7 วรรณกรรมดีดี


รอบสุดท้าย

เผยโฉม 7 นวนิยายดีชิงซีไรต์ ปี 52

1.เงาฝันของผีเสื้อ ของ เอื้อ อัญชลี

เรื่องราวที่ซ้อนกันระหว่างประวัติศาสตร์จีนสมัยหลังสามก๊กกับเรื่องราวของหลอ กว้านจง ผู้แต่งสามก๊กฉบับซึ่งเป็นที่มาของวรรณคดีเอกของไทย และหลัวเซียง ลูกสาวของเขาซึ่งในเรื่องเธอเป็นผู้แต่งวรรณคดีจีนเรื่องอื่น เรื่องราวทั้งสองดำเนินคู่ขนานกันมาหลายยุคหลายสมัยไปจนตลอดนวนิยายเรื่อง นี้ กลวิธีนี้เปิดเผยให้เห็นความเหลื่อมซ้อนกันของประวัติศาสตร์ ตำนานและนิยาย ที่ต่างก็ถูกเล่า เช่นเดียวกับนวนิยายเรื่องนี้เองที่ผู้เล่าปรากฏตัวในตอนท้ายเรื่องอย่างคลุมเครือ นวนิยายเรื่องนี้จึงมิใช่เพียงการหยิบเอาเกร็ดประวัติศาสตร์มาเล่าซ้ำ หากแต่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์ ความไร้ตัวตนของความจริง และแม้กระทั่งความไร้ตัวตนของผู้เล่าเอง

นวนิยายเรื่องนี้ได้เปิดมุมมองใหม่ในการเขียนและอ่านเรื่องเล่าเกี่ยวกับอดีต เตือนให้นักเขียนและนักอ่านตระหนักถึงความลวงของการเล่าเรื่อง และความเป็นไปได้ที่ว่า ความจริงที่แท้แล้วก็อาจเป็นแค่เพียงเงาฝันของผีเสื้อ

2.ทะเลน้ำนม ของ ชัชวาลย์ โคตรสงคราม

นวนิยายที่อลังการด้วยสำนวนภาษาและกระบวนการแห่งมโนทัศน์ ซึ่งเคลื่อนผ่านกาลเวลาและครรลองชีวิตมา
ตั้งแต่อดีต จนก่อเป็นผลึกอันวิจิตรในดวงใจของมนุษย์คนหนึ่ง ท่ามกลางกระแสธารอันเชี่ยวไหลของท้องทะเล
ชีวิตอันไพศาล

ทะเลน้ำนม เป็นดั่งเช่นท้องทะเลที่มรสุมแห่งลัทธิวัตถุนิยมถาโถมอยู่ตลอดกาล ทั้งกลางวันและกลางคืน สรรพสิ่ง
ล้วนถูกกลืนหายไปกับสายธารและคลื่นร้าย ไม่อาจแหวกว่ายผ่านพ้นได้อย่างปลอดภัยเลย นับประสาอะไรกับมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง แม้ว่าจะได้รับการอบรมและพร่ำสอนมาด้วยจารีตประเพณีอันงดงามแต่บรรพชนเพียงไร ก็ไม่อาจสลัดพ้นจากมหันตภัยนั้นได้

มนุษย์คนหนึ่งจึงพยายามขัดขืนและเฝ้าถวิลหาบางสิ่งบางอย่าง เพื่อปลอบประโลมใจตนเอง หวังว่าเผ่าพันธุ์บรรพชน
และครรลองชีวิตแห่งอดีต จะช่วยนำพาให้ข้ามผ่านทะเลชีวิตได้อย่างมั่นคง แต่สุดท้ายแล้ว มนุษย์ก็เป็นเพียงดัง
เศษธุลีอันหาค่ามิได้ อย่าได้ถวิลถึงฝั่งฟากอันเกษมเลย ใครๆ ก็ไม่มีวันรู้เลยว่ามันอยู่ที่แห่งใด
ชัชวาลย์ โคตรสงคราม สร้างสรรค์นิยายเรื่องนี้ด้วยรูปแบบและสำนวนภาษาอันน่าตื่นตาตื่นใจ เขาจารจารึกถึงเรื่อง
เล่าและวรรณคดีโบราณจากสองฟากฝั่งลำน้ำโขง หลอมรวมไว้ด้วยกระบวนการทางมโนทัศน์อันแยบคาย ท้าทาย
ให้เราค้นหาและล่องลอยไปในท้องทะเลแห่งตัวอักษรที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น พร้อมด้วยคำถามที่อาจเกิดขึ้นในใจเรา
ว่า แล้วเราล่ะ เราจะข้ามผ่านธารอักษรเหล่านั้นไปได้ไกลสักเท่าไร เพราะยิ่งอ่านก็เหมือนว่า เราก็คือมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งที่ต้องว่ายวนต่อไปอย่างไม่รู้จบ จนกว่าจะพบนาวาสักลำที่นำเราได้ก้าวผ่านคลื่นร้ายและท้องทะเลอันไพศาลนี้พ้น

3.ประเทศใต้ ของ ชาคริต โภชะเรืองนวนิยายเรื่องประเทศใต้ของ ชาคริต โภชะเรือง เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการตามหาสิ่งที่มีคุณค่าซึ่งสูญหายไปจากชีวิตและท้อง ถิ่น โดยการใช้ “มโนห์รา” เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่สูญหาย อันสื่อนัยถึงคุณค่าที่เคยมีพลังแนบแน่นอยู่ในวิถีชีวิต และร้อยรัดผู้คนกับสรรพสิ่งต่างๆ ให้ยึดโยงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผู้เขียนสร้างความคลุมเครือให้ “มโนห์รา” เป็นคุณค่าทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม โดยใช้กลการประพันธ์ให้ผู้อ่านต้องขบคิด ตีความ และร่วมรับรู้ไปกับการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาของท้องถิ่นอยู่ตลอดเวลา ชี้ให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำซาก ผู้คนในท้องถิ่นยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่มักจะหวนกลับมาซ้ำรอยเดิมอยู่ เสมอ ผ่านการเล่าเรื่องที่เดินไปข้างหน้า ทว่ากลับหวนคำนึงถึงอดีตที่ผ่านเลยอยู่ตลอดเวลา ราวกับว่าคุณค่าที่ติดตามหาอยู่นั้น มิได้อยู่ห่างไกล แต่อยู่ในจิตใจของผู้คน เฉกเช่นกับท่ารำของมโนห์ราซึ่งเปรียบได้กับท่วงท่าปางหนึ่งของพระพุทธรูป อันอุดมด้วยศิลปะที่น้อมนำให้ผู้คนมีจิตใจบริสุทธิ์และมีสติ

 

แม้ผู้เขียนจะสร้างให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องราวของปัญหาที่เกิดขึ้น ในพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ แต่ผู้อ่านก็ประหวัดถึงท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทยได้อย่างไม่ยากนัก นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นนวนิยายที่สะท้อนปัญหาสังคมท้องถิ่นภาคใต้ได้อย่าง มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์เป็นอย่างยิ่ง

4.โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก ของ ฟ้า พูลวรลักษณ์

มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน ยากที่จะตีกรอบขอบเขตและกำหนดตัวตนที่ชัดเจน ในบรรดาศาสตร์ทั้งหมด ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่สุด ชนิดเรียนกันได้ไม่รู้จบ “โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก” ของ ฟ้า พูลวรลักษณ์ เป็นนวนิยายที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนอันซับซ้อนของคนเรา บางครั้งเราคิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ แต่บางคราเรากลับกลายเป็นเด็กเล็กๆ ขณะหนึ่งเราอาจเป็นผู้ชายเต็มตัว แต่ในอีกขณะกลับไม่ใช่เสียแล้ว เราชื่นชอบบางตัวตนของเรา หากแต่พร้อมกันนั้นเราก็ชิงชังบางตัวตนที่ซ่อนอยู่ หลายหนเราอยากโอบกอดบางด้านในตัวเรา แต่อีกหลายหนเรากลับอยากผลักไส ทะเลาะ และทุ่มเถียง ยิ่งเพ่งพินิจเข้าไปในตัวเอง เรายิ่งเห็นตัวตนที่หลากหลายมากขึ้น มันเต็มไปด้วยรายละเอียดที่แตกแขนงออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด จนน่าแปลกใจว่าเราแต่ละคนต่างมีตัวตนทุกแบบอยู่ภายในตัวเอง

ความเข้าใจที่ต่อตัวเรา นำไปสู่ความเข้าใจที่มีต่อผู้คนอื่น เพราะทุกคนต่างก็มีความสลับซับซ้อน มีด้านที่ดีงาม ร้ายกาจ สดสวย และอัปลักษณ์อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น “ความเป็นฉัน” และ “ความเป็นเขา” แท้จริงจึงไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย ระบบการศึกษาในโลกปัจจุบัน มักสร้างคนเพื่อเข้าสู่สายการทำงานต่างๆ แต่กลับละเลยที่จะให้บทเรียนที่สำคัญและมีคุณค่าที่สุด นั่นก็คือการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง เราถูกผลักให้มองออกไปข้างนอก จนไม่เคยเห็นความสำคัญของการมองเข้าไปข้างใน นวนิยายเรื่องนี้ได้ทำให้เราได้ฉุกคิดว่า บางทีแนวทางการศึกษาที่ผ่านมาอาจพามนุษย์ให้เดินหลงทางเพราะการเรียนที่แท้ จริงนั้นมีอยู่เพียงหนึ่งเดียว นั่นก็คือการเรียนรู้จักชีวิตโดยผ่านทางตัวของเราเอง

5. ลับแล, แก่งคอย ของ อุทิศ เหมะมูล

มนุษย์พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับอัตลักษณ์หรือตัวตนในท่ามกลางสังคมที่กำหนดหรือคาด หวังให้เขา “เป็น” จนบางครั้งเราอาจต้องตั้งคำถามว่า เราเป็นปัจเจกชนที่มีวิญญาณอิสระ หรือเป็นเพียงผลผลิตจากพิมพ์ที่ผู้อื่นสร้างขึ้นมา

นวนิยายเรื่อง ลับแล, แก่งคอย เสนอมิติอันซับซ้อนของตัวตนมนุษย์ที่แยกไม่ออกจากประวัติความเป็นมาของครอบ ครัว ชาติพันธุ์ ชุมชน สังคม ความเชื่อ ตำนาน เรื่องเล่า ฯลฯ ในความเป็น “เรา” จำต้องโยงใยกับ “ความเป็นอื่น” หรืออีกนัยหนึ่ง ความเป็นอื่นนั้นแหละที่สร้างเราขึ้นมา

ลับแล, แก่งคอย เล่าเรื่องชีวิตเด็กชายวัยรุ่นที่ถูกอำนาจแห่ง “ความถูกต้อง” ควบคุมโดยไม่รู้ตัว ความคิดและการดำเนินชีวิตที่ถูกกำหนดไว้นั้นมีพลังอำนาจเกินกว่าจะขัดขืน ชีวิตที่ขาดอิสระจึงเหมือนการเดินวนอยู่ในเขาวงกต ทางออกของเขาที่ดูเหมือนว่ามีอยู่เพียงทางเดียวจึงเกือบนำไปสู่การแตกสลาย ของตัวตน
นวนิยายเรื่องนี้จึงทำให้เราตระหนักว่า การตอบคำถาม “ฉันคือใคร?” อาจเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์

6.โลกใบใหม่ของปอง ของ ไชยา วรรณศรี

โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ได้ผ่านความรุ่งเรืองและเสื่อมสลายมานับครั้งไม่ถ้วน ภัยพิบัตินานาจากธรรมชาติ สงครามและการทำลายล้างที่เกิดโดยน้ำมือมนุษย์ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้น สุด จนเป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดมนุษย์จึงมิได้ตระหนักถึงบทเรียนจากอดีต เหตุใดกงล้อประวัติศาสตร์จึงหมุนซ้ำย่ำรอยเดิม

“โลกใบใหม่ของปอง” ของไชยา วรรณศรี เป็นนวนิยายขนาดสั้นที่พาผู้อ่านโลดแล่นไปกับจินตนาการอันบรรเจิดของเด็กชาย ปอง เด็กน้อยชาวเขมรที่ใช้โลกจินตนาการหลีกหนีจากบาดแผลความเจ็บปวดของสงคราม โลกของปองเล่นล้อกับโลกคู่ขนานระหว่างความเป็นจริงกับมโนนึก เพื่อค้นหาจุดกำเนิดและจุดมุ่งหมายของมนุษยชาติ นับแต่โลกใบเก่าที่มนุษย์วิวัฒนาการมาจากลิง การสร้างโลกของพระเจ้า น้ำท่วมโลกและเรือโนอาห์ ฯลฯ จนมาถึงโลกใบใหม่ที่แม้สงครามภายในชาติจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ปองก็ต้องเผชิญสงครามในรูปแบบใหม่ในนามของความโลภและความเห็นแก่ตัวของ เพื่อนมนุษย์ ซึ่งเนื้อแท้แล้วก็มิได้แตกต่างจากโลกที่เขาผ่านพบมาในวัยเยาว์

“โลกใบใหม่ของปอง” กระตุ้นให้ผู้อ่านขบคิดว่า ไฉนมนุษย์เราจึงแก่งแย่งชิงอำนาจ
ฆ่าฟันกัน ทั้งๆ ที่มนุษย์ล้วนมีจุดกำเนิดเดียวกันและรอวันแตกดับในวัฏจักรของชีวิตบนโลกใบ เดิม ทำอย่างไรเราจึงสามารถหลีกเลี่ยงกงล้อความชั่วร้ายจากน้ำมือมนุษย์ เพื่อสร้างโลกในอนาคตที่มนุษย์จะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

7.วิญญาณที่ถูกเนรเทศ ของ วิมล ไทรนิ่มนวล

วิญญาณที่ถูกเนรเทศ เป็นนวนิยายสะท้อนชีวิตของผู้ผูกพันถวิลถึงสังคมชนบทอันสงบงามอย่างล้ำลึก ที่จำต้องเข้าไปสู้ชีวิตในซอกหลืบของเมืองใหญ่อย่างคับแค้น แม้เมื่อดวงวิญญาณได้หวนคืนสู่ถิ่นเกิดดังปรารถนา กลับพบกับความล่มสลายของสังคมที่ถูกกลืนกินด้วยโรงงานและทุนนิยมยุคโลกาภิ วัตน์ อันเกิดจากหัวใจผู้คนที่ละโมบ โง่เขลา และเนรคุณต่อแผ่นดิน ซึ่งนำไปสู่ความแตกหัก พลัดพราก เสื่อมโทรมและสูญสิ้น จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมแห่งจิตวิญญาณที่ถูกเนรเทศ

ผู้แต่งเล่าเรื่องอย่างสมจริงและเหนือจริง คู่ขนานทั้งด้านกายภาพและด้วยจิตวิญญาณ โดยผ่านมุมมองทางนิเวศวิทยาและพุทธปรัชญาได้อย่างลึกซึ้ง และด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ที่แนบเนียนละมุนละไม จึงทำให้ภาพสะท้อนอันหม่นมัวสะเทือนอารมณ์และมีเสน่ห์ชวนให้ติดตามเป็นอย่าง ยิ่ง

รู้อย่างนี้แล้ว สาวกคอนวนิยายห้ามพลาดที่จะหานวนิยายเหล่านี้มาอ่านกันน๊ะจ๊ะ…

ที่มาwww.google.com(ข้อมูลจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์)

คำสำคัญ (Tags): #วรรณกรรม
หมายเลขบันทึก: 291853เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2009 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

มาเฟียก้นซอย ขอบคุณที่นำข้อมาบันได้ใช่สือช่องทางนี้รับข่าวสารวรรณกรรม  นานแล้วที่ห่างหายไม่ได้ติดตามข่าววรรณกรรมซีไรต์

เลือกนำเสนอเนื้อหาได้น่าสนใจดี

ดีใจมากค่ะที่ได้รู้จักโฉมหน้าของนวนิยายเล่มใหม่ ขอบคุณมากค่ะท่านมาเฟียก้นซอย

เนื้อหาน่าสนใจมาก นำเสนอมาอีกนะคะ

ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้ครั้งแรกที่ได้รับ...........

อ่านแล้วนะน้องเรารุ่นเดียวกัน(อบรม)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท