ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

“เรือคราดหอย” มหันตภัยประมงชายฝั่งอ่าวท่าศาลา


มันพลิกหน้าดิน ชนิดว่า เหมือนคันไถ คราดขุดลึกลงไปเลย หน้าดิน สัตว์ชนิดเล็กๆ ตายหมด มันพลิกจนดินเน่า ดินเสีย เพราะหน้าดินใต้ทะเลมันจะมีหญ้า มีสัตว์เล็กๆ สารพัด แล้วพอมาพลิกหน้าดิน หนอนในดิน หญ้า พืชน้ำ อาหารปลาพวกนี้ ตายหมด กลายเป็นของเสีย ซึ่งความสูญเสียตรงนี้ ต้องใช้เวลานานมาก กว่าจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ เหมือนเดิม เพราะมันต้องรอให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวมันเองเท่านั้น ใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี

“เรือคราดหอย” มหันตภัยประมงชายฝั่งอ่าวท่าศาลา

ทีมงาน ThaiNGO
มูลนิธิกองทุนไทย
[email protected]

8 พฤศจิกายน 2550
ในระหว่าง ที่ชาวบ้านกำลังหลับพักผ่อนตามปกติ คืนนั้นเองโจรจากจากต่างแดนก็ย่องเข้ามากวาด สิ่งของล้ำค่าที่สุดของชาวบ้านไป เมื่อลำแรกๆ ได้ผลกำไรมากมาย มีหอยบรรทุกมาเต็มกาบเรือ จึงถ่ายลงแพแล้วกลับมาคราดอีก เรืออื่นๆ ก็แห่แหนตามมา บางคืนมีมากถึง 60 ลำ โดยลากเรียงเป็นหน้ากระดาน จนเสียงดังหึ่มๆ ทั้งทะเล ชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวท่าศาลา อ.ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ได้แต่ยืนมองอย่างอดสูอาดูร รอรุ่งเช้าเพื่อที่จะสำรวจว่าเช้านี้ตนเอง ใครเกิดความเสียหายบ้าง คืนแรกๆ ก็ 10 ราย มีอวนเสียหายสัก 100 ผืนแต่วันต่อๆ มาก็หนักถึง 50 กว่าราย อวนเสียหายมากถึง 800 กว่าผืน อุปกรณ์หากินที่อุตสาหเก็บหอมรอมริบซื้อ

จนถึงที่สุด ความเหลืออดก็มาถึงชาวบ้านจำต้องลุกขึ้นต่อสู้เคลื่อนไหวอีกครั้ง เรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามายับยั้งยุติขบวนการโจรต่างแดน ที่เข้ามาขโมยและทำลายล้าง ความอุดมสมบูรณ์อันเป็นปากท้องของชาวบ้าน โดยข้อเท็จจริงของปัญหานี้ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน บ้านสระบัว ต.ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ได้ร่วมให้ข้อมูลแก่ ทีมงานไทยเอ็นจีโอ ถึงปัญหา วิถีชีวิตและผลกระทบจาก ขบวนการแอบขโมยคราดหอยของนายทุนเรือประมงพาณิชย์ ว่า


“จริงๆ แล้ว วิถีชาวบ้านที่นี่ ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันนะครับ ใครไปทำกินในทะเลก็ได้ ขอแต่เพียงแต่ ในเขต 3,000 เมตร เรือใหญ่อย่าเข้ามา เพราะจะทำให้ปลาเล็กๆ หมายถึงปลาที่พึ่งวางไข่เสียหายครับ เรื่องข้อห้ามไม่มี เพราะว่า ทุกคนต่างก็มีภาระเลี้ยงครอบครัวหนักทั้งนั้น ถ้าห้ามก็ลำบาก ไม่มีอะไรเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย สำหรับอวนลอยปกติไม่มีข้อห้าม ไม่มีเขตห้าม ลักษณะอวนที่ชาวบ้านใช้ มี 3 ชนิด คือ อวนปลาทู อวนปู และอวนกุ้ง ที่ใช้กันส่วนใหญ่ และการวาง ชาวบ้านจะวางอวนวางปะปนกันก็ได้ เพราะมีธงแสดงเจ้าของอยู่ แต่ละเครื่องมือจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เช่นเสร็จจากฤดูอวนปูนี้ไปก็จะเป็นการลงอวนกุ้ง แล้วก็อวนปลา การทำอวนลอยเรือประมงพาณิชย์ก็มาหากินได้ ขอแค่นอกเขต 3,000 เมตร

พอมาโดน เรือคราดหอย อวนที่เสียหายคือ อวนปู นี่แหละที่เสียหายมากที่สุดเพราะมันอยู่กับที่ ซากหอยที่ถูกไถขึ้นมาจากเรือคราดหอย จะลอยวนมาเกาะอวนทำให้อวนเสียหาย

ความจริง วิถีชาวบ้านเวลาหากินต้องออกไปนอกจาก 3,000 เมตรนะ เพราะ 3,000 เมตร แถวนั้นเป็นแนวปะการังเทียม ซึ่งปลาเล็กๆ จะมาวางไข่ เลยต้องวางอวนเลยออกไป นอกจากจะไปไม่ได้จริงๆ จึงจะเข้ามาวาง จริงๆ แล้ว 3,000 เมตร นี้ ประมงพื้นบ้านไม่ได้ทำกินนักหรอก เพราะปลาเมื่อมันวางไข่โตแล้ว มันจะออกไปข้างนอก เราก็ต้องออกไปวางข้างนอก ดังนั้น ในเขต 3,000 เมตรก็เหมือนคอกปลาสำหรับพวกเรา และถ้าชาวบ้านมาหากินแต่ตรง 3,000 เมตร พื้นที่มันก็จะไม่พอกินกัน เพราะเรือชาวบ้านแถวนี้ก็ 200 กว่าลำ ถ้าไปลงแค่แถวๆ นี้ พื้นที่ไม่พอทำกินกันครับ ของมันก็จะน้อยลงด้วย

ส่วนคนที่จะหากินในคอก 3,000 เมตร คือคนที่มีเรือเล็กจริงๆ ออกไปไกลไม่ได้ เท่านั้น อีกอย่าง ชาวบ้านมีแนวคิดจะวางปะการังเทียมเพิ่มอีก ดังนั้น ก็เลยต้องออกไปหากินไกลออกไป อีกทั้ง อ่าวท่าศาลาแถวนี้ หากินด้วยกันมากถึง 6 หมู่บ้าน จริงๆ เรือลากอวนจากข้างนอกก็เข้ามาได้นะ สำหรับชาวบ้าน แต่ขออย่างเดียวอย่าทำลายหน้าดิน อย่างเรือหอยนี่มันมี ปัญหากับชาวบ้านมาก ก็เพราะมันทำลาย หน้าดิน

มันพลิกหน้าดิน ชนิดว่า เหมือนคันไถ คราดขุดลึกลงไปเลย หน้าดิน สัตว์ชนิดเล็กๆ ตายหมด มันพลิกจนดินเน่า ดินเสีย เพราะหน้าดินใต้ทะเลมันจะมีหญ้า มีสัตว์เล็กๆ สารพัด แล้วพอมาพลิกหน้าดิน หนอนในดิน หญ้า พืชน้ำ อาหารปลาพวกนี้ ตายหมด กลายเป็นของเสีย ซึ่งความสูญเสียตรงนี้ ต้องใช้เวลานานมาก กว่าจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ เหมือนเดิม เพราะมันต้องรอให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวมันเองเท่านั้น ใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี เลย เพราะปัญหานี้ ชาวบ้านเคยมีประสบการณ์มาแล้ว เมื่อ 5-6 ปีก่อน ประมาณ 4 ปีแรก นี้ชาวบ้านยากจน ลำบากกันเลย เวลาไปปล่อยอวน ก็ต้องมานั่งปลดหอย กันจนน่าสงสาร อวนก็ขาด เพราะหอยบาดอวน และกว่าจะแกะออกได้ ต้องทุบ ต้องฝังดินให้เน่า ถึงจะแกะได้อวนก็เสียหายไปกว่าครึ่งแล้ว ส่วนใหญ่จะทิ้ง ซื้ออวนใหม่ ดังนั้น บอกได้เลยว่า พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านใครเจอเหตุการณ์นี้ ยากจนไปเลย พังยับเยินฉิบหายกันไปเลย

ตัวอวนนี่ 1 ผืนเราใช้ 1 ปี ราคาผืนละ 600 บาท เหตุการณ์นี้ชาวบ้านเสียหายไป 800 กว่าผืน ตกไป 480,000 กว่าบาท เงินนี้ใครจะรับผิดชอบ เงินนี้แหละที่พี่น้องประมงพื้นบ้านกำลังเดือดร้อนกันอยู่ ที่เราไปร้องเรียนทางอำเภอ ทางจังหวัด ก็เพื่อให้เอาเงินจากเขา มาชดใช้ค่าเสียหายให้กับประชาชน ไม่ใช่เอาเงินเรา ที่อยู่ใน อบต.มาชดเชย ที่เราไปแจ้งความ ให้จับกัน ก็เพื่อจะได้ค่าชดเชย มาเป็นทุนทำกินตรงนี้ต่อ เท่านั้นเอง

ที่ผ่านมาเราได้ประชุมหารือในกลุ่มชาวบ้าน คือ ไม่อยากให้มีการคราดหอยอีก เราจะไปร้องเรียนกับผู้ว่าฯ อีก เราต้องการให้เขาหยุดยั้งเรือคราดหอย หรือ ไม่ให้มีในอ่าวท่าศาลา แบบตลอดไปเลย ตลอด 3,000 เมตร หรือ กว่า 3,000 เมตร เพราะอวนลอยชาวบ้านจะกินพื้นที่เลยออกไปไกลกว่านั้น ผู้ว่าฯ บอกว่า แค่ไม่ให้เลยเข้ามาใน 3,000 เมตร เท่านั้น ผมคิดว่าไม่ได้แล้ว เพราะ อวนชาวบ้านเลย 3,000 เมตรไป ดังนั้น ถ้าเรือคราดหอย เข้ามาลากอวนชาวบ้านไป ก็ไม่มีใครรับผิดชอบ

เรื่องนี้ต้องยุติให้ได้ เพราะอ่าวท่าศาลา มีเนื้อที่ประมาณ 15,000 กว่าไร่ ตอนนี้เสียหายไปเกินครึ่งแล้ว สภาพแบบนี้มันลำบากมาก หนักอย่างแรงเลย ดีที่ชาวบ้านเสียหายก่อน เลยเกิดการรวมตัวกันขึ้น ไม่อย่างนั้น พื้นที่ทำกินเราเสียหายไปหมดแล้ว

ที่เราชาวบ้านข้องใจสงสัยตอนนี้ คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่สามารถจะปิดอ่าวได้เหมือนกับ สุราษฎร์ หรือ สงขลา เลยหรือ ทำไมเมื่อถึงฤดูวางไข่ จังหวัดอื่นๆ เขาปิดอ่าวได้ แต่จังหวัดนครฯ ตรงนี้ ไม่สามารถจะปิดอ่าวตามฤดูวางไข่ได้ เรื่องตรงนี้ อยากจะฝากถาม ถึงเบื้องบนว่า ทำไมทำไม่ได้ มันมีอิทธิพลอะไรกั้นไว้ ที่ทำให้ไม่สามารถจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เราอยากฝากถามตรงนี้ด้วย ว่ามันเพราะอะไรกัน ส.ส.ของจังหวัดนคร ไม่มีน้ำยาเลย หรือไง

เราประชาชนไม่มีความสามารถจะไปทำอะไรได้ เพราะเรามันแค่ระดับประชาชนไม่มีอำนาจอะไรไปทำใครได้ มีแต่เบื้องบนที่จะสามารถมาทำให้ได้ แต่ทำไมเขาไม่มาเป็นมือเป็นตีนให้กับชาวบ้าน

ชาวบ้านหมายอยากให้มีกฎหมายลงมาดูแล เหมือนสุราษฎร์ เหมือนสงขลา อยากให้ปิดในฤดูกาลวางไข่ เพราะเรื่องนี้กลุ่มชาวบ้าน เคยเสนอไปแล้วตั้งแต่สมัยปิดถนนเมื่อเกือบ 4-5 ปีก่อน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ คงเพราะประมงพาณิชย์นี้เป็นของนายทุน คงไม่กล้าเอ่ยชื่อ ว่าเป็นของใคร

เรื่องการประสานเครือข่ายชาวบ้าน เพื่อต่อสู้เรื่องนี้ เรายังไม่ได้หาเครือข่ายอะไรเลย เราไปแต่ชาวบ้านในพื้นที่ ไปหาผู้ว่าฯ ไปร้องเรียนปัญหา ให้ท่านแก้ไข ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ก็ได้สั่งการนะ ว่าให้เรือโชคศุภชาติ ระงับการประกันเรือ แต่ไม่ถึง 2 วันก็ได้ประกันออกไป ซึ่งเรื่องนี้ ชาวบ้านก็อยากทราบเหมือนกันว่าสาเหตุอะไร ที่ให้ประกันเรือออกไป

เรื่องที่ชาวบ้านจะทำอะไรรุนแรงกว่านั้น ชาวบ้านไม่สามารถทำได้หรอกเราได้แต่หวังให้ทางกฎหมายมาช่วยเหลือ ให้รัฐมาช่วยเหลือ เพราะถ้าไม่ช่วยเหลือแน่นอนเลย ปัญหาต่างๆ ภายในชุมชนจะเข้ามา อาทิ ปัญหาหนี้สิน เพราะชาวประมงพื้นบ้านต้องกินต้องใช้ทุกวัน ถ้าไม่ได้ออกหาปลา เพราะเครื่องมือถูกทำลาย เราน่าสงสารมา บางคนเดินคอตกมาบ้านเลย มาบอกว่า วันนี้เรือคราดหอยกวาดอวนไปหมด เหลือ 5-6 ผืน หมดตัว ไม่รู้จะไปทำมาหาอะไรกิน ดูลูกหลานเดินคอตกแล้วก็น่าสงสารจริงๆ ชาวบ้านได้แต่น้อยใจ ที่คนไม่ได้อยู่ตรงนี้ มาทำให้ชาวบ้าน ตรงนี้ ลำบาก คิดแล้วน้ำตาตกน้อยใจตรงนี้แหละ”


นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ กล่าวถึงปัญหาการถูกละเมิดสิทธิชุมชน ตรงนี้ว่า
“15 กม.จากปลายท่าศาลา ไปปากพูน 3 กม.จากฝั่ง คือพื้นที่หากินของชาวบ้าน พื้นที่เหล่านี้ ชาวบ้านร่วมกันดูแล เพื่อการใช้ประโยชน์มานาน จนพวกหน้าดินมีลอยหอยแครง มีเยอะมาก จน กุ้ง หอย ปู ปลา เยอะมากตามหน้าดิน แต่ชาวบ้านที่นี่ ไม่มีใครเอาคราด มาคราดเอา ทำให้พวกหอยต่างๆ มีมาก คิดเป็นมูลค่ามหาศาล หลายล้านบาท นั่นเพราะเขาไม่ได้ไปรบกวนมัน แล้วจู่ๆวันหนึ่ง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งแรกๆ ก็เข้ามาประมาณ 30 ลำ แล้วก็เพิ่มจำนวนขึ้น ก็เข้ามาลากหอยจาก 3 ทุ่มถึงตี 3 ก็ประมาณ 4-5 ชม. ก็ลำหนึ่งขนไปประมาณ 10,000 ก.ก. ก.ก.ละ 40 บาท เฉลี่ยลำหนึ่ง เที่ยวหนึ่งก็ 400,000 บาท กี่ลำกี่เที่ยวต่อคืน พอลากเสร็จ เอาไปลงที่แพแถวขนอม รุ่งขึ้น ก็กลับมาใหม่ ซึ่งชาวบ้านก็พยายาม ปกป้อง เพราะเข้ามาลากในพื้นที่ 3,000 เมตรด้วย ทำให้ลากโดนอวนชาวบ้านไปอีกบางวันมากถึง 60 กว่าราย ไปคำนวณดูครับ เสร็จแล้วก็ไปจอดลอยลำ แถวๆ อ.ขนอม เหมือนเดิม

เคยจับกุมได้ 1 ลำ ชื่อเรือโชคศุภชาติ เมื่อคืนวันที่ 10 ตุลาคม พอจับได้เสร็จ ชาวบ้านก็รวมตัวกันไปพบ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อจะเรียกร้องให้ทางเจ้าของเรือชดเชยค่าเสียหาย ซึ่งก่อนหน้านั้น ก็แจ้งความมาตลอด แต่มันน่าแปลกใจมาก ปกติ เราใช้กฎหมายของกระทรวงเกษตรฯ ไม่ใช่กฎหมายแพ่ง หรือ อาญา ดังนั้น ถ้าเราจับได้ทั้งคน ทั้งเรือ จะประกันออกไปได้เฉพาะคนเท่านั้น แต่นี่ประกันออกไปได้ ทั้งคนทั้งเรือ ซึ่งแปลกมาก เพราะมันเป็นของกลาง ครับ

แนวทางดำเนินการต่อไป เรื่องนี้ ได้คุยกับทาง สสส. ทั้งสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ซึ่งสนใจมาก คงจะลงมาจัดเวที ในเร็วๆ นี้ ถ้าทาง อบต.ท่าศาลา สนใจ คงได้ร่วมงานกัน และผมกำลังเร่งทำแผนพัฒนาทรัพยากรชายฝั่ง โดยจะเริ่มจากการเชิญ นักวิชาการด้านทรัพยากรชายฝั่งมาบรรยายให้ฟัง เป็นแผนกิจกรรมที่หนุนเสริมเรื่องเวทีวิชาการและการมีส่วนร่วมให้กับชาวบ้าน โดยให้ อบต. ท่าศาลาเป็นแกนนำหลัก ครับ”


นายอภินันท์ เชาวลิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา ได้สะท้อนเหตุการณ์และเผยแผนงานการแก้ไขปัญหาเรือคราดหอย ไปจนถึงแนวทางฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งในส่วนของ อบต. ว่า

“วันนั้น ที่เราจับ คือจับในเขต 3,000 เมตร เขตผิดกฎหมายเลยครับ มีชาวบ้านหมู่ 5 ออกมามุงดูกัน 200-300 คน ผมก็ดูกับกล้องส่อง ซึ่งวันนั้นนะผิดแน่ เป็นเรือลากคู่ นั่นคือจับครั้งแรกเลย จริงๆ แล้วผมก็ไม่อยากจะรุนแรงขนาดนั้น หรอกนะ แต่ว่าวันนั้นเจ้าของเรือ เขาเข้ามาจ่ายมายัดเงินกันตรงนั้นเลย แต่ที่ต้องทำเพราะว่า ไต๋เรือเองที่ท้าทายว่า ที่ท่าศาลาลากขึ้นตลิ่งยังได้เลย ซึ่งผมก็คนสู้คน ก็เลยออกไปจับ ซึ่งถ้าไม่ข่มเหงชาวบ้าน ข่มเหงผม ก็ไม่ลงมือขนาดนี้ ตอนแรกจับ 18 คน เขาก็มายัดเงิน จ่ายเงิน ผมก็ขอกำลัง ตชด. นปพ.มาอีก ลงตรวจค้นเรืออีกครั้ง เลยจับได้แรงงานเถื่อนชาวพม่ามาเพิ่มอีก 15 คน เป็นแรงงานหนีเข้าเมืองด้วย ซึ่งตอนนี้ไม่ได้ตามคดี ไม่รู้ว่าคดีความไปถึงไหนแล้ว

ใจจริงผมอยากประนีประนอม พูดจาขอร้องกันมากกว่า คือการไปจับเองมันรุนแรง มันเหมือนเราก่อปัญหาอาชญากรรมเพิ่ม เพราะเรากับชาวบ้านต้องจับปืน ออกไปปฏิบัติการ ยุติเรื่องนี้ เราไม่อยากให้เกิดปัญหาแบบนั้นเลย แต่มันเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ที่นี่ ปีหนึ่งมีเรือเข้ามาถึง 3 ครั้งเลย ครั้งแรกเป็นเรือลากคู่ กับรุนหัว มาจากต่างพื้นที่ มาประมาณเดือน 7 เดือน 8 ประมาณ 3 เดือน จากนั้น เรือปั่นไฟปลากะตัก ต่อมาก็เรือคราดหอย ปีหนึ่ง 3 ครั้ง ที่เราต้องแก้ปัญหากับพวกนายทุน เหล่านี้ เพราะที่นี่ เป็นที่ที่อุดมสมบูรณ์ จับทีไรก็เป็นข่าวทุกที แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้

เรื่องแนวทางแก้ไข หลังจากมีการประชุมกันเมื่อวันศุกร์ (28 ต.ค.50) เพื่อจัดการเรื่องเรือคราดหอย ซึ่งก็มีปลัดจังหวัด ประมงจังหวัด ก็เห็นว่า เรือคราดหอยตอนนี้เข้ามาอยู่ที่ อ.ขนอม ซึ่งหน่วยงานประมงน่าจะจัดการได้ เกี่ยวกับข้าวของชาวบ้านที่เสียหาย แต่หลังจากประชุมเมื่อวันศุกร์แล้ว ก็ยังไม่ได้รับการประสานอะไรออกมาเลย แต่ว่า เรือที่เข้ามาคราดตอนนี้ ไม่เห็นนะในช่วงนี้ แต่ว่า วันนี้ เรือตรวจการของกรมประมง จะออกจากท่าศาลา เพื่อระมัดระวังว่าจะมีการเข้ามาอีก

อันที่จริงแล้ว ปัญหานี้ ระดับจังหวัดเขาก็แก้ปัญหาได้ ถ้าเขามีความตั้งใจ จริงใจ เอาจริงเอาจัง ผมคิดว่ามันแก้ไขได้ ขนาดว่า ประชุมวันศุกร์ วันเสาร์ เรือไม่เข้ามาจอดที่แพ แล้ว คืนวันเสาร์ ก็ไม่เห็นมาลากแล้วในอ่าวท่าศาลา เพราะวันนั้น ที่เราพูดคุยกัน กับเจ้าของประมง เจ้าของแพที่ขนอม ที่เอาเรือไปจอด ผมพูดในที่ประชุมเลย ว่า เราประชุมนะเวลานี้ตรงนี้ เรือคราดหอย ที่จอดอยู่ที่ขนอมเขารู้แล้ว ว่าเราประชุมเรื่องอะไรกัน เราจะจัดการอย่างไร ผมกล้าการันตีขนาดนั้น ในเมื่อเขากล้าเสนอค่าใช้จ่ายในนายก อบต.เป็นล้านขนาดนั้น มีไหม ที่เขาจะไม่จ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยตรง

ส่วนเรื่อง แนวทางการแก้ปัญหาจากนี้ไปเราจะเน้น เรื่องการศึกษา วิถีชุมชนชาวบ้าน เรื่องเศรษฐกิจ ในครัวเรือน เพื่อให้เขารับรู้ปัญหาของเขา และแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง อย่างเรื่องการศึกษาผมคิดว่า เรามีเหมือนกันทุกที่ แต่ต่างที่เราจะเข้าไปสนับสนุนอย่างไรให้ดีขึ้นมากกว่า เราต้องสร้างสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่ ในการหวงแหนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ของชุมชน ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ การพึ่งตนเอง ก็จะทำให้ชาวบ้านไม่หลงทาง เน้นพออยู่พอกิน มีความสุข เหมือนสมัยแต่ก่อนนะครับ

แผนงานฟื้นฟูหลักๆ คือร่วมกับทาง อบจ. นครศรีธรรมราช เพราะเราต้องสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ได้ เพื่อให้ชาวประมงชายฝั่งได้หากินโดยใช้ปะการังเทียม ปีที่แล้วเราวางจากหัวไทร รอยต่อนครฯ สงขลา มาถึงนครฯ ปีนี้จาก นครฯ มาถึงรอยต่อสิชล หรือ ปากคลองกลาย แล้วปีหน้านี้ก็จากคลองกลายไปถึงขนอม กิจกรรมนี้ เราให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมนะครับ โดยเป็นผู้กำหนดแนววางปะการัง ทั้งหมด ครับ

เรื่องเศรษฐกิจ ก้าวแรก ที่เราจะทำคือนำนโยบายไป กระตุ้นเสริม และให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม เราจะทำกับชาวบ้านในกลุ่มเสี่ยงก่อน หมายถึง กลุ่มที่ยังไม่มั่นคงด้านเศรษฐกิจ ประเภท ลูกเยอะ รายได้น้อย หนี้สินมาก เป็นต้น แต่เน้นว่า ให้เขาเข้ามาร่วมกิจกรรมในโครงการโดยสมัครใจนะ จริงๆ แล้วโดยสภาพความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่นี่ ถ้าชาวบ้านขยัน มีวินัยสักนิด คือ ไม่ฟุ่มเฟือย เศรษฐกิจที่นี่ดีมาก ไม่ลำบากเลยครับ

อีกอย่าง อยากสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม แบบสหกรณ์ เพื่อตัดพ่อค้าคนกลาง อะไร ที่ชุมชนทำกันได้ ก็เอามาทำเป็นสหกรณ์ให้หมดเลย ของเราเกษตรกร ถ้าเอาระบบสหกรณ์มาช่วย ตั้งแต่ น้ำมัน อวน ของกินของใช้ ก็จะช่วยได้มาก แต่เน้นให้ชุมชนเขามามีส่วนร่วม ทั้งแพปลาชุมชน สหกรณ์ เพราะเขาจะมีความเข้าใจมากกว่า

ชุมชนที่นี่เมื่อก่อน จะขัดแย้งกันมาก หมู่โน้น ไม่ถูกกับหมู่นี้ มาจากการใช้เครื่องมือประมงคนละชนิด แต่เดี๋ยวนี้เข้ากันได้แล้ว เพราะเขามีกติกาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน เช่น 1,000 เมตรจากชายฝั่งให้พวกทอดประมงทอดแห 2,000 เมตรพวกอวนลาก ซึ่งผิดกฎหมายนะ แต่เป็นเรืออวนลากแบบชาวบ้าน เป็นเรือเล็กๆ โซน 3,000 เมตร ก็ให้พวกอวนลอย ตรงนี้เขามีกติกา เราก็มาดูแลตรงนี้ด้วย ถ้ามีใครแอบทำผิด ก็ให้สมาชิกหมู่บ้านออกไปเตือนครั้งแรก ครั้งที่สองถ่ายรูป ครั้งที่สามถ้ายังไม่หยุดจับยึดเรือเลย คนไม่เคารพกติกา เวลากลุ่มจัดงานเลี้ยงน้ำชาระดมเงินช่วยกัน พวกนี้จะไม่ได้ เพราะไม่ทำตามกติกาชุมชน

เป้าหมาย ที่คิดจริงๆ คืออยากให้ ยุติไปเลยในอ่าวท่าศาลาของเรา ตรงนี้เพราะพวกนี้เข้ามาปีเดียวชาวบ้านจนไป 10 ปี นะครับ หากินไม่ได้กว่าธรรมชาติจะฟื้นตัว ซึ่งการแก้ปัญหาครั้งนี้ ผมคิดว่าถ้าจนถึงที่สุดกลไกรัฐแก้ไขปัญหาไม่ได้ ผมกับชาวบ้านคิดว่า เราจะถวายฎีกาถึงในหลวง มันไม่ไหวแล้ว ปัญหาแค่นี้รัฐแก้ไขให้ไม่ได้”

 

 

หมายเลขบันทึก: 294394เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท