สถานศึกษาอาชีวศึกษากับการประเมินมาตรฐานวิชาชีพ


การประเมินมาตรฐานวิชาชีพ

 

การประเมินมาตรฐานวิชาชีพ เป็นข้อกำหนดที่ระบุไว้ให้ นักเรียน/นักศึกษา (ปวช. และ ปวส.) ต้องรับการประเมินมาตรฐานวิชาชีพ เมื่อได้ลงทะเบียนเรียนครบทุกรายวิชา ตามโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา ตามระเบียบว่าด้วยการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, 71)  ซึ่งในระเบียบระบุถึง ระดับผลการประเมิน คือ ผ่าน และไม่ผ่าน  ไม่ได้เป็นเกณฑ์การตัดสินผลการเรียนเพื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร และเป็นเรื่องที่สถานศึกษาจะต้องดำเนินการให้นักเรียนนักศึกษาปฏิบัติเพราะไปสอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายใน มาตรฐานที่ 1 ตัวบ่งชี้ที่ 7  (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, 2)  สำหรับมาตรฐานเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอกของอาชีวศึกษา  อยู่ในมาตรฐานที่ 2 ตัวบ่งชี้ 2.1  เกริ่นมาข้างต้นเกี่ยวกับการประเมินมาตรฐานวิชาชีพ เพราะได้ทราบข้อมูลต่าง ๆ  เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจ ดังนี้
 

 
  Photobucket

bottom การพัฒนาเครื่องมือประเมินมาตรฐานวิชาชีพ โดยสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ เพื่อจะสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลผู้เรียน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และจะส่งให้สถานศึกษาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป  การทำงานที่ผ่านมา จะมีกลุ่มงาน 2 กลุ่มที่ทำงาน  กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มที่จัดตั้งเป็นคณะกรรมการร่วมกันพัฒนาเครื่องมือฯ จากส่วนกลาง  กลุ่มที่สอง  เป็นกลุ่มเครื่องมือที่ อศจ. ได้ส่งมาที่ สอศ. สำหรับการทำงานครั้งนี้ ก็จะนำเครื่องมือ ทั้งสองมาพัฒนาใหม่  เพื่อจะจัดเก็บไว้เป็นคลังข้อสอบ  มีการนำไปทดลองก่อนเพื่อนำมาพัฒนาได้เป็นชุดที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ประเภทวิชาที่จัดทำครั้งนี้ (20 - 23 กรกฎาคม 2552) ได้แก่ประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ประเภทวิชาอุตสาหกรรม สาขาวิชาเครื่องกล สาขางานยานยนต์  สาขางานเทคนิคยานยนต์ ประเภทวิชาพาณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ สาขางานการบัญชี สาขาวิชาบัญชี สาขางานการเลขานุการ สาขาวิชาการจัดการทั่วไป สาขาวิชาการจัดการสำนักงาน  สาขางานการขาย สาขาวิชาการตลาด สาขางานและสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ประเภทวิชาศิลปกรรม  สาขาวิชาวิจิตรศิลป์  สาขาวิชาการออกแบบ ประเภทวิชาคหกรรม ประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาขางานและสาขาวิชาการโรงแรม   สาขางานการท่องเที่ยว การจัดการธุรกิจท่องเที่ยว  ประเภทวิชาเกษตรกรรม สาขาวิชาสัตวศาสตร์  ประเภทวิชาประมง สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

bottom การประเมินมาตรฐานวิชาชีพ  สถานศึกษาส่วนใหญ่จะจัดประเมินประมาณสัปดาห์สุดท้ายของภาคเรียนที่ 2 และเครื่องมือที่ใช้มีทั้งเป็นของระดับสถานศึกษา  อศจ. และส่วนกลางโดยสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ  และสถานศึกษาส่วนใหญ่ก็ผ่านเกณฑ์การประเมินในตัวบ่งชี้นี้  เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวบ่งชี้นี้กับตัวบ่งชี้ร้อยละของผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามเกณฑ์ที่กำหนดตามชั้นปีและร้อยละของผู้สำเร็จการศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามเกณฑ์การสำเร็จการศึกษา ไปกันคนละทิศทาง บางแห่งสามารถได้เกณฑ์ถึงร้อยละ 100  ซึ่งเรื่องนี้ สถานศึกษาต้องทบทวนการประเมินมาตรฐานวิชาชีพของเราว่า เกิดอะไรขึ้น การต้องการตัวเลขที่สูง โดยการให้สอบหลาย ๆ ครั้งจนกว่าจะสอบผ่าน  การติวข้อสอบมาตรฐานวิชาชีพให้กับนักเรียน/นักศึกษาก่อนสอบ    การจัดแบ่งกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาสอบต่างเวลา   การตัด/ปรับ/เปลี่ยนข้อสอบให้ง่ายขึ้นโดยไม่ได้นำมาตรฐานวิชาชีพมาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาออกข้อสอบ การสอบเฉพาะข้อสอบภาคทฤษฎีเน้นความรู้ความจำ แต่ไม่มีภาคปฏิบัติเนื่องจากต้องใช้เวลาและสิ้นเปลืองวัสดุอุปกรณ์  จากตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนแสดงความคิดเห็นส่วนตัวและคิดว่า เรื่องนี้คงจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงในสถานศึกษา  ต้องย้อนกลับมาทบทวนทั้งการประกันคุณภาพภายในและการประเมินคุณภาพภายนอก ว่า ที่กำหนดตัวบ่งชี้เหล่านี้ต้องการพิสูจน์อะไร ถ้าคำตอบคือ ต้องการให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษามีทักษะในการประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง  แล้วสถานศึกษาได้มีระบบหรือกระบวนการอย่างไรบ้างกับตัวผู้เรียน  หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตัวผู้สอนและการบริหารจัดการ  ที่ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมิน  ได้เลขกลม ๆ หากเกิดจากกิจกรรมการประเมินดังกล่าวข้างต้นก็เท่ากับว่า  เรานั้นแหละได้ถูกหลอกด้วยตัวของเราเองหรือไม่...

 Photobucket



 bottom การประเมินมาตรฐานวิชาชีพจากหน่วยงานภายนอก  ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ เช่นเดียวกันกับของ สพฐ. ที่นักเรียนจะต้องสอบเอเน็ต โอเน็ตหรือชื่ออื่น ๆ  เราเริ่มได้ยินเสียงพูดคุยในเรื่อง วีเน็ตหรือชื่ออื่น ที่จะให้มีการจัดตั้งเพื่อประเมินผลผู้เรียนอาชีวศึกษา หากมีการประเมินเน้นวิชาชีพอย่างแท้จริง  สิ่งนี้ก็อาจจะเป็นอีกหลักประกันหนึ่งให้กับอาชีวศึกษา ที่จะมีมาตรฐานยิ่งขึ้น  โดยไม่ต้องคอยนั่งตอบคำถามของผู้ประเมินภายนอก ว่า ใช้เครื่องมือจาก... และได้ข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงว่า สถานศึกษาแห่งนั้นต้องได้รับพัฒนาอย่างเร่งด่วนในเรื่องใด


 bottom การประเมินมาตรฐานวิชาชีพกับการประเมินมาตรฐานฝีมือแรงงาน  การประเมินมาตรฐานวิชาชีพ ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรฯ  ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ  แต่การประเมินมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นเรื่องของสำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน  ดังนั้น ถือเป็นสองเรื่องแยกส่วนกัน หากนักเรียน/นักศึกษาจะไปทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ก็เท่ากับว่า ได้รับการรับรองเพิ่มขึ้นอีกจากหน่วยงานอื่น
 

bottom รูปแบบการจัดการศึกษา  นอกเหนือจากรูปแบบในระบบ  ได้แก่  การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี  การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์  การสอนอาชีวศึกษาผ่านระบบเครือข่าย โครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท นักเรียน/นักศึกษาต้องรับการประเมินมาตรฐานวิชาชีพเช่นกัน 


ข้อมูลทั้งหมดเป็นสาระข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมาตรฐานวิชาชีพ ที่เกี่ยวข้องกับระเบียบการประเมินผลการเรียน แม้ไม่ได้เป็นเกณฑ์สำหรับการสำเร็จการศึกษา แต่เป็นเรื่องที่สถานศึกษาจะต้องดำเนินการ ทั้งยังได้สอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในและการประเมินคุณภาพภายนอก ที่ต้องนำมาเล่าสู่กันฟังคือ  ต้องยอมรับความจริงที่ว่า  บางสถานศึกษา  ขาดความพร้อม  ตัวบุคลากรที่ดำเนินการในเรื่องนี้ เกิดจาก การโยกย้าย  การสับเปลี่ยนหน้าที่ การสร้างความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ  การศึกษาระเบียบฯ มาตรฐานและตัวบ่งชี้การอาชีวศึกษาทั้งการประกันคุณภาพภายในและประเมินคุณภาพภายนอก  ผู้นิเทศติดตามให้คำแนะนำปรึกษา  และตัวกลไกในการทำงาน  ซึ่งในที่นี้ เราจะไม่โทษด้วยเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น แต่จะทำอย่างไรให้ข้อจำกัดนี้ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้พัฒนาเทียบเท่ากับประเด็นอื่น ๆ  ของอาชีวศึกษาp,p


 อ้างอิง:
 1.  สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ,
เอกสารประการใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ. 2545 (ปรับปรุง 2546) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พ.ศ. 2546
, 2548.
 2.  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, มาตรฐาน...การอาชีวศึกษา,  2552.

 
3.  สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ, แนวการจัดการศึกษา ตามมาตรา 8, 2551


 นางสาวพิมพร  ศะริจันทร์ ศึกษานิเทศก์  เขียนวันที่ 6 สิงหาคม  2552
 
จากการร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาเครื่องมือประเมินมาตรฐานวิชาชีพ 20-23 ก.ค. 52 จ.ชลบุรี
 และนิเทศติดตามการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาภาคเหนือ 
  
 บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีวศึกษาภาคเหนือ
 ผู้ที่จะนำบทความ รูปภาพไปตีพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนเท่านั้น
 ผลงานและสิ่งพิมพ์ของผู้เขียน ปรับปรุงข้อมูล วันจันทร์, 10 สิงหาคม 2552
 ติดต่อผู้เขียนที่  [email protected]  
 

 

หมายเลขบันทึก: 285651เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2009 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยกับผู้เขียนเรื่องการจัดทำกิจกรรมเฉพาะกิจเพื่อให้ผ่านการประเมินของ สมศ. หรือการประกันคุณภาพภายใน โดยมิได้คำนึงถึงการทำงานประจำให้ได้คุณภาพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท