ชาวนา ควรเตรียมตัวพัฒนาปรับปรุงการผลิตข้าวให้มีประสิทธิภาพเพื่อแข่งกับเพื่อนบ้าน รองรับ AFTA


ใช้สารสกัดจากพืชหรือสมุนไพร หรือใช้จุลินทรีย์ในการป้องกันและรักษา

ในต้นปีหน้านี้คือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป ไทยเราจะก็จะเริ่มเข้าสู่ระบบเขตการค้าเสรีอาเซี่ยน AFTA ซึ่งจะทำให้ภาษีนำเข้าข้าวลดลงเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันที่เสรีในด้านการนำเข้าและส่งออกกันมากขึ้น โดยไม่ต้องจ่ายภาษีให้ยุ่งยากลำบากหัวใจ แต่พ่อค้าข้าวบ้านเราก็อย่าเพิ่งดีใจกันไปนะครับ เพราะกำลังจะบอกว่าในโอกาสก็จะมีความเสี่ยงหรืออุปสรรคอยู่ด้วยครับ เพราะเพื่อนบ้านเราก็สามารถที่จะนำสินค้าของเขาเข้ามาแข่งขันในบ้านเราได้เหมือนกันโดยที่ต้นทุนอาจจะเท่ากันหรือต่ำกว่ากันอีกด้วย ดังนั้นเกษตรกรของไทยเราถ้ายังไม่ตื่นตัวและปรับปรุงพัฒนาคุณภาพให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้เรามีข้าวที่ต้นทุนสูงและคุณภาพต่ำ มีผลผลิตออกไปก็ไม่สามารถที่จะไปต่อสู้หรือแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านของเราได้


ถ้าเกษตรกรมีการพัฒนาและประยุกต์ใช้ความรู้วิชาการสมัยใหม่ในแนวทางที่ปลอดสารพิษ หรืออินทรีย์ชีวภาพมาผสมผสานกับประสบการณ์ที่ช่ำชองยาวนานของตัวพี่น้องเกษตรกรเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะได้รับช่วงต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษแบบรุ่นต่อรุ่นก็จะทำให้สามารถมีนวัตกรรมการทำเกษตรที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ และหลากหลายแนวทาง จะช่วยทำให้เกิดการต่อยอดผสมผสานเกิดขึ้นในระบบการเกษตรอีกมากมาย ที่สำคัญโดยเฉพาะการทำนาหรือปลูกข้าวแบบปลอดสารพิษนั้น ต้นทุนก็จะต่ำ ไม่ทำลายระบบนิเวศน์  ช่วยรักษาดินไม่ให้เสื่อมโทรมไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งไม่ทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นชนิดดีมีประโยชน์ ที่คอยค้ำจุน ช่วยเหลือข้าวให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแรง ไม่อ่อนแอต่อโรคและแมลง วิธีการทำนาแบบปลอดสารพิษจะช่วยทำให้ดินกลับคืนมาสู่สภาพที่สมบูรณ์เหมือนป่าเปิดใหม่ คือครบองค์ประกอบแบบที่เขาพูดกันทั่วไปว่า ดิน ดำ น้ำดี ทำให้เราไม่ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นในการซื้อปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เพราะอาหารในดินจะมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เมื่อข้าวได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนจากดิน ก็ไม่ต้องนำปุ๋ยเคมีเข้ามาเติม และยังช่วยทำให้ข้าวสร้างภูมิคุ้มกันรวมทั้งฮอร์โมนต่าง ๆ ออกมาโดยอัตโนมัติทำให้พืชมีความแข็งแรงตามธรรมชาติ โรคและแมลงเข้าทำลายได้ยาก หรือเข้ามาบ้างก็ใช้สารสกัดจากพืชหรือสมุนไพร หรือใช้จุลินทรีย์ในการป้องกันและรักษาได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น ถ้าพวกเรามีการเตรียมตัวและปรับตัวกันตั้งแต่ตอนนี้ก็คงยังไม่สายเกินไป เพราะการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาเป็นการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์นั้น จะช่วยทำให้เป็นการพัฒนาไปสู่การเกษตรที่ยั่งยืน ช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง เพราะดินและน้ำจะค่อยพัฒนาตัวเองจนมีสภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆ สารพิษหรือสารเคมียาปราบศัตรูพืชก็จะค่อยลดการสะสมออกจากดินไปเรื่อยๆ เหมือนกับเป็นการล้างหรือทำความสะอาดดิน วิธีการหรือแนวทางที่ปลอดสารพิษนี้จะช่วยทำให้ลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศช่วยประหยัดเงินได้อย่างมหาศาล และที่สำคัญคือทำให้ตุ้นทุนและคุณภาพของ “ข้าว” เราพัฒนาไปในแนวทางที่ดียิ่งขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาดมีความสามารถในการที่จะนำไปต่อสู้และแข่งขันกันในตลาดทั้งในและนอกประเทศ ถ้าเรายังมัวแต่มุ่งการผลิตเกษตรเพียงเพื่อให้ได้ผลผลิตมากโดยไม่คำนึงถึงต้นทุน (ในแนวทางการใช้ปุ๋ยและยาเคมีปราบศัตรูพืช) ที่สูงตามมาด้วย ก็จะทำให้ระบบการเกษตรของไทยเราล้าสมัยถอยหลังลงคลอง เพราะผลผลิตที่ยังมีสารพิษปนเปื้อนในอนาคตก็จะไม่มีใครต้องการ

 

มนตรี   บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 290510เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2012 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท