เรื่องเวรกรรมและของคู่.. ที่อยู่ของอัตตาตัวตน


หลายวันก่อนข้าพเจ้าเข้าไปในห้องผ่าตัด เห็นหนังสือธรรมะที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเวรกรรมในทางพุทธศาสนาวางอยู่บนโต๊ะ   ข้าพเจ้าจึงถามหมอรุ่นน้องจบใหม่ว่า   น้องเชื่อเรื่องเวรกรรมไหม๊  เขาตอบว่าเชื่อครับ  เลยถามต่อว่า  " น้องเชื่อเรื่องของเวรกรรมอย่างไร? "  น้องหมอผู้นี้ทำหน้างุนงงเล็กน้อย   ข้าพเจ้าเลยบอกว่า  เมื่อใครได้รับความทุกข์ หรือพบกับความโชคร้ายอะไรบางอย่างในชีวิต  ชาวพุทธบางส่วนก็จะกล่าวว่า  "เขาคงทำกรรมไว้เมื่อชาติก่อนหนหลัง เป็นเวรกรรมของเขา  เราช่วยอะไรไม่ได้  กรรมใครกรรมมัน  น้องคิดอย่างนั้นหรือไม่? "   เขาส่ายหน้าปฎิเสธพร้อมกับบอกว่า  "ไม่ใช่แบบนั้นครับ  ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกนกตกน้ำ  เราเห็น เราก็ควรจะช่วยชีวิตมัน ไม่ใช่โทษเวรกรรม   "     ได้ยินดังนั้นข้าพเจ้าก็โล่งใจ 

มีมุมมองหลายๆ อย่างในชาวพุทธทั้งหลายที่แตกต่างกันไป  บางคนก็เชื่อมั่นในเวรกรรมมากจนเกินเหตุ   มากจนคิดว่าตนเองไม่อาจฝืนอะไรได้  ดังนั้นเมื่อสิ่งใดๆเกิดขึ้นในชีวิตเขาจะโทษเวรและกรรมก่อนเป็นอันดับแรก  และเมื่อเห็นคนอื่นๆ โชคร้ายในชีวิต เขาก็จะโทษเวรกรรมเช่นกัน  แถมมีความคิดเห็นไปว่า  กรรมใดใครก่อคนนั้นก็ต้องชดใช้  แถมมองว่า  " ฉันคงจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้  เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา "    ดังนั้นจึงมีใครหลายคนที่มองดูเวรกรรมของคนอื่น  มองดูความทุกข์ของคนอื่น โดยไม่คิดเข้าไปช่วยเหลืออะไรเลยด้วยซ้ำ  เมื่อใครสักคนเกิดมายากจน   เกิดมาลำบาก  ด้อยโอกาสทางสังคม  ผู้คนบางส่วนมองว่า  ชาติที่แล้วคนเหล่านี้คงทำกรรมอะไรไว้  เขาคงต้องอยู่ชดใช้กรรมต่อไป  เราจะช่วยอะไรได้ ก็กรรมของเขาอะไรแบบนั้น

ข้าพเจ้านึกสงสัยในใจว่า  แล้วอย่างไรล่ะ  เราก็ไม่ต้องคิดช่วยเหลือใคร  อย่างนั้นหรือ  เมื่อเห็นใครสักคนมีความทุกข์  ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร  เราจะไม่สนใจอย่างนั้นหรือ??

วันนั้นข้าพเจ้าได้บอกกล่าวกับหมอรุ่นน้องว่า  ที่น้องคิดนั้นถูกต้องแล้ว  เมื่อเห็นใครมีความทุกข์  เมื่อเห็นใครกำลังเดินผิดทาง  ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร  มีกรรมอย่างไรเราไม่รู้ แต่ถ้าเราช่วยเขาได้ก็จงช่วยเขาอย่างถึงที่สุด  เมื่อเราพยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว เขาไม่ยอมรับความช่วยเหลือ หรือเราช่วยไม่ได้จริงๆ  เราถึงจะไปโทษเวรกรรม

 

ในการทำบุญ ในการช่วยเหลือใครก็ตาม  บางครั้งข้าพเจ้าก็พบว่า  ในฐานะผู้ช่วยเหลือเราก็มักจะมองเห็นไปว่า  ตัวเราช่วยในฐานะผู้ที่ช่วยได้และมีอะไรๆ ที่ดีกว่าหรือเหนือกว่าอีกฝ่าย  ฟังดูอาจจะไม่แปลกนักในความคิดแบบธรรมดาสามัญ   แต่เมื่อมองอย่างลึกซึ้งแล้ว การช่วยในฐานะที่มองตัวตนว่าเหนือกว่าคนอื่น  ก็คือการสร้างสมอัตตาตัวตนอีกแบบหนึ่งเช่นกัน

เมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าได้อ่านเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบุญบารมี  ข้าพเจ้าพบว่า พระโพธิสัตว์  ช่วยเหลือผู้อื่น และให้ทานแก่ผู้คนในฐานะผู้ให้ที่ปราศจากซึ่งอัตตาตัวตน   หลักการให้ทานและบำเพ็ญบารมีนั้น  พระองค์ให้ทานในฐานะที่สามารถให้ได้ ด้วยความเมตตากรุณาต่อสรรพชีวิต  พระองค์ไม่ได้คิดว่าตนอยู่ในสถานะที่ดีกว่า  เหนือกว่า  หรือด้อยกว่า  ผู้ที่กำลังได้รับทุกข์ร้อนแต่อย่างใด  

ด้วยความเกี่ยวเนื่องและมองเห็นความเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่งแบบมหายาน  ความทุกข์ของเขาจึงเป็นเหมือนความทุกข์ของเรา  ความสุขของเขาจึงเป็นเหมือนความสุขของเรา ไม่มีการแบ่งแยกสิ่งใดออกไป   ดังคำสอนของหลวงปู่ติชที่ว่า ไม่มีเธอ ไม่มีฉัน เราเป็นดั่งกันและกัน ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ ไม่มีอัตตาตัวตนใดๆ ที่จะเข้าไปยึด เพราะทุกสิ่งคือหนึ่งเดียวกัน คือกายเดียวกัน จึงไม่มีผู้ที่ต่ำกว่า ไม่มีผู้ที่สูงกว่า และทั้งไม่มีผู้ที่เท่ากันด้วย  นี่ความความจริงแท้   ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เราได้ช่วยเหลือใครสักคน  ได้ทำการงานใดสักอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับการช่วยเหลือผู้คน  เราจึงไม่ควรคิดเห็นว่าตนเหนือกว่าเขา หรือเท่ากับเขา หรือต่ำต้อยกว่าเขา  "จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง  "  ข้าพเจ้าเพิ่งเข้าใจอย่างชัดแจ้งถึงคำกล่าวนี้ของท่านพุทธทาส 

ในการงานที่ต้องช่วยเหลือผู้คน  เช่น คนที่ทำงานในองค์กร NGO  คนที่อุทิศตนช่วยเหลือคนอื่น  คนทำงานด้านสาธารณสุข  หมอและพยาบาล  จึงเป็นสายอาชีพที่เสี่ยงต่อการสะสมอัตตาตัวตนค่อนข้างมาก  เรามักจะมองว่าตนมีความสามาถที่จะช่วยเขาได้และยกตนไว้เหนือกว่าชาวบ้านชาวประชาทั้งหลาย  อันนี้อาจจะรวมทั้งท่าน สส.  สว.ผู้ทรงเกียรติทั้งหลายด้วย เพราะ เมื่อมีตัวเราก็ต้องมีตัวเขา  นั่นคือการมองสรรพสิ่งออกเป็นของคู่  เป็นการแบ่งแยกแตกส่วน  เกิดเป็นอัตตาตัวตนอีกนั่นแหละ  ผู้ทำงานรับใช้สังคมจึงควรต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ให้ดี  ข้าพเจ้าก็เริ่มตระหนักรู้ว่า  ที่ผ่านมาข้าพเจ้ายังติดยึดในเรื่องนี้ และยังมีอัตตาตัวดนอยู่มากมายทีเดียวจากสายงานอาชีพที่ทำอยู่

ดังนั้นในฐานะผู้รักษาเราจึงควรรักษาเขาดุจดั่งมนุษย์ เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของเขา  เพราะเมื่อเราเริ่มแบ่งแยกและเห็นต่าง  มีของคู่อยู่ในจิตสำนึกและความคิด  เราก็ยังอยู่ในหลุมพรางของอัตตา

เป็นที่ทราบกันว่า การละทิ้งอัตตาตัวตนได้  คือสิ่งบ่งชี้ว่าผู้ปฎิบัติธรรมได้เข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์อย่างลึกซึ้งแล้วจากการปฎิบัติ    แต่ถ้าละทิ้งไม่ได้  ยังมีตัวกูของกูอยู่ ก็แสดงว่าเรายังก้าวไปไม่ถึงไหน และจนถึงวันนี้ข้าพเจ้าก็พบว่าตัวเองยังเป็นเช่นนั้น  อัตตาตัวตนยังมีอยู่ครบ..

ในคำสอนของครูบาอาจารย์ทั้งหลายทุกสายการปฎิบัติ   ต่างสอนว่าให้เราก้าวพ้นจากการมองอะไรเป็นของคู่  ในทางเถรวาทก็กล่าวว่าให้อยู่เหนือทุกข์เหนือสุข  อยู่เหนือดีเหนือชั่ว หลวงพ่อชาสอนว่าทุกข์ก็ไม่เอาสุขก็ไม่เอา   ทางเถรวาทเองก็มักจะกล่าวว่า ไม่มีตัวตนบุคคลเราเขา ทุกๆชีวิตต่างเหมือนๆ กันคือประกอบด้วยรูปและนามด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น   ไม่มีอะไรดีกว่า ไม่มีอะไรเหนือกว่า  ทุกๆสิ่งไม่มีอะไรแตกต่างกัน  

ส่วนทางมหายานนั้นก็เช่นเดียวกัน  หลักการก็คือ เราต้องปฎิบัติจนหลุดพ้นออกจากการมองเห็นอะไรเป็นคู่ๆ   ตราบใดที่เรายังแบ่งแยก มองอะไรเป็นทวินิยม  มองเป็นสองฟากฝั่ง ก็แสดงว่าเรายังไม่ไปถึงไหน  

ดังนั้นการที่ทางวัชรยานกล่าวว่า " นิพพานและสังสารวัฎไม่ควรแยกขาดจากกัน"  จึงน่าจะมีความหมายลึกซึ้งอะไรบางอย่าง    แม้ข้าพเจ้ายังไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งนัก แต่หลังๆ ข้าพเจ้าพบว่า คำสอนของวัชรยานสามารถอธิบายได้ทุกๆสิ่ง     และเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่จะเชื่อมโยงภาพคำสอนของพระพุทธองค์จากทางมหายานและเถรวาทที่มีอยู่ในใจข้าพเจ้าเข้าด้วยกัน   นี่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก  ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณในเหตุและปัจจัยหลายๆอย่างที่ทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้มาเรียนรู้ในแนวทางนี้ 

วัชรยาน ได้พยายามถอดถอนอัตตาและทำลายขีดจำกัดบางอย่างออกไป  ทำลายการยึดติดบางอย่างโดยเฉพาะการติดดีจนเกิดเป็นอัตตาตัวตนซ้ำ้ซ้อนช่อนเงื่อนอยู่  แถมยังทำลายการยึดติดในรูปแบบ ทำลายการยึดติดในศีลวัตรปฎิบัติบางอย่าง   และก้าวพ้นจากการแบ่งแยกกีดกันเรื่องดีและชั่วอย่างสุดโต่ง  แถมสอนให้เรารู้จักเรียนรู้และเคารพในทุกๆสิ่ง  แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดูต่ำต้อยและไร้คุณค่า   เพราะถ้าในทางเถรวาทมองว่าทุกสิ่งเหมือนๆกัน  ประกอบด้วยรูปและนามเช่นเดียวกัน  คุณค่าของคนคนหนึ่งจึงควรจะเท่าเทียมกันไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นคนจนเดินอยู่ริมถนน    หรือจะเป็นคนที่รวยล้นฟ้า ไม่ควรจะมีความแตกต่างระหว่างการเป็นคนที่ดีที่สุด หรือคนที่เลวที่สุด   วิถีแห่งความคิด  การดูแล การปฎิบัติตนต่อคนทั้งสองกลุ่มย่อมต้องเท่ากัน และมีคุณค่าเหมือนๆกัน 

ดังนั้นตราบใดที่เรายังเปรียบเทียบและตัดสินใครต่อใคร  เราจึงยังมีอัตตาตัวตนอยู่ครบ ข้าพเจ้าจึงพูดเล่นๆกับกัลยาณมิตรที่คุ้นเคยกันว่า   เมื่อเราไม่ดื่มเหล้า แล้วคิดเห็นไปว่าอย่างน้อยเราก็ดีกว่าคนที่ดื่มเหล้า  ก็แสดงว่าเรายังมีอัตตาอยู่ 

การที่เราไม่ดื่มเหล้าเพราะเราตระหนักรู้ว่ามันเป็นโทษต่อร่างกายนับว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อชีวิต   แต่เราก็ไม่ควรไปตัดสินคนที่ดื่มเหล้าว่าเขาแย่กว่าเรา   เพราะตราบใดที่เรายังเปรียบเทียบ แบ่งแยก และคิดเห็นว่าเราดีกว่า หรือ เราแย่กว่า   ก็แสดงว่าเรายังมีอัตตาตัวตนอยู่นั่นเอง 

การมองอะไรเป็นของคู่ แบ่งแยก  ตัดสิน  ก็คือที่อยู่ของอัตตาตัวตน  การปฎิบัติสมาธิภาวนาจะช่วยให้เราเห็นแจ้งว่า  ในที่สุดแล้วไม่มีอะไรที่ต้องแบ่งแยก และไม่มีผู้ที่แบ่งแยก  สุดท้ายก็ไม่มีทั้งอัตตาและอนัตตา  ไม่มีทั้งนิพพานและสังสารวัฎ  ทุกสิ่งพ้นไปจากสมมติบัญญัติ และเป็นหนึ่งเดียวกัน.

คำสำคัญ (Tags): #ของคู่
หมายเลขบันทึก: 292031เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2009 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สุดยอดเลย หมอยา อ่านแล้วคลายสงสัยไปเยอะ ที่เคยติดค้างคิดไม่ออก สาธุอนุโมทนา

ขอบคุณพี่กระทิงตุ้ยนุ้ย  ที่แวะมาทักทายค่ะ  และขอบคุณสำหรับหลายๆสิ่งที่พี่ตั้งใจทำค่ะ  ขออนุโมทนาสาธุด้วยเช่นกัน

และสุดท้าย  ขอขอบคุณ คุณสามารถที่แวะเวียนมาที่นี่หลายๆครั้งเช่นกันค่ะ

 

 

 

โลกนี้ไม่มีเวลา กดสวิทซ์ไฟสว่าง ปิดสวิทซ์ไฟดับ ตถตา สาธุ...ครับ สำหรับความคิดที่ดีๆ..สาธุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท