การตลาดไม้ผลที่ยั่งยืนและมีบูรณาการกรณีกล้วยหอมทองละแม 3


การตลาดไม้ผลที่ยั่งยืน กล้วยหอมทองละแม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ทบทวนวรรณกรรม ตำนานกล้วยหอมทอง ส่งออกญี่ปุ่น เพื่อประกอบบทเรียน ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น  จำได้ว่าอาจารย์เสน่ห์ โสดาวิจิตร ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี  ท่านเรียกผมว่าพ่อและโทรศัพท์ ถามสารทุกข์ สุขดิบ อยู่เป็นประจำ หลายปีมาแล้วท่านได้มอบหนังสือรายงาน ที่นักศึกษาจัดทำส่งอาจารย์  ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณทิต(เศรษฐศาสตร์และสหกรณ์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์    ให้แก่ผม 1 เล่ม  ชื่อเรื่อง ว่า การศึกษาการพัฒนาธุรกิจส่งออกกล้วยหอมทองปลอดสารพิษ ของสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด จังหวัดเพชรบุรี จัดทำโดย นางสาวกชามาศ สุสุทธิ

            ขอนำภาพรวมกระบวนการส่งออก ของสหกรณ์ท่ายางกับ สหกรณ์โตโต้ มาให้ท่านได้ศึกษาประกอบไปด้วย

            การกำหนดกระบวนการด้านการผลิต เนื่องจากสหกรณ์ท่ายาง เป็นองค์กรที่  การจัดการทุกอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว   มีแผนผังสมาชิก ทั้งการแบ่งโซนและการแบ่งกลุ่มย่อย ดังนั้นเมื่อยามาโมโต้ นำเสนอ กิจกรรมที่ทำแล้ว เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จะได้ผลกำไร ทั้งที่นับมูลค่าได้คือเงิน และ กำไรที่ประมาณค่ามิได้คือความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นกับองค์กรและสมาชิก มองเห็นกำไรทุกด้านแล้ว  คณะกรรมการบริหารจึงมีมติตกลงส่งเสริมให้สมาชิก ปลูกกล้วยหอมทองปลอดสารพิษเพื่อส่งไปยังสหกรณ์ผู้บริโภค โตโต้ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น  การส่งเสริมเริ่มต้นด้วย การวางแผนการผลิต โดยคัดกรองสมาชิกที่มีความพร้อมในด้านการปลูก  สมัครใจที่จะปลูกกล้วยปลอดสารพิษ

          ซึ่งก็มีขั้นตอนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้แก่ 1 ประชุมสมาชิกที่ได้รับการคัดเลือกขึ้นบัญชีไว้  มีสามฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคือ  ผู้ประสานงาน สหกรณ์ผู้บริโภคโตโต้ และองค์กรผู้ผลิต สมาชิกสหกรณ์ท่ายาง  หลังจากพูดคุยแลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจกันอย่างชัดเจน  ก็ให้สมาชิกที่สนใจจริงสมัครเข้าสู่โครงการ   ทางสหกรณ์ก็ได้ประสานงานผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการปลูกพืชปลอดสารเคมี มาอบรมให้ความรู้ แก่สมาชิก  หลังจากสมาชิกเต็มใจและตั้งใจปลูก ก็จัดทำหนังสือสัญญาการผลิตและการส่งผลผลิตให้กับสหกรณ์และ จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับทำสัญญา 

         กระบวนการที่สำคัญคือ ข่าวสารการดำเนินงานทุกขั้นตอน  รวมถึงข้อมูลสมาชิกผู้ปลูกกล้วย   ได้ถูกส่งไปให้ผู้บริโภคได้รู้ตลอดเวลา    และมีการทดลองส่งออกทางเครื่องบิน ครั้งแรก 500 กิโลกรัม และส่งไปใหม่อีกครั้ง การทดลองส่งออก ครั้งแรกล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะเกิดความเสียหายหมด     พันเอกสุรินทร์ ชลประเสริฐ ได้ประสานกับกองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตรในสมัยนั้น เข้าไปช่วยเหลือดูแล  จนสามารถผ่านการตรวจจากด่านตรวจกักกันพืชที่ญี่ปุ่นได้  เมื่อประสพผลสำเร็จแล้ว การทำพิธีลงนาม ในสัญญาซื้อขายกล้วยหอมทองปลอดสารพิษ  ระหว่างสหกรณ์ผู้บริโภค และสหกรณ์การเกษตรท่ายาง   จึงมีขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2536 ณ โรงแรมรีเจนซี่ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี  และหลังจากได้ทำการผลิตกล้วย ได้ร่วมกันปรับปรุงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งสองด้าน คือระหว่างสมาชิกสหกรณ์ผู้บริโภคโตโต้ กับสมาชิกผู้ปลูกกล้วย การเดินทางไปเรียนรู้ กับผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น ของกรรมการบริหาร และการเดินทางมาร่วมกิจกรรมที่ท่ายาง ของตัวแทนสมาชิกผู้บริโภค ก็เกิดการประชุมสรุปผล และลงนามทำสัญญาซื้อขาย ครั้งที่ 2 เมื่อ วันที่ 17 ตุลาคม ปี 2538 ขณะนั้น การส่งออกตกอยู่ที่ปริมาณ 27 ตัน ต่อเดือน

          สุดท้ายนี้ผมก็ขอบอกเล่าเรื่องราวที่ผมพอรู้มาเกี่ยวกับกระบวนการของสหกรณ์ท่ายาง กับสหกรณ์ผู้บริโภคโตโต้ ที่มีความเหมือนกันในรูปแบบการจัดระบบตลาด   แต่ศักยภาพด้านการส่งเสริมการผลิตของสหกรณ์ท่ายางนั้น เต็มเปี่ยม สมบูรณ์แบบ มีความพร้อมแทบทุกด้าน ดังนั้นความประทับใจจากบทเรียนที่เกิดขึ้น จึงมีเพียงการนำกระบวนการที่ในญี่ปุ่นได้ทำกันจนเป็นเรื่องปกติ  มาทดลองใช้ที่ท่ายางเรียกน้ำย่อยเล็กๆน้อยๆให้กับยามาโมโต้ ว่างั้นเถอะ 

          ความบริสุทธิ์ ความว่างเปล่า อย่างพื้นที่ในอำเภอละแม ซึ่งไม่เคยพานพบกิจกรรมเหล่านี้ ถ้าเปรียบเป็นหญิงสาว ก็เหมือนกับเด็กสาวพรหมจารีแสนบริสุทธิ์  การได้เป็นพ่อสื่อแม่ชักให้หนุ่มอาวุโสอย่างสหกรณ์โยโดงาว่า มาร่วมสร้างสรรค์  สมสู่  จนเกิดผลผลิตใหม่ขึ้นมา  ซึ่งหากเปรียบกล้วยหอมทองเหมือนคน ก็จะเปรียบได้ดังว่า เป็นบุตรที่เกิดขึ้นจากการแต่งงานของคนสองคน  การที่ได้แนะนำปลูกฝังเชื่อมโยงจนทั้งสองฝ่ายเข้าใจกัน ตกลงใจสู่ขอ (ลงนามในแถลงการณ์ร่วม)และเข้าพิธีวิวาห์ สร้างครอบครัว    โดยทั่วไปพ่อสื่อแม่ชักเมื่อทำหน้าที่จนทั้งคู่เข้าสู่พิธีวิวาห์ แล้วก็ไม่สนใจอีกต่อไป         แต่พ่อสื่อคนนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น  ต้องทำหน้าที่สอดส่งดูแลครอบครัวใหม่ชนิดไม่วางตา เพื่อให้ได้บุตรที่ดี(กล้วยหอมทองปลอดสารเคมี) และแถมยังช่วยตลอดมาชนิดเรียกว่าหากลูกที่เกิดมาไม่ดีจริงจะไม่ยอมวางมือ ว่างั้นเถอะ

           ผมเขียนเรื่องราวมาถึงสามตอนแล้ว เอ่ยถึง ยามาโมโต้ กับจุลโคยาม่ามาตลอดโดยไม่ได้บอกกล่าวให้เจ้าตัวรับรู้  ซึ่งท่านทั้งสองคงมองผมเหมือนกับเพื่อนคนไทยคนหนึ่ง แต่ในความคิดของท่านจะมองผมในทางลบอย่างไรบ้างผมไม่ทราบ  แม้ว่าผมจะไม่ได้ร่วมกิจกรรมกับท่านมาตั้งแต่ปี 2544 แต่ผมเป็นคนไทยอีกคนหนึ่งที่สนใจกระบวนการด้านการตลาดไม้ผลของท่าน 

            ตั้งแต่ได้ทำกิจกรรม ร่วมกับยามาโมโต้มา ทำให้ผมเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบ การส่งเสริมการตลาดไม้ผลของพี่น้องเรามาตลอดเวลา   ชีวิตที่ชอกช้ำแล้วชอกช้ำอีกของพลเมืองภาคเกษตร  ซึ่งหมายรวมถึงตัวผมและบรรพบุรุษของผม ผลผลิตที่ดีจากเกษตรกรดีๆ แทบทุกอย่างเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง ก็ถูกนำไปกองรวมไว้กับพ่อค้าแม่ค้าที่รอรับซื้อริมถนนด้วยราคาเท่าเทียมกันกับผลผลิตห่วยๆ    อย่างดีก็มีการนำไปประชาสัมพันธ์ทางสื่อในฐานะของผลไม้ราคาถูกให้ประชาชนทั่วไปฮือฮากันไปซื้อ งบประมาณที่ถูกส่งลงสู่การจัดการให้เกิดการตลาดไม้ผล ช่วยเหลือเกษตรกร ปีแล้วปีเล่า ก็ไม่เคยได้เห็นผล สนองตอบที่เกิดขึ้น ต่อเม็ดเงินที่จัดสรร     องค์กรที่เป็นสถาบันต่างๆ แทบจะไม่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการตลาดให้กับเกษตรกร    มุ่งแต่การพัฒนาส่งเสริมผลผลิตอย่างไม่มีการจัดการระบบข้อมูลการผลิตได้ชัดเจน แต่ว่าไปแล้ว ผมยังรู้สึกสบายใจเมื่อเปิดเวบซ์ไซด์จังหวัดจันทบุรี แล้วได้เห็นการจัดการระบบข้อมูลไม้ผลของจังหวัด  สามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวของตลาดไม้ผล มังคุด เงาะ ทุเรียน ตั้งแต่ปริมาณพื้นที่ปลูก  ปริมาณพื้นที่ที่ได้รับผลผลิต ปริมาณผลผลิตที่ออก ผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดวันแรกเปรียบเทียบกับผลผลิตที่คาดการไว้ ราคาผลผลิตที่ได้รับตั้งแต่วันแรก ชนิดเรียกว่าเก็บข้อมูลกันทุก 2 วัน ซึ่งภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงทำไม่ได้   แต่น่าจะเกิดจากความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับไม้ผลทั้งหมดทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ปลูก ผู้รับซื้อ ผู้ส่งออก ทุกกลุ่มสามารถเรียนรู้เข้าใจกันได้ และปรับเป้าหมายในการสร้างสุขร่วมกันได้ในระดับหนึ่ง 

       อาจารย์ไอศูรย์ครับอาจจะออกนอกลู่นอกทางเรื่องกล้วย แต่หากได้ระบายความรู้สึกออกมาบ้าง มันทำให้รู้สึกสะบายเขียนต่อไปได้โดยไม่อึดอัด  ขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบและวิจารณ์ต่อ ณ ครับ 

หมายเลขบันทึก: 291019เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2009 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาอ่านเรื่องดีๆมีประโยชน์

สวัสดีครับ

  • พี่โอภาสเขียนดีแล้วครับ ผมไม่เห็นจะออกนอกลู่นอกทางตรงไหน
  • ตรงกันข้ามในการเขียนเรื่องเล่า (Storytelling) ผมเห็นเป็นความจำเป็นด้วยซ้ำไปว่า จะต้องมีอารมณ์ความรู้สึกนำเสนอออกมาให้ผู้อ่านสัมผัสได้
  • เพราะด้วยอารมณ์สะเทือนใจจะเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการเจาะเปลือกใจ ให้เราแสดงออกมาจากจิตใจได้อย่างแท้จริง
  • พูดออกมาจากใจ...ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ น่ารังเกียจ หรือน่าตำหนิติเตียนแต่ประการใด เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนทำได้อยู่แล้ว เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่แท้
  • แต่เราไปฝึก "จริตวิทยา" ผ่านระบบการศึกษา ระบบงานในสำนักงาน และการขัดเกลาทางสังคมในระบบทุนนิยม ซึ่งใช้เงินเป็นตัวตั้ง
  • เรื่องดี ๆ แบบนี้จึงถูกครอบงำด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคมจนเราหลงลืมไปว่า แท้ที่จริงเป็นที่มีค่ายิ่งในการดำเนินชีวิตบนวิถีของมนุษย์ที่แท้

อ.ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท