การบริหารจัดการแนวใหม่ใช้เครื่องมือKM


ประยุกต์ใช้ KM บริหารจัดการสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ

                ปัจจุบันสังคมโลกได้เปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมที่มีปัจจัยสำคัญในการแข่งขันคือ ทุน เข้าสู่ยุคที่ปัจจัยสำคัญของการแข่งขันคือ ความรู้ (Knowledge) ซึ่งองค์การและผู้คนจำเป็นจะต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สามารถที่จะนำประสบการณ์ ความรู้ ที่มีอยู่หลากหลายทั้งในตัวตน ในองค์การ   หรือในตำรานำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ KM: Knowledge Management โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา มีโอกาสดีที่ได้เกี่ยวข้อง สัมผัส พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ    นำเครื่องมือการจัดการความรู้ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการโรงเรียนและสอดแทรกไปในกระบวนการบริหารจัดการความรู้ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 8 ปีโดยมีท่านศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์  พานิช  ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) และคณะได้ถ่ายทอดศิลปวิทยาการ “การจัดการความรู้” ให้กับบรรดาผู้บริหารต้นแบบการปฎิรูปการเรียนรู้ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะที่ได้มีส่วนเข้าร่วมอบรมกับผู้บริหารต้นแบบ  

           ต่อมาโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาได้นำประสบการณ์ความรู้ ด้านการจัดการความรู้ KM: Knowledge Management มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา อย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ “การสร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญ และผลักดันคุณภาพ” แรกๆบุคลากรบางส่วนจะมีความรู้สึกว่าผู้บริหารเพิ่มงานใหม่ให้อีกแล้ว ต่อมาเมื่อทุกฝ่ายได้ลงมือปฏิบัติจริงก็ถึงบางอ้อว่า... ที่แท้การจัดการความรู้ก็อยู่ในวิถีปฏิบัติงานประจำวันนั่นเอง กว่าจะถึงวันนี้ได้ก็ใช้เวลาพอสมควร


           อย่างไรก็ตามทางฝ่ายบริหารได้มองการณ์ไกล จึงได้ออกแบบแนวทางการจัดการความรู้สอดแทรกผสมผสานไปกับการปฏิบัติงานปกติของโรงเรียน ซึ่งคณะกรรมการทุกๆฝ่ายได้มีบทบาทในการจัดการความรู้อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางในการสนับสนุนส่งเสริมระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน  ในการประชุมคณะกรรมการแต่ละคณะ เช่น 
          - ทุกวันจันทร์ เวลา 9.00-10.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการสภาครู
          - ทุกวันจันทร์ เวลา 16.30-17.30 น. มีการประชุมคณะครูระดับ ม.1-3
           - ทุกวันอังคาร เวลา 16.30-17.30 น. มีการประชุมคณะครูระดับ อนุบาล 1-3
           - ทุกวันพุธ เวลา 16.30-17.30 น. มีการประชุมคณะครูระดับ ป.1-3
           - ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 16.30-17.30 น. มีการประชุมคณะครูระดับ ป.4-6
           - ทุกวันศุกร์ เวลา 9.00-10.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการสายชั้น


            การนำกิจกรรมการจัดการความรู้มาประยุกต์ใช้ในการประชุมของคณะกรรมการ ทุกคณะส่วนใหญ่คณะครูและบุคลากรซึ่งเป็น “คุณกิจตัวจริงจะทำหน้าที่จัดกิจกรรมการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การนำเสนอผลงาน การสะท้อนปัญหาอุปสรรค แนวทางปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของคณะกรรมการ/ฝ่ายต่างๆ เช่น


        - ฝ่ายวิชาการ   ดูแลด้านการเรียนการสอนและพัฒนาการความพร้อมของผู้เรียนทุกๆด้าน
        - ฝ่ายกิจการนักเรียน       ดูแลด้านกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ ความสามารถของนักเรียน   โดยจัดให้มีกิจกรรม   เวทีคนเก่ง  (แสดงดนตรี ร้องรำ ทอล์คโชว์)     กิจกรรมเพื่อนช่วย  พี่ช่วยน้อง (พี่มัธยมช่วยดูแลน้องอนุบาลเล่นเครื่องเล่น เล่านิทานให้ฟัง  เชิดหุ่น ฯลฯ)กิจกรรมจิตรกรน้อย (วาดภาพ ระบายสี)  กิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ (ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน)
กิจกรรมสภานักเรียนและสโมสรอินเตอร์แรคท์ (ส่งเสริมประชาธิปไตย เสริมสร้างภาวะความเป็นผู้นำ ให้มีคุณธรรม จริยธรรม ความเป็นไทย และมีภูมิคุ้มกันภัยยาเสพติด) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย   3 D คือ Democracy , Decency ,และ  Drug-Free ของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ     (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียน เช่นกิจกรรมการประกวด/แข่งขัน (ตอบปัญหา ต่อคำศัพท์ภาษาอังกฤษ: SCRABBLE) เป็นต้น
        - ฝ่ายอาคาร-สถานที่ จัดตกแต่งบริเวณอาคารสถานที่ทุกแห่งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน  ทำให้นักเรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ (Anywhere, anytime)
        - ฝ่ายบริการ จัดบริการอาหารกลางวันโดยคำนึงถึงตามหลักโภชนาการ จัดหาน้ำดื่มที่สะอาด และจัดบริการนมพาสเจอร์ไรส์บริการนักเรียนทุกคน รวมถึงการดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยให้กับนักเรียนทุกคน
        - ฝ่ายบุคลากร จัดให้มีการพัฒนาศักยภาพของครูให้เป็นครูมืออาชีพ โดยการสนับสนุนส่งเสริมให้เข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนา ศึกษา-ดูงานทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการศึกษาต่อเพื่อนำประสบการณ์ ความรู้มาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการการสอน เพื่อให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ “เป็นคนดี มีปัญญา และมีความสุข”

        - ฝ่ายความสัมพันธ์กับชุมชน มีการประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชนในการมีส่วนร่วมสนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดจนการพัฒนาผู้เรียนร่วมกัน

         ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบทบาทของผู้บริหาร ก็คือบทบาทของ “คุณอำนวย” (Facilitator) ที่คอยให้กำลังใจ ให้คำแนะนำปรึกษาแก่คุณครูและบุคลากรทุกคน ซึ่งเป็น “คุณกิจ” ตัวจริง โดยมีหัวหน้าระดับ/หัวหน้าสายชั้น ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย “คุณอำนวย” รวมทั้งมีเพื่อนครูทำหน้าที่เป็น “คุณลิขิต”  ทำให้ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกฝ่ายภายในสถานศึกษาเป็นอย่างดี ต่อจากนั้นได้มีแนวความคิดว่าน่าจะมีการขยายประสบการณ์ความรู้ไปสู่สถานศึกษาเครือข่ายทั้งในระดับเขต      พื้นที่การศึกษาในจังหวัดและต่างจังหวัด จึงมีการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดความรู้”   ที่โรงเรียน             จิระศาสตร์วิทยา 2 ครั้ง  โดยรับความร่วมมือจากหน่วยงาน สถานศึกษา ทั่วประเทศส่งผู้แทน          เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก  ผลที่ได้ท่านผู้อ่านสามารถสืบค้นข้อมูลได้จาก www.jirasart.com     หรือ www.gotoknow.jirasart.or.th
              สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการจัดการความรู้ที่ได้นำมาเล่าสู่กันฟังใน ครั้งนี้ถือว่าเป็นกรณีตัวอย่าง ยังไม่กล้าพูดว่าเป็น Best Practices แต่ขอยืนยันว่าหน่วยงานสถานศึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพและบริบทของตนเอง ในที่นี้ขอนำเสนอแนวทาง
  “การดำเนินงานระบบช่วยเหลือดูแลนักเรียน”
ซึ่งเป็นกรณีศึกษาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ถือเป็นวัยที่ย่างเข้าสู่ “วัยรุ่น”

                เนื่องจากโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลช่วยเหลือนักเรียนวัยรุ่น จึงได้ดำเนินการดังนี้
                1. แต่งตั้งคณะกรรมการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
                2. มอบหมายให้ครูประจำชั้น ในฐานะครูที่ปรึกษาและครูแนะแนวให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
              3. จัดทำข้อกำหนด ระเบียบปฏิบัติ หรือข้อตกลงร่วมกันในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
              4. มีการจัดครูช่วยกันดูแลนักเรียนในลักษณะครูคู่มิตร
              5. มีการจัดประชุมผู้ปกครองเครือข่าย
              6. มีจดหมายสื่อสารถึงผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน
              7. มีการออกเยี่ยมเยียนผู้ปกครอง
              8. มีการติดตามพฤติกรรมนักเรียนอย่างต่อเนื่องโดยความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองกับโรงเรียน

การดำเนินงานระบบช่วยเหลือดูแลนักเรียน

               ครูหรือผู้บริหารย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า จิตวิทยาการจัดการเรียนรู้ต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และต้องเชื่อว่าผู้เรียนทุกคนสามารถพัฒนาได้  ดังนั้นในการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนจึงมีความจำเป็นและควรให้ความสำคัญไม่แพ้การดำเนินงานด้านการเรียนการสอนและอื่นๆ           
          ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่โรงเรียนนำมาใช้ มีดังนี้
1)      ระบบครูคู่มิตร    เป็นการจัดครูประจำชั้นหรือครูประจำวิชาที่มีห้องใกล้กันช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมการเรียน การเข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน เพื่อเป็นการป้องปราม หรือป้องกันปัญหาไว้เป็นการล่วงหน้าการจัดกิจกรรมลักษณะนี้จะมีการเตือน มีการออกใบเตือนนักเรียนโดยให้ ใบเหลือง, ใบแดง ตามควร แก่กรณี เช่น กรณีความผิดเล็กน้อยอาจมีการตักเตือนแล้วให้ใบเหลือง ส่วนการให้ใบแดงมักจะไม่พบ ทั้งนี้เพราะนักเรียนที่เคยได้ใบเหลืองจะระมัดระวัง หรือนักเรียนจะเกรงกลัวความผิดและไม่อยากถูกลงโทษโดยการให้ใบแดง นั่นหมายถึงตัวเองและผู้ปกครองจะเดือดร้อนด้วย
2)      ระบบเพื่อนช่วยเพื่อนและพี่ช่วยน้อง   เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้นักเรียนดูแลช่วยเหลือกันเอง ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการสภานักเรียน และสโมสรอินเตอร์แรคท์โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ซึ่งจะทำหน้าที่แนะนำช่วยเหลือ สอดส่องดูแล รายงานพฤติกรรมนักเรียนที่ไม่พึงประสงค์ให้ครูทราบ
3)      ระบบผู้ปกครองเครือข่าย  เป็นการขอความร่วมมือจากตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนแต่ละระดับ แต่ละช่วงชั้น ซึ่งมีจำนวน 234 คน ทำหน้าที่สอดส่องดูแลพฤติกรรมนักเรียนนอกโรงเรียน และรายงานให้ครูหรือผู้บริหารทราบ พร้อมทั้งในคำแนะนำ ปรึกษา ในการสนับสนุนส่งเสริมการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้วย
4)      ระบบเยี่ยมยามถามข่าว  เป็นการจัดครูประจำชั้น หรือครูที่ปรึกษาร่วมกับผู้บริหารและกรรมการฝ่ายสัมพันธ์กับชุมชนออกพบปะ เยี่ยมเยียนผู้ปกครองและนักเรียนในชุมชน หมู่บ้านที่นักเรียนอาศัยอยู่ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามตำบลอำเภอต่างๆในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง  ทำให้ได้รับทราบข้อมูล ข่าวสาร สภาพปัญหา ความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียนอย่างแท้จริง และนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ปัญหาและพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง การจัดการความรู้ร่วมกันของผู้บริหาร ครูอาจารย์ นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา 
              จากวันนั้นถึงวันนี้แม้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนจะมีความสำเร็จไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์   แต่สภาพที่เห็นเด่นชัดหลังจากที่มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  พบว่า    สิ่งที่อยู่ในความทรงจำของทุกคนคงจะไม่พ้นความรู้สึกดีดีในไมตรีจิตมิตรภาพ  การรู้จักยอมรับความคิดเห็น รู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน รวมถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีม    วันเวลาแห่งการจัดการความรู้ได้ดำเนินการควบคู่กับกิจวัตรประจำวันของสถานศึกษา จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้  ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่และจะต้องปรับปรุงพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง  ภายใต้พลังขับเคลื่อนของภาคี เครือข่ายการจัดการความรู้ที่กระจายอยู่ทุกหนทุกแห่ง    

               ความสำเร็จและความก้าวหน้าทั้งหลายจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความอนุเคราะห์สนับสนุน ส่งเสริมเป็นกำลังใจและให้ความช่วยเหลือด้วยดีมาโดยตลอดจากคณะครู ผู้ปกครองและชุมชน   และผมมีความเชื่อมั่นว่า “ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จะไม่มีวันประสบความสำเร็จได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายอย่างจริงจังและจริงใจ”  ถึงเวลาแล้วหรือยังครับที่เราจะมาร่วมกันจัดระบบดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนของชาติให้ประสบผลสำเร็จและบรรลุเป้าหมายสู่การพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย “ให้เป็นคนดี   มีปัญญา และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข”

 

หมายเลขบันทึก: 296256เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2009 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มีประโยชน์มาก ๆ ครับท่าน ผอ.

สวัสดีครับดร. ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ

ผมและคณะจากบ่อไร่วิทยาคม จ.ตราด เคยไปเยี่ยมเยือน และเรียนรู้การทำงานด้านการจัดการความรู้ของจิระศาสตร์ฯ ยังชื่นชมมาถึงปัจจุบันครับ

ชัดเจนมากครับ

  • สวัสดีค่ะ ชื่นชม และยินดี
  • ที่ ร.ร.จิรศาสตร์ประสบความสำเร็จในการนำการประยุกต์ใช้ KM
  •  มาบริหารจัดการสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท