กำเนิดคัมภีร์วิสุทธิมรรค(๒)


เหตุการณ์อันเป็นจุดกำเนิดของคัมภีร์วิสุทธิมรรค

มาดูประวัติการเกิดของคัมภีร์วิสุทธมรรคกันต่อนะคะ

หลังจากที่ท่านโฆษะบวชในพุทธศาสนา ได้ศึกษาจนแตกฉาน และได้รจนาคัมภีร์ขึ้นหลายคัมภีร์ เช่น คัมภีร์ญาโณทัย ที่กล่าวถึงพุทธประวัติโดยย่อ การสังคายนาความเป็นมาของคัมภีร์บาลี อัฏฐกถา ฎีกา อนุฎีกา โยชนา คันถี ปกรณ์พิเศษต่างๆ และยังได้แต่งอรรถกถาอัฏฐสาลินี ของพระอภิธรรมปิฏกธัมมสังคมณีไว้ด้วย

ต่อมาท่านเรวตะเถระ ได้แนะนำท่านโฆษะให้ไปลังกา เพื่อแปลอรรถกถาภาษาสิงหลให้เป็นภาษามคธ แล้วนำกลับมาอินเดีย เพราะในอินเดียยุคนั้นไม่มีอรรถกถาภาษามคธมาก เพราะภาษาสันสกฤตได้รุ่งเรืองขึ้นแทน

วรศักดิ์ มหัทธโนบล ได้เขียนไว้ในคอลัมน์ เงาตะวันออกในหัวเรื่องพุทธโคดม ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ว่า ภาษาที่พระพุทธองค์ตรัสสั่งสอนส่วนใหญ่คือภาษามคธ จัดอยู่ในตระกูลภาษาปรากฤต อันเป็นภาษาธรรมดาที่คนทั่วไปพูดกัน ซึ่งพราหมณ์ในพุทธกาลซึ่งใช้ภาษาสันสกฤต ดูถูกว่าเป็นภาษาชั้นต่ำ อาจหมายถึงว่าพระพุทธองค์ปรารถนาจะให้พระศาสนาเป็นที่พึ่งแก่บุคคลทุกชั้น ทุกวรรณะ จึงตรัสด้วยภาษาชาวบ้านนี้ เพราะถ้าตรัสเป็นภาษาสันสกฤต คนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจ แต่เมื่อต้องสนทนากับพราหมณ์ พระองค์ก็ตรัสเป็นภาษาสันสกฤตเช่นเดียวกับพราหมณ์

ในจุดนี้ผู้เขียนอยากแสดงความเห็นว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะการขับเคี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาทไม่ต้องการให้พราหมณ์ดูถูกตน อีกทั้งการที่พราหมณ์สร้างความสำคัญของภาษาสันสกฤตว่าเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้มีการใช้ภาษาสันสกฤตในการจารึกคัมภีร์แทน

ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๙๕๖ ( บางตำราว่าปี ๙๕๓ ) พระพุทธโฆษาจารย์จึงได้เดินทางไปยังมหาวิหาร เกาะสิงหล ลังกาเพื่อขออนุญาตพระสังฆบดีของลังกาแปลคัมภีร์ในรัชกาลพระเจ้ามหานาม

ด้านพระเถระผู้เฒ่า ไม่แน่ใจว่าพระพุทธโฆษาจารย์จะมีสติปัญญาพอจะทำการใหญ่นี้ได้หรือไม่ เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เนื้อความได้ จึงขอให้แต่งคัมภีร์ให้ดูสักเรื่องหนึ่งก่อน พระพุทธโฆษาจารย์ จึงแต่งคัมภีร์วิสุทธมรรคขึ้น ( แต่บางที่ว่า พระเถระให้คาถา ๑ คาถา มา แล้วให้แต่งคำอธิบายคาถานั้น พระพุทธโฆษาจารย์จึงแต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นการอธิบาย ) หลังจากที่พระสังฆบดีอ่าน จึงแน่ใจ และมอบคัมภีร์ต่างๆให้ท่านแปล

ดร. สุชาติ หงษา ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคัมภีร์วิสุทธิมรรคไว้ว่า พระพุทธโฆษาจารย์ ได้รจนาโดยนำอรรถกถานิกายในพระไตรปิฎกมาที่ฝ่ายมหาวิหารสืบทอดมาแต่ครั้งพุทธกาล มาเป็นแม่แบบในการเรียบเรียง ดังนั้น ไม่ว่าบทขยาย วินิจฉัย หรือสาธก ล้วนมาจากอรรถกถาเก่าทั้งสิ้น ท่านไม่ได้รจนาขึ้นใหม่โดยมติความรู้ตนแต่อย่างใด วิสุทธิมรรค จึงไม่ใช่ปกรณ์วิเสสที่นอกเหนือจากบาลีอรรถกถาอย่างที่เข้าใจกัน แท้จริงแล้ว เป็นคัมภีร์อรรถกถาย่อส่วนจากอรรถกถาของนิกายทั้ง ๔ โดยตรง

(หากท่านพุทธทาสได้ให้ความเห็นเป็นที่น่าสังเกตุอย่างหนึ่งค่ะ ถึงอนุสสติ ๑๐ ว่าไม่มีเอ่ยถึงในบาลี หรือพุทธวจนะ หรือมีการเอ่ยถึงก็เพียง ๒-๓ อย่างไม่ครบ ๑๐ ตามที่กล่าวในคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่ท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงได้นำมาให้เรียนรู้ จุดนี้จึงรบกวนผู้รู้ช่วยขยายความค่ะ)

ในการรจนาคัมภีร์นี้ ท่านได้ยกพระคาถาในสังยุตตนิกายเป็นบทตั้ง หรือหัวข้อ ว่า

นรชน ผู้มีปัญญา เป็นภิกขุ มีความเพียร มีปัญญาเครื่องบริหาร ตั้งตนไว้ในศีลแล้วทำสมาธิจิต และปัญญาให้เจริญอยู่ เธอจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียนี้ได้****

จากนั้น ท่านก็ขยายความ อธิบายอย่างพิสดาร โดยนำบทอุทาหรณ์ หรือข้อความที่เกี่ยวกับศีล สมาธิ ปัญญา จากพระไตรปิฏกมาเป็นข้อมูลในการบรรยาย

ด้วยจุดเด่นของการรจนาหลายๆประการ คือ รจนาโดยอาศัยพระไตรปิฎกเดิม รจนาเฉพาะสาระไตรสิกขา รจนาโดยแปลจากอรรถกถาโบราณโดยปราศจากอัตโนมติ รจนาโดยมีการอ้างการปฏิบัติของโบราณาจารย์ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลัง และยังแสดงวิธีการปฏิบัติศีล ธุดงค์ เป็นต้น จึงทำให้คัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

สำหรับตัวอย่างบางส่วนของคัมภีร์วิสุทธิมรรคขอยกบทบรรยายของผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญมี แท่นแก้ว เพื่อให้เห็นภาพสักหน่อยนะคะ เนื่องจากคำบรรยายในพระคัมภีร์จริงๆที่มีการแปลเป็นภาษาไทยนั้นยาวมาก ดิฉันเกรงว่าหากย่อความเองอาจจะตกหล่น

คุณประโยชน์ของสมาธิ

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ในการบำเพ็ญสมาธิไว้ ๕ ประการ คือ

๑. ทำให้เกิดความสุขในโลกนี้ กล่าวคือ มีความสุขในชีวิตประจำวัน

๒. ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสังขาร กล่าวคือ เมื่อใจเป็นสมาธิแล้ว เราก็สามารถที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในสังขาร เช่น ร่างกาย เป็นต้น ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จงบำเพ็ญสมาธิ ผู้มีใจเป็นสมาธิดีแล้ว ย่อมรู้สภาวธรรมตามที่เป็นจริง

๓. ทำให้ได้อภิญญา กล่าวคือ ผู้ที่สามารถเข้าสมาธิได้ดี หรือเข้าสมาบัติ ๘ คือรูปญาณ ๔ และอรูปญาณ ๔ ก็สามารถจะบรรลุอภิญญาได้ ดังนั้น จึงมีพระพุทธพจน์สนับสนุนข้อนี้ว่า

ผู้ที่บำเพ็ญสมาธิได้สมาธิชั้นสูง คืออัปปนา ( สมาธิแน่วแน่ ) ก็สามารถที่จะบำเพ็ญเพียรสูงขึ้นต่อไป และหันไปบำเพ็ญวิปัสสนา ( ความรู้แจ้ง ) เพื่อเกิดการรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรม และเขาก็สามารถที่จะได้อภิญญา เป็นผู้สมควรยิ่ง เพราะว่าเป็นผู้มีอายตนะ ( ประตู เช่น หู ตา เป็นต้น ) อันได้อบรมมาดีแล้ว ย่อมสมควรที่จะบรรลุคุณธรรมชั้นสูงต่อไป

๔. ทำให้ได้ไปเกิดในพรหมโลก กล่าวคือ ผู้บำเพ็ญสมาธิจนได้ญาณ หรือ อัปปนาสมาธิ สามารถไปเกิดในพรหมโลก ๑๖ ชั้น ถ้าหากสามารถบำเพ็ญสำเร็จเพียงอุปจารสมาธิ ก็จะไปเกิดเป็นมนุษย์ที่มีความสุขสบาย หรือเป็นมนุษย์ชั้นที่มีความสุขสบายที่สุด

๕. ทำให้สามารถเข้าสมาบัติได้ การเข้าสมาบัติ ก็คือการพักผ่อนทั้งร่างกายและใจ เป็นการพักผ่อนอย่างแท้จริง นี่หมายถึงการที่ได้บรรลุถึงขั้นอนาคามีและอรหันต์ ได้รูปญาณ ๔ และอรูปญาณ ๔ รวมเรียกว่า สมาบัติ ๘ จึงสามารถเข้าถึงขั้นนี้ได้ การที่สามารถเข้าสมาบัติประเภทนี้ ได้เรียกว่า การเข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งผู้ที่เข้านิโรธสมาบัตินี้ สามารถจะอยู่กับที่เป็นเวลานานถึง ๗ วัน โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ และไม่ต้องรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำเลย( ***** หน้า ๓๐ )

ดิฉันเห็นว่าการศึกษาพระศาสนาให้สนุก ควรศึกษาปรากฎการณ์ต่างๆในพระศาสนาด้วย เพราะนอกจากจะเพิ่มพูนความรู้แล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้สงสัย ใคร่รู้อันนำไปสู่การค้นคว้า และสนใจศึกษาหลักธรรมมากขึ้น

อย่างเช่นคำว่า"ปัญญา" ที่กล่าวไว้ถึง ๓ วาระ ในบทตั้งนั้นมีความหมายเหมือนกันหรือไม่ ชวนให้สงสัยต่อมั๊ยคะ

...............................................................

อ้างอิง

* นวองคุลี เหตุเกิดหลังพุทธปรินิพพาน วัดสุวรรณประสิทธิ์ คลองกุ่ม บึงกุ่ม กรุงเทพ

** ดร.สุชาติ หงษา ประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา สำนักพิมพ์ศยาม ๑๑๗ ๑๑๙ ถนนเฟื่องนคร เขตพระนคร กรุงเทพ

*** วรศักดิ์ มหัทธโนบล ( คอลัมน์เงาตะวันออก ) มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๖ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒และฉบับประจำวันที่ ๔ - ๑๐ กันยายน ๒๕๕๒

**** สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง คัมภีร์วิสุทธิมรรค The Corporate Body of the Buddha Educational Foundation 11F ., 55 Hang Chow South Road Sec1, Taipei,Taiwan,R.O.C.

***** ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญมี แท่นแก้ว ความจริงของชีวิต สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ ๘๖๐ ๘๖๒ วังบูรพา กรุงเทพ

พุทธทาสภิกขุ โพธิปักขิยธรรมประยุกต์ (หน้า ๖๑ - ๖๒ ) ธรรมทานมูลนิธิ ๖๘ / ๑ หมู่ ๖ ต.เสม็ด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

หมายเลขบันทึก: 295442เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2009 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2013 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

วิสุทธมรรคภาคสองต้องติดตาม        ทุกถ้อยคำกลั่นมาหาเหตุผล

ได้ลึกซึ้งฝึกหัดศาสนิกชน                 เป็นชาวพุทธต้องค้นเรียนรู้ผู้เจริญ

แถมทิ้งท้ายให้ติดตามถามเอาไว้       ปัญญาไซร้ยังไม่ชัดจึงขัดเขิน

โปรดติดตามความต่อไปได้ดำเนิน      อย่างเพลิดเพลินอรรถรสในบทธรรม

มีสมาธิแล้ว ก็ถอยออกมาเจริญวิปัสสนานะครับ

จะได้ทีสติปัญญาตามจริงนะครับ

ขอบคุณครับ

ครูบาอาจารย์เคยกล่าวว่า

ทำความสงบมากเนิ่นช้า

คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน

ขอบคุณครับ

สวัสดี ครับ

P ณัฐรดา

เป็นองค์ความรู้ที่ดี มากเลย ครับ

ขอบพระคุณ มากครับ....ที่นำมาให้อ่าน

สวัสดีค่ะคุณวิโรจน์

ขอบคุณนะคะที่เวียนมาเยี่ยมสม่ำเสมอ

สวัสดีค่ะคุณPhornphon

ความสงบในสมาธิ ไม่ได้ช่วยให้เกิดปัญญาจริงๆค่ะ เป็นเพียงบาทฐาน ให้นำจิตที่มีกำลังไปพิจารณาธรรมต่อ จนเกิดปัญญาเท่านั้น

ขอบคุณคุณแสงแห่งความดีนะคะ ที่แวะมาค่ะ

สาธุ สาธุ สาธุค่ะ ครูแมวเรียนรู้ด้วยคนค่ะสอนพุทธธรรมนำชีวิตให้เด็กๆอยู่ค่ะ

สวัสดีค่ะครูแมว

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ และขอบคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยมกันค่ะ

แวะมาอ่านครับ อ่านง่ายนะแต่ทำความเข้าใจอยาก สำหรับพุทธวิชา

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท