์สุวรรณ[2] กล่าวกลุ่มไทพวนและผู้ไทไว้ว่า “ไทพวนและผู้ไทยเป็นกลุ่มชาติพันธ์ไทกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในภาคอีสาน แต่เดิมไทพวนมีถิ่นฐานอยู่ที่แขวงเซียงขวางประเทศลาว และกลุ่มผู้ไทมีดินแดนที่เป็นศูนย์กลางอยู่เมืองแถงเมืองเดียนเบียนฟูในบริเวณสิบสองจุไท ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม อย่างไรก็ตามกลุ่มไทพวนและผู้ไทอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยเป็นเวลานาน แต่วัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อตลอดจนประเพณีวิถีชีวิตความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองยังคงปรากฏจนทุกวันนี้ ดังเห็นได้จากคนไทพวนและผู้ไทภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงรักษาระบบความเชื่อบางอย่างที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพชน โดยเฉพาะลัทธิการนับถือผี เรียกว่า “การเลี้ยงผี[3]” ปรากฏในพงศาวดารเมืองพวน ปัจจุบันกลุ่มชนเหล่านี้ได้ถูกผนวกรวมเป็นภาคอีสานของประเทศไทยตากกระบวนการสร้างรัฐชาติ(Nation state) อัตลักษณ์บางอย่างจึงถูกผสมผสานเข้ากับกลุ่มชนอื่นในพื้นที่เดียวกัน

                อัตลักษณ์ที่ปรากฏสามารถศึกษาได้จากข้อมูลหลายแหล่ง โดยเฉพาะที่นิยมศึกษาโดยมาจากข้อมูลที่เป็นมุขปาฐะของการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยา ข้อมูลที่นิยมเช่น ตำนาน นิทาน พิธีกรรม ในส่วนที่เป็นลายลักษณ์เป็นข้อมูลทางเลือกอีกประเภทหนึ่งที่น่าศึกษาในเรื่อง อัตลักษณ์ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า[4] “กวีเปรียบเหมือนคนสามคนคือ นอกจากเป็นนักประพันธ์ช่างแต่งหนังสือแล้วยังเป็นหน่วยหนึ่งของคนรุ่นนั้นสมัยนั้นและเป็นพลเมืองอีกด้วย” คำพูน  บุญทวี ในฐานะที่เกิดและเติบโตอยู่ในสังคมอีสาน กรอปกับผลงานที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมอีสานจึงนับว่าเป็นนักเขียนที่มีความสำนึกและความเป็นพลเมืองอีสาน อัตลักษณ์อีสานย่อมถูกนำเสนอให้ปรากฏในวรรณกรรมของตน

                คำพูน  บุญทวี นักเขียนชาวอีสานที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในฐานะนักเขียนรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์คนแรกจากวรรณกรรมเรื่อง ลูกอีสาน ของประเทศไทย งานของคำพูน ล้วนแต่เขียนบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมอีสาน โดยพิจารณาเบื้องต้นจากชื่อนวนิยายเช่น ลูกอีสาน ลูกน้ำโขง ผจญภัยในทุ่งกุลาร้องไห้ มนต์รักแม่น้ำชี นายฮ้อยทมิฬ สาวอีสานต้องซ่า ข้ามาจากทุ่งกุลา เป็นต้น จากชื่อนวนิยายดังกล่าวนับว่าทุกเรื่องมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับภาคอีสานทั้งสิ้น ดังคำกล่าวที่ว่า[5] “เพราะแนวการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับอีสาน หลายคนคงไม่กล้าปฏิเสธว่า คำพูน บุญทวี เป็นผู้ที่สามารถบรรยายและบอกเล่าถึงบรรยากาศ อารมณ์ความเป็นอีสานได้ดียิ่ง”

                ในการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาสนใจศึกษาเรื่องกระบวนการสร้างอัตลักษณ์สังคมอีสานในวรรณกรรมของคำพูน  บุญทวี จำนวน 3 เรื่อง ประกอบด้วย มนต์รักแม่น้ำชี สาวอีสานต้องซ่า และข้ามาจากทุ่งกุลา เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพแบบพรรณนาบรรยาย วิเคราะห์ข้อมูลจากตัวบทวรรณกรรม โดยใช้กรอบแนวคิดทฤษฎี อัตลักษณ์ และนำเสนอผลการศึกษาในบทความนี้ ซึ่งจะได้นำเสนอในลำดับต่อไป

 

แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

                ในการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาใช้ทฤษฎีว่าด้วยเรื่อง อัตลักษณ์ สรุปได้ดังนี้สิริพรรณ  นาสวน[6] ให้แนวคิดในบทความว่า Identity เป็นคำที่เริ่มใช้กันทั่วไปในศตวรรษที่ 20 ในทางวิชาการมีการถกเถียงกันเป็นสองแบบ คือ แบบจิตวิทยาและสังคมวิทยา ในทางจิตวิทยาที่มาจาก Theory of identification ของ ฟรอยด์ (Signund freud. ค.ศ. 1856-1939) เกี่ยวกับกระบวนการที่เด็กซึมซับเอาแบบอย่างของบุคคลหรือสิ่งนอกกายเข้ามา โดย Eric Ericson ว่าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้น ณ แก่นแกนของบุคคลและแก่นแกนของวัฒนธรรมของชุมชนของเขาด้วย จึงเป็นการเชื่อมโยงชุมชนกับบุคคล ในสังคมวิทยา identity เป็นหน่อความคิดที่พัฒนาขึ้นในสำนักปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic interactionism) George Herbert Mead กล่าวถึง “the setf” หรือ “ตัวตน” ว่าเป็นสมรรถนะอันเป็นของมนุษย์โดยเฉพาะในอันที่จะคิดคำนึงถึง Reflect ธรรมชาติและสังคมรอบตัวโดยผ่านการสื่อสารและภาษา โดย “ตัวตน” เป็นกระบวนการที่มี 2 ขั้นตอนคือ the ‘1’ คือตัวตระหนักรู้ ซึ่งอยู่ข้างใน มีลักษณะอัตวิสัย (Subjective) สร้างสรรค์ (Creative) กำหนด (Determining) แต่รู้ไม่ได้ (Unknowable) ว่าเป็นเช่นไรแน่กับ the ‘me’ ซึ่งรู้ได้มากกว่า อยู่ข้างนอกกว่า และถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์กับสังคม การบ่งชี้ตัวตน (Identification) ในขณะที่นี้จึงเป็นการที่จัดวางตัวเราในจำพวกต่างๆ ที่สังคมสร้างขึ้น (Socially Constructed Catetories) โดยภาษามีบทบาทสำคัญในกระบวนการดังกล่าว

                คำว่า อัตลักษณ์ มีความหมายที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของเชื้อชาติ เพศ สีผิว โดยที่ปัจจุบันเราจะพบความเปลี่ยนแปลงและความไม่ชัดเจนของการแสดงอัตลักษณ์ในหลายๆ กลุ่มชน เนื่องจากอิทธิพลของการพัฒนาและการเปิดรับอารยธรรมของชนเผ่าที่มองว่า ตนเองเป็นผู้มีอารยธรรมเหนือกว่า ดังนั้นการพยายามเปลี่ยนแปลงโดยไม่เข้าใจที่มาของรูปแบบวัฒนธรรมนั้น ย่อมจะทำให้ผู้รับเอาวัฒนธรรมมาตีความหมายที่ผิดแปลกออกไป การดูถูกทางวัฒนธรรมหรือการเหยียดสีผิวการเหยียดชนชั้นจึงเป็นสิ่งที่ตามมา นอกจากนี้ความสำคัญของการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม จะทำให้เห็นความแตกต่างและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งนี้ความแตกต่างดังกล่าวนั้นควรได้รับการยอมรับมากกว่าทำการตำหนิหรือเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคน เพราะเกิดจากความแตกต่างและการไม่ยอมรับในวัฒนธรรมเฉพาะของกลุ่มนั้นๆ นอกจากนี้การยอมรับในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มจะทำให้บุคคลได้รับการยอมรับเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มได้ง่ายมากขึ้นด้วย

                โดยสรุปคำว่า “อัตลักษณ์” ของบุคคลนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้สึกร่วมกันในด้านการตระหนักรู้ (Awareness) บางอย่างเกี่ยวกับตัวตนของเรา เกี่ยวกับการยอมรับในความเป็นตัวตนประกอบเข้ากับการแสดงตัวตน (Making oneself) ให้เห็นว่ามีความเหมือนหรือต่างอย่างไรกับกลุ่มอื่นหรือบุคคลอื่น อัตลักษณ์เกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ทั้งระหว่างบุคคลภายในสังคมและภายในตัวบุคคลเอง แต่จะเลือกเอาเพียงอัตลักษณ์ใดอัตลักษณ์หนึ่งที่ตนยอมรับจากที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เพื่อนำมาใช้ภายใต้เงื่อนไขของบริบทในช่วงของเวลาและพื้นที่และอัตลักษณ์นี้อาจถูกกำหนดได้ทั้งจากบุคคลเป็นผู้กำหนดตนเองหรือถูกกำหนด ตำแหน่งแห่งที่ของบุคคลโดยสังคม อัตลักษณ์นี้เกิดขึ้นบนกระบวนการคิดเกี่ยวกับระบบของความแตกต่าง ระบบของความหลากหลาย อัตลักษณ์กับสังคมจึงเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก การนิยามความเป็นตัวตนของอัตลักษณ์นั้นต้องมีการอ้างอิงกับสังคม

                ในการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาใช้กรอบแนวคิดเรื่อง อัตลักษณ์ หมายถึง ลักษณะหรือเอกลักษณ์ พฤติกรรมทุกอย่างที่ถูกทำเสนอเมื่อผู้ที่นำเสนอแสดงออกมาขณะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือสิ่งอื่น เพื่อให้ทราบถึงความเป็นตน(เรา)ที่มีความแตกต่างจากผู้อื่น(เขา) สิ่งที่สามารถแสดงให้เห็นความแตกต่างของเราและเขาเมื่อเกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้อื่นเรียกว่า อัตลักษณ์ เช่น การใช้ภาษา วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ สามารถสร้างให้ตนแตกต่างจากคนอื่นและสังคมอื่นๆ

 

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

                ในการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษามีความมุ่งหวังเพื่อศึกษากระบวนการสร้างอัตลักษณ์สังคมอีสานในวรรณกรรมของคำพูน  บุญทวี เพื่อที่จะทราบว่าอัตลักษณ์ที่ปรากฏในวรรณกรรมดังกล่าวถูกสร้างด้วยอะไรบ้าง

 

วิธีดำเนินการศึกษา

                ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้ค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูลพร้อมทั้งเสนอผลการศึกษาในลักษณะของการพรรณนาวิเคราะห์ (Analytical Description) เป็นลำดับขั้นตอนดังนี้

                1. กำหนดโครงร่างวิทยานิพนธ์

                2. สำรวจและรวบรวมข้อมูลที่จะนำมาศึกษา

                3. ศึกษาข้อมูลที่รวบรวมไว้แล้วอย่างละเอียดแล้วทำการวิเคราะห์ โดยอาศัยหลักการวิเคราะห์ตามกรอบแนวคิด ทฤษฏีว่าด้วยอัตลักษณ์

                4. เรียบเรียงและนำเสนอรายงานผลการศึกษา

                5. สรุปผลการศึกษาและนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์

 

ผลการศึกษา

                จากการศึกษาอัตลักษณ์ที่ปรากฏในงานวรรณกรรมนวนิยายของคำพูน บุญทวี สามารถจำแนกเป็น 4 ประเด็นได้ดังนี้

                1. การใช้ภาษา “ลูกข้าวเหนียว” เพื่อแสดงว่าตนมาจากอีสาน

                2. การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

                3. ลักษณะนิสัย

                4. ความเชื่อ

                ผลการศึกษาพบว่า ในวรรณกรรมของคำพูน  บุญทวี ได้สร้างอัตลักษณ์อีสาน โดยการนำเอาภาษานำเสนอความเป็นอีสานด้วยข้าวเหนียวอันเป็นอาหารหลักของอีสาน นอกจากนี้ยังใช้ภูมิปัญญาเรื่องหมอลำ ผญา ลักษณะนิสัย และความเชื่ออันเป็นลักษณะ (เอกลักษณ์) เฉพาะถิ่นอีสาน ทำให้ตัวละครอีสานมีความเป็นอื่นเมื่อไปปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคมอื่น และในขณะเดียวกันก็สร้างความเป็นมิตรเมื่อเกิดการปฏิสัมพันธ์กับคนอีสานด้วยกัน นำไปสู่ความมิตรและศัตรู ตลอกจนการหลีกเลี่ยงอันตรายจากความเป็นอื่นของตนเมื่อไปสัมพันธืกับผู้อื่น ดังที่จะนำเสนอต่อไป

 

การใช้ภาษา “ลูกข้าวเหนียว” เพื่อแสดงว่าตนมาจากอีสาน

                ในการศึกษานวนิยายทั้งสามเรื่อง (มนต์รักแม่น้ำชี สาวีสานต้องซ่า และข้ามาจากทุ่งกุลา) ของคำพูน  บุญทวี ประเด็นการแสดงออกถึงถิ่นที่มาของตนถูกนำเสนออยู่ตลอดทั้งเรื่อง การรับรู้ความเป็นคนอีสานถูกแสดงออกต่อคนที่มาปฏิสัมพันธ์ทั้งที่เป็นอีสานด้วยกันและผู้ไม่ใช่คนอีสาน ซึ่งการแสดงออกเป็นไปในเชิงมิตรภาพหรือจะเป็นศัตรู โดยเฉพาะในการปฏิสัมพันธ์กันครั้งแรกจะถูกเน้นย้ำถึงที่มาเดียวกันเพื่อให้ตนเองปลอดภัยและได้รับความช่วยเหลือ ในบางครั้งแม้จะไม่ใช่คนอีสานด้วยกันจริงในเชิงพื้นที่ถิ่นเกิดที่อยู่อาศัยทำให้ต้องพยายามที่จะต้องหาหรือสร้างให้ตนมีบางส่วนที่มาชี้ให้เห็นว่าเป็นคนอีสานเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับตนเอง และในขณะเดียวกันเมื่อคนอีสานเป็นส่วนที่น้อยกว่ากับกลุ่มที่ตนไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย คนอีสานกลุ่มนี้ต้องสร้างหรือหาสิ่งยืนยันว่าตนคือคนกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ตนเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับคนเหล่านั้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ต้องปรับไปตามปริบทที่ไปปฏิสัมพันธ์ด้วย

                การสร้างความเป็นคนอีสานหรือการเป็นคนอีสานที่มาจากพื้นที่เดียวกันถูกนำเสนอด้วยการใช้ถ้อยคำ เพื่อที่จะบอกที่มาให้คนที่ถูกไปปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ทราบว่า เป็นคนที่มาจากต้นกำเนิดเดียวกัน คำพูดที่ปรากฏในการแสดงออกในลักษณะนี้เช่น ลูกน้ำชี ลูกอีสาน ลูกข้าวเหนียว คำทั้งสามถูกเปล่งออกจากปากของตัวละครในวรรณกรรมอยู่ตลอดเวลา และโดยเฉพาะเวลาที่จะมีภัยกับตนเอง การใช้ถ้อยคำดังกล่าวเพื่อบอกที่มาของตนเช่น

 

“เฒ่าทองพูดช้าๆ หนักๆ ว่า แกเป็นลูกน้ำชีสายนี้เหมือนกันกับตาแก่นนั่นหละ ตอนเป็นหนุ่มก็เป็นลูกน้องเรือบรรทุกข้าวเปลือกและของป่านานาอย่าง[7]

 

บทสนทนานี้เป็นบทสนทนาของเฒ่าทองชายชราที่บ้านอยู่ติดแม่กล่าวกับลุงแก่นชายหนุ่มกับลูกสาวสองคนผู้มีเรือเป็นบ้านเดินทางตามลำน้ำชีจากจังหวัดชัยภูมิไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี โดยจะล่องเรือไปมาตามแม่น้ำชี การแสดงออกเฒ่าทองต่อลุงแก่นผู้เป็นนักเลงเห็นการล่องเรือนั้นถูกใช้ในการแสดงความเป็นมิตรภาพ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งตนเองระหว่างทั้งสองครอบครัว และการแลกเปลี่ยนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

                ในบทสนทนาการสร้างลักษณะร่วมดังกล่าวนอกจากจะใช้สถานภาพของความเป็นคนแห่งแม่น้ำชีซึ่งมีเฉพาะในภาคอีสาน อันหมายความว่าทั้งสองมีพื้นที่อาศัยที่เดียวกัน แล้วยังปรากฏการสร้างตนให้เป็นพวกเดียวกันโดยใช้อาชีพการเป็นลูกเรือ เพื่อที่จะบอกลุงแก่นผู้เดินเรืออยู่ในแม้น้ำชีได้ทราบว่าเป็นมิตรกัน สามารถที่จะอาศัยพึ่งพากันได้ ซึ่งในเนื้อหาตอนนี้ลงแก่นก็ได้ตัดสินใจพักเรือท่าน้ำบ้านของพ่อเฒ่าทอง หรือในเรื่อง สาวอีสานต้องซ่า

 

                                “ผู้หมวดเป็นคนกรุงเทพฯ ใช่ไหมคะ” เพลินถามแล้วเม้มปาก

                                “ซ่ายซี-ทำไม?” ผู้หมวดยศร้อยโท พูดยานคางพร้อมดึงตีนผมขึ้น

                                “หนูเห็นบุหรี่ซองแดงๆ นั่นค่ะ ส่วนมากคนกรุงเทพสูบกัน”

                                “คนกรุงเทพ กรุงอีสาน ก็คือคนไทยเหมือนกันนะ อีหนูไหงจึงซ่านักล่ะหือ”

                                “แต่หนูทั้งไทยและลาวปนกันนะคะ”

                                “อูวะไหงพูดอย่างนั้น พ่อเป็นไทยแม่เป็นลาวล่ะซินะ หรือว่าเพลงสาวอีสานรอรักขึ้น

สมองหือ

                                “เปล่าค่ะ คือว่ายามหนูไปเมืองลาวเขาก็ว่าหนูเป็นไทย เวลาหนูไปอยู่กรุงเทพฯเขาก็เรียก

หนูว่าสาวลาว[8]

                จากบทสนทนาข้างต้นมีประเด็นในเรื่องของการบอกความแตกต่างของตนระหว่างความเป็นคนอีสานและคนกรุงเทพ โดยเฉพาะการใช้ บุหรี่ ที่ต่างกันระหว่างคนกรุงเทพฯกับคนอีสาน ที่สำคัญการที่ตำรวจพยายามสร้างความแตกต่างของคนกรุงเทพฯกับคนอีสานเข้าด้วยกันโดยใช้ความเป็นไทย นั่นคือกระบวนการของการสร้างรัฐชาติ รัฐไทย ตำรวจเป็นเจ้าหน้าซึ่งเป็นตัวแทนของผู้สร้างรัฐชาติอันเป็นอำนาจในเรื่องของพื้นที่เข้ามากำกับว่าไม่ว่าจะเป็นคนกรุงเทพฯหรือกรุงอีสานท้ายที่สุกทุกคนก็ชื่อว่าคนไทย นั่นเป็นการประนีประนอมให้ความแตกต่างในเรื่องของพื้นที่มาอยู่ร่วมกัน ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งเมื่อไม่ได้อยู่ในบทบาทของความเป็นรัฐชาติ(ไม่ใช่ราชการแต่เป็นการปฏิสัมพันธ์กันทั่วไปของคนสามัญ) การยอมรับคนที่ไม่ได้มาจากพื้นที่เดียวกันเป็นพวกนั้นไม่สามารถกระทำได้ การกระทำดังกล่าวไม่ผ่านการยอมรับซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการพยายามสร้างความเป็นไทยของรัฐชาติ และในขณะที่ตัวละครพยายามที่จะปรับให้ตนเองสามารถเข้าได้ทั้งกรุงเทพฯและอีสานสุดท้ายก็ถูกขับออกจากความเป็นกรุงเทพฯและความเป็นอีสาน ดังปรากฏในข้อความ เมื่ออยู่กรุงเทพฯเขาก็เรียกสาวลาว ไปอยู่ลาวก็ถูกเรียกว่าสาวกรุงเทพฯ นั่นเป็นการต่อต้านกระบวนการสร้างรัฐชาติที่ต้องเลือกหรือนิยามตนเพียงหนึ่งมิใช่อย่างไรก็ได้

                นวนิยายเรื่อง ข้ามาจากทุ่งกุลา ซึ่งเนื้อเรื่องมีความแตกต่างจากนวนิยายทั้งสองเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้มีพื้นที่ของเรื่องในภาคอีสานและพื้นที่ของภาคกลาง และโดยเฉพาะพื้นที่ของตัวละครในกรุงเทพ ฯ ขณะที่อีกสอนเรื่องนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานและเรื่องมนต์รักแม่น้ำชี ไม่ได้มีพื้นที่ของภาคอื่นเข้ามาปฏิสัมพันธ์ด้วย ในนวนิยายเรื่องข้ามาจากทุ่งกุลานี้ตัวละครแสดงความเป็นอีสานด้วยถ้อยคำของชุดคือ ลูกข้าวเหนียวและคนอีสาน ปรากฏบ่อยครั้งและตลอดทั้งเรื่อง เช่น

                               

                                “เดินร้องเพลงหนุ่มลูกข้าวเหนียวรักเดียวใจเดียวไป 5-6 จบก็ถึงนะพี่ชาย” ขอทานว่า

                                “แล้วมึงล่ะเป็นลูกข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้า” ไอ้โพถามปรื๋อพลางกำหมัดแน่น

                                “ลูกข้าวเหนียวคือกันกับพี่ชายนั่นแหละ[9]

               

                จากบทสนทนาข้างต้นได้นำเสนออัตลักษณ์ของคนอีสานที่แสดงออกผ่านสัญลักษณ์ของการกินคือ “ข้าวเหนียว” ซึ่งเป็นข้าวที่มีการบริโภคในสังคมอีสานเป็นหลัก การใช้ถ้อยที่บอกถึงที่มาของตนเมื่อต้องการที่จะบอกว่าตนเป็นคนอีสาน ข้าวเหนียวจึงถูกหยิบมาใช้เป็นสัญลักษณ์ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าอัตลักษณ์บางครั้งเกิดจากการปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจทำให้เกิดการปรับเข้าหาเพื่อที่จะเป็นพวกเดียวกันเพื่อความปลอดภัย นายโพถามขอทานว่าเป็นลูกข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้า ในขณะเดียวกันก็กำหมัดแน่นรอคำตอบจากขอทาน เมื่อขอทานตอบว่าเป็นลูกข้าวเหนียวทุกอย่างจึงถูกปล่อย หากว่าคำตอบออกมาไม่เป็นลูกข้าเจ้าย่อมเกิดการชกต่อยกันเกิดขึ้น และที่สำคัญภาพของการเดินและการเป็นขอทานของลูกข้าวเหนียวยังซ่อน “นัย” เรื่อง ความยากจนอันเป็นการรับรู้ของคนในสังคมอื่นว่า คนอีสานยากจนและแห้งแล้งต้องดิ้นรนเข้าสู่เมืองหลวงและเขตอุตสาหกรรม

 

                                “เถ้าแก่คอยมึงอยู่นะไอ้ก้อน มึงไปเมาอยู่ที่ใด?”

                                “ฉันไปกินข้าวอยู่ที่วงเวียน 22 กรกฏา น่ะครับ”

                                “มึงโดนหยียบล่ะซิ ใครล่ะแบกมึงมา?”

                                “คนอีสานคือกันกับผมน่ะพี่ทอง แกตกงาน ว่าแต่เถ้าแก่ด่าฉันไหม[10]

 

                จากบทสนทนาข้างต้นพบว่า ชุดถ้อยคำที่ถูกนำมาอธิบายที่มาของต้นคือพื้นที่ภาคอีสาน โดยการเรียกตนเองว่า คนอีสาน ซึ่งแสดงออกต่อผู้เป็นหัวหน้างานอันเป็นคนกรุงเทพฯ และการที่เลือกหยิบยกถ้อยคำ “คนอีสาน” ตอบหัวหน้าเมื่อถูกถามย่อมแสดงให้เห็นว่าในการทำงาน ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนอีสานย่อมมีคุณภาพ มีความสามารถในการทำงาน เหมาะสมที่จะได้รับเลือกไว้ใช้งาน ซึ่งถ้อยคำชุดนี้ปรากฏอยู่คู่กับคำว่า “ตกงาน” และในขณะเดียวกันผู้ที่ตอบมีความต้องการที่จะให้หัวหน้างานของตนเองรับเข้าทำงาน ซึ่งการอธิบายหรือบรรยายตัวละครว่ามีความรู้ความสามารถอย่างไรเป็นสิ่งที่ควรนำเสนอมากกว่าในการสมัครเข้าทำงาน แต่การที่ถูกนำเสนอด้วยชุดถ้อยคำสั้นๆ เพียงสามพยางค์ว่า “คนอีสาน” หัวหน้างานก็รับที่จะนำเสนอต่อเจ้านายในทันที นั่นคือเมื่อเป็นคนอีสานย่อมมีดีอยู่ในตัวที่คนในภูมิภาคอื่นๆ อาจจะไม่มี

                การสร้างอัตลักษณ์อีสานในวรรณกรรมของคำพูน  บุญทวี ได้เลือกนำเสนอออกมาในเรื่องของการใช้พื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือการใช้คำว่า “คนอีสาน” และ “ลูกน้ำชี” อันเป็นพื้นที่ตามระบบการปกครองที่แบ่งออกเป็นภูมิภาค การเลือกใช้พื้นที่ในการนำเสนออัตลักษณ์จึงทำให้สามารถมองเห็นได้มากกว่าพื้นที่ๆแปลว่า อาณาเขตหรือพื้นดิน แต่คำว่าพื้นที่ในตรงนี้ยังคงด้วยความหมายแฝงในเชิงอำนาจ อันหมายถึงความยากจน แห้งแล้ง ความด้อยพัฒนา ซึ่งในขณะที่รัฐชาติพยายามบอกว่าเป็นไทย ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้ยังมีความแตกต่างจากอีกหลายพื้นที่ในระบบการแบ่งการปกครองของรัฐชาติ นอกจากนี้การใช้เรื่องอาหาร “ข้าวเหนียว” มาอธิบายคนอีสานย่อมเป็นภาพที่ชัดเจนมาก เนื่องจากสังคมอีสานเป็นสังคมเกษตรกรรม อาชีพหลักโดยทั่วไปคือการทำนา (กสิกรรม) และที่สำคัญนิยมบริโภคข้าวเหนียว และเป็นพื้นที่เดียวที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก ในขณะที่พื้นที่อื่นไม่สามารถที่จะอ้างความเป็น “ลูกข้าวเจ้า” ได้เพราะมีหลายภูมิภาคที่บริโภคข้าวเจ้าเป็นหลัก การใช้ข้าวเหนียวเป็นสัญลักษณ์ของคนอีสานจึงเป็นสิ่งที่ทำให้คนอีสานต่างจากคนพื้นที่อื่นโดยปราศจากข้อโต้แย้ง

 

การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

                องค์ประกอบทางสังคมประการหนึ่งที่มีความสำคัญในการนำเสนอความเป็นเรา-เขา เพื่อบอกความเหมือนหรือต่างกันคือภูมิปัญญา นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความสามารถของคนในท้องถิ่นแล้วยังสามารถที่จะเป็นสัญลักษณ์ในการนิยามให้คนอื่นรู้จักตน ในสังคมอีสานเช่นเดียวกันภูมิปัญญาบางอย่างสามารถเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏที่ใดทุกคนรับรู้ว่านี่คือภูมิปัญญาอีสาน(ภูมิปัญญาของคนอีสาน) จากการศึกษาวรรณกรรมทั้งสามเรื่องดังกล่าวพบว่า มีการใช้ภูมิปัญญาเป็นตัวสร้างอัตลักษณ์ให้กับตน ดังเช่น

 

                                เท่านั่นคำผาก็รำพึงทุกข์ยากขึ้นเสียงพึมพำ ตอนหนึ่งคำผาพูดว่าวาสนาของลูกกำพร้าอย่าง

พี่นี้คงไม่มีหวังได้เป็นคู่กับสาวบ้านอื่นดอก เพราะนอกจากเป็นกำพร้าแล้วยังมีไร่นาอยู่บนโคก

ไม่เคยขังน้ำฝนไว้สักปี มาลีพูดว่าคนเราน่ะ ถ้ารักกันจริงต่อให้ดินนาแข็งเป็นหินก็อยู่ด้วยกัน

ได้ คำผาพูดต่อว่าไม่จริงดอก เพราะคนเฒ่าคนแก่เคยสอนลูกหลานที่เป็นสาวไว้เป็นคำกลอน

มาแล้วว่า

                                “ต้องหาผัวคนที่อยู่ใกล้โคกจึงสิยูถ่างกินเห็ด ฝนเลียนเม็ดดอกกะเจียวบานซ้อน บ้านใกล้

ห้วยหัวปลาซวยกะใหญ่ มีทั้งขอนก่านเกิ้นเกินก่ายเล้างอยเล่นอยู่สู่วัน

.......................................................

                                “พี่คำผาอย่าคิดหลาย คนเฮานี่คันสิคาดเป็นคู่กัน บ่ต้องเว้าเถิงความทุกข์ความยาก บัว

อาศัยน้ำปลาเพิ่งวังตม ไพร่กับนายกะเพิ่งกันโดยด้าม อันว่าเสือสางซ้างกวางฟานอาศัยป่า ป่า

กะอาศัยสัตว์สิงฮ้ายจึงหนาแน่นมืดมุง[11]

 

                จากตัวอย่างข้างต้นพบว่า สิ่งที่ถูกหยิบมาเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกของคนอีสานคือ การใช้ภูมิปัญญาที่เรียกว่า “ผญา” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่มีเฉพาะในสังคมอีสานเท่านั้น การใช้ “ผญา” พูดคุยกันนั่นคือการขับออกไปของคนนอกสังคมอีสาน เนื่องจากการใช้ภาษาอีสานและนำเสนอเป็นบทผญาคือการปิดกั้นการรับรู้ของผู้อื่น (ความเป็นเขา) ให้แยกออกจากสังคมอีสาน เพราะคนอื่นไม่สามารถเข้าใจภาษาอีสานได้ ประการต่อมาไม่เข้าใจเนื้อความของผญาซึ่งต้องอาศัยการตีความเข้ามาเกี่ยวข้องอันเป็นการคัดเลือกขั

หมายเลขบันทึก: 296758เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2009 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สนใจงานวิจัยนี้ เพราะรู้สึกทำให้เกิดความเข้าใจในความเป็นอีสานเพิ่มมากขึ้น

ขอข้อมูลเป็นเต็มได้มั้ยค่ะ

อยากได้ข้อมูลเต็มๆ ต้องทำยังไงค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท