สวัสดีค่ะ พบกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร กันอีกแล้วนะคะ วันนี้เรามีเรื่องราวดีๆ ของจังหวัดชุมพรมาฝากเพื่อนๆ เหมือนเคยค่ะ จำได้ว่าเราเคยนำเสนอเรื่องโบราณสถานสำคัญในจังหวัดชุมพรไปแล้ว ในตอนวัดพระธาตุสวี วันนี้เรามาติดตามเรื่องโบราณสถานสำคัญในจังหวัดชุมพรกันต่อนะคะ เพื่อนๆ ทราบไหมค่ะว่าวัดเก่าแก่และมีความสำคัญกับความเป็นมาของเมืองชุมพร คือวัดอะไร ใครที่เป็นคนชุมพรคงพอจะตอบได้นะคะ แต่สำหรับเพื่อนๆ ที่ไม่ใช่คนชุมพรอาจจะไม่ทราบ ไม่เป็นไรค่ะเพราะเพื่อนๆ สามารถหาคำตอบได้ที่นี่และตอนนี้เลยค่ะ มาทำความรู้จักกับวัดประเดิมพร้อมๆ กับเราเลยนะคะ
วัดประเดิม
ที่ตั้ง หมู่
๒ ตำบลตากแดด อำเภอชุมพร
จังหวัดชุมพร
ประวัติ / ตำนาน
เชื่อกันว่า เมืองเดิมของจังหวัดชุมพร ตั้งอยู่บริเวณวัดประเดิม ฝั่งซ้ายของแม่น้ำชุมพรที่ตำบลตากแดด ต่อมาย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่ตำบลท่ายาง และที่ตำบลท่าตะเภาตามลำดับ เหตุที่ย้ายเมืองบ่อยครั้งอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำท่าตะเภา และแม่น้ำชุมพร หรือ อาจเป็นเพราะเมืองชุมพรเป็นเมืองหน้าด่านในการทำศึกสงคราม จึงไม่สามารถสร้างบ้านเมืองถาวรได้ สำหรับชื่อ วัดประเดิม นั้น เล่ากันว่า น่าจะมาจากการเป็นวัดแรกในบริเวณนี้ และเป็นวัดประจำเมืองชุมพรเก่า เชื่อกันว่าพระปรางค์เดิมมีรูปแบบศิลปะแบบศรีวิชัย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันที่แน่นอน ในสมัยก่อนน่าจะมีโบราณวัตถุชนิดต่างๆ อยู่ในวัดมากพอสมควร แต่ได้ชำรุดหักพังไปตามกาลเวลาและจากภัยสงคราม ในปัจจุบันยังปรากฏโบราณวัตถุที่ทางวัดเก็บรักษาไว้ เช่น ใบเสมาหินทราย เศียรพระพุทธรูปหินทราย และเศียรพระพุทธรูปปูนปั้นประมาณ ๒๐ ชิ้น มีรูปแบบศิลปะแบบสมัยอยุธยา เป็นต้น
จากหลักฐานที่กล่าวข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่าวัดประเดิม คงเป็นวัดที่มีความสำคัญและเจริญมากในอดีตแห่งหนึ่งในจังหวัดชุมพร
สิ่งสำคัญภายในวัด
๑. พระปรางค์ (บูรณะแล้ว)
ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำฐานเป็นบัวลดหลั่นกันขึ้นไป
รูปทรงชลูด เรือนธาตุมีขนาดเล็ก มีระเบียงคตล้อมรอบพระปรางค์
ระหว่างระเบียงคตกับพระปรางค์เป็นลานประทักษิณ
รูปแบบศิลปกรรมดั้งเดิมของพระปรางค์องค์นี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นแบบใด
แต่จากรูปแบบโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบในวัด เช่น เศียรพระพุทธรูปหินทราย
และใบเสมาหินทราย
อาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา
๒. เจดีย์รายขนาดเล็ก ๑ องค์ เป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม สภาพทรุดโทรม มีผู้เล่าว่าเดิมเจดีย์รายรอบวัดมีหลายองค์แต่ปัจจุบันเหลือเพียงองค์เดียวเท่านั้น
๓.อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม
เป็นอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่น สร้างขึ้นระหว่าง ปี พ.ศ.๒๔๗๓ - ๒๔๘๐
เป็นอาคารไม้แบบเรือนปั้นหยา ยอดจั่ว ชายคาตกแต่งด้วยไม้ฉลุ
และกลึงลวดลายแบบพื้นเมือง อาคารนี้แบ่งเป็น ๒ ห้อง
โดยมีชานเป็นส่วนเชื่อมต่อ ระเบียงจะอยู่ลดระดับต่ำจากชานประมาณ ๓๐
เซนติเมตร ปัจจุบันส่วนระเบียงมีการซ่อมแซมโดยทำเป็นพื้นคอนกรีต
และเสาคอนกรีตที่ยกพื้นทำให้อาคารนี้เป็นเรือนใต้ถุนโปร่ง
(ตัวอย่างของอาคารสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบนี้ ปัจจุบันพบน้อยมาก
เนื่องจากได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ เมื่อ ปี
พ.ศ.๒๕๓๒)
วัดประเดิม ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๓ ตอนที่ ๓๔ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๙
เป็นอย่างไรบ้างคะ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเพื่อนๆ คงได้รับความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานสำคัญในจังหวัดชุมพรเพิ่มขึ้นนะคะ แล้วพบกันใหม่ในคราวต่อไปค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานโบราณดคีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช.โบราณสถานจังหวัดชุมพร. เอกสารประกอบการอบรมทบทวนอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มส.) จังหวัดชุมพร วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๑ ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร (เอกสารอัดสำเนา)
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร (เพิ่มเติมข้อมูลโดย ณัฐกานต์ พิภูษณกาญจน์) ใน Chumphon-Nation-Museum
อยากให้พูดถึงชุมชนและร่องรอยของชุมชนบริเวณวัดประเดิมด้วย จะช่วยอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของเมืองชุมพรได้ดีขึ้น