จุ๋ม ; ผ่านบทเรียนแห่งการเยียวยาสู่การจัดการความรู้


วันนี้มาเยี่ยมจุ๋ม...ที่บ้าน

อสม.เล่าให้ฟังว่าจุ๋มมาที่ศูนย์ตั้งแต่เช้าและทำความสะอาด จุ๋มคือใคร?

-------------------------------------------------------------------------------

"จุ๋ม" เป็นชายไทยวันกลางคนอายุน่าจะประมาณสี่สิบปี เป็นผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตเวช

ทุกครั้งที่พูด จุ๋มจะใช้คำแทนตัวเองว่า "จุ๋ม" เสมอ...

ตามประวัตินั้น จุ๋มมีสาเหตุการเจ็บป่วยมาจากการเสพยาเสพติด และขาดการรักษาที่ต่อเนื่อง

 

จุ๋มเล่าเรื่องที่ฝังใจจากที่เคยไป admit ที่โรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง ภาพแห่งความเจ็บปวดฝังใจที่เคยโดยกระแทก ตี ภาพที่ไม่มีความสุขขณะ admit 

จุ๋มเล่าว่า "ชายสองคนวิ่งไล่จับ เหยียบ และถีบ" ยังจะให้จุ๋มกลับไปที่นั่นอีกเหรอ

พอพูดมาถึงตรงนี้ จุ๋มก็เริ่มควบคุมตัวเองไม่ได้ อารมณ์โกรธ และโมโหคุกกรุ่นขึ้นมา และเดินออกไปจากวงสนทนา พร้อมการก่นด่า อย่างควบคุมตนเองไม่ได้

เมื่อเห็นว่าจุ๋มเดินเข้าไปในบ้านที่อยู่ตรงข้ามจากศูนย์ที่เรานั่งคุยกันนั้น

ทีมเยี่ยมจาก "ชมรมเพื่อนรักเพื่อน" เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางจิต ได้แลกเปลี่ยนกันถึงประเด็นที่ว่า "กรณีของจุ๋มนี้เราจะมีแนวทางการช่วยเหลืออย่างไร"

ปัญหา คือ จุ๋มไม่ทานยา

              จุ๋มดื่มเหล้า

สองปัจจัยนี้ทำให้จุ๋มมีอาการทางจิตกำเริบ อีกเรื่องที่เราค้นพบก็คือ ครอบครัวขาดการยอมรับ และไม่ให้ความร่วมมือในการดูแลสภาวะการเจ็บป่วย...

ความสัมพันธ์กันในครอบครัว ค่อนข้างจะเป็นลักษณะก้าวร้าว สัมพันธภาพภายในบ้านนั้นจะไม่ดีนัก จุ๋มโวยวายเมื่อไรก็จะถูกพี่ชายควบคุมด้วยการทำร้ายร่างกายกัน...

จุ๋มเองมีอาการประสานหลอนร่วมด้วย มีหูแว่ว ได้ยินเสียงเด็กร้อง พูดในบางครั้ง กรอปกับดื่มเหล้า และไม่ยอมทานยาจิตเวช รวมถึงไม่ยอมไปรับการรักษา

ทางทีมของชมรม วางแผนกับการที่จะดึงครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม เริ่มสัมพันธภาพ พี่เนตร - เลขาชมรมอาสาที่จะเข้าไปคุยเพื่อสร้างสัมพันธภาพ เราได้คุยกันไปจนถึงขั้นวางแผนเพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา เพื่อให้ได้รับยา และเริ่มต้นการรักษา

การลงมาหาผู้ป่วยถึงพื้นที่ ด้วยแกนนำของชมรม "เพื่อนรักเพื่อน" เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางจิตนี้มีเป้าหมายเพื่อการมาช่วยเหลือ ซึ่งเป็นมิติที่ดีของการเยียวยาอย่างมีส่วนร่วมของคนทุกฝ่ายแบบไม่ต้องมีการสั่งการระหว่างกัน หากแต่เป็นการหันหน้าเข้าหากัน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ "ผู้ป่วย"

ขณะที่เรานั่งคุยกันนั้น จุ๋มเดินกลับมาด้อมๆ มองๆ หลังจากเดินหนีออกไปด้วยอารมณ์โมโหในก่อนหน้านี้ มารอบนี้จุ๋มหิ้วถังน้ำมารดน้ำต้นไม้ พี่เนตรเล่าให้ฟังว่า จุ๋มชอบมาอาสาทำงานและเมื่อได้ทำงานแล้วเขาดูมีความสุข รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เพราะทุกครั้งที่มาทำนั้นไม่มีใครบอกแต่จุ๋มจะมาเอง และดูค่อนข้างมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ตนเอง

ข้อค้นพบส่วนดีในตัวจุ๋ม

  • ชอบการยอมรับ
  • ชอบทำงาน
  • ชอบชม ไม่ชอบถูกด่า
  • มีน้ำใจ

เราน่าจะมาถูกทาง...เพราะเป็นการสนับสนุนให้จุ๋มได้มีงานทำ โดยเริ่มจากการทำงานที่ศูนย์นี้มีพี่ดา อสม. ขันอาสาฝึกเรื่องการทำงานให้กับจุ๋ม

แต่ปัญหาหนักอกของ "จุ๋ม" คือ เหล้า

คุณสมพงษ์ ประธาน อสม. และเป็นรองประธานชมรมฯ ด้วย ยกมืออย่างยินดีที่จะนำจุ๋มกลับเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยมีพี่เนตรและพี่ดา ร่วมด้วยช่วยกันที่จะไปสร้างสัมพันธภาพกับคนในครอบครัวจุ๋มเพื่อให้กำลังใจและให้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะนำพาจุ๋มไปรักษา

การตั้งวงคุยกันในวันนี้...ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจ เพราะเป็นการที่เราได้ดึกศักยภาพที่มีอยู่ของคนในชุมชนออกมาเพื่อมาร่วมกันคิดกันมอง...

ประเด็นที่เราพูดคุยกันนั้น พี่เปี๊ยกหรือคุณกฤษดา ประธานชมรม ตั้งประเด็นชวนคิดชวนคุย "ชมรมน่าจะเป็นเครื่องมือช่วยเสริมความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและฟื้นฟูผู้ป่วยได้" ข้าพเจ้าก็รีบเชียร์ว่านี่ที่เป็นประเด็นที่เราน่าจะนำมาศึกษาเป็นกรณีศึกษา ซึ่งพี่เปี๊ยก...เห็นด้วย และเราจะเรียนรู้การทำงานครั้งนี้เป็นการค้นหารูปแบบต้นแบบ

การพูดคุยกันในวันนี้ เหมือนได้ช่วยชีวิตคนคนหนึ่งให้ฟื้นคืนกลับมาใหม่...

 

 

หมายเลขบันทึก: 289521เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2009 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น้องหนุ่ย...โทรมาเล่าให้ฟังเมื่อตอนเย็นก่อนขึ้นเครื่องกลับขอนแก่นว่า "จุ๋มยอมไปรับการรักษาที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์"แล้ว...สักวันจุ๋มจะเป็นคนต้นแบบได้ในเรื่องการเยียวยาและฟื้นฟู...

เป็นเรื่องราวที่ดีที่คนในชมรมช่วยกันอย่างจริงจัง

ขอบคุณน้องหนุ่ย...ที่ทำงานนี้ใจรักและตั้งใจ

ประทับใจเรื่องล่าเล้าพลังของจุ๋มจังค่ะ อ่านแล้วสนุกมาก อยากติดตามอีกจังค่ะ

วันนี้ดีมากเลยค่ะ ที่เราได้แสงเดือนมาเป็นจิตอาสา...หากแสงเดือนอาการดีขึ้นเพียงเท่านี้ก็สุขใจแล้วนะคะ

ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ arisnuy ขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท