เทคนิคการเขียนเว็บไซต์เพื่อการประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต


การเขียนเว็บไซต์เพื่อการประชาสัมพันธ์มีเทคนิคการเขียนที่แตกต่างจากการเขียนในสื่ออื่น ๆ (ธนพร จินโต, 2547, หน้า 23) ดังนี้

 

1. ในส่วนของโฮมเพจ

 

           หน้าแรกหรือโฮมเพจไม่ควรมีรายละเอียดของข้อมูลจำนวนมาก ควรจัดให้มีเฉพาะที่เป็นหัวข้อหรือเมนูหลัก (main menu) แล้วให้ลิงค์ (link) เชื่อมโยงไปยังข้อมูลที่เป็นรายละเอียด ในเว็บเพจหน้าถัดไปแทน และควรมีโลโก้ (logo) หรือสัญลักษณ์ของบริษัท

 ควรนำตารางมาปรับใช้ในการเขียนโฮมเพจ เพื่อจะได้จัดหน้าโฮมเพจได้เป็นระเบียบและสวยงาม รวมทั้งการจัดวางเมนูสำหรับเข้าสู่ข้อมูล ควรวางไว้ทางด้านซ้ายมือของหน้าจอ เพื่อความสะดวกในการแสดงและดูข้อมูลทางด้านขวามือ ส่วนเมนูสำหรับเชื่อมโยงไปยังเว็บเพจหน้าอื่น ๆ และเว็บไซต์อื่นควรจัดให้อยู่ด้านบนหรือด้านล่าง เป็นต้น

               

 2. ในส่วนของเว็บเพจ

 

      จะต้องเตรียมเนื้อหาให้ตรงกับหัวข้อที่กำหนดไว้ในโฮมเพจและกำหนดโครงสร้างของเว็บเพจในการนำเสนอที่ง่ายต่อการเข้าใจ และควรจะให้สามารถแสดงและประมวลผลได้กับทุกบราวเซอร์ (browser) เช่น ใช้ได้ทั้งกับไออี (IE) และเน็ตสเคป (Netscape)

  แม้ว่าบนเว็บเพจสามารถแสดงผลด้วยรูปภาพทั้งที่เป็นภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง ภาพสีหรือภาพขาวดำ แต่ไม่ควรใส่รูปภาพลงไปในแต่ละเว็บเพจจำนวนมากเกินความจำเป็น เพราะจะมีผลต่อความเร็วในการแสดงผล ซึ่งการแสดงผลช้าจะทำให้ผู้เข้าชมไม่ยอมเสียเวลาและอดทนที่จะรอชม

  นอกจากนี้จะต้องกำหนดพื้นหลังของเว็บเพจให้เหมาะสม อย่าให้กลืนกับข้อมูลจนดูลำบาก เช่น ถ้าพื้นหลังเป็นสีดำ ตัวหนังสือควรเป็นสีขาว เป็นต้น

  การใช้รูปแบบตัวอักษร (font) ควรเป็นตัวอักษรที่เป็นมาตรฐานสากลที่นิยมใช้กัน เพื่อการแสดงผลได้สะดวกบนคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ที่แตกต่างกัน และเนื้อหาข้อมูลที่เป็นหมวดหมู่เดียวกันควรจัดให้อยู่ในหัวข้อเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการอ่านและค้นหาข้อมูล

   

                3. ในส่วนของเว็บไซต์

 

    หัวใจสำคัญในส่วนของเว็บไซต์ คือ การตั้งชื่อเว็บไซต์ให้ผู้ใช้จดจำง่าย ซึ่งการตั้งชื่อเว็บไซต์ควรคำนึงถึงข้อต่อไปนี้

  3.1 ตั้งให้ง่ายต่อการจดจำ ไม่ควรตั้งชื่อให้พูดหรืออ่านยาก เช่น สนุกดอทคอม(sanook.com) และหรรษาดอทคอม (hunsa.com) เป็นต้น

  3.2 ควรนำเอาชื่อหน่วยงานหรือองค์กรมาตั้งชื่อ หากชื่อยาวเกินไปก็ให้ใช้ตัวย่อของหน่วยงานหรือองค์กรนั้น เช่น กรมสรรพากร ชื่อภาษาอังกฤษคือ Revenue Department ก็ตั้งชื่อเว็บไซต์เป็น rd.go.th เป็นต้น

  3.3 ให้ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษ แต่ถ้าต้องการตั้งเป็นภาษาไทย ให้ใช้ทับศัพท์เป็นภาษาคาราโอเกะแทน เช่น สวัสดี ให้ตั้งเป็น sawasdee.com เป็นต้น

 3.4 ชื่อเว็บไซต์ไม่ควรยาวเกินไป และไม่ควรตั้งชื่อให้เป็นตัวอักษรและตัวเลขสลับกันไป เพราะจะทำให้ยากต่อการจดจำ

 

การใช้ตัวอักษรและข้อความบนเว็บไซต์

 

การเขียนบนเว็บจะแตกต่างจากการเขียนในสื่ออื่น ๆ เนื่องจากผู้รับสารบนเว็บไม่ได้กำลังรับสารด้วยการอ่านแบบที่อ่านสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ แต่การอ่านบนเว็บจะเป็นการอ่านแบบสแกน (scan) เพื่อค้นหาคำหรือข้อความสำคัญที่ให้ความหมายและใจความอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเขียนเพื่อประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ตจะต้องมีลักษณะที่เหมาะสมกับลักษณะการอ่านดังกล่าวของผู้รับสาร (Nielsen, 1997, pp. 15 - 17) คือ

 

1. ควรมีการเน้นคำหรือข้อความที่สำคัญ ๆ

 

    ในการเน้นคำหรือข้อความสำคัญสามารถทำได้หลายวิธี เช่น อาศัยความแตกต่างที่ปรากฏของตัวอักษร รวมถึงความแตกต่างระหว่างพื้นที่ตัวหนังสือกับพื้นที่ว่างโดยรอบ ด้วยการสร้างความแตกต่างของรูปแบบและลักษณะของตัวอักษรให้เห็นได้ชัดเจน สะดุดตา เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้อ่าน  

นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ขนาดและน้ำหนักของตัวอักษร โดยทำให้คำหรือข้อความสำคัญมีขนาดของตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือมีลักษณะเส้นที่หนาและเข้มกว่า ซึ่งจะทำให้ดูมีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่อยู่รอบข้าง ดังนั้น สิ่งที่ต้องการเน้นจะมีลักษณะเด่นชัดและสะดุดตาผู้อ่าน ส่วนข้อความที่ไม่ต้องการเน้นจะมีขนาดเล็กและบางกว่า เป็นต้น

 

2. คำนึงถึงการจัดตำแหน่งของตัวอักษรและข้อความ

 

การเขียนบนเว็บต้องคำนึงถึงการจัดตำแหน่งของตัวอักษรและข้อความในลักษณะเดียวกับการจัดภาพ เนื่องจากการจัดตำแหน่งของตัวอักษรและข้อความในแต่ละส่วนหรือแต่ละแบบจะมีผลต่อความรู้สึกของผู้อ่าน เช่น ตัวอักษรและข้อความที่ถูกจัดให้ชิดขอบซ้ายโดยที่ปล่อยให้ด้านขวามีลักษณะไม่สม่ำเสมอ จะให้ความรู้สึกไม่เป็นทางการ และจะอ่านได้ง่ายกว่าการจัดชิดขวา และการจัดตัวอักษรและข้อความชิดขอบซ้าย แม้จะมีปลายด้านขวาไม่สม่ำเสมอเนื่องจากตัวอักษรในแต่ละบรรทัดมีความยาวไม่เท่ากัน แต่ผู้อ่านก็ยังสามารถหาจุดเริ่มต้นของแต่ละบรรทัดได้ง่ายกว่าการจัดตัวอักษรและข้อความชิดขอบขวา   

 ในทางกลับกัน แม้การจัดตัวอักษรและข้อความให้ชิดขวา จะดูน่าสนใจแต่จุดเริ่มต้นของแต่ละบรรทัดที่ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้อ่านยาก เนื่องจากผู้อ่านต้องหยุดชะงัก เพื่อหาจุดเริ่มต้นของแต่ละบรรทัด

 ส่วนการจัดตัวอักษรและข้อความให้อยู่กึ่งกลาง จะใช้ได้ผลดีกับข้อมูลที่มีปริมาณไม่มาก เช่น ประกาศ  หรือ คำเชื้อเชิญ เป็นต้น

 

3. การใช้ช่องว่าง ความยาวของบรรทัด และการใช้สีของตัวอักษร

 

 ช่องว่างระหว่างตัวอักษร ช่องว่างระหว่างข้อความ และระหว่างบรรทัด สามารถปรับระยะของช่องว่างเหล่านี้เพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้น

 ความยาวของบรรทัด เมื่อบรรทัดของตัวอักษรยาวขึ้น อาจสร้างความไม่สะดวกให้กับผู้อ่านที่ต้องเลื่อนสายตาจากปลายบรรทัดไปยังส่วนต้นของบรรทัดใหม่ ความยาวที่เหมาะสมของบรรทัดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดตัวอักษร ขนาด ระยะห่างระหว่างบรรทัดและความยาวของเนื้อหา จะทำให้ผู้อ่านไม่ต้องขยับศีรษะไปมามาก ดังนั้น เพื่อความสะดวกในการอ่าน แต่ละบรรทัดควรมีตัวอักษรประมาณ 50-70 ตัวอักษร

 การใช้สีกับตัวอักษร  สีเป็นองค์ประกอบที่มีประสิทธิภาพสูงในการเขียนบนเว็บ โดยจะช่วยตกแต่งโครงสร้างและรูปแบบของตัวอักษรให้ดูดียิ่งขึ้น เช่น ใช้สีที่แตกต่างกันในแต่ละส่วนของข้อมูลและเนื้อหาที่แบ่งเป็นส่วน ๆ ได้ เช่น ทดลองใช้สีที่ต่างกันในแต่ละย่อหน้า ช่วยให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลได้สะดวกขึ้น ที่สำคัญคือแน่ใจว่าสีที่นำมาใช้ต้องเข้ากันได้กับสีขององค์ประกอบอื่น ๆ

 

4. ข่าวประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต

 

     การเขียนข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์บนเว็บ ให้ใช้การเขียนแบบปิรามิดหัวกลับเช่นเดียวกับการเขียนข่าวแจก โดยในส่วนของโฮมเพจ ควรมีเพียงพาดหัวข่าวและวรรคนำ ส่วนเนื้อหาข่าวควรเชื่อมโยงไปยังหน้าเว็บเพจหน้าอื่น

 หากเป็นไปได้ ที่เนื้อหาสามารถจัดแบ่งเป็นหัวข้อของแต่ละข้อความ ก็ควรจะทำ เพื่อความสะดวกในการอ่านแบบสแกนอย่างรวดเร็วของผู้รับสาร 

 ส่วนการจัดตัวอักษรและข้อความในข่าวบนเว็บจะนิยมปรับระยะให้ชิดขอบทั้งซ้ายและขวา

การเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ส่งผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมล์ (E-mail)

 

                จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (electronic mail) หรือ อีเมล์ คือ การส่งเอกสารหรือจดหมายจากเครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่งได้ทุกจุดของโลก แทนการส่งทางไปรษณีย์ รวมทั้งงานเอกสารอื่นๆ เช่น แผ่นพับ วารสารก็สามารถจัดส่งเป็นเอกสารแนบไปได้และในบางโรงพิมพ์ที่มีระบบเครือข่ายเชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ตสามารถรับข้อมูลที่ส่งผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที โดยปราศจากการใช้กระดาษแม้แต่แผ่นเดียวนอกจากนี้หลายบริษัทก็ใช้ระบบการส่งจดหมายข่าวผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ไปยังพนักงาน เป็นการประชาสัมพันธ์ภายใน ทำให้การสื่อสารสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายมาก

                การเขียนข่าวประชาสัมพันธ์เผยแพร่โดยทางอีเมล์นั้น โดยทั่วไปก็ใช้หลักและวิธีการเขียนเช่นเดียวกับข่าวแจกทางสื่อสิ่งพิมพ์ กล่าวคือ นำเสนอด้วยเนื้อหา และวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน โดยจะต้องระบุให้ชัดเจนว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และทำไม

  อย่างไรก็ตาม ข่าวแจกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตโดยอีเมล์นั้นควรเขียนให้สั้น กระชับ สื่อความหมายดี และที่สำคัญต้องระบุรายละเอียดที่น่าเชื่อถือต่าง ๆ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ส่งหัวข้อข่าว และภาพประกอบต่าง ๆ (ถ้ามี) เป็นต้น(อุบลวรรณ ปิติพัฒนะโฆษิต, 2545,หน้า 147)

  หัวจดหมายในอีเมล์มักจะประกอบด้วย หัวข้อเรื่อง (subject) ชื่อหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน รวมทั้งอีเมล์ของหน่วยงานที่ส่งข่าว วัน เวลาที่ส่งข่าว และชื่อผู้รับ ดังตัวอย่าง

Subject:  

Fw: เชิญเข้าร่วมสัมมนาเรื่องอนาคตอุตสาหกรรมไทยจัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม

From:  

"NFI-NEWs" <[email protected]>

Date:  

Thu, January 10, 2008 9:43 am

To:  

Undisclosed-Recipient:;

Priority:  

Normal

 

เรียน สมาชิกสถาบันอาหาร/ สมาชิกศูนย์อัจฉริยะฯ

 

  ด้วย กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดจัดสัมมนาเรื่อง อนาคตอุตสาหกรรม

ไทยในวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2551 เวลา 08.30 - 15.30 น. ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 201 – 203 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งการมีส่วนร่วมและส่งผลให้การดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืนและขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว

 สถาบันอาหาร  จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญสมาชิกฯ และผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ โดยรายละเอียดต่าง ๆ ท่านสามารถดูได้จากเอกสารแนบ หรือติดต่อสอบถามได้จาก คุณวารีรัตน์ แผนกการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันอาหาร โทร 02-886-8088 ต่อ 9201 (สถาบันอาหาร, 2551, หน้า 1)

การเขียนบล็อก (Blog)

                     blog มาจากศัพท์คำว่า weblog บางคนอ่านคำ ๆ นี้ว่า วี-บล็อก (we blog) บางคนอ่านว่า เว็บ-ล็อก (web log)แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสองคำบ่งบอกถึงความหมายเดียวกันว่านั่นคือบล็อก ความหมายของคำว่าบล็อก ก็คือการบันทึกบทความของตนเอง (personal  journal) ลงบนเว็บไซต์ โดยเนื้อหาของบล็อกนั้นจะครอบคลุมได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวส่วนตัว หรือเป็นบทความเฉพาะด้านต่าง ๆ เช่น เรื่องการเมือง เรื่องกล้องถ่ายรูป เรื่องกีฬา เรื่องธุรกิจ เป็นต้น โดยจุดเด่นที่ทำให้บล็อกเป็นที่นิยมก็คือ ผู้เขียนบล็อก จะมีการแสดงความคิดเห็นของตนเอง ใส่ลงไปในบทความนั้น ๆ โดยบล็อกบางแห่ง จะมีอิทธิพลในการโน้มน้าวจิตใจผู้อ่านสูงมาก แต่ในขณะเดียวกัน บางบล็อกก็จะเขียนขึ้นมาเพื่อให้อ่านกันในกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มเพื่อน ๆ หรือครอบครัวตนเอง (วิกิพีเดีย, 2551, หน้า 1)

มีหลายครั้งที่เกิดความเข้าใจกันผิดว่า บล็อกเป็นได้แค่ไดอารี่ออนไลน์ (online diary)แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไดอารี่ออนไลน์เปรียบเสมือน เนื้อหาประเภทหนึ่งของบล็อกเท่านั้น เพราะบล็อกมีเนื้อหาที่หลากหลายประเภท ตั้งแต่การบันทึกเรื่องส่วนตัวอย่างเช่นไดอารี่ หรือการบันทึกบทความที่ผู้เขียนบล็อกสนใจในด้านอื่นด้วย ที่เห็นชัดเจนคือ เนื้อหาบล็อกประเภท วิจารณ์การเมือง หรือการรีวิวผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ตัวเองเคยใช้ หรือซื้อมานั่นเอง อีกทั้งยังสามารถแตกแขนงไปในเนื้อหาในประเภทต่าง ๆ อีกมากมาย ตามแต่ความถนัดของเจ้าของบล็อก ซึ่งมักจะเขียนบทความเรื่องที่ตนเองถนัด หรือสนใจเป็นต้น

จุดเด่นดังกล่าวของบล็อก ทำให้บล็อกสามารถเป็นเครื่องมือทางการประชาสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ที่สามารถสื่อถึงความเป็นกันเองระหว่างผู้เขียนบล็อก และผู้อ่านบล็อกที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่ชัดเจนของบล็อกนั้น ๆ ผ่านทางระบบแสดงความคิดเห็น (comment) ของบล็อกนั่นเอง

ในอดีตแรกเริ่ม คนที่เขียนบล็อกนั้นเขียนเว็บเองทีละหน้า แต่ในปัจจุบันนี้ มีเครื่องมือหรือซอฟท์แวร์ให้ใช้เขียนบล็อกได้มากมาย ผู้คนหลายล้านคนจากทั่วทุกมุมโลกจึงหันมาเขียนบล็อกกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ นักเขียน ตลอดจนถึงระดับบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้น

เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา บล็อกเริ่มต้นมาจากการเขียนเป็นงานอดิเรกของกลุ่มสื่ออิสระต่าง ๆ หลาย ๆ แห่งกลายเป็นแหล่งข่าวสำคัญให้กับหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวชั้นนำ จวบจนกระทั่งปี ค.ศ. 2004 คนเขียนบล็อกก็ได้รับการยอมรับจากสื่อและสำนักข่าวต่าง ๆ ถึงความรวดเร็วในการให้ข้อมูลตั้งแต่เรื่องการเมืองไปจนกระทั่งเรื่องราวของการประชุมระดับชาติ

และจากเหตุการณ์เหล่านี้ นับได้ว่าบล็อกเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ไม่ต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุกระจายเสียง และสื่อวิทยุโทรทัศน์ อาจเรียกได้ว่าบล็อกได้เข้ามาเป็นสื่อชนิดใหม่ที่สำคัญอย่างแท้จริง

บล็อกจะมีบริการทั้งแบบเสียเงิน และไม่เสียเงิน ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการให้บริการ ซึ่งมักจะติดตั้งเครื่องมือ (tool) ให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ง่าย ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์มากนัก

โดยส่วนใหญ่แล้ว บล็อกหลาย ๆ ที่มักจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และลึก เนื่องจากเจ้าของบล็อกมักจะนำข้อมูลที่ตัวเองรู้ หรือประสบการณ์มาถ่ายทอดอย่างค่อนข้างเป็นกันเอง

แต่ในปัจจุบัน บริษัทใหญ่ ๆ ก็หันมามีบล็อกเป็นของตัวเองกันมาก ไม่ว่าจะเป็นกูเกิ้ล(Google) ยาฮู (Yahoo) เพราะบล็อกสามารถทำตัวเป็นประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัทได้ โดยสร้างความรู้สึกเป็นกันเอง และสามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงอย่างไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะกับกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบการใช้อินเทอร์เน็ตก็จะชอบที่จะติดต่อสื่อสารผ่านทางบล็อก ด้วย

ปัจจุบันในเมืองไทยมีผู้ให้บริการบล็อกอยู่หลายที่ เช่น บล็อกแกงค์ (bloggang) exteen หรือ BlogKa

บล็อกมีข้อดีที่จะนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ คือ สามารถใช้บล็อกเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ และบล็อกยังมีความสามารถทางการสื่อสารแบบสองทาง ที่สามารถป้อนข่าวสารให้กลุ่มเป้าหมายได้ และคนอ่านก็สามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อโต้ตอบกับผู้อ่านได้ รวมทั้งการทำบล็อกมีค่าใช้จ่ายต่ำ บางแห่งให้ผู้ใช้เขียนบล็อกได้ฟรี และถึงแม้ผู้ใช้อยากจะมีโดเมนเนมเป็นของตัวเอง และเช่า host เอง ก็ยังมี software สำหรับทำบล็อกฟรีให้ได้เลือกใช้ อย่างเช่น wordpress ดังนั้นการทำ blog มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าที่เราจะไปใช้สื่ออื่น

และใช้งานได้ง่าย คนที่ใช้อีเมล์ได้ ก็สามารถเขียน blog ได้ นี่คือความง่ายของการทำ blog ในทุกวันนี้ และถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ค่อยเก่งคอมพิวเตอร์ แต่ใช้เวลาเรียนรู้แค่ 2-3 ชั่วโมง ก็ทำได้แล้ว

สุดท้ายคือ Blog มีความสดใหม่อยู่เสมอ ด้วยความที่ Blog นั้นง่ายต่อการ update บทความ ทำให้การใส่บทความใหม่ ๆ เข้าไปนั้น ง่ายมาก ๆ นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ทำให้ blog มีความสดและใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะคนดูแลสามารถใส่บทความได้ง่าย ลองนึกถึงว่า ปกติแล้วเว็บของบริษัท หรือองค์กรนั้น ข้อมูลจะค่อนข้างนิ่ง แต่หากเติม blog เข้าไปในเว็บขององค์กรแล้ว จะกลายเป็นว่า เว็บขององค์กร จะมีการ update อย่างสม่ำเสมอได้ง่าย นั่นจะทำให้กลุ่มเป้าหมาย visitor มาเยี่ยมชมเว็บขององค์กร ได้ง่ายมากขึ้นด้วย

 

 

คำสำคัญ (Tags): #การเขียนพีอาร์
หมายเลขบันทึก: 293621เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท