การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต


ในปัจจุบันอินเทอร์เน็ต (Internet) นับว่าเป็นสื่อใหม่ประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และยังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งกระแสนิยมของการประชาสัมพันธ์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตก็เพิ่มสูงขึ้นทุกที สังเกตได้จากการที่หน่วยงาน องค์กร และสถาบันเกือบทุกแห่งต่างมีเว็บไซต์ (website) เป็นของตนเอง เพื่อนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ ขององค์กรผ่านอินเทอร์เน็ต การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการประชาสัมพันธ์จึงถือว่าเป็นสื่อสมัยใหม่ที่น่าสนใจควรจะนำมากล่าวถึงไว้ในบทนี้

ความเป็นมาของระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

 

                อินเทอร์เน็ต (Internet) หรือ Inter-connecting network คือ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ที่เชื่อมต่อกันทั่วโลก โดยมีมาตรฐานการรับส่งข้อมูลระหว่างกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องสามารถรับส่งข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตัวอักษร ภาพและเสียง เป็นต้น รวมทั้งสามารถค้นหาข้อมูลจากที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว (อุบลวรรณ ปิติพัฒนะโฆษิต, 2545, หน้า 116)

ก่อนที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะมีลักษณะเป็นใยแมงมุมยักษ์ขนาดใหญ่เท่าทุกวันนี้ แต่เดิมประมาณปี พ.. 2512 หรือ ค..1969 กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา เป็นที่แรกที่จัดทำระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตขึ้น โดยอินเทอร์เน็ตถือกำเนิดขึ้นมาในหน่วยงานโครงการวิจัยขั้นสูง (Advanced Research Projects Agency) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า ARPA ซึ่งในขั้นต้นเป็นเพียงเครือข่ายทดลองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนงานด้านการทหาร อันเป็นผลพวงมาจากสงครามเย็นที่ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ ระหว่างค่ายสังคมนิยมและค่ายเสรีประชาธิปไตย

                สำหรับประเทศไทย อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามาในปี พ.. 2530 โดยมีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกันริเริ่มดำเนินการ และได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย แต่การใช้งานอินเทอร์เน็ตในขณะนั้น ยังอยู่ในส่วนของสถานศึกษา ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศเข้าด้วยกันเท่านั้น (วุฒิชัย เกษพานิช, 2546, หน้า 10)


จนกระทั่งต่อมาในปี พ.. 2535 จึงได้เกิดเครือข่ายไทยสาร ซึ่งเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่จัดทำขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค (NECTEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ  และเครือข่ายไทยสารนี้เองที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และต่อมาได้ถูกเรียกใหม่ว่าเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (นวพันธ์  ปิยะวรรณกร, 2543, หน้า 4)

  ต่อมาไม่นานหลังจากนั้น การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ก็ได้เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต  (internet service provider) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ISP ซึ่งส่งผลให้การใช้อินเทอร์เน็ตแพร่หลายขึ้น จนขณะนี้มีผู้ที่รู้จักอินเทอร์เน็ตเป็นหลักล้าน ๆ คน และการขยายตัวของผู้ใช้ยังคงมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีพัฒนาการของเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่ายังมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน

 

การประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต

 

                อินเทอร์เน็ตได้กลายมาเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการนำเสนอและเผยแพร่ข่าวสารในทุก ๆ ด้าน เนื่องจากหน่วยงาน องค์การ และสถาบันต่าง ๆ มีความต้องการที่จะเผยแพร่ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการโฆษณาสินค้าและบริการมากขึ้น เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (จรวยพร แสงไชย, 2540, หน้า 97)

การประชาสัมพันธ์ที่จัดทำขึ้นบนอินเทอร์เน็ต นับเป็นสื่อสมัยใหม่ที่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับสื่ออื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุกระจายเสียง หรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นระบบสื่อสารด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ครอบคลุมไปไกลในทุก ๆ พื้นที่ทั่วโลก จึงสามารถที่จะเจาะเข้าไปถึงกลุ่มผู้รับสารเป้าหมายได้ทั้งคนไทยและคนต่างชาติในทุกหนทุกแห่ง ให้เปิดเข้ามาดูสิ่งที่หน่วยงาน องค์กร และสถาบันต้องการจะเผยแพร่

                อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบการประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลผ่านระบบ  world  wide  web (www) โดยการจัดทำเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันแต่ละแห่ง ให้ผู้ดูได้เปิดเข้าไปดูและติดตามอ่านข้อมูลต่าง ๆ   รวมทั้งการส่งข่าวสารประชาสัมพันธ์ทางจดหมายอิเลกทรอนิกส์ (e-mail)   และการจัดทำบล็อก (blog) เพื่อเผยแพร่สารประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ

                ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับบางองค์กรที่เป็นจุดที่มีผู้คนมาติดต่อและสอบถามเป็นจำนวนมาก เช่น สถาบันการศึกษา ธนาคาร โรงแรม สถานีรถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ และร้านค้า เป็นต้น ยังได้มีการจัดทำระบบตู้ประชาสัมพันธ์ (multimedia kiosk) โดยนำเสนอข้อมูลที่เป็นทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง เพื่อให้ผู้ที่มาติดต่อสามารถใช้สอบถามหรือค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ตลอดเวลา โดยการสัมผัสผ่านทางจอภาพคอมพิวเตอร์แบบทัชสกรีน (touch screen) และเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยตนเอง เช่น สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ต้องการติดต่อ เส้นทางที่ต้องการจะไป  สิ่งของที่ต้องการซื้อหา เป็นต้น ผ่านทางอินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกัน

  มากไปกว่านั้น การทำประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ทันสมัยให้เกิดแก่องค์กร และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มเป้าหมาย เป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องรอที่จะติดต่อสื่อสารกับพนักงานแต่เพียงช่องทางเดียว (ทวีศักดิ์ กาญจนสุวรรณ, 2548, หน้า 46)

  ดังนั้น หน่วยงาน องค์กร และสถาบันต่าง ๆ จึงได้ใช้อินเทอร์เน็ตประชาสัมพันธ์ข้อมูลของตัวเองผ่านทางเว็บไซต์ ข้อมูลที่ประชาสัมพันธ์นั้นจะมีหลากหลายด้าน เช่น การแนะนำตัวบริษัท สินค้าและบริการต่าง ๆ รวมถึงการซื้อขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเลือกดูสินค้าพร้อมทั้งคุณสมบัติต่าง ๆ ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วสั่งซื้อและจ่ายเงิน นับว่าสะดวกรวดเร็วมาก บริษัทต่าง ๆ จึงมีการประชาสัมพันธ์และลงโฆษณาขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

                ผู้ใช้ที่เป็นบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ สามารถเปิดให้บริการกลุ่มเป้าหมายของตนผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เช่น การตอบคำถามหรือข้อสงสัยต่าง ๆ   การให้คำนะนำ  การให้ข่าวสารใหม่ ๆ แก่กลุ่มเป้าหมายและผู้สนใจทั่วไป เป็นต้น

                โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรหรือหน่วยงานด้านสื่อมวลชนและบันเทิง หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ วารสาร สถานีวิทยุโทรทัศน์ สถานีวิทยุกระจายเสียง จะจัดทำเว็บไซต์ให้ผู้ใช้เปิดเข้าไปดูรายการต่าง ๆ รวมทั้งรับทราบข่าวสารขององค์กร ตัวอย่างเช่น การถ่ายทอดรายการสด รายการข่าวประจำวัน เช่น ข่าวช่วง 20.00 . ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตไปทั่วโลก

นอกจากนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังสามารถเลือกอ่านวารสารและนิตยสารต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า magazine online รวมถึงอ่านหนังสือพิมพ์และวารสารอื่น ๆ ทั่วโลกโดยมีบริการรับสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และวารสารผ่านอินเทอร์เน็ต

ผู้ผลิตภาพยนตร์ก็สามารถลงโฆษณาและฉายตัวอย่างภาพยนตร์ใหม่ ๆ ในอินเทอร์เน็ตให้ผู้สนใจคัดลอกแฟ้มข้อมูลเก็บไว้ดูได้อีกด้วย

                นอกเหนือจากประโยชน์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ผู้ผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ ยังใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต โดยเป็นช่องทางสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลของตนเองในวงกว้างด้วยค่าใช้จ่ายต่ำ รวมทั้งเป็นช่องทางหรือเวทีในการแสดงความคิดเห็น ถกเถียงแลกเปลี่ยนทัศนะในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ ที่สามารถตอบโต้กันได้ชนิดทันต่อเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลง

        ดังนั้น ประโยชน์ต่าง ๆ ของการประชาสัมพันธ์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตจึงมีมากและแตกต่างกันไปตามการใช้งานของแต่ละหน่วยงาน แม้ว่าในประเทศไทยจะเพิ่งเริ่มมีการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้ แต่ก็เชื่อแน่ว่าสื่ออินเทอร์เน็ตจะถูกพัฒนาต่อไปอีกมากโดยไม่หยุดยั้ง เมื่อเทียบกับสื่ออื่น ๆ

 

การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

 

ก่อนที่จะใช้อินเทอร์เน็ตได้ ผู้ที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตจะต้องมีอุปกรณ์ที่ช่วยในการเชื่อมต่อ ซึ่งสามารถเข้าใช้อินเทอร์เน็ตได้ 2 วิธี (นวพันธ์ ปิยะวรรณกร, 2543, หน้า 11) คือ ถ้าเป็นนักเรียนหรือเจ้าหน้าที่ในสถาบันการศึกษา หรือเป็นสมาชิก บุคลากรในหน่วยงาน องค์กร และสถาบันต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อเครือข่ายของหน่วยงานนั้น ๆ กับอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็จะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้โดยผ่านทางเครือข่ายของหน่วยงาน แต่ถ้าผู้ที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตไม่ได้อยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น จะสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้โดยเสียค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้การเชื่อมต่อโดยแบบใด ผู้ที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตจะต้องมีอุปกรณ์ ต่อไปนี้

 

1. คอมพิวเตอร์ (Computer)

                       

                     ตามคำจำกัดความ คอมพิวเตอร์ คือ เครื่องมือที่สามารถตอบรับประมวลผลข้อมูลและนำผลไปแสดงในรูปแบบที่ต้องการได้ คอมพิวเตอร์จะประมวลผลข้อมูลเป็นตัวเลข โดยการใช้ตัวเลขฐานสิบหรือฐานสอง เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาคำนวณได้อย่างรวดเร็ว

           คอมพิวเตอร์สามารถบันทึก ประมวลผล และวิเคราะห์ผล ตลอดจนสามารถค้นหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็วเกินกว่าความสามารถของมนุษย์ด้วยวิธีการที่มีให้เลือกใช้มากมายในขณะเดียวกันก็สามารถส่งผ่านข้อมูลไปได้อย่างรวดเร็วในระยะทางที่ไร้ขีดจำกัดรวมทั้งได้มีการพัฒนาเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์และโปรแกรมสำเร็จรูปต่าง ๆ ทำให้สะดวกและง่ายต่อการใช้มากยิ่งขึ้น (ทวีศักดิ์ กาญจนสุวรรณ, 2548, หน้า 26)

 

                     ปัจจุบัน การพัฒนาคอมพิวเตอร์ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกระบวนการคิดประมวลผล เพื่อให้คอมพิวเตอร์มีศักยภาพและประสิทธิภาพมากที่สุดเช่นเดียวกับสมองมนุษย์

 

2. โมเด็ม (modem)

 

  โมเด็มเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้เชื่อมต่อการสื่อสารระบบเครือข่าย โดยใช้ในการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับสายโทรศัพท์ ซึ่งจำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมไดร์เวอร์ (driver) ไว้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย โมเด็มนี้อาจจะถูกติดตั้งมาพร้อมภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออาจจะติดตั้งแยกต่างหากออกจากตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ได้

 

3. สายสัญญาน

 

  สายสัญญานจะเป็นตัวเชื่อมต่อการสื่อสารบนระบบเครือข่าย เช่น สายโทรศัพท์ หรืออาจจะใช้การเชื่อมต่อในลักษณะที่ไร้สาย ที่เรียกว่า wireless ก็ได้

 

4. ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISP

 

  การเชื่อมต่อของคอมพิวเตอร์ส่วนตัวทั่ว ๆ ไป จะต้องมีการเชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์ไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISP ดังนั้น หากผู้ใช้มีความประสงค์ที่จะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สามารถทำได้โดยสมัครเป็นสมาชิกกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และเมื่อสมัครเป็นสมาชิกแล้ว ทางผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็จะให้เบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งชื่อผู้ใช้ (user account) และรหัสผ่าน (password) ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถเข้าสู่อินเทอร์เน็ตได้ โดยหมุนผ่านโมเด็มตามหมายเลขเบอร์โทรศัพท์ที่ได้ให้ไว้ พร้อมทั้งทำการล็อคอิน (login) เพื่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

 

5. ซอฟท์แวร์ (Software) สื่อสาร

 

                      หากในเครื่องคอมพิวเตอร์มีโปรแกรมวินโดว์ (Window) แล้ว ก็คือมีอุปกรณ์ซอฟต์แวร์เพื่อติดต่อสื่อสารพื้นฐานแล้ว ซึ่งสามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเข้าสู่ระบบออนไลน์ (on line)ได้ทันที

คำสำคัญ (Tags): #การเขียนพีอาร์
หมายเลขบันทึก: 293615เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท