“มุมมองคน HR ตอน “ความเครียดของคน HR” (",)


มุมมองคน HR ตอน ความเครียดของคน HR”

By...[email protected]

               ความเครียดของคนเกิดขึ้นจากหลาย ๆ สาเหตุ ทั้งเรื่องส่วนตัว  เรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องความรัก เรื่องสุขภาพ  ในที่นี้จะขอยกเรื่องงานมาคุยกัน โดยเฉพาะงานที่ต้องบริหารจัดการเรื่องคน  ซึ่งในปัจจุบันเราเรียกกันว่า  Human Resources เรียกง่าย ๆ ว่า คน HR นั่นเอง

               คนหรือมนุษย์ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อองค์กรเป็นอย่างมาก ปัจจุบันเราเรียกคนที่มีคุณค่านั้นว่าทุนมนุษย์” (Human Capital)  ซึ่งหน่วยงาน HR ยุคใหม่ต้องมีการบริหารรวมถึงการวัดค่า ทุนมนุษย์ในลักษณะของสินทรัพย์ที่มีคุณค่าต่อองค์กร  ซึ่งในโลกยุคของกระแสทุนนิยม  องค์กรใดที่มีทุนมากกว่าถือว่านำชัยเหนือคู่แข่งขันไปกว่าครึ่ง  แนวคิดเรื่อง  “การบริหารจัดการทุนมนุษย์” (Human Capital Management: HCM) คือ การลงทุนเกี่ยวกับคน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนให้กับองค์กร ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเพื่อสร้างคุณภาพและผลการปฏิบัติงานของบุคลากร และจูงใจให้บุคลากรแสดงศักยภาพสูงสุดของตนเองออกมาได้

               ย้อนกลับไปในอดีต บทบาทของคน HR เป็นบทบาทของ การทำงานในลักษณะงานประจำวัน เน้นลักษณะเป็นการติดต่อประสานงาน ติดตามงานและควบคุมการดำเนินงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแนวกฎระเบียบขององค์กรที่กำหนดขึ้น  ดังนั้น งานของ HR ถ้าเป็นระดับพนักงานก็เป็นเหมือนงานของเสมียนพิมพ์งานเท่านั้น  และถ้าหากเป็นในระดับที่สูงขึ้นไปหน่อย ก็คืองานของอาจารย์ฝ่ายปกครองในโรงเรียน หรือเป็นงานของผู้คุมกฎขององค์กรนั่นเอง พนักงานในองค์กรอาจมีทัศนคติไม่ค่อยดีกับคน HR นัก เพราะต้องคอยกลัวว่าเมื่อทำผิด ผู้คุมกฎก็จะมาจัดการ  ผู้บริหารเองก็คาดหวังจากคน HR ว่า เมื่อใดที่มีการทำผิดกฎ ระเบียบ วินัย ก็ให้คน HR จัดการ  ดังนั้น งานในฝ่าย HR จึงเป็นแค่ฝ่ายสนับสนุน

               ความเครียดหลัก ๆ ของคน HR ส่วนใหญ่เกิดจากการมองไม่เห็นความสำคัญจาก CEO  เพราะงานหลัก ๆ ของ HR เป็นงานที่ไม่ได้สร้างกำไรหรือรายได้ให้กับองค์กร  เป็นความน้อยใจอย่างหนึ่งของคน HR อย่างมาก  และเชื่อว่าแม้ในปัจจุบันนี้ ถึงจะมี CEO บางส่วนปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์และหันมามองเห็นความสำคัญของ คน HR แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีอีกหลาย ๆ องค์กร ที่ยังมีCEO ที่ขาดวิสัยทัศน์ในการบริหารงาน  ดูตัวอย่างได้จากองค์กรชั้นนำหลาย ๆ แห่งในปัจจุบัน  หากย้อนเข้าไปดูเบื้องหลังจะทราบว่าเบื้องหลังการเจริญเติบโตนั้น มี CEO ที่ให้ความสำคัญการบริหารจัดการเรื่องคน  ทั้งในเรื่องการจัดการเกี่ยวกับสวัสดิภาพ คุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงาน สวัสดิการความเป็นอยู่ ซึ่งในปัจจุบันนี้  ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในองค์กรเป็นสิ่งเร้า จูงใจอย่างหนึ่งที่จะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างให้คนภักดีต่อองค์กร นั้นได้ โดยที่บางองค์กรนั้นไม่ได้มีต้นทุนในด้านค่าจ้างและเงินเดือนสูงไปกว่าที่อื่น ๆ เลย และแถมมีต้นทุนในการดำเนินการต่ำมาก ๆ  แต่สามารถสร้างให้คนทำงานแบบถวายหัวให้กับองค์กรได้ และคนเหล่านั้นยังดึงเอาศักยภาพ ของตนเองออกมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนเป็นคนดีอยู่แล้ว

               ธรรมชาติของมนุษย์ ตามทฤษฏีของมาสโลว์ (อับราฮัม มาสโลว์) นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ที่ศึกษาเรื่อง
ธรรมชาติของมนุษย์ ได้ศึกษาไว้ว่า

1.       มนุษย์ใฝ่ดีและมีความกระหายใคร่สร้างสรรค์ : มาสโลว์เชื่อว่าพื้นฐานจิตใจของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดคือความใฝ่ดี  อยากเป็นคนดี อยากทำดี และมีธรรมชาติความใคร่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ประเภทต่าง ๆ

2.       "มนุษย์แตกต่างจากสัตว์โลกประเภทอื่น ๆ : กล่าวคือ มนุษย์มีคุณสมบัติหลายอย่างที่แตกต่างจากสัตว์โลกอื่น ๆ เช่น สามารถคิดได้อย่างซับซ้อน รู้จักผิดชอบชั่วดี

3.       มนุษย์ทุกคนฝักใฝ่เพื่อสนองความต้องการเป็นมนุษย์โดยสมบรูณ์ : จนสามารถทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น แต่การที่มนุษย์ทุกคนไม่สามารถบรรลุถึงจุดหมายนี้ได้  เพราะความรู้สึกบีบคั้นอันเกิดจากความไม่ยุติธรรมของสังคม ความใฝ่ดีของมนุษย์ทุกคนจึงถูกบิดเบือนไป เช่น ลูกน้องโดนหัวหน้ากลั่นแกล้งหรือกีดกัน หรือแม้กระทั่งมองไม่เห็นความสำคัญ ไม่เปิดโอกาสให้คิดวิเคราะห์ เสนอแนวคิด ริเริ่มสร้างสรรค์ หรือไม่รับฟังความคิดเห็นใด ๆ

               คน HR หลายคนคงเคยคิดเหมือน ๆ กันว่า ถ้ามองไม่เห็นความสำคัญของเราแล้ว จะจ้างเรามาทำอะไร ทำไมต้องจ้างฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ขึ้นมา  เอางานเงินเดือนไปไว้กับฝ่ายบัญชีก็ได้ เอางานสรรหาไปให้ผู้จัดการตามสายงานทำก็ได้ 

                คน HR ทั้งหลาย การที่เราจะขจัดปัญหาและความขัดแย้งในการทำงานบริหารจัดการเรื่องของคน และเพิ่มคุณค่าให้ตัวเองให้ CEO มองเห็นความสำคัญของ คน HR ได้นั้น  เราต้องรู้จักตนเองให้มาก ๆ ก่อน ว่าเราเป็นคนประเภทใด  เราต้องการทำงาน HR เพราะต้องการแค่รายได้ในการดำรงชีพเท่านั้นหรือไม่  หากทำเพราะเรารักในงาน รักในสายอาชีพ ต้องการก้าวหน้าในสายอาชีพ  ทำแล้วเรามีความสุขกับการทำ ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาแล้วความขัดแย้งต่าง ๆ มากมาย แต่เรากลับภูมิใจเมื่อได้เป็นผู้ขจัดปัญหาเหล่านั้น ถึงแม้ว่าจะสร้างความเครียดให้เราอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ 
จงจำไว้ว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไข บางครั้งแม้เราหาทางออกไม่ได้ในทันที  แต่เวลาก็อาจช่วยเราแก้ไขคลี่คลายปัญหาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ขอให้คน HR ทุกคนขยันสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ใช้ทัศนคติด้านบวก ใช้กลยุทธ์หลักจิตวิทยาเป็นเครื่องมือ   หลาย ๆ ครั้ง ที่ CEO เป็นน้ำร้อนกับพนักงาน เราก็ต้องเป็นน้ำเย็นปลอบประโลม แต่ไม่ใช่เอาใจหรือเข้าข้าง ความยุติธรรมแบบเป้าบุ้นจิ้นและการเดินสายกลางแบบคำพระท่านสอนก็ต้องเอาเข้ามาใช้ได้ดี และที่สำคัญต้องรู้จักพัฒนาทักษะในสายงาน ใฝเรียนรู้ เพราะความรู้ไม่มีวันจบสิ้น และการที่จะทำให้คนศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวคุณได้ คุณต้องศัทธาในตัวคุณเอง ศรัทธาในงาน และต้องมีความรู้จริงในเรื่องเหล่านั้นผสมผสานกับรู้ทันโลก ทันเหตุการณ์ ต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยขจัด ความเครียดของคน HR ได้ดี เพราะเมื่อเจอปัญหา ก็จะสามารถรับมือและจัดการกับปัญหา ความเครียดต่าง ๆ ก็พอจะทุเลาเบาบางลงได้บ้างไม่มากก็น้อย หากเราเรียนรู้ที่จะเผชิญและขจัดปัญหาเหล่านั้น ด้วยความรู้ ทักษะ และสตินั่นเอง

 เราอาจไม่มีทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราอยากมี อยากได้ในชีวิต
เราอาจไม่ได้ทำทุกสิ่ง ทุกอย่างที่เรา อยากทำในชีวิต
แต่เราสามารถ อยู่เสมอที่จะเป็นคน  ชนิดที่เราอยากจะเป็น

“We may not be able to have all the thing that we want in life
And we may not be able to do all the things that we would like to do
But we can always be  the kind of person that we want to be.”

George Leo Robertson
In Living is Many Thing.

หมายเลขบันทึก: 293973เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2009 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมาอ่านแล้วครับบทความมีประโยชน์ดีมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท