choothong (ชูทอง)
ครู thammarat (ธรรมรัตน์ ) choothong (ชูทอง)

เศรษฐกิจไทย


เศรษฐกิจไทย

การคลังและนโยบายการคลัง

 

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมานักเศรษฐศาสตร์เริ่มยอมรับว่าระบบตลาดและกลไกราคาไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์   อย่างเช่นกรณีที่ภาคเอกชนไม่ยอมผลิตสินค้าหรือบริการที่ไม่สามารถซื้อขายโดยตรงได้  ทั้งๆ ที่ผลผลิตนั้นอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือมีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม   หรือกรณีที่ภาคเอกชนพยายามลดต้นทุนการผลิตโดยไม่ยอมติดตั้งระบบบำบัดของเสียหรือมลพิษจากกระบวนการผลิต  กรณีเหล่านี้ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจในบางด้านบางระดับ  และทำให้ภาครัฐบาลมีบทบาททางเศรษฐกิจโดยผ่านการใช้จ่ายของรัฐและการจัดเก็บภาษี 

การเปลี่ยนแปลงรายจ่ายรัฐบาลทำให้ความต้องการใช้จ่ายโดยรวมของระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปโดยตรง  เพราะรายจ่ายรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการใช้จ่ายมวลรวม  ส่วนการเปลี่ยนแปลงรายได้หรือการเก็บภาษีส่งผลต่อความต้องการใช้จ่ายมวลรวมทางอ้อมผ่านการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน  รัฐบาลจึงอาจเพิ่มหรือลดการใช้จ่ายมวลรวมโดยผ่านการเพิ่มหรือลดรายจ่ายรัฐบาล  หรือการเพิ่มหรือลดภาษีอากร  ทั้งนี้เพื่อปรับระดับรายได้ประชาชาติให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ

1. ความหมายและวัตถุประสงค์ของนโยบายการคลัง 

1.1  นโยบายการคลัง (fiscal policy) คือนโยบายเกี่ยวกับการใช้รายได้และรายจ่ายของรัฐเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดแนวทาง  เป้าหมาย  และการดำเดินงาน  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ  การดำเนินนโยบายการคลังอาจใช้วิธีการต่างๆ อาทิ  การเปลี่ยนแปลงการใช้จ่าย  การเปลี่ยนแปลงแหล่งและวิธีการหารายได้  การเปลี่ยนแปลงอัตราภาษี ฯลฯ

1.2  วัตถุประสงค์ของนโยบายการคลัง  ที่สำคัญมี 2 ประการ ดังนี้

ประการแรก  ส่งเสริมการจัดสรรทรัพยากรระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  เนื่องจากประเทศต่างๆ ต้องเผชิญกับปัญหาการมีอยู่จำกัด (scarcity) ของทรัพยากรการผลิต  จึงมีปัญหาว่าจะจัดสรรทรัพยากรของสังคมอย่างไร  จึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดี  การที่ภาครัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าทางตรงคือรัฐบาลผลิตสินค้าและบริการด้วยตนเอง  หรือทางอ้อมคือการเก็บภาษีหรือการกำหนดนโยบายต่างๆ และการดำเนินนโยบาย  ล้วนแต่ทำให้รัฐบาลต้องมีค่าใช้จ่าย  หากภาครัฐบาลใช้ทรัพยากรของสังคมมากขึ้น  ทรัพยากรส่วนที่เหลือไว้ใช้ในภาคเอกชนย่อมมีน้อยลง  นโยบายการคลังจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่า การจัดสรรทรัพยากรระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนเป็นไปในสัดส่วนที่ทำให้สังคมได้รับสวัสดิการสูงสุดหรือไม่   นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาว่าการจัดสรรทรัพยากรภายในภาครัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด  รัฐสามารถจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะ (public goods and services) ในปริมาณและคุณภาพตรงกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่

ประการที่สอง  ส่งเสริมการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม  เนื่องจากแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลจะเป็นตัวกำหนดว่าประชาชนกลุ่มใดจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายของรัฐ  และแต่ละกลุ่มจะได้ประโยชน์มากน้อยต่างกันเท่าใด  ส่วนแผนการหารายได้ก็ควรจะมีการวิเคราะห์ว่าประชาชนกลุ่มใดจะเป็นผู้รับภาระการใช้จ่ายของรัฐ  และแต่ละกลุ่มจะรับภาระมากน้อยต่างกันเท่าใด  ฉะนั้น นโยบายการคลังจึงสามารถนำไปสู่การปรับปรุงการกระจายรายได้เบื้องต้นของประชาชนให้มีความทัดเทียมมากขึ้น  แต่ทั้งนี้ยังต้องมีเงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งคือมีกลไกการเมืองที่นักการเมืองจำต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง

ประการที่สาม  เสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวก็ต่อเมื่อการสะสมทุน (capital formation) มีอัตราการเพิ่มสูงกว่าอัตราการเพิ่มของประชากร  รัฐบาลอาจใช้นโยบายการคลังโดยเพิ่มการใช้จ่ายในด้านการศึกษา  เพื่อยกระดับความรู้และทักษะของประชาชนให้สูงขึ้น  หรือเพิ่มการลงทุนในภาครัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค  เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การลงทุนและการผลิตของภาคเอกชน  รวมทั้งการเลือกใช้ประเภทและอัตราภาษีเพื่อชักนำให้เอกชนมีการออมและลงทุนในกิจการบางประเภท

ประการที่สี่  การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ  เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขาดเสถียรภาพหรือมีความผันผวนในด้านต่างๆ เช่น  การจ้างงาน  รายได้ของแรงงาน  ระดับราคา เป็นต้น  มักก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนจำนวนมาก   นโยบายการคลังจึงต้องพยายามสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้  รวมทั้งการสร้างเสถียรภาพในตลาดเงิน และความสมดุลในบัญชีเดินสะพัด

1.3  เครื่องมือนโยบายการคลัง  งบประมาณแผ่นดินเป็นเครื่องมือสำคัญของนโยบายการคลัง  งบประมาณแผ่นดินเป็นแผนการเงินของรัฐบาล ประกอบด้วยประมาณการรายได้และรายจ่าย  รวมทั้งการจัดหาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามประมาณการรายจ่ายในช่วงระยะเวลา 1 ปี การจัดทำงบประมาณแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ งบประมาณสมดุล (balanced budget) ซึ่งหมายถึงรายจ่ายรวมเท่ากับรายได้รวม  งบประมาณเกินดุล (surplus budget) คือรายได้มากกว่ารายจ่าย และงบประมาณขาดดุล (deficit budget) คือรายจ่ายมากกว่ารายได้  งบประมาณแบบขาดดุลนี้รัฐบาลจะต้องจัดหาเงินมาจุนเจือส่วนที่ขาดดุลโดยการก่อหนี้สาธารณะ  ดังนั้นเครื่องมือของนโยบายการคลังจึงประกอบด้วย รายจ่าย รายรับ และหนี้สาธารณะ

2.  รายจ่าย รายรับ และหนี้ของรัฐบาล

2.1 รายจ่ายรัฐบาล  รายจ่ายของรัฐบาลอาจจำแนกได้หลายวิธี แต่ละวิธีมีจุดมุ่งหมายและประโยชน์แตกต่างกันไป  การจำแนกประเภทรายจ่ายของรัฐบาลที่เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์บทบาททางเศรษฐกิจของรัฐบาล  คือการจำแนกตามลักษณะเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย

(1) รายจ่ายในการบริโภค (consumption expenditure) หรืองบประจำ (current expenditure)

(2) รายจ่ายในการลงทุน (investment expenditure) หรืองบลงทุน (capital expenditure) 

(3)  รายจ่ายเงินโอน (transfer expenditure, R) ด้วย  เป็นรายจ่ายที่รัฐบาลจ่ายให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานโดยไม่มีผลต่อการสร้างผลผลิต  เป็นเพียงการโอนอำนาจซื้อจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน  ได้แก่ เงินบำเหน็จ บำนาญ เงินชดเชยการว่างงาน เงินสงเคราะห์คนชราและทุพพลภาพ เงินอุดหนุนต่างๆ ที่จ่ายให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคตามนโยบายของรัฐบาล  เงินช่วยเหลือที่ให้แก่รัฐบาลต่างประเทศ สมาคมและมูลนิธิต่างๆ และการจ่ายค่าตอบแทนที่ดินเวนคืนและการซื้อหุ้นเก่า เป็นต้น 

2.2  รายรับของรัฐบาล  รายรับของรัฐบาลอาจจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ รายได้จากการเก็บภาษีอากร (tax revenue)  และรายได้ที่มิใช่ภาษีอากร (non-tax revenue)   รายได้จากภาษีอากรได้แก่  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิต   ส่วนรายได้ที่มิใช่ภาษีอากร ได้แก่ รายได้จากรัฐพาณิชย์ รายได้จากการขายหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์  และการเก็บค่าธรรมเนียมประเภทต่างๆ   ตามปกติรัฐบาลมีรายได้ส่วนใหญ่จากการเก็บภาษีอากร

ภาษีต่างๆ อาจจำแนกตามภาระภาษี  ได้แก่ ภาษีทางตรง (direct tax) และภาษีทางอ้อม (indirect tax)   ภาษีทางตรงคือภาษีที่ผู้เสียภาษีเป็นผู้แบกรับภาระของภาษีนั้นทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ไม่สามารถผลักภาระภาษีไปยังผู้อื่นได้  ภาษีทางตรงมักเก็บจากฐานรายได้และทรัพย์สิน เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการประกันสังคม ภาษีมรดก และภาษีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค เป็นต้น  ส่วนภาษีทางอ้อมคือภาษีที่ผู้เสียภาษีเป็นผู้แบกรับภาระของภาษีเพียงบางส่วน หรืออาจผลักภาระภาษีทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ไปยังผู้อื่นได้  ภาษีทางอ้อมมักเก็บจากฐานการใช้จ่ายหรือการซื้อขาย เช่น ภาษีศุลกากร ภาษี สรรพสามิต ภาษีการค้า และภาษีทรัพย์สิน เป็นต้น

2.4  หนี้สาธารณะ 

ในกรณีที่งบประมาณแผ่นดินขาดดุล  รัฐบาลจะต้องจัดหาเงินมาจุนส่วนที่ขาดดุลโดยการก่อหนี้สาธารณะ  ซึ่งอาจจำแนกตามระยะเวลา และตามแหล่งที่มาของเงินกู้  หากจำแนกตามระยะเวลามักแบ่งเป็นหนี้ระยะสั้น (ระยะเวลาชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 1 ปี)  และหนี้ระยะยาว (มากกว่า 1 ปีขึ้นไป)  ส่วนการจำแนกตามแหล่งที่มาของเงินกู้  แบ่งเป็นหนี้ภายในและหนี้ต่างประเทศ

 

3.  ประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับหนี้สาธารณะ

            หนี้สาธารณะแบ่งเป็นหนี้รัฐบาลกลาง  รัฐบาลท้องถิ่น  และรัฐวิสาหกิจ  ซึ่งอาจมีการกู้ยืมภายในและต่างประเทศ  ในที่นี้จะพิจารณาเฉพาะหนี้รัฐบาลกลาง 

3.1  วัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ภายในประเทศ  มีดังนี้

        (1)  เพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลแบบชั่วคราว กล่าวคือในช่วงปีงบประมาณหนึ่งๆ ทางด้านรายจ่ายนั้นจะต้องเป็นไปตามจำนวนเงินที่ได้รับอนุมัติ และตามกำหนดเวลาที่หน่วยราชการต่างๆ วางแผนไว้  อีกทั้งยังมีรายจ่ายประจำส่วนหนึ่ง (เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เป็นต้น) ที่ต้องจ่ายทุกเดือน  แต่ในด้านรายรับนั้นรัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีอากรได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี อย่างเช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีการจัดเก็บได้มากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม  รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกู้เงินภายในประเทศระยะสั้นเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเป็นการชั่วคราว

        (2)  เพื่อใช้ในการลงทุนตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลในประเทศที่กำลังพัฒนา คือ การเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญ

ก้าวหน้า  โดยการจัดทำโครงการต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเกินกว่ารายได้ตามปีงบประมาณของรัฐที่จะจัดสรรมาสนับสนุนได้  รัฐบาลจึงต้องกู้เงินภายในประเทศเพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการพัฒนาต่างๆ

(3)   เพื่อสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ อันเนื่องมาจากความต้องการใช้จ่ายมวลรวมลดลง ผู้ผลิตจำเป็นต้องลดการผลิต ทำให้เกิดการว่างงาน  รัฐบาลอาจต้องเพิ่มความต้องการใช้จ่ายมวลรวมโดยเพิ่มรายจ่ายของรัฐบาล  เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรและการจ้างงานเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ  การเพิ่มรายจ่ายเช่นนี้ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงิน

สำหรับการกู้เงินจากต่างประเทศของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ  ดังนี้

        (1)  เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทุนนิยมได้เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยผ่านการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ  แต่การออมภายในประเทศมีไม่เพียงพอแก่ความต้องการลงทุน  จึงต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ยิ่งกว่านั้นการกู้เงินต่างประเทศเกิดจากการที่รัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษีอากรและรายได้อื่นภายในประเทศได้เพียงพอ

(2)  ในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้สินค้าทุนและเทคโนโลยีทันสมัยจากต่างประเทศ  ซึ่งต้องชำระค่าตอบแทนด้วยเงินตราต่างประเทศ  แต่เนื่องจากการหารายได้เงินตราต่างประเทศจากการขายสินค้าและบริการส่งออกยังไม่เพียงพอ  จึงต้องกู้เงินจากต่างประเทศ โดยคาดว่าการใช้เงินกู้เหล่านั้นจะให้ผลตอบแทนคุ้มกับค่าดอกเบี้ยที่ต้องเสียไป

3.2  ผลกระทบทางเศรษฐกิจของหนี้ภายในประเทศ  มีผลกระทบ 2 ส่วนหลัก คือผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป และผลกระทบเฉพาะด้านอันเกิดจากแหล่งเงินกู้ที่ต่างกัน

(ก)  ผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป  ผลกระทบที่สำคัญมีดังนี้

        (1)  ผลกระทบต่อการจัดสรรทรัพยากร  การก่อหนี้ภายในประเทศมีผลทำให้รัฐบาลมีเงินใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และเอกชนมีเงินใช้จ่ายน้อยลง  จึงเท่ากับเป็นการดึงทรัพยากรจากภาคเอกชนมาสู่ภาครัฐบาลเป็นที่ยอมรับกันว่าการใช้ทรัพยากรของภาครัฐบาลโดยทั่วไปมีประสิทธิภาพต่ำกว่าของภาคเอกชน  ดังนั้นการกู้เงินของรัฐบาลจึงอาจทำให้การใช้ทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวมมีประสิทธิภาพลดลง

(2) ผลกระทบต่อภาวะตลาดเงินและการลงทุน  การกู้เงินของรัฐบาลจากตลาดเงินทุนก็คือ การแย่งเงินทุนจากภาคเอกชนมาสู่ภาครัฐบาล ทำให้ตลาดเงินทุนมีเงินทุนเหลือน้อยลงสำหรับการลงทุนในภาคเอกชน ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยจึงสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อการลงทุนของธุรกิจเอกชน

(3) ผลกระทบต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล  การกู้เงินของรัฐบาลก่อให้เกิดภาระการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยรวมทั้งค่าธรรมเนียมการกู้ยืมต่าง ๆ ในเวลาต่อมา  รัฐบาลในอนาคตจะต้องรับภาระการชำระหนี้ที่รัฐบาลในปัจจุบันได้ก่อขึ้น  ภาระหนักในการชำระหนี้นอกจากจะมีผลทำให้งบประมาณขาดดุลตลอดไปแล้ว ยังทำให้รัฐบาลในอนาคตขาดแคลนเงินทุนเพื่อการใช้จ่ายเพราะต้องแบ่งรายได้ที่หามาได้ตามปกติส่วนหนึ่งไปชำระหนี้  ดังนั้นจึงอาจไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะนำไปใช้จ่ายในการริเริ่มหรือขยายกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามที่ต้องการ

(4)  ผลกระทบต่อการกระจายรายได้  ในการชำระหนี้ของรัฐบาลอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของประชาชน 2 กลุ่มในลักษณะที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ ในการชำระหนี้ รัฐบาลจะต้องเก็บภาษีอากรจากประชาชนทั่วไปซึ่งมีทุกระดับรายได้เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ผู้ถือหลักทรัพย์รัฐบาล  ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าประชาชนทั่วไป      หากจำนวนเงินกู้มีมาก  จำนวนดอกเบี้ยก็จะมีมากตามไปด้วย   ดังนั้น การกู้และการชำระหนี้ของรัฐบาลมีผลทำให้การกระจายรายได้ของส่วนรวมมีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น    ทั้งนี้เมื่อเทียบกับการหารายได้ของรัฐโดยการเก็บภาษีอากร

        (5)  ผลกระทบต่ออุปสงค์รวมและภาวะดุลการค้า  การที่รัฐบาลกู้เงินจากธนาคารกลาง (ซึ่งพิมพ์ธนบัตรได้) และระบบธนาคารพาณิชย์ (ซึ่งอาจขยายสินเชื่อโดยการสร้างเงินฝากได้) มาใช้จ่าย  จะทำให้อุปสงค์รวมเพิ่มขึ้น  และหากเพิ่มมากเกินไปจะทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น   ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ (ส่วนการกู้เงินจากประชาชน  ทำให้การบริโภคและการลงทุนของประชาชนลดลง  แต่การบริโภคและการลงทุนของรัฐบาลเพิ่มขึ้น  ผลสุทธิด้านอุปสงค์มวลรวมอาจใกล้ศูนย์) และหากมีการซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น อาจทำให้เกิดปัญหาขาดดุลการค้า

(ข)  ผลกระทบเฉพาะด้านอันเกิดจากแหล่งเงินกู้ที่ต่างกัน  ในที่นี้จะพิจารณาผลกระทบต่อสินเชื่อและปริมาณเงิน  เราทราบแล้วว่าการเก็บภาษีอากรมีผลเท่ากับรัฐบาลดึงเงินที่ประชาชนมีไว้ใช้จ่ายมาใช้จ่ายแทน  การเก็บภาษีอากรจึงไม่มีผลต่อการขยายสินเชื่อ  แต่การกู้เงิน (จำนวนกู้ที่เท่ากัน) จากแหล่งเงินกู้ที่แตกต่างกันจะมีผลต่อการขยายสินเชื่อมากน้อยไม่เท่ากันดังนี้

(1)  การกู้เงินจากธนาคารกลาง  อาจมีผลเป็นการเพิ่มจำนวนธนบัตรหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยตรง  หากธนาคารกลางใช้หลักทรัพย์รัฐบาล (หลักฐานการกู้) เป็นทุนสำรองหนุนหลังการนำธนบัตรออกใช้ตาม พ... เงินตรา พ..2501  การที่ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นโดยที่ปริมาณสินค้าและบริการยังคงผลิตได้ในอัตราเท่าเดิม  ย่อมส่งผลให้ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้น

การกู้เงินจากธนาคารกลางยังอาจทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นได้อีกนอกเหนือจากผลอันดับแรกที่ได้กล่าวไปแล้ว  กล่าวคือเมื่อรัฐบาลนำเงินกู้นี้ไปใช้จ่าย   เงินเหล่านี้จะกลายเป็นฐานเงินในการขยายสินเชื่อ  เพราะธนาคารพาณิชย์จะได้รับเงินฝากมากขึ้นและสามารถใช้เป็นเงินสดสำรองในการขยายสินเชื่อแก่ประชาชนทั่วไป  

ดังนั้นหากพิจารณาผลรวมทั้ง 2 ประการนี้แล้ว จะเห็นว่าการกู้เงินจากธนาคารกลางมีผลต่อการเพิ่มปริมาณเงินได้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการกู้เงินจากแหล่งอื่นๆ 

อนึ่ง การใช้จ่ายของรัฐบาลจากเงินคงคลัง (เงินสะสมจากงบประมาณเหลือจ่ายในปีก่อนๆ) ก็มีผลต่อปริมาณเงินในระดับเดียวกับการกู้เงินจากธนาคารกลาง

    (2)  การกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์  การกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์จะทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์สามารถให้รัฐบาลกู้เงินโดยการขยายสินเชื่อ โดยไม่จำเป็นต้องลดการลงทุนของธนาคารในด้านอื่นลง

        (3)  การกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นและประชาชน  การกู้เงินของรัฐบาลจากประชาชนและสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น บริษัทเงินทุน  ธุรกิจหลักทรัพย์  บริษัทประกันภัย  สหกรณ์ออมทรัพย์  โรงรับจำนำ  และบริษัทห้างร้านต่างๆ  เป็นต้น ไม่มีผลในการเพิ่มปริมาณเงิน  เพราะเป็นเพียงการโอนอำนาจซื้อจากเอกชนเหล่านี้มาให้กับรัฐบาล  ผู้ให้กู้เหล่านี้ไม่สามารถสร้างเงินเหมือนอย่างธนาคารพาณิชย์  ผู้ให้กูเหล่านี้จึงต้องลดการใช้จ่ายและการลงทุนในส่วนของตนให้น้อยลง

โดยสรุปการกู้เงินจากทั้ง 3 แหล่ง คือธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์และเอกชนอื่นมีผลกระทบต่อปริมาณเงิน และระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปที่แตกต่างกัน การกู้เงินจากธนาคารกลางและการใช้เงินคงคลังจะทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นมากกว่ากู้เงินจากธนาคารพาณิชย์  ส่วนการกู้จากเอกชนอื่นๆ ไม่มีผลในการเพิ่มปริมาณเงิน  ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเงินเฟ้อสถาบันการเงินอื่นและประชาชนจึงเป็นแหล่งเงินกู้ของรัฐบาลที่เหมาะสมที่สุด 

3.3   ผลกระทบทางเศรษฐกิจของหนี้ต่างประเทศ  มีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างน้อย

3 ประการ โดยสรุปดังนี้

(1)  ผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากร  ผลกระทบด้านนี้อาจเข้าใจได้ง่ายโดยการเปรียบเทียบการกู้เงินภายในและการกู้เงินต่างประเทศในเวลา 2 ช่วง  กล่าวคือ ในช่วงเวลาที่มีการใช้เงินกู้ การกู้เงินภายในประเทศของรัฐบาลเป็นการดึงทรัพยากรจากภาคเอกชนมาสู่มือภาครัฐบาลภายในระบบเศรษฐกิจเดียวกัน  ดังนั้นภาคเอกชนจึงมีทรัพยากรใช้น้อยลง  ส่วนการกู้เงินจากต่างประเทศนั้น ประเทศลูกหนี้ได้รับทรัพยากรจากประเทศเจ้าหนี้  ภาคเอกชนยังคงสามารถใช้ทรัพยากรเท่าเดิม 

ต่อมาในช่วงที่มีการชำระหนี้  ในกรณีการกู้ภายใน การเก็บภาษีเพื่อชำระหนี้ไม่ทำให้ทรัพยากรทั้งระบบเศรษฐกิจลดลง  แม้ว่าผู้จ่ายภาษีจะเป็นฝ่ายสูญเสียทรัพยากร  แต่ผู้ถือหลักทรัพย์รัฐบาลจะเป็นฝ่ายได้ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายนี้ต่างก็อยู่ภายในระบบเศรษฐกิจเดียวกัน จึงเปรียบเสมือน มือซ้ายเป็นหนี้มือขวาทรัพยากรภายในระบบเศรษฐกิจมีคงเดิม  ส่วนในกรณีการกู้เงินต่างประเทศ เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้  ประเทศลูกหนี้จะต้องโอนทรัพยากรส่วนหนึ่งไปยังประเทศเจ้าหนี้  ปริมาณทรัพยากรทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศลูกหนี้จะลดลง

คำสำคัญ (Tags): #ลูก ส.ศ.
หมายเลขบันทึก: 294279เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2012 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท