คำนิยามที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์


มาตามคำเรียกร้องของเพื่อนๆ ป.โท ม.บูรพา รุ่น 2 ทุกคน พี่เอกจัดให้

นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง กระบวนการสร้างและกระทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเกิดจากความคิดสร้างสรรค์และการเปลี่ยนแปลงความคิด เพื่อนำไปในใช้ในผลิตสินค้าใหม่ การให้บริหารหรือวิธีการดำเนินงาน ความหมายเชิงการตลาด หมายถึง การเปลี่ยนแปลงหรือการค้นพบสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ หรือการประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่มีมาก่อน หรือค้นพบเทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น และนำไปสู่การปฏิบัติ

องค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) องค์การที่มีการดำเนินการให้บุคคล ทีม หรือกลุ่มในองค์การ ได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถในการเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนตนเอง ทั้งนี้ เพื่อนำองค์การไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ การเรียนรู้ต้องเป็นไปอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และเป็นไปอย่างพร้อมเพรียงทั่วทั้งองค์การ แนวทางการพัฒนา เพื่อเข้าสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มี 5 ประการหลัก ตามแนวคิดในหนังสือ The Fifth Discipline ของ Peter Senge ประกอบด้วย

1.     Mental Model คือการเริ่มต้นมองดูตัวเอง กำหนดเป้าหมายชีวิตการงาน สร้างทัศนคติด้านบวก เปิดใจทั้งรับฟังผู้อื่นและแสดงความคิดเห็นตัวเองให้ผู้อื่นทราบ

2.     Personal Mastery คือการหมั่นพัฒนาตนเองทั้งทักษะ และความรู้ตลอดเวลา ถือว่าการเรียนรู้คือชีวิต ให้มีความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ

3.     Shared Vision คือการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม เพื่อยึดเป็นเป้าหมายการทำงานร่วมกัน เป็นแนวทางการทำงานแรกที่ขยายตัวออกจากตัวเองไปสู่มุมมองในระดับทีมงาน และระบบงานต่อไป

4.     Team Learning คือการเรียนรู้ร่วมกันเป็นที่ม ก่อให้เกิด Synergy ของการเรียนรู้ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ร่วมกัน ตามวิสัยทัศน์ที่ร่วมกันกำหนดขึ้น

5.     Systems Thinking คือการพิจารณาอย่างรอบคอบ ให้เห็นภาพรวม และผลกระทบของทั้งระบบ

 

กระบวนการ หรือ กรรมวิธี (process) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ผู้สังเกตสามารถเห็นลักษณะ หรือแนวทางที่แนบนัยกันตลอดในเรื่องนั้นๆ เช่น กรรมวิธีผลิตสิ่งของต่างๆ ซึ่งต้องทำเป็นขั้นตอน หรือกระบวนการวิวัฒนาการ ฯลฯ

 

กระบวนทัศน์ (Paradigm) หมายถึงชุดของความคิดเห็น (ideas) ข้อสมมุติเบื้องต้น (assumptions) แนวความคิด (concepts) และรูปแบบความสัมพันธ์ (relationship) ที่บุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร หรือสถาบันใช้ในการมองโลก สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโลก และกำหนดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญหรือมีคุณค่า 

กระแสการพัฒนาแบบโลกาภิวัตน์ (Globalization) หมายถึง ระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเชื่อมโยงถึงกันเป็นหนึ่งเดียว กลายเป็นระบบเศรษฐกิจระดับโลก ทั้งในส่วนของการหมุนเวียนเงินลงทุน การลงทุนเพื่อการผลิต การจัดจำหน่าย

กลยุทธ์ หรือ ยุทธศาสตร์ (Strategy) แผนการปฏิบัติการที่อธิบายถึงการจัดสรรทรัพยากรและกิจกรรม  อื่น ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย หรือหมายถึงแผนอย่างกว้างซึ่งได้พัฒนาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในระยะยาว

ความพร้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Readiness) หมายถึง ความพร้อมขององค์กรในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างองค์กร ทรัพยากรบุคคล ข้อมูล กระบวนการทำงาน และระบบการบริหารงาน เป็นต้น

 

การจัดการความรู้ (Knowledge Management) เป็นกระบวนการที่ดำเนินการร่วมกันโดยผู้ปฏิบัติงานในองค์กร หรือหน่วยงานย่อยขององค์กรเพื่อสร้างและใช้ความรู้ในการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดีขึ้นกว่าเดิม การจัดการความรู้เป็นกิจกรรมของผู้ปฏิบัติงานไม่ใช่กิจกรรมของนักวิชาการหรือนักทฤษฎี แต่นักวิชาการหรือนักทฤษฎี อาจเป็นประโยชน์ในฐานะแหล่งความรู้ การจัดการความรู้เป็นกระบวนการที่เป็นวงจรต่อเนื่อง เกิดขึ้นจากการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เป้าหมาย คือ การพัฒนางานและพัฒนาคน โดยมีความรู้และกระบวนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ

 

การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) เป็นกระบวนการที่บริษัท หรือหน่วยงานปรับตัวอย่างขนานใหญ่ ทั้งในเรื่องวัฒนธรรมขององค์กรและผลการทำงาน เพื่อที่จะอยู่รอดและแข่งขันในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ และการเปลี่ยนแปลงที่จะประสบความสำเร็จ มักจะต้องเกิดจากการมีผู้นำที่มีจินตนาการเห็นการไกล และมีความต้องการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ

 

การบริหารคนเก่ง หรือ Talent Management (TM) เป็นเครื่องมือทางการบริหาร จัดการอย่างหนึ่ง ที่จะเสริมสร้างความเก่งของพนักงานในองค์กร โดยการพยายามหาจุดแข็งของคนให้พบ แล้วพัฒนาให้เป็นความเก่ง และนำไปโยงกับระบบผลตอบแทน ดังนั้น ระบบ Talent จึงเป็นระบบที่องค์กรใช้สร้างคนเก่ง คนดี ด้วยการมองข้ามจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของคน

 

การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เป็นการจัดการกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์บางอย่างในอนาคต ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบบางประการต่อองค์การ รวมถึงการจัดให้มีกลยุทธ์ เทคนิค และแนวทางในการรับรู้และเผชิญกับภัยที่จะมาคุกคามองค์การไม่ให้การปฏิบัติภารกิจแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การบริหารความเสี่ยง เป็นเรื่องของการรวมองค์ประกอบของการบริหารที่ดีกับการตัดสินใจในทุกระดับเข้าด้วยกัน

 

การบริหารทีมงาน (Team Management) การจัดการของผู้บริหารในการนำเอาความสามารถในการทำงานของผู้ร่วมทีมทุกคนออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่องานหรือเป้าหมายในการทำงาน และพัฒนาศักยภาพในการทำงานของผู้ร่วมทีมทุกคน ให้สามารถเรียนรู้ แล้วทำงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

การบริหารแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ (Results-based Management) หมายถึง การบริหารแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ต้องการทำให้ผู้บริหารกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การและเป้าหมายของการปฏิบัติงานอย่างชัดเจนและสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการจัดทำตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก (key performance indicator) และเกณฑ์มาตรฐานไว้ล่วงหน้า (ex ante specification) รวมทั้งการใช้ประโยชน์ของข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน (performance-related information) ในการปรับปรุงประสิทธิภาพ คุณภาพ และประสิทธิผลของการดำเนินงาน อันจะก่อให้เกิดภาระรับผิดชอบต่อผลงาน (accountability for results) ในท้ายที่สุด

 

องค์การชั่วคราว หรือ องค์การเฉพาะกิจ เป็นองค์การขนาดกลางซึ่งมุ่งความสำคัญที่การปรับตัว (Adaptability) โดยมีระเบียบแบบแผน (Formalization) และการกระจายอำนาจ (Decentralization) ในการตัดสินใจต่ำ กล่าวคือ มีรูปแบบของการออกแบบงค์การซึ่งเน้นความเชี่ยวชาญตามแนวตั้งและแนวนอน แต่มีรูปแบบเป็นทางการน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างแบบมีชีวิต (Organic Structure) การตัดสินใจกระจายอำนาจภายในองค์การ เป็นรูปแบบโครงสร้างที่เสนอโดยนาย Mintzberg โดยทั่วไปพบในองค์การที่เปิดใหม่ซึ่งมีขอบเขต เทคนิคและสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน ตลอดจนมีกลไกการเกิดการเคลื่อนไหว (Dynamic)

 

องค์การเสมือนจริง (Virtual Organization) หมายถึง องค์การซึ่งดำรงอยู่ด้วยเครือข่ายชั่วคราว หรือพันธมิตรของหน่วยงานที่เป็นอิสระและดำเนินการร่วมผลประโยชน์ของหน่วยงานโดยเฉพาะ

 

ห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) หมายถึง การเชื่อมโยงของกิจกรรมต่างๆที่สร้างคุณค่าให้แก่องค์กร กล่าวคือ ในการผลิตหรือการบริการ จะมีกิจกรรมต่างๆหลายชนิดเกิดขึ้น แต่ละกิจกรรมจะมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องเหมือนห่วงโซ่ (Chain) และแต่ละกิจกรรมต้องมีความสำคัญในการสร้างคุณค่า (Value) หรือสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และเมื่อทำทุกกิจกรรมต่อเนื่องกันจะเกิดห่วงโซ่แห่งคุณค่า ทำให้ผลผลิตที่เกิดขึ้นมีคุณค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนส่งมอบ

หมายเลขบันทึก: 289655เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะแวะมาเยี่ยมชมผลงาน ขอบคุณมากค่ะที่ให้ความรู้

อ่านแล้วครับเป็นบทความที่ดีมากครับ

ได้ความรู้มากเลยค่ะท่านพี่......และเมื่อนำเสนอแล้ว....เพิ่มเป็น 2 เท่า

ขอขอบคุณ กับนิยามต่างๆที่น่าสนใจคะ

ขอบคุณพี่เอกที่หาคำนิยามที่น่าสนใจในการบริหาร โดยเฉพาะศัพท์ภาษาอังกฤษ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท