เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๒๔- ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๒


"คนดีของฉันรึ จะต้องเป็นคนที่ไม่พูดปด ไม่สอพลอไม่อิจฉาริษยา ไม่คดโกง และไม่มีความทะเยอทะยานอย่างบ้า ๆ แต่พยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีในขอบเขตของศีลธรรม" สมเด็จย่า

๒๙   สิงหาคม  ๒๕๕๒ 

เรียน   เพื่อนครู  ผู้บริหารที่เคารพรักทุกท่าน 

วันจันทร์ที่ ๒๔  สิงหาคม  ๒๕๕๒  เดินทางจากบ้านพักเมืองนนท์ตั้งแต่เช้า  ใช้เส้นทางกาญจนาภิเษกมาเชื่อมกับถนนพระราม ๒  รถไม่มาก สามารถใช้ความเร็วได้ปกติ มาแวะทานข้าวแกงที่ปั้มบางจากก่อนถึงมหาชัยเมืองใหม่  เขาขึ้นชื่อร้านว่า”ข้าวแกงมหาชัย” นักเดินทางแวะใช้บริการร้านนี้กันมาก  อาหารรสชาติกลาง ๆ  จานเดียวก็อิ่ม  มาแวะบ้านพักที่ท่ายางนั่งทำงานเอกสารอีกประมาณ ๑ ชั่วโมงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็ง   เข้าที่ทำงานต้องแวะไปดูช่างทำหลังคาเป็นอันดับแรก วันนี้กำลังเชื่อมจั่วทรงไทย  แต่เวลามุงกระเบื้องต้องให้โค้งแอ่นลงขึ้นไปรับกับสันหลังคา  ช่างเขามีเทคนิคทำเหล็กให้โค้งแอ่นโดยใช้เลื่อยตัดเป็นช่วง ๆ อย่าให้เหล็กขาดจากกัน แล้วดึงตรงรอยตัดมาเชื่อมก็จะได้เหล็กที่โค้งเว้าตามใจปรารถนา  วิชานี้เพิ่งเห็นเหมือนกัน  คณะสำรวจเส้นทางไปศึกษาดูงานที่เขาค้อเมื่อวันศุกร์มารายงานให้ทราบว่าบรรยากาศดี อุณหภูมิประมาณ ๒๕ องศาเซนเซียส  ที่พักสะดวกสบาย การที่คิดพาผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในเขตไปศึกษาดูงานจะไม่ทำให้คนที่ไปผิดหวัง   คุณสายใจ  จิรชีพพัฒนา ประชาสัมพันธ์เขตส่ง mail ภาพมาให้ดูเห็นแล้วก็ตกลงใจว่าจะไปเขาค้อสำหรับปีนี้    รองฯสุรจิต สุขกันตะ กลับจากพาครูคณิตศาสตร์ไปศึกษาดูงานภาคเหนือมารายงานว่าเรียบร้อยดี  มีครูโรงเรียนอนุบาลลำปางฝากของมาให้ผมด้วย เห็นชื่อแล้วก็จำได้ คือ ครูเยาวนาฏ  นุภักดี  เป็นน้องสาวคุณภิญโญ  ไทยถาวร อดีตประมงจังหวัดชุมพร ย้ายติดตามสามีไปอยู่โรงเรียนอนุบาลลำปางหลายปี แต่ยังไม่ได้ลงตำแหน่งจริง ๆ เสียที  หลังเที่ยงฝนเทลงมาอย่างหนัก งานช่างต้องเลิก ช่างเขาให้ข้อสังเกตว่าฝนจะตกหรือไม่จากทิศทางลมของเมฆฝน หากพัดจากทะเลสู่ภูเขา โอกาสฝนตกสูงมาก หากพัดจากภูเขาสู่ทะเลโอกาสที่จะตกน้อย เท็จจริงต้องสังเกตหลาย ๆ ครั้ง  จัดการกับแฟ้มเอกสารที่ทยอยกันมาจนหมด ลงไปดูงานกลุ่มอำนวยการ   กลับบ้านปั่นจักรยานออกกำลังกายชมทุ่งชมสวนไปตามประสา   หัวค่ำ ผอ.ธีระ  ขันบุตร โรงเรียนบ้านหาดทรายรี และครอบครัวแวะมาเยี่ยม เพิ่งขึ้นจากชุมพรมาตอนโรงเรียนเลิก บ้านพ่อแม่อยู่บางกระบูร  พรุ่งนี้จะพาลูกไปหาหมอที่ศิริราช ได้ถามไถ่ทุกข์สุขกันพอสมควร  เขาบอกว่าลงไปชุมพรทีไรทราบจากเรื่องเล่าทุกครั้ง น่าจะส่งข่าวกันบ้าง  บอกตามตรงว่าเกรงใจ  เมื่อพ้นตำแหน่งราชการตรงนั้นแล้ว หากไปเรียกหาคนที่มาอาจลำบากใจ  หรือหนักเข้าอาจคิดว่าไม่ไปผุดไปเกิดเสียที  เอาเป็นว่ามีกิจธุระที่ใดก็ไปที่นั่น หากมีวาสนาต่อกันก็จะได้พบพานเหมือน ว. ณ เมืองลุง เขาว่าไว้ 

 

                วันอังคารที่ ๒๕  สิงหาคม  ๒๕๕๒   ถึงสำนักงานก็ตรงไปที่ช่างเป็นอันดับแรก เขาบอกว่าวันนี้สามารถขึ้นจั่วได้แน่นอน ดูสภาพอากาศวันนี้แดดจ้าฟ้าโปร่ง ฝนคงไม่ตกลงมาอีก  เห็นพอมีเวลาจึงออกเยี่ยมโรงเรียน  โรงเรียนแรกคือโรงเรียนบ้านหันตะเภา  เดินทางตามคลองส่งน้ำสาย ๒ ไปทางหนองจอก แต่อยู่เลยไป เลี้ยวซ้ายลัดเลาะทุ่งนาและหย่อมบ้านไปสักพักก็ถึงโรงเรียนมีรั้วรอบขอบชิด ต้นมะขามและก้ามปูใหญ่ยืนให้ร่มเงาร่มรื่นดี ไม้อื่นก็มีมากลดหลั่นลงมาเต็มบริเวณ  ภารโรงกำลังง่วนกับการตัดแต่งกิ่งไม้  ห้องคอมพิวเตอร์นักเรียนชั้น ป.๑ กำลังสนุกกับการฝึกโปรแกรมพิมพ์ดีด  ที่ครูธุรการคนใหม่ช่วยสอนให้  การจัดห้องเรียนใช้แบบรวมชั้น ป.๑-๒ ป.๓-๕ และ ป.๕-๖   ผู้อำนวยการโรงเรียนเพิ่งกลับเข้ามาเนื่องจากไปติดต่อราชการภายนอก ยังโอดครวญเรื่องขาดครู ยังไม่รู้จะไปขอเอามาจากไหน ความจริงครูโรงเรียนนี้ไปช่วยราชการที่โรงเรียนอื่น ๑ ราย ทั้งผู้บริหารและเพื่อนครูอยากให้กลับมา แต่เจ้าตัวก็บอกว่าป่วยด้วยโรคร้ายแรง ไปอยู่ที่ใหม่อาการดีขึ้น หากกลับมากลัวอาการจะกำเริบอีก  สรุปแล้วต้องร้องเพลงรอกันต่อไป    ออกจากโรงเรียนบ้านหันตะเภา มาแวะโรงเรียนหนองจอกวิทยา เพื่อเยี่ยม ผอ. อภิชาติ  ใจกล้า ผอ.คนใหม่ เพราะตั้งแต่ย้ายมาอยู่โรงเรียนนี้ยังไม่ได้มาเยี่ยมกันเลย ฟังเขาเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมาให้ฟัง ทำให้ได้คิดว่าเมืองไทยต้องเรียนให้มากกว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว ในอ่าวไทยมีปลาทู  แต่ต้องให้เรียนรู้ถึงสารพัดสัตว์สารพัดพืชที่มีทั้งบนบก ในน้ำ ในอากาศและใต้ดิน ทั้งตัวร้ายและตัวดีจึงจะเอาตัวรอดได้ในสังคมปัจจุบัน มาแวะทานข้าวร้านอาหารป่าหนองจอก ท่าน ผอ.อภิชาติ  ใจกล้า ตามมาร่วมโต๊ะและเป็นเจ้าภาพในมื้อนี้   กลับเข้าเขตบ่ายโมงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำเกณฑ์การย้ายผู้บริหารโรงเรียน เป็นการประชุมครั้งที่ ๓ มีการไปยกร่างกันมา ผมก็นำร่างในส่วนที่เป็นวิสัยทัศน์มาให้ที่ประชุมได้ปรับแก้ด้วย   ฝากท่านแม้นไทย  เชื่อมชิต ทำหน้าที่ประธานการประชุม  เดินทางไปโรงเรียนที่โรงเรียนบ้านซ่อง เพื่อเป็นประธานพิธีเปิดค่าย เยาวชน ปตท.รักษาป่า (โรงเรียนรอบพื้นที่แปลงปลูกป่า) ตำบลวังจันทร์ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 112 คน จัดโดย บริษัท ปตท.จำกัด ร่วมกับ โรงเรียนบ้านซ่อง ของ ผอ.โสภณ มีนา  โรงเรียนบ้านหนองสะแก ของ ผอ.เฉลิมศักดิ์ เฉลิมทอง  โรงเรียนบ้านหนองมะกอก  ของ ผอ.สมหมาย อ่วมอินจันทร์  และโรงเรียนบ้านทุ่งเคล็ด ของ ผอ. วิรัช ศรีสิทธิชูชาติ  เมื่อถึงเวลาคุณไพศาล อินทร์อ่ำ เจ้าหน้าที่ประจำแปลง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ผมกล่าวเปิด  กำหนดจัดค่ายระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2552 เพื่ออบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรป่าไม้ การปลูก การบำรุงรักษาต้นไม้และป่าไม้  หลังพิธีเปิดได้เดินเยี่ยมชั้นเรียนตามอาคารเรียนต่าง ๆ เพราะเป็นการมาครั้งแรกสำหรับโรงเรียนนี้   กลับถึงเขตเข้าประชุมคณะกรรมการพิจารณาเกณฑ์การย้ายต่อจน ๑๗.๐๐ น. ฉบับยกร่างจึงแล้วเสร็จ จะส่งประชาพิจารณ์เพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

                วันพุธที่ ๒๖  สิงหาคม  ๒๕๕๒  เช้าคุณตรีรัช ภูคชสารศีล ผู้จัดการศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อุทยานนานาชาติสิ่งแวดล้อมศิรินธร และคุณจรัญพร  เลิศสหกุล เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมศึกษาอาวุโส  มาพบเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการให้ครูและนักเรียนได้ใช้ศูนย์ฯแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้  เขานำภาพกิจกรรมต่าง ๆ มาให้ดู  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ ได้นำครูและนักเรียนไปเรียนรู้ที่ศูนย์แห่งนี้มาแล้ว ผมได้มอบท่านรองฯยรรยง  เจริญศรี ไปเปิดแทน จึงไม่ได้เห็นสภาพแวดล้อมของศูนย์ฯ อย่างไรก็ตามผมเสนอให้เขาไปร่างข้อตกลง MOU มาพิจารณาร่วมกันอีกครั้งว่าจะร่วมมือกันอย่างไรในอนาคต  และในวันที่ ๓๑ สิงหาคม  ๒๕๕๒ ให้ไปนำเสนอต่อที่ประชุมผู้บริหารโรงเรียนที่โรงแรมลองบีช  อำเภอชะอำ    พื้นที่ดำเนินการของอุทยาน คือ เขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในส่วนที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเลครอบคลุมพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของค่ายพระรามหก และค่ายนเรศวร สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน รวมเนื้อที่ประมาณ 2,600 ไร่ ในระยะแรกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้สนับสนุนให้ใช้พื้นที่ดำเนินการตามกิจกรรมของอุทยานฯ จำนวน 1,800 ไร่ โดยได้ดำเนินการตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2543 เป็นต้นมา ในลักษณะของโครงการต่อเนื่อง  ลงไปเยี่ยมช่างทำงาน  วันนี้มีทั้งงานเชื่อมโครงหลังคา และงานก่ออิฐรอบเสา  ผู้บริหารโรงเรียนหลายท่านมาบอกว่า ได้มอบเงินค่าเสบียงกรังของช่างเพื่อเป็นกำลังใจ  ต้องขอบคุณ  บ่ายผู้ไม่ผ่านการตรวจผลงานขั้นที่ ๓ มารวมตัวกันเพื่อเข้าโครงการเยียวยา  

                วันพฤหัสบดีที่ ๒๗  สิงหาคม  ๒๕๕๒  เช้าติดตามงานในกลุ่มงานต่าง ๆ ที่ถึงเวลาดำเนินการ เช่น การตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยข้าราชการ  การสรรหา อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทน ก.ค.ศ.  การประเมินผลงานเพื่อเลื่อนระดับของบุคลากรทางการศึกษา   กลุ่มอำนวยการได้นัดผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ มาเตรียมเอกสารเพื่อขอรับบำเหน็จบำนาญ เพื่อจะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญเร็วขึ้น เป็นการทำงานเชิงรุก   สำหรับชมรมครูปฐมวัยก็นัดหมายผู้ที่ไม่ผ่านการประเมินผลงานทางวิชาการจะรับฟังแนวทางจัดทำจากผู้ทรงความรู้และมากประสบการณ์  ศึกษานิเทศก์ของเขตคอยเป็นพี่เลี้ยงให้  บ่าย ๆ ได้รับหนังสือจาก ก.ค.ศ. แจ้งผลพิจารณาร้องทุกข์กรณีแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์) มาให้ทราบ  ประเด็นนี้สื่อมวลชนบางฉบับได้ลงเนื้อหาพาดพิงมาเป็นระยะ ๆ ว่า การดำเนินการของผมไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่มีความเป็นธรรม จนอาจทำให้ประชาชนทั่วไปและข้าราชการครูที่หลงเชื่อดูหมิ่นเกลียดชัง  เมื่อผลการพิจารณาของ ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาออกมาและตามกฎหมายถือเป็นที่สุดสำหรับการพิจารณาของฝ่ายปกครอง   ผมเองควรจะได้รับความเป็นธรรมจากวิญญูชนเสียที  สาระสำคัญในมติ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์(ที่ทำการแทน ก.ค.ศ.) มี ๒ ประเด็นหลัก คือ  (๑)  ตามข้อเท็จจริงกรณีนี้ผู้ร้องทุกข์ก็ได้ใช้สิทธิ์ร้องทุกข์ต่อ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ แล้ว และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ ในคราวประชุมครั้งที่ ๓ /๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ พิจารณาแล้ว มีมติยกคำร้องทุกข์ กล่าวคือ ยืนยันไม่อนุมัติให้ผู้ร้องทุกข์ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์) ถือได้ว่าเหตุแห่งทุกข์ของผู้ร้องทุกข์ได้รับการเยียวยาแก้ไขตามบทกฎหมายแล้ว คำร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์จึงแล้วเสร็จไปจากการพิจารณาของฝ่ายปกครองแล้ว ผู้ร้องทุกข์จะรื้อร้องเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวเป็นคำร้องทุกข์ซ้ำสองขึ้นใหม่ต่อ ก.ค.ศ. อีกครั้งหาได้ไม่ เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดให้ร้องทุกข์ได้อีก..... (๒)  ส่วนการที่ต่อมาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ (คนใหม่) ย้ายมาดำรงตำแหน่ง พิจารณาเห็นว่าตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์) ว่างอยู่จึงได้นำเสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ ให้พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติย้ายนายพชร(สงบ) เพิ่มพงษ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดวังไคร้  ก็เป็นดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาที่ชอบจะดำเนินการตามหน้าที่ และการที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ ในคราวประชุมครั้งที่ ๑๔/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๓๑  ตุลาคม  ๒๕๕๑  พิจารณาแล้วมีมติให้ย้ายนายพชร(สงบ) เพิ่มพงษ์พิพัฒน์ ไปดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์)นั้น  ก็เป็นการพิจารณาคัดเลือกจากผู้ยื่นคำร้องขอย้ายอีกสองคนที่เหลืออยู่คือ นายพชร(สงบ) เพิ่มพงษ์พิพัฒน์ และนายสรายุทธ  เจริญผล ส่วนรายชื่อของผู้ร้องทุกข์มิได้นำมาพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ด้วย เนื่องจาก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ ในคราวประชุมครั้งที่  ๑/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๑๔  มกราคม  ๒๕๕๑ มีมติไม่อนุมัติให้ย้ายผู้ร้องทุกข์ไปดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์)แล้ว และผู้ร้องทุกข์ก็ได้ใช้สิทธิร้องทุกข์ต่อ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ จนเป็นที่สุดในขั้นตอนกระบวนการร้องทุกข์ในฝ่ายปกครองแล้ว  ดังนั้น การที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ ในคราวประชุมครั้งที่ ๑๔/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม  ๒๕๕๑ พิจารณาแล้วมีมติให้ย้ายนายพชร(สงบ) เพิ่มพงษ์พิพัฒน์ ไปดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์) จึงเป็นการพิจารณาโดยมิได้เกี่ยวข้องกับผู้ร้องทุกข์อันจะถือเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ต่อ ก.ค.ศ. ได้.....  สรุปแล้วผมมิได้เกี่ยวข้องเข้าเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนใด ๆ กับกรณีของผู้ร้องทุกข์ที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์) เพราะเรื่องของท่านเสร็จเด็ดขาดทางกฎหมายลงเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๑ ผมมาดำรงตำแหน่งที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ เมื่อวันที่ ๑  ตุลาคม  ๒๕๕๑ โปรดไตร่ตรองกันดูเถิด   เวลา ๑๖.๓๐ น. ไปประชุมที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี  เป็นเรื่องความมั่นคงในราชอาณาจักรที่จังหวัดจะขอความร่วมมือ   เวลา ๒๑.๐๐ น. เข้าสำนักงานเพื่อสุ่มตรวจว่าเวรที่แต่งตั้งไว้มาปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ พบแต่ยาม ไม่พบเวร  การอยู่เวรรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการเป็นเรื่องสำคัญ ที่ข้าราชการไม่พึงละเลยเพราะมีโทษทางวินัยตามมติคณะรัฐมนตรี                                                   

                    วันศุกร์ที่ ๒๘  สิงหาคม  ๒๕๕๒  เช้ามีการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดและนายอำเภอ ที่ห้องประชุม      พริบพรี   ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานที่ประชุม เรื่องที่นำมาเสนอให้ที่ประชุมรับทราบมีหลายเรื่อง เรื่องแรก การประชุม   16 th Asean Summit  +6  ชะอำ-หัวหิน ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๕ ตุลาคม  ๒๕๕๒  จังหวัดเพชรบุรีในฐานะเจ้าของบ้านคงต้องช่วยกันตกแต่งอาคารสถานที่ให้สะอาดสวยงาม  เรื่องที่สอง  ในวันที่ ๔ กันยายน  ๒๕๕๒ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดพระรูป มีหมายกำหนดการเสด็จจากวังไกลกังวล เวลา ๑๖.๐๐ น. ถึงวัดพระรูปเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. ทั้งนี้ขอเชิญชวนพสกเฝ้ารับเสด็จโดยพร้อมเพรียงกัน   เรื่องที่สาม การกราบบังคมทูลเชิญ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดห้องสมุดพร้อมปัญญา เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง  อำเภอแก่งกระจาน   จุดเด่นของเรือนจำนี้คือการสร้างบ้านด้วยดินเหนียวแบบประหยัด   เรื่องที่สี่ ความก้าวหน้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ ไม่มีชื่อในบัญชีของคลังจังหวัดในการเร่งรัดเบิกจ่าย   เลิกประชุมกลับมาทำงานที่สำนักงานเขต  เที่ยงฝนตกหนักงานเชื่อมโครงหลังคาจึงต้องเลิกโดยปริยาย  เลิกงานเดินทางลงใต้จุดหมายปลายทางที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะมีภารกิจต้องทำในวันพรุ่งนี้  การเดินทางใช้ความเร็วปกติ  สภาพอากาศมีฝนเกือบตลอดเส้นทาง ถึงหลังสวนประมาณ ๔ ทุ่ม แวะพักค้างที่โรงแรมจิงโจ้  พรุ่งนี้เช้าค่อยเดินทางไปสุราษฎร์ธานี 

                ก่อนจาก  ไปอ่านเจอนิทานชาดกเรื่องหนึ่งเล่าโดยผู้เฒ่าอีสานเป็นคติสอนใจดี เลยขออนุญาตนำมาเล่าต่อ กิระ...ดังได้ยินมา.....โดนเติบ...แล้ว.....มีชายพิการคนหนึ่ง...เป็นคนขาพิการ..ทำมาหากิน...และเลี้ยงพ่อแม่ด้วย...ด้วยการใช้นิ้วดีดก้อนหินเล็กๆใส่ใบไม้เป็นรูปร่างสัตว์ต่างๆให้คนดู..ผู้คนทั้งหลายได้ดูแล้วก็เกิดความพอใจ...จึงให้เงินและอาหารเป็นรางวัล...แก่ชายพิการ....ผู้คนในเมืองนั้นชื่นชอบชายพิการมากๆ...ชายพิการจึงเป็นขวัญใจของคนทั้งเมือง...วันหนึ่งพระราชาเสด็จออกเที่ยวไปทั่วเมือง...ได้ทอดพระเนตรต้นไม้...เห็นมีรูป...ลิง....ช้าง...บ่าง....ชะนี......เสือ....เป็นต้น...จึงถามอำมาตย์ว่า ...ใครเป็นคนทำ  อำมาตย์ทูลว่า.....เป็นชายพิการคนหนึ่ง  พระเจ้าข้าพระราชาคิดว่า "ถ้าเรานำชายพิการไปชุบเลี้ยง  เสี้ยนหนามในหัวใจของเราคงได้รับการแก้ไขและหมดไปในที่สุด"  จึงตรัสสั่งอำมาตย์ว่า  ...ขอท่านได้โปรดไปตามชายพิการให้มาพบเรา อำมาตย์ทูลถามว่า....ข้าแต่พระองค์จะมีประโยชน์อันใดที่มหาบพิตรจะสนทนาด้วย พระเจ้าข้า  พระราชารับสั่งว่า...ขอเพียงเราสนทนาสักสองสามคำ  อำมาตย์จึงทูลตอบ...เมื่อเป็นพระประสงค์...ข้าพระพุทธเจ้าจะไปตามให้..จนพบชายพิการ  พระราชาตรัสถามว่า...เป็นเจ้าทำให้ใบไม้นี้สวยงามยิ่งนัก  ชายพิการตอบว่า พระเจ้าข้า  พระราชาตรัสชวน...เจ้าประสงค์จะไปอยู่ในวังกับเราหรือไม่  ชายพิการ...ข้าพระพุทธเจ้าไม่ขัดข้อง...แต่ติดอยู่ที่พ่อกับแม่แก่ชราต้องเลี้ยงดู พระราชาทรงคิดว่า....ชายพิการนี้..มีความสามารถและยังกตัญญูยิ่งนัก.จึงตรัสกับชายพิการว่า  "เราอนุญาตให้พ่อกับแม่ของเจ้าไปอยู่ด้วย"..เจ้าจะไปหรือไม่  ชายพิการทูลตอบว่า....เป็นพระกรุณายิ่ง   ตั้งแต่วันนั้น...ชายพิการก็มีชีวิตเปลี่ยนไป..เขาอยู่กับพ่อแม่อย่างมีความสุข..แต่ตัวเขาไม่เข้าใจว่าพระราชาให้เขามาอยู่เพื่ออะไร....หลายวันต่อมา..พระราชาก็ได้เรียกชายพิการเข้าเฝ้า...พระราชาตรัสว่า....นี่เป็นท้องพระโรงของเรา..  เราจะประชุมอำมาตย์และขุนนางทั้งหลายทุกๆเจ็ดวัน....ที่เรียกเจ้ามาที่นี่..เพราะว่าเรามีเรื่องหนักอกหนักใจเรามานานแล้ว..เหมือนมีหอกทิ่มเข้าไปในใจเรา...มีมหาอำมาตย์ที่พูดมากท่านหนึ่ง...มีอิทธพลมากนัก..พูดมาก....แถมยังมีคนเชื่อถือมากกว่าเราอีก...บางครั้งเราพูดยังสู้เขาไม่ได้..เราจะบริหารบ้านเมืองอย่างไร...มหาอำมาตย์นี่ก็ค้านอยู่เรื่อย...จำเราจะต้องใช้วิธีนี่ ตรัสแล้ว...พระราชาก็ให้ชายพิการนั่งในที่อันควร...แล้วใช้ม่านบังชายพิการไว้...โดยให้อยู่ด้านหลังของพระราชา...พร้อมกับตรัสว่า ..นี่เป็นขี้แพะหนึ่งทะนาน..เมื่อมหาอำมาตย์อ้าปากจะพูดขอเจ้าดีดขี้แพะเข้าในปาก..เพื่อไม่ให้..มหาอำมาตย์พูดได้...แล้วเราจะได้ตรัสเรื่องราชการของเรา ชายพิการคิดแล้วถึงเข้าใจความในทั้งหมดที่พระราชาเลี้ยงดูเขา...จึงรับว่า  พระเจ้าข้า เมื่อถึงเวลาประชุม..พระราชาก็ตรัสเรื่องราชการสำคัญ... พระราชาประชุมว่า....เรามีราชการสำคัญ..ฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล..เราจะไม่เก็บภาษีประชาชน  เป็นเวลา  3  ปี  มหาอำมาตย์.....อ้าปากจะพูด....ก็ต้อง...."อ้า....อับ"  แล้วก็กลืนลงคอเพราะในระหว่างอ้าปากจะพูดชายพิการได้ดีดขี้แพะเข้าปากเขาจึงพูดไม่ได้..พระราชาได้ที...ก็ตรัสว่า...มหาอำมาตย์มีอะไรจะคัดค้านหรือไม่ มหาอำมาตย์....อ้า....อับ..แล้วก็กลืนลงคอ  มหาอำมาตย์....อ้า....อับ..แล้วก็กลืนลงคอ  มหาอำมาตย์....อ้า....อับ..แล้วก็กลืนลงคอ   มหาอำมาตย์...พยายามอยู่นาน...จึงรู้ว่าพลาดเข้าแล้ว...จนกินขี้แพะไปเป็นทะนานตั้งแต่นั้นมา...พระราชาก็ตรัสราชการอันใด..ก็ไม่มีใครคอยค้าน...นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...คนพูดมากจนเกินงาม   อาจทำให้คนอื่นไม่สบายใจเพราะคำพูดของเราได้...คนพูดจะไม่คิด...แต่คนฟังแทบอกแตก..ความรู้อย่างเดียว...ถ้ากระจ่างเหมือนชายพิการ...ก็เป็นประโยชน์กับตนเองและส่วนรวม

กำจัด  คงหนู
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒

หมายเลขบันทึก: 292028เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2009 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท