กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต


กลุ่มผู้รับสารเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์ผ่านอินเทอร์เน็ต    จัดได้ว่าเป็นกลุ่มผู้รับสารที่มีสถานภาพทางสังคมในระดับสูง ซึ่งจะมีการศึกษาค่อนข้างดี มีทักษะด้านภาษาอังกฤษสูง มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ มีความสามารถในการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต และเป็นกลุ่มคนสมัยใหม่

                นอกจากนั้น กลุ่มผู้รับสารเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์ผ่านอินเทอร์เน็ตยังจะเป็นผู้รับสารที่กระตือรือร้น (active  receivers) ในการเสาะแสวงหาข้อมูลข่าวสาร เช่น ต้องใช้ความกระตือรือร้นในการต่อเชื่อมเข้าอินเทอร์เน็ต และสามารถจะเป็นผู้กำหนดเองว่าจะเลือกเข้าไปดูข้อมูลหรือยกเลิกการดูข้อมูล

ผู้รับสารในอินเทอร์เน็ตมักจะเป็นผู้ที่ค่อนข้างมีเวลาว่างพอประมาณ เพราะการจะเข้าไปแสวงหาข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ตได้นั้น ย่อมต้องเป็นผู้ที่มีเวลาว่างจากการงานประจำ และชีวิตครอบครัว ส่วนใหญ่กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจึงมักจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ซึ่งผู้รับสารส่วนใหญ่จะใช้อินเทอร์เน็ตที่บ้าน สำหรับคนทำงานก็มักจะใช้อินเทอร์เน็ตในที่ทำงาน และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการรับส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์   รวมทั้งใช้เพื่อการค้นหาข้อมูล   ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความเพลิดเพลิน

          หากจัดกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอาจแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม (อุบลวรรณ ปิติพัฒนะโฆษิต, 2545, หน้า 117) ดังนี้

1. กลุ่มผู้ใช้ทางด้านการศึกษา จะเป็นอาจารย์ นักศึกษาและนักวิจัยตามมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหาข้อมูล แลกเปลี่ยนผลงานวิจัย และอีเมล์ระหว่างมหาวิทยาลัย

2. กลุ่มหน่วยงานของรัฐบาล ผู้ใช้จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในด้านต่าง ๆ เช่น สำนักงานเขตใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐาน การจดทะเบียนราษฎร์ของประชาชน และอื่น ๆ ทางตำรวจและทหารใช้อินเทอร์เน็ตทางด้านความมั่นคงของรัฐ มีสมาชิกแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ทราบ รวมทั้งผู้ใช้จากหน่วยงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น

                3. กลุ่มธุรกิจและการค้า ผู้ใช้จะเป็นบริษัทต่าง ๆ ซึ่งประกอบธุรกิจการค้า และบริการทุกประเภท ซึ่งมีทั้งผู้ผลิต ผู้ซื้อและผู้ขายที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการประชาสัมพันธ์และการโฆษณาขายสินค้ารวมทั้งให้ข้อมูลสินค้าต่าง ๆ แก่ผู้ซื้อ รวมไปถึงการให้ข้อมูลทางการเงิน ตลาดหุ้นและข่าวสารเศรษฐกิจอีกด้วย ซึ่งผู้ใช้ในกลุ่มนี้จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ นับเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอีกกลุ่มหนึ่ง

                4. กลุ่มผู้ใช้ทางด้านข่าวสาร สื่อมวลชน ท่องเที่ยวและบันเทิง กลุ่มผู้ใช้ในกลุ่มนี้คือ บุคคลธรรมดาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ นักศึกษา และผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์อยู่ก่อน แล้วต้องการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการโดยไม่จำกัดประเภท   ซึ่งอาจรวมไปถึงข้อมูลทางด้านธุรกิจด้วย    ข้อมูลที่ค้นหาจะมีทั้งดูข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ สำนักข่าวต่าง ๆ และสถานีโทรทัศน์ รวมทั้งเรื่องราวด้านภาพยนตร์  วารสาร  นักร้อง  รายการต่าง ๆ  ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น

                       

ความแตกต่างของการทำประชาสัมพันธ์บนอินเทอร์เน็ตกับสื่ออื่น ๆ

 

 ข้อมูลประชาสัมพันธ์ผ่านอินเทอร์เน็ตมีรูปแบบที่หลากหลาย และยังมีคุณลักษณะที่แตกต่างจากสื่ออื่น ๆ โดยสิ้นเชิง (กอบเกียรติ สระอุบล, 2547, หน้า 19) คือ

 1. อินเทอร์เน็ตสามารถเผยแพร่ข้อมูลเข้าถึงคนจำนวนมากทั่วโลก ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงต่อวัน และยังสามารถใช้การสื่อสารแบบสองทาง เพื่อรับปฏิกิริยาตอบกลับ (feedback) จากกลุ่มผู้ใช้

 2. อินเทอร์เน็ตสามารถให้ข้อมูลที่มีความน่าสนใจ ในรูปแบบการสื่อสารที่ครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นการให้รายละเอียดในด้านข้อความได้อย่างเต็มที่ หรือจะเป็นภาพกราฟิกที่สวยงามสมจริง ทั้งภาพสี ภาพเคลื่อนไหว และมีเสียงประกอบ

 3. ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในขั้นตอนการใช้สื่อมากกว่าสื่อทั่ว ๆ ไป เช่น เลือกเว็บไซท์ที่จะชมได้ด้วยตนเอง และสามารถเข้าชมได้ในระยะเวลาที่ตนต้องการ

                4. อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนน้อย หรือมีราคาถูกกว่าสื่อทั่ว ๆ ไป เมื่อคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการผลิตสื่อ และเปรียบเทียบกับปริมาณการเผยแพร่

                5. อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงได้ดี

                6. หน่วยงาน องค์กร สถาบัน และบริษัทที่เลือกใช้สื่ออินเทอร์เน็ตจะได้ภาพลักษณ์ของความทันสมัย และเทคโนโลยี

                7. สามารถแสดงสถิติและประเมินผลจำนวนการเข้ามาของผู้ใช้ในแต่ละวันได้

                   อย่างไรก็ตาม สื่ออินเทอร์เน็ตยังมีข้อจำกัดอยู่ที่กลุ่มผู้ใช้ ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะกลุ่ม คือ เป็นกลุ่มชองผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นเท่านั้น

 

 

 

ประเภทของการประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต

 

ประเภทของการประชาสัมพันธ์ทางอินเตอร์เน็ตนั้น สามารถแบ่งอย่างกว้าง ๆ ตามจุดประสงค์ของการประชาสัมพันธ์ได้เป็น 2 ประเภท (จิรธี กำไร, 2547, หน้า 41) คือ

 

1. การประชาสัมพันธ์องค์กร

 

ในการประชาสัมพันธ์องค์กรทั่วไป จะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารทั่วไปขององค์กร เป็นการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างภาพลักษณ์ เช่น องค์กรของรัฐ หน่วยงานสาธารณกุศล โดยไม่มุ่งหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ

หากเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กรทั่วไปของภาคธุรกิจ ก็จะเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทในด้านต่าง ๆ (company profile) เพื่อสร้างภาพลักษณ์เช่นกัน โดยไม่เน้นการขาย

 

2. การประชาสัมพันธ์การตลาด

 

การประชาสัมพันธ์ทางการตลาดจะเป็นการแจ้งข้อมูลข่าวสารของผลิตภัณฑ์ขององค์กรหรือของบริษัท โดยเน้นการเผยแพร่สินค้าหรือบริการที่องค์กรหรือบริษัทมีอยู่ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาค้นหาข้อมูล ซึ่งลักษณะของการประชาสัมพันธ์นี้ อาจจะมีการขายด้วย แต่ไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์หลัก ทั้งนี้เน้นการแจ้งข้อมูลข่าวสารของผลิตภัณฑ์และบริการเป็นหลัก เนื่องจากมีธุรกิจหลายประเภท ที่มีกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นคนไทยในประเทศหรือกลุ่มเป้าหมายระดับสากล เล็งเห็นถึงช่องทางในการสร้างผลประโยชน์ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสื่อที่มีศักยภาพสูง

 

ศัพท์ที่ควรรู้ก่อนทำประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต

 

                ก่อนที่จะเริ่มใช้การประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต ขออธิบายศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตบางคำซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกัน และบ่อยครั้งที่นำมาใช้สับสนกัน (ธนพร จินโต, 2547, หน้า 14)  ดังนี้

 

1. โฮมเพจ (Homepage)

 

     โฮมเพจ คือ เว็บเพจหน้าแรกสุดของข้อมูลแต่ละเรื่อง เปรียบเสมือนปกหนังสือ ส่วนของโฮมเพจนี้จะเป็นส่วนที่บอกให้ทราบว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเรื่องใด  พร้อมทั้งมีหัวข้อย่อยต่าง ๆ แยกออกไปตามแต่ผู้ใช้ต้องการจะเข้าไปค้นคว้าดูหรืออาจเรียกว่าเป็นสารบัญก็ได้

โฮมเพจจึงเปรียบเสมือนเป็นหน้าบ้าน ที่ทำหน้าที่ต้อนรับจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายก้าวเข้ามาเยี่ยมชมในบ้าน

2. เว็บเพจ (Webpage)

 

    เว็บเพจ คือ เอกสารข้อมูลต่าง ๆ ในแต่ละหน้า  ซึ่งจะถูกเขียนด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ เช่น ภาษา html (hyper text markup language) หากเราเรียกจำนวนความหนาของหนังสือเป็นหน้า เราก็จะเรียกปริมาณหน้าของเว็บไซต์ว่าเว็บเพจ ซึ่งข้อมูลที่แสดงในหน้าเว็บเพจแต่ละหน้ามักจะประกอบไปด้วยข้อความต่าง ๆ รูปภาพ กราฟิกต่าง ๆ และเสียง เป็นต้น

  ดังนั้น หน้าที่สำคัญของเว็บเพจก็คือการแสดงข้อมูลรายละเอียดที่เชื่อมโยง (link) ถึงกันได้ โดยมีลำดับชั้นเชื่อมโยงลึกเข้าไปเรื่อย ๆ ตามโครงสร้างเนื้อหาที่ต้องการถ่ายทอด

 

3. เว็บไซต์ (Website)

  เว็บไซต์ คือ กลุ่มของเว็บเพจ ที่รวมกันโดยการเชื่อมโยงจุดต่าง ๆ ในเว็บเพจแต่ละหน้าเข้าด้วยกัน แล้วแสดงผลอยู่บนอินเทอร์เน็ต ดังนั้น เว็บไซต์จึงเป็นเสมือนที่ใช้ในการจัดเก็บเว็บเพจของแต่ละองค์กร ซึ่งต้องการจะนำเสนอข่าวสารประชาสัมพันธ์ของตน

  ทั้งนี้ ชื่อของเว็บไซต์ส่วนใหญ่มักจะตั้งตามชื่อขององค์กร เพื่อให้ผู้รับสารสามารถจดจำชื่อเว็บไซต์ได้ง่ายที่สุด เช่น www.bangkokpost.com เป็นเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เป็นต้น

สิ่งที่ควรตระหนักในการจัดทำประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต

 

นักประชาสัมพันธ์จะสร้างและออกแบบโฮมเพจ ทำอาร์ตเวิร์คทั้งแบบข้อมูลและรูปภาพด้วยตนเองก็ได้ (กรณีสามารถทำได้) อีกทั้งสามารถแก้ไขโฮมเพจของตนเองได้เองบนพื้นที่ที่กำหนดให้

แต่เนื่องจากการผลิตโฮมเพจและเว็บเพจแต่ละหน้าต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญในการจัดทำและออกแบบ  จึงนิยมที่จะจ้างบริษัทที่รับจัดทำโฮมเพจและเว็บเพจต่าง ๆ เป็นผู้จัดทำให้ โดยค่าบริการและอัพเดท (update) ข้อมูลเป็นระยะ ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในการกำหนดงบประมาณในการจัดทำให้เหมาะสม (จรวยพร แสงไชย, 2540, หน้า 209)

อย่างไรก็ตาม นักประชาสัมพันธ์ก็ควรที่จะสามารถนำเสนอแนวความคิดหลักของโฮมเพจและเว็บเพจที่องค์กรต้องการได้ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ซึ่งจะต้องกระทำอีกประการ คือ การตระเตรียมข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย รวมทั้งข้อความ ภาพและเสียง เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ รวมไปถึงการติดต่อทำความเข้าใจประสานงานที่ดีระหว่างองค์กรกับบริษัทที่รับทำโฮมเพจ

 

ขั้นตอนการดำเนินการจัดทำประชาสัมพันธ์บนอินเทอร์เน็ต

 

                เมื่อตกลงใจที่จะเลือกสื่ออินเทอร์เน็ตในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลขององค์กรแล้ว ขั้นตอนสำคัญที่ควรจัดทำ เพื่อดำเนินการทำประชาสัมพันธ์บนอินเทอร์เน็ต (ภิญญู กำเนิดหล่ม, 2546, หน้า 176) คือ

 

                1. ศึกษาวัตถุประสงค์ของงาน

 

ผู้สร้างเว็บไซต์ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนว่า วัตถุประสงค์ในการทำประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ครั้งนี้คืออะไร เช่น เพื่อเผยแพร่ข้อมูลขององค์กรที่ทันสมัย หรือเพื่อนำเสนอข้อมูลอย่างเจาะลึกในทุก ๆ ด้าน หรือเพื่อชักจูงใจ แก้ไขความเข้าใจผิดต่าง ๆ เกี่ยวกับองค์กรที่เกิดขึ้นในระยะนั้น เป็นต้น

 

 

 

                2. กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ

 

ผู้สร้างเว็บไซต์ต้องรู้ว่ากำลังจะนำเสนอเว็บไซต์ให้ใครเปิดเข้ามาดูบ้าง เช่น เป็นกลุ่มนักศึกษา นักธุรกิจ เป็นต้น การที่ระบุกลุ่มเป้าหมายไว้ชัดเจน จะทำให้จัดทำข้อมูลและจัดเนื้อหาได้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายนั้น

 

                3. กำหนดเนื้อหาของเว็บไซต์

 

 เนื้อหาภายในเว็บไซต์ต้องสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยวางโครงสร้างของเว็บไซต์ว่า จะประกอบไปด้วยหัวข้ออะไรบ้าง จะมีเว็บเพจทั้งหมดกี่หน้า จะนำเสนอข้อมูลอะไรในแต่ละเว็บเพจนั้น และจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างไร ควรจะทำแผนผังแสดงลักษณะลำดับขั้นตอนออกมาก่อน ทั้งนี้การจัดวางโครงสร้างเว็บไซต์ที่ดีจะทำให้ทั้งผู้เขียนเว็บไซต์และผู้แวะชมไม่สับสน กล่าวคือ ช่วยให้ผู้เขียนเว็บไซต์นำเสนอข้อมูลได้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามแผนที่วางไว้ และทำให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างสะดวก ค้นหาข้อมูลได้ง่าย

 

                4. สร้างเว็บไซต์

 

  เมื่อวางโครงสร้างของเว็บไซต์แล้วก็ลงมือสร้างตามโครงสร้างที่ได้ออกแบบไว้ โดยอาจจะเป็นการจ้างผู้ที่มีความชำนาญในการจัดทำ หรือนักประชาสัมพันธ์เองมีความสามารถในการเขียนเว็บไซต์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปต่าง ๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีการใด จะต้องพิจารณาเรื่องงบประมาณในการจัดทำให้เหมาะสมไว้ในขั้นตอนนี้ด้วยเลยทีเดียว

 

5. ตรวจสอบเว็บไซต์

 

    การตรวจสอบเว็บไซต์ คือ การตรวจสอบความถูกต้อง ความเหมาะสมของข้อมูล ตลอดจนความรวดเร็วในการค้นหาข้อมูล ตรวจสอบการเชื่อมโยงของข้อมูล และการเชื่อมโยงของเว็บเพจ และที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบด้วยว่าไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นทั้งในด้านข้อความ ภาพ และเสียงที่นำลงมาประกอบกันเป็นเนื้อหาในเว็บไซต์นั้น

 

6. การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เว็บไซต์

 

    หลังจากสร้างและตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำการนำเสนอในระบบอินเทอร์เน็ต โดยวิธีการที่เรียกว่าพับลิช (publish) หมายถึง การนำเอาเว็บเพจทั้งหมดของเว็บไซต์ขึ้นไปเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ (server) เพื่อเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต

และหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งในขั้นตอนนี้ คือ การประชาสัมพันธ์ชวนเชิญให้ผู้สนใจรู้จัก เว็บไซต์ขององค์กรหรือบริษัท และเปิดเข้ามาดูเป็นประจำ 

 

7. การปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ

 

    หลังจากที่นำเว็บไซต์ไว้ในระบบอินเทอร์เน็ตเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องทำการปรับปรุงข้อมูลในเว็บไซต์ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ชมได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน

 

 

คำสำคัญ (Tags): #การเขียนพีอาร์
หมายเลขบันทึก: 293618เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท