เรตติ้งเชิงความรู้ ๖+๑ จากภาคประชาชนสู่การขยับผังรายการโทรทัศน์ไทย


 

            เรตติ้งเชิงความรู้ ๖+๑ จากภาคประชาชนสู่การขยับผังรายการโทรทัศน์ไทย

            หลังจากที่ได้มติคณะรัฐมนตรีฉบับวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้เปิดประตูการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว เพื่อให้สื่อได้ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวในสังคมไทยได้อย่างเต็มที่ และสิ่งที่ตามมาภายใต้โจทย์ของมติคณะรัฐมนตรีฉบับนี้ก็คือ อะไรคือเกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหา อะไรคือระบบของการชี้วัด และภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร และสิ่งที่ท้าทายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ใครจะเป็นผู้ใช้เกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหา รวมไปถึง ระบบของการชี้วัดคุณภาพนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร และอย่างไร
            ดูเหมือนว่า ในอดีตเรามีแต่คำถาม แต่วันนี้เราเริ่มมีคำตอบให้กับสังคมแล้ว ...
คำตอบแรก เกี่ยวกับเกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหา จากจุดเริ่มต้นของการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับเกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ ที่อดีตการชี้วัดคุณภาพเคยถูกพันธนาการด้วยระบบการกลั่นกรองและเซ็นเซอร์ เพื่อคัดแยกเนื้อหา (ที่กรรมการชุดหนึ่ง) เห็นว่าไม่เหมาะสม หรือที่เรียกว่า เรตติ้งต้องห้าม และระบบเรตติ้งเชิงปริมาณ ที่ชี้วัดรายการใดมีคุณภาพสะท้อนจากจำนวนผู้ชม (สำรวจโดยบริษัทเอกชนแบบผูกขาด) ที่เป็นเหตุให้รายการโทรทัศน์ต้องช่วงชิงความนิยมกับผู้ชม ทำให้รายการส่วนใหญ่ถูกผูกมัดให้เน้นความสนุกสนานจนละเลยการใส่ความรู้ให้กับผู้ชม  จนกระทั่งวันนี้ เราคิดค้นทฤษฎี ๖+๑ เพื่อให้การชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์สะท้อนคุณภาพเชิงการศึกษาและการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
             วันนี้เรามี ระบบการชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ที่ใช้กรรมการใน ๓ ชุด นั่นคือ กรรมการกลาง ที่มาจากผู้ที่เกี่ยวข้องหลักในการพัฒนารายการโทรทัศน์ กรรมการภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหน่วยเฝ้าระวังสื่อ และกรรมการภาคประชาชนทั่วไปที่อยากจะเข้าร่วมประเมินคุณภาพ ทั้งหมดของระบบ วางอยู่บนพื้นฐานของการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ในสังคมไทย สิ่งนี้เอง เป็นโอกาสของการพัฒนาไปสู่ การร่วมกำหนดผังรายการโทรทัศน์ ที่ตอบสนองต่อการพัฒนาชุมชนของตนได้
               ปัญหาที่น่าขบคิด ต่อมาก็คือ แล้วเราจะให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้เกณฑ์ชี้วัดนี้ได้อย่างไร ??? เพราะหากไม่มีช่องทางของการเข้ามามีส่วนร่วมได้ ระบบดังกล่าวก็จะอยู่ในภาวะของการถูกทำหมันไปโดยปริยาย เพื่อแก้ปัญหาในจุดอ่อนนี้เอง การสร้างห้องเรียนเรตติ้งเคลื่อนที่เพื่อกระตุ้นให้สังคมในระดับรากหญ้าในพื้นที่ต่างๆได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรวมตัวเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง เป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
                และหลังจากที่ได้เริ่มต้นสร้างห้องเรียนเคลื่อนที่ในพื้นที่ต่างๆ ในกลุ่มภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องในชุมชนภาคเหนือ ร่วมกับเครือข่ายเด็ก เยาวชนและครอบครัวที่มีความแตกต่างกัน ทั้งจากเครือข่ายเด็กไร้รัฐ เครือข่ายเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ เครือข่ายสภาเยาวชน เครือข่ายสภายุวชนเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายเด็กแก๊ง เครือข่ายเยาวชนภาคเหนือตอนบน เป็นต้น เพื่อตรวจสอบแนวคิดเกี่ยวกับเกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหาใน ทฤษฎี ๖+๑ ตลอดจน ตระเตรียมการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในเขตุชมชนภาคเหนือ
                 ภาพที่ปรากฏ พบว่า แนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎี ๖+๑ ได้รับการยอมรับจากเครือข่ายชุมชนภาคเหนือ ไม่เพียงเท่านั้น คำตอบเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนภาคเหนือ เป็นอีกหนึ่งคำตอบที่มีความชัดเจนมากขึ้น
              การสร้างรายการโทรทัศน์เพื่อให้ความรู้ด้านวิชาการ เช่น รายการโทรทัศน์เพื่อสอนหนังสือวิชาต่างๆ สอนคนรากหญ้าให้อ่านออกเขียนได้
             รายการโทรทัศน์ด้านทักษะและอาชีพ เช่น รายการโทรทัศน์ที่สอนวิธีการประกอบอาชีพเพื่อคนรากหญ้า รายการโทรทัศน์แนะนำอาชีพในสังคมไทย รายการโทรทัศน์ที่เป็นช่องทางการตลาดให้กับสินค้าพื้นเมือง
             รายการโทรทัศน์ที่สอนค่านิยมและวัฒนธรรมที่ถูกต้อง เช่น รายการโทรทัศน์เพื่อให้คนไทยไม่ใช้ของฟุ่มเฟือย รายการโทรทัศน์ที่ทำให้รู้จักวัฒนธรรมล้านนา ทั้งภาษา ศิลปะ รวมไปถึงศิลปะป้องกันตัวแบบล้านนา
              รายการโทรทัศน์ที่ผสานความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรม เช่น รายการโทรทัศน์ที่สร้างความรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กไร้รัฐ เด็กไร้สัญชาติ  ที่ถูกต้อง รวมไปถึงรายการโทรทัศน์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาในด้านสิทธิมนุษยชนให้กับคนกลุ่มนี้
              รายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับทักษะในการใช้ชีวิต หลายคนนึกถึงรายการโทรทัศน์ที่สอนให้รู้จักการป้องกันโรคเอดส์ การอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างผู้ติดเชื้อ รายการโทรทัศน์ที่สอนให้คนในสังคมไทยรู้จักการแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง
             ทั้งหมดดูเหมือนเป็นการคิดค้นรายการโทรทัศน์อย่างสวยงาม แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว รายการโทรทัศน์ที่เครือข่ายเหล่านี้อยากจะเห็นผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ถูกคิดค้นขึ้นมาจากการคิดถึง ปัญหา ที่ตนเผชิญอยู่ในสังคม และหวังให้รายการโทรทัศน์ เป็นช่องทางของการเรียนรู้เพื่อ แก้ไขปัญหา ในชุมชน วันนี้จึงเป็นเวลาของการสร้างรายการโทรทัศน์เพื่อเป็นช่องทางของการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทย จะเห็นได้ว่า แนวคิดของคนในสังคมไม่ได้แตกต่างไปจากทฤษฎี ๖+๑
                 นอกจากนั้นแล้ว การคิดค้นถึงรายการโทรทัศน์ดังกล่าวยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึง การมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่จะเข้ามาร่วมสร้างและวางแนวทางในการกำหนดรายการโทรทัศน์ ปัญหาที่ตามมาก็คือ เสียงเหล่านี้ จะปรากฏเป็นเสียงที่เข้มแข็งและมีพลังอันจะนำไปสู่การขยับผังรายการได้อย่างไร ???
                 ซึ่งวันนี้ เรามีคำตอบอยู่ในสองประการ ประการที่ ๑ พลังของการตรวจสอบและประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์ที่มีอยู่ในสังคม ดังนั้น การสร้างฐานเสียงของการประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์ต้องมีจำนวนมากพอโดยเครือข่ายเฝ้าระวัง จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น วันนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสร้างองค์กรเครือข่ายเฝ้าระวังในแต่ละภาคของชุมชน
               ประการที่ ๒ การส่งพลังของผลการประเมินไปสู่ผู้เกี่ยวข้องในรูปแบบของกฎหมายธรรมชาติ ในเบื้องต้น วันนี้ จำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกในการประเมินคุณภาพ ซึ่งในเบื้องต้น จะต้องรีบสร้างกรรมการกลางที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มสถานี และกลุ่มเอเยนซี่ และกลุ่มภาคประชาชน (จากทุกภูมิภาค)
และในที่สุด ผลของการประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์จากเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมกับ ภาคประชาชน จะถูกนำเข้าสู่การร่วมประเมินกับ คณะกรรมการกลางที่มาจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มสถานี  ดังนั้น ผลของการสำรวจและแนวคิดเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ที่ตอบสนองต่อชุมชน ที่สอดคล้องกับทฤษฎี ๖+๑ จะได้รับการพิจารณาและบังคับใช้จากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะไปสู่การขยังผังรายการโทรทัศน์ที่ตอบสนองต่อเกณฑ์เชิงความรู้ และตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน
                 ในวันนี้ กระบวนการที่สำคัญก็คือจะต้องรีบพัฒนาเกณฑ์ในการชี้วัด ในรูปของกฎหมายหรือนโยบาย นอกจากนั้นแล้ว กระบวนการสำหรับการสร้างคณะกรรมการกลางในรูปแบบของกฎหมาย นโยบาย เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยให้เสียงของการประเมินคุณภาพจากเครือข่ายเฝ้าระวังมีพลังในการบังคับใช้อย่างแท้จริง

อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล
ประธานคณะกรรมการนักวิจัยและพัฒนา รายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษา
และการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว (TV4Kids) มูลนิธิ ศ.คนึง ฦๅไชย
กรรมการอำนวยการการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ กระรทวงวัฒนธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29301เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2006 00:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท