KM สุขภาวะชุมชน จังหวัดชุมพร (๒)


สีหน้าทุกคนผ่อนคลายไม่เคร่งเครียด ทั้งคนเล่าและคนฟังตั้งใจกันอย่างเต็มที่

ตอนที่

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒

เมื่อคืนทำการบ้านสำหรับกิจกรรมในวันนี้ คิดเอาไว้ว่าจะให้ผู้เข้าประชุมเข้ากลุ่มเล่าเรื่องกันอีกที และให้มีการนำเสนอเรื่องดีๆ ของกลุ่ม ส่วนเกณฑ์ระดับขีดความสามารถของแต่ละทีม จะใช้เกณฑ์ที่เคยทำไว้จาก workshop สุขภาวะชุมชนอื่น โชคดีที่ในห้องพักของโรงแรมมีอินเตอร์เน็ตให้ใช้ฟรี จึงสามารถติดต่อกับลูกน้องที่นครศรีธรรมราชให้ส่งข้อมูลที่ยังขาดมาให้ได้

ตอนเช้าเรา check out จากโรงแรมก่อนเดินทางไปที่วัด น้องสาวเริ่มกิจกรรมอุ่นเครื่องเล็กๆ น้อยๆ ดิฉันให้ตัวแทนแต่ละพื้นที่ได้บอกว่าเรื่องดีๆ ของตนเองมีอะไรบ้าง ได้รู้เรื่องราวทั้งที่เกี่ยวกับงานสุขภาวะชุมชนโดยตรงและโดยอ้อม เช่น ที่พะโต๊ะ มีการล่องแพ แข่งเรือตอนปีใหม่ มีการดูแลผู้สูงอายุ ที่บ้านควนมีถ้ำ ๒ แห่ง มีงานลอยกระทง แข่งเรือ ที่ตะโก มีสวนผสมผสาน น้ำตก กลุ่มออมทรัพย์ ปุ๋ยหมัก สวัสดิการ ฯลฯ รวมทั้งทบทวนสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในวงเล่าเรื่อง

เมื่อแยกวงเข้ากลุ่มย่อย บรรยากาศในการเล่าเรื่องของวันนี้แตกต่างไปจากเมื่อวานนี้อย่างมาก ดูสีหน้าทุกคนผ่อนคลายไม่เคร่งเครียด ทั้งคนเล่าและคนฟังตั้งใจกันอย่างเต็มที่ ดิฉันทำหน้าที่เสริมคุณอำนวยกลุ่มหนึ่ง ได้ฟังเรื่องราวหลากหลาย เช่น ท้องถิ่นท้องที่สามัคคี ธนาคารต้นไม้ ธนาคารหมู่บ้านของเมืองชุมพร กลุ่มออมทรัพย์ การดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน กลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวกันรับจัดงานเลี้ยง ทำได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องจ้างคนจากข้างนอก การสื่อสารสร้างสุข ที่วิทยุชุมชนร่วมมือกับ รพ. กลุ่มสุขภาพจิต ฯลฯ

เรื่องที่ฟังแล้วรู้สึกว่าชาวบ้านของเราคงจะไม่ค่อยมีความมั่นคงทางการเงิน เพราะการมีที่ให้กู้เงินเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พี่นิตย์จากตะโก เล่าว่าเคยทำกลุ่มออมทรัพย์ พอสิ้นปีสมาชิกถอนหุ้นหมด ชาวบ้านไม่มีเงินออม มีแต่หนี้เพิ่ม พี่เขาว่ารู้สึกเจ็บใจจึงต้องหาวิธีการใหม่ เช่น สมาชิกต้องมาประชุม ถอนหุ้นออกไปทั้งหมดไม่ได้ ฯลฯ คนทำงานเล่าว่าโครงการเงินกู้ของรัฐบาลลงไป ไม่ใช่เรื่องดี

แต่ละกลุ่มใช้เวลาการเล่าเรื่องกันนานทีเดียว เมื่อจบก็มีตัวแทนมาเล่าให้ผู้เข้าประชุมทั้งหมดฟังว่าในกลุ่มของตัวนั้นมีเรื่องเล่าอะไรบ้าง หลังจากนั้นดิฉันเล่าต่อว่าจากเรื่องเล่าทั้งหมด เมื่อเราสกัดขุมความรู้ออกมาแล้วจะนำไปทำเกณฑ์ขีดความสามารถในการทำงานสุขภาวะชุมชนได้อย่างไร แล้วใช้เกณฑ์ขีดความสามารถที่มีอยู่ซึ่งปรับภาษาให้ชัดขึ้นให้แต่ละทีมได้ประเมินตนเอง

ทุกทีมมีการพูดคุยและประเมินตนเองอย่างเอาจริงเอาจังมาก คะแนนการประเมินตนเองได้นำมาทำแผนภูมิแม่น้ำและบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จับคู่ให้เห็นว่าใครจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องอะไรกับใครได้บ้าง ระหว่างที่แนะนำแต่ละขั้นตอน ดิฉันสังเกตเห็นว่ามีผู้เข้าประชุมหนุ่มๆ คอยจดรายละเอียดและซักถามเพิ่มเติม เขาบอกว่าสนใจจริงๆ อยากเอาไปใช้ต่อในงานที่ทำอยู่ ดิฉันจึงเกิดความคิดว่าจะจัด workshop สอนเทคนิควิธีการให้กับคนทำงานเพื่อให้นำไปขยายผลอีกที

เราทำงานต่อเนื่องยาวไปถึงเกือบบ่ายโมง ปิดท้ายด้วยการ AAR ให้ทั้งเขียนและพูด คนที่พูด AAR ทีมงานของคุณทวีวัตรได้ไปซื้อหาของมาแจกให้เป็นการขอบคุณด้วย ของที่แจกคือของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ยาสีฟัน น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ น้ำปลา ฯลฯ ใครที่ได้ของอะไรก็จะถูกแซวเป็นที่สนุกสนานกันตามสมควร

เสร็จงานดิฉันขอเดินทางกลับนครศรีธรรมราชพร้อมกับหนิงเลย เราแวะรับประทานอาหารกลางวัน (บ่าย) ที่ร้านชื่อเพื่อนร่วมทางหรือเพื่อนเดินทาง ไม่แน่ใจเรื่องชื่อร้าน แต่อยู่เยื้องๆ กับสวนโมกข์ ดิฉันเคยมารับประทานตอนไปจัดประชุมเรื่องเบาหวานที่ชุมพรเมื่อต้นปี ๒๕๕๐ (อ่านที่นี่) ชอบใจข้าวสวยนุ่มๆ ร้อนๆ เราสั่งอาหารเป็นแกงป่าปลาทราย ปลากระบอกต้มส้ม ผัดใบเหมียง (หรือเหลียง ไม่แน่ใจ) ไข่ระเบิด (ไข่เค็มเจียว) มีรายการอาหารที่แนะนำขึ้นป้ายไว้ว่า “หอยไฟไหม้” เรานึกว่าเป็นหอยเผา ปรากฏว่าไม่ใช่ เป็นหอยรูปร่างคล้ายหอยตลับแต่มีลายเหมือนไฟไหม้ อาหารของร้านนี้รสชาติใช้ได้ แต่ใส่น้ำมันมากไปหน่อย มีเงาะพันธุ์ท้องถิ่นขายพวงละ ๑๐ บาท เปลือกบางมาก รสหวานดี

เราเดินทางกลับถึงนครศรีธรรมราชโดยสวัสดิภาพ

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 289646เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท