“เทคโนโลยีการบริหาร: เครื่องมือเพื่อการพัฒนาองค์กร” (",)


เทคโนโลยีการบริหาร: เครื่องมือเพื่อการพัฒนาองค์กร

ในยุคของการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำอย่างรวดเร็ว  เครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ที่เป็นวัตถุต่างได้รับการพัฒนากันอย่างมากมายจนหลายคนอาจปรับตัวตามไม่ทัน  เช่นโทรศัพท์มือถือที่ปัจจุบัน มีทั้งภาพและเสียง ซึ่งในอดีตคงน้อยคนนักที่จะเชื่อว่าจะเป็นจริงได้   แต่เมื่อเรามองย้อนกลับมาในมิติที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรในหลายทศวรรตที่ผ่านมา องค์ภาครัฐ  ภาคธุรกิจเอกชน หรือสถาบันการศึกษา ก็มีการพัฒนากันอย่างมากเช่นกัน ซึ่งคงเป็นเพราะสังคมโลกที่เป็นยุคโลกาภิวัฒน์  (Globalization) โดยวัฒนธรรมต่างๆได้หลั่งไหลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งอย่างง่ายดายผ่านการสื่อสารที่ไร้พรมแดน มิได้ยกเว้นแม้แต่วิธีการทางด้านการบริหารจัดการที่ได้หลั่งไหลจากประเทศทางตะวันตกมายังประเทศทางตะวันออกอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่นในอดีต  ยี่สิบกว่าปีก่อนประเทศไทยได้รับอิทธิพลเรื่อง QCC หรือเรียกกันสั้นๆว่า QC ที่ แพร่หลายอย่างยิ่งในองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีการนำเสนอผลงาน QC กันอย่างกว้างขวาง แต่แล้วกลับกลายเป็นการสร้างภาพเพื่อการประกวดและต้องการคว้ารางวัล โดยหน่วยงานบางแห่งไม่ได้มีการนำไปใช้แก้ปัญหาจริง เพียงแต่จัดทำข้อมูลเพื่อการนำเสนอเท่านั้น ซึ่งผลสุดท้ายคำพูดที่ว่าQC เกิดอเมริกา โตที่ญี่ปุ่น และตายในเมืองไทยจึงเป็นคำพูดที่ได้รับการพูดถึงกันอย่างติดปากทั่วไปเหมือนแสดงเป็นนัยว่าเมืองไทยเป็นจุดจบของเครื่องมือทางการบริหารนั่นเอง
             ต่อมาก็มีการแนวคิดทางการบริหารจัดการมาใช้กันอย่างต่อเนื่องโดยมีเครื่องมือหนึ่งที่เขย่าวงการบริหารจัดการในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาก็คือ Re-engineering เครื่องมือเพื่อการปรับยกเครื่องทั้งองค์กรโดยตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือการนำมาใช้กับธนาคารพาณิชย์จนส่งผลให้การบริการมีรวดเร็วขึ้น ในช่วงนั้นการยกเครื่ององค์กร หรือ Re-engineering มีอิทธิพลอย่างมากต่อการปรับปรุงและพัฒนาองค์กรแม้แต่ในภาครัฐเองก็ได้มีการนำเครื่องมือนี้มาใช้ในหลายหน่วยงาน จากนั้นมาเครื่องมือใหม่ด้านการบริหารจัดการอื่นก็ตามมาอีกหลายระลอก แต่ที่โด่งดังและมีอิทธิพลสูงมากคงไม่พ้น ISO หรือระบบคุณภาพซึ่งเริ่มตั้งแต่ ISO9001 จนถึง 14001 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่วงการการบริหารจัดการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสการแข่งขันอันรุนแรง เช่นในธุรกิจส่งออกที่เผชิญกับการกีดกันทางการค้ามักให้ความสำคัญและนำมาใช้กับองค์กรกันทั่วไป  แม้ในภาครัฐ สถาบันการศึกษาก็ตามต่างมุ่งทำISO กันอย่างกว้างขวางเพื่อประกันคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนให้มีมาตรฐานมากที่สุด
             ในยุคปัจจุบันเครื่องมือที่ได้รับการกล่าวถึงและเป็นที่ยอมรับว่าสามารถช่วยองค์กรให้พัฒนาได้คือ Balanced scorecard หรือ BSC ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เชื่องโยงแผนกลยุทธ์ (Strategic plan) ไปสู่การปฎิบัติที่เป็นรูปธรรมและใช้เครื่องมือวัดอย่างKPI มาเสริมด้วยจึงทำให้เครื่องมือนี้โดดเด่นและเป็นผลให้นำไปประยุกต์เป็นแนวคิดในการปฎิรูประบบราชการที่เดียว โดยสาระสำคัญของBSC คือการวัดผลการดำเนินขององค์กร (Performance Measurement) ในสี่มุมมองคือ ด้านการเงิน (Financial) ด้านลูกค้า (Customer) ด้านกระบวนการภายใน (Internal business process) และด้านการเรียนรู้และเติบโต (Learning &Growth) ทั้งนี้ปัจจุบันเครื่องมือนี้ยังได้รับการนำไปปฎิบัติกันอย่างกว้างขวางในหลายภาคส่วนทั้งราชการ เอกชน สถาบันการศึกษา และแม้กระทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนหรือNGO   ยังมีเครื่องมืออีกหลายตัวที่ได้มีการนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง เช่น ความสามารถ(Competency)ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลในองค์กร   การจัดการความรู้(Knowledge Management) คือการนำความรู้ในตัวบุคลากรแต่ละคน (Tacit knowledge) มาอยู่ในรูปเอกสาร (Explicit knowledge) เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในองค์กร และองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning organization) ซึ่งเป็นสถานภาพขององค์กรที่ต้องการความสำเร็จอันยั่งยืนจากบุคลากร ซึ่งต้องเน้นการสร้างวินัยทั้ง5ประการให้กับบุคลากรในองค์กรเองคือ ความรอบรู้แห่งตน (Personal Mastery) การคิดอย่างเป็นระบบ (System thinking) การแบ่งปันวิสัยทัศน์ (Share vision) การเรียนรู้เป็นทีม(Team learning) และการสร้างกรอบความคิด (Mental model)
             เครื่องมือสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในวันนี้คือรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ที่มอบให้แก่องค์กรที่มีความเป็นเลิศในวิธีปฏิบัติและมีผลการดำเนินการในระดับมาตรฐานโลกโดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเผยแพร่ สนับสนุน และผลักดันให้องค์กรต่างๆ ทั้งภาคการผลิตและการบริการนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการในองค์กร โดยนำ "รางวัลคุณภาพแห่งชาติ" ภายใต้ชื่อ MBNQA (Malcolm Baldrige National Quality Award) ของอเมริกามาเป็นตัวแบบเพื่อสร้างขีดความสามารถให้องค์กร โดยมีเกณฑ์การพิจารณาจำนวน 7 ข้อดังนี้  1)การนำองค์กร 2) การวางแผนเชิงกลยุทธ์  3)การมุ่งเน้นลุกค้าและตลาด   4) การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ 5) การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล  6) การจัดการกระบวนการ 7) ผลลัพธ์ทางธุรกิจ  ทั้งนี้รางวัลดังกล่าวถือเป็นตัวช่วยให้องค์กรต่างๆได้ขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม  และช่วยให้มิติของการใช้เครื่องทางด้านการบริหารจัดการเกิดผลลัพท์ต่อความสำเร็จขององค์กรมากขึ้น

การบริหารจัดการได้รับการพัฒนาและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับเครื่องมือทางด้านวัตถุ ดั้งนั้นอาจกล่าวได้ว่าเมื่อมีการใช้คำเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับวัตถุ ย่อมน่าจะมีการใช้เทคโนโลยีด้านการบริหารได้เช่นกัน   ดังนั้นองค์กรและนักบริหารที่แสวงหาความสำเร็จและต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่คงต้องให้ความสนใจเทคโนโลยีการบริหาร ติดตามความก้าวหน้าและเรียนรู้เครื่องมือต่างๆ อีกทั้งต้องรู้จักเลือกและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกันองค์กร หรือวิธีการบริหาร หรือความถนัดของตนเอง และในที่สุดคงต้องสามารถคิดค้นเทคโนโลยีที่เป็นของตนเองได้ ทั้งนี้เพื่อความยั่งยืนในการใช้เทคโนโลยีการบริหารในระยะยาวต่อไป

อำนาจ  วัดจินดา
วิทยากรและที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ
[email protected]

หมายเลขบันทึก: 293975เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2009 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แวะมาอ่านบทความแล้วมีประโยชน์ดีมากครับ

อ่านแล้วสามารถนำไปเป็นความรู้ในการทำข้อสอบและประยุกต์ใช้ได้นะเนี่ย เยี่ยมมากคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท