การประทุษร้ายต่อสังคมบนอินเทอร์เน็ต ปรากฏการ์ณเก่าที่เล่าใหม่


เหตุการณ์การประทุษร้ายต่อสังคมบนอินเทอร์เน็ต เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซำแล้วซำเล่าในโลกอินเทอร์เน็ต แต่การการทะในครั้งนี้ทำให้เราค้นพบข้อความจริงหลายประการอันจะนไปสู่การจัดการปัญหา

 
                การประทุษร้ายสังคมบนอินเทอร์เน็ต : ปรากฏการณ์เก่าที่เล่าใหม่[1]

            ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาข่าวคราวที่ได้รับความสนใจจากสังคมเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องของการแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร สิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๘ กับนายศรยุทธ เสนามงคล ที่ได้นำภาพของนางสาวบงกช คงมาลัย หรือตั๊ก จากภาพยนตร์เรื่อง “ไอ้ฟัก” มาเผยแพร่ในกระดานข่าวเฉลิมไทยบนเว็บไซต์ http://www.pantip.com/
          ปัญหาเรื่องของการประทุษร้ายต่อสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเขย่าและสำแดงเดชให้สังคมไทยเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง แต่ในครั้งนี้มีความชัดเจนทั้งในแง่ของเนื้อหาและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับตั๊ก และนายศรยุทธ
          ครั้งนี้ก็เช่นกัน ปัญหาเรื่องของการหมื่นประมาทบนอินเทอร์เน็ตได้ถูกนำกลับมากล่าวขานและได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่ง และในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่างแท้จริงแล้วสังคมไทยยังเผชิญกับปรากฏการณ์อันเป็นปัญหาสำคัญอีกหลายปรากฎการณ์
             ๑.          ปรากฏการณ์ของ “ลูกผู้ชายตัวจริง” เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญที่สังคมได้เห็นจากการยอมรับในความเป็นจริง ทั้งในแง่ของนายศรยุทธที่ออกมารับสารภาพและแสดงถึงความสำนึกรับผิดและรับผิดชอบต่อสังคมถึงการกระทำของตัวเอง ซึ่งคุณธรรมของมนุษย์ผู้นี้ถูกมองข้ามโดยสื่อบางสื่อหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง มนุษย์ทุกคนอาจกระทำผิดได้ และเมื่อมนุษย์ที่กระทำผิดแล้วสำนึกได้ถึงความถูก การกระทำนี้ก็น่าจะได้รับความชื่นชมและอภัย  ดังนั้น การห้ามประกันนายศรยุทธ ทั้งยังจับตัวไว้ประดุจเป็นคดีร้ายแรง ดูจะเป็นการกระทำที่ไม่ได้สอดคล้องกับคุณธรรมที่เขาได้แสดงออก
             ๒.            ปรากฏการณ์ของการเคลื่อนหรือไหลเวียนของการขยายผลด้วยสื่อ ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง “ไอ้ฟัก” ที่เป็นภาพเปลือยกายของนางเอกซึ่งสวมบทบาทเป็นคนบ้าในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิลม์  กลับถูกนำมาเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต และในที่สุดในมีการนำมาเสนอเป็นข่าวผ่านทางหนังสือพิมพ์ ภาพของนางเอกจากภาพยนตร์เรื่องไอ้ฟักถูกถ่ายทอดจากสื่อภาพยนตร์ เข้าสู่สื่ออินเทอร์เน็ต ผ่านมายังสื่อหนังสือพิมพ์ และในที่สุดได้เข้าสู่สื่อโทรทัศน์ซึ่งมีผู้บริโภคมากที่สุดในบรรดาสื่อทั้งหลาย เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความร้ายแรงของปัญหาถูกขยายผลไปในมนุษย์ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องจากสื่อหนึ่งไปยังสื่อหนึ่งอย่างต่อเนื่อง และด้วยเหตุนี้เองทำให้กระแสของความรุนแรงของปัญหาเริ่มกระจายวงกว้างมากขึ้นทุกขณะ
             ๓.            ปรากฏการณ์ของการสืบค้นถึงต้นตอ เมื่อเข้าสู่กระบวนการในการดำเนินคดีในเรื่องนี้ การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง  ปัญหาที่ตามมาก็คือ ใครคือผู้กระทำความผิดที่ต้องเข้ามา “รับผิด” และ “รับผิดชอบ” อย่างแท้จริง สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือ การพิจารณาถึง “วงจร” ของการกระทำครั้งนี้ว่า “ใคร” บ้างเป็นผู้เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่
               เริ่มต้นจาก “ต้อตอที่แท้จริง” ก็คือเหล่าบรรดาผู้ผลิตภาพยนตร์เจ้าปัญหา “ไอ้ฟัก” ทั้งฝ่ายผู้ผลิตภาพยนตร์ ก็คือ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท กันตนา ฟิล์ม จำกัด ในฐานะผู้ล้างฟิลม์ บริษัท กันตนา โอเรียลทรัล โพสต์ จำกัด ในฐานะผู้แปลงสัญญาณภาพ และบริษัท อิเมจิ แม็กซ์ จำกัด ในฐานะผู้ทำเทคนิคพิเศษ ปัญหาที่น่าขบคิดก็คือ ผู้กำกับภาพยนตร์ อีกทั้งดาราสาวถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอที่แท้จริงหรือไม่ ???
             ในวงจรลำดับถัดมา ก็คือ ตัวกลางในการขยายผลด้วยสื่ออินเทอร์เน็ต แน่นอนที่สุด เรากำลังหมายถึง นายศรยุทธ ผู้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ ในฐานะของตัวการในการกระทำความผิด นอกจากนั้นแล้วกระบวนการในการเผยแพร่ภาพ ยังมีเว็บไซต์ต้นตอแห่งปัญหา http://www.pantip.com/ รวมทั้ง ชุมชนคนออนไลน์ที่เข้าถึง “ภาพปัญหา” และได้มีการส่งต่อไปยังผู้อื่นในชุมชนออนไลน์ ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นตัวกลางในการขยายผลผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต
และในกลุ่มสุดท้ายก็คือ ผู้ขยายผลปัญหาในวงกว้าง นั่นคือ สื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ หรือ โทรทัศน์ หรือวิทยุ และโดยที่สื่อเหล่านี้เป็นสื่อทรงอิทธิพลอย่างสูงในสังคมไทย ปัญหาดังกล่าวจึงได้ถูกตีแผ่และขยายวงกว้างออกไป
             นอกจากนั้นแล้ว ผู้ประกอบการระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท) องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท) ผู้ให้บริการ Web Hosting ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องในกระบวนการการเผยแพร่ภาพทั้งสิ้น
              เห็นได้ว่า ปัญหาในเรื่องนี้ มีกลุ่มคนเข้ามาเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายย่อมจะต้องมีความรับผิดและความรับผิดชอบต่อปัญหาเรื่องนี้ แต่ในขณะนี้เอง สังคมกำลังให้ความสำคัญและกล่าวถึงแต่เฉพาะกับ ความรับผิดตามกฎหมายของบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น โดยมุ่งเน้นไปที่นายศรยุทธ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ แต่ปัญหาเรื่องของ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” กำลังถูกมองข้ามไปอย่างสิ้นเชิงทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ความรับผิดชอบต่อสังคมของบุคคลในฝ่ายต่างๆนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะของกลไกด้านจิตสำนึกที่ดีในการป้องกันการประทุษร้ายต่อสังคมบนอินเทอร์เน็ต
               ๔.            ปรากฏการณ์ของความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญอีกปรากฏการณ์หนึ่ง การแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของเว็บไซต์ pantip ไม่ว่าจะเป็นระบบการตั้งระบบ log in หรือระบบการตรวจสอบเนื้อหาของกระทู้แบบระบบลูกขุน หรือแม้แต่ การให้ความร่วมมือในการค้นหา IP ADDRESS ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ล้วนแต่เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ต่อสังคมไทย ในการที่จะช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคมออนไลน์ด้วยตนเอง
             ในขณะเดียวกัน การรวมตัวกันของสภาวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไทย ยังเป็นตัวอย่างของการรวมตัวกันขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการดูแลกันเองระหว่างเว็บมาสเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของการรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างชัดเจน แต่ทว่าองค์กรนี้ก็เป็นเพียงองค์กรกระดาษเท่านั้น  ถึงเวลาแล้วยังที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศจะรับรองตัวตนทางกฎหมายขององค์กรนี้
                ๕.            ปรากฏการณ์ของชุมชนออนไลน์ หลังจากที่นายศรยุทธ หรือ มือกลองในตำนาน ซึ่งเป็นสมาชิกเว็บไซต์ พันธุ์ทิพย์ ได้แสดงความรับผิดรวมทั้งการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาพของชุมชนคนออนไลน์ก็ได้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน การรวมตัวของชุมชนคนออนไลน์ในโลกไซเบอร์ (จากห้องกระดานข่าวเฉลิมไทย) เพื่อให้กำลังใจกับ “เพื่อน” สมาชิกเว็บไซต์พันธุ์ทิพย์ การรวมตัวนั้นไม่ได้รวมตัวกันแต่เฉพาะในโลกดิจิตอลเท่านั้น แต่ทว่าการรวมตัวได้เห็นชัดเจนในโลกแห่งความเป็นจริง

              ปรากฏการณ์นี้เองสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชุมชนออนไลน์ที่เหนียวแน่น ปรากฏการณ์นี้ลบล้างภาพของชุมชนออนไลน์ที่ถูกกล่าวหาว่ามีแค่ความสัมพันธ์ในเชิงตัวอักษรเท่านั้นได้อย่างสิ้นเชิง ที่น่าสนใจจ่อไป ก็คือ ชุมชนเฉลิมไทยแสดงให้เห็นว่า พวกเขาทราบว่า นายศรยุทธกระทำผิดในเรื่องหนึ่ง แต่ถูกละเมิดศักดิศรีความเป็นมนุษย์ในอีกเรื่องหนึ่ง  ชุมชนที่เกิดขึ้นนี้เป็นชุมชนที่มีจิตสำนึกทีเดียว ปรากฏการณืการณ์บ่งบอกถึง “คุณภาพ” ของสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต ใช่หรือไม่ ?
             ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปรากฏการณ์ในการประทุษร้ายต่อสังคมบนอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนับแต่นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาขึ้น ในขณะที่มาตรการในการจัดการปัญหานั้นกลับมุ่งเน้นไปที่ “ความรับผิดตามกฎหมาย” ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทางเท่านั้น ในเรื่องนี้เอง ปรากฏการณ์ในการจัดการต่อต้นเหตุของปัญหาที่เป็นต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริงซึ่งจำเป็นต้องได้รับการจัดทำขึ้นเป็นโครงสร้างคู่ขนาน
             ขอให้สังเกตในที่สุดว่า แม้ว่าผู้กระทำความผิด “ในส่วนที่ปลายเหตุ” ที่ขณะนี้กลายเป็นจำเลย “หลัก” ของสังคม แต่ปรากฏการณ์ที่ควรจะเกิดต่อมาก็ยังไม่เกิดขึ้น อาทิ “ปรากฏการณ์ในการเข้าไปเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทุกฝ่าย” ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย (ที่ถึงแม้จะเป็นผู้ที่มีส่วนในการก่อเหตุก็ตาม) รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสังคมโดยรวม ยังได้รับการวิเคราะห์น้อยมากโดยภาครัฐ หรือแม้โดยสื่อมวลชน
             มากไปกว่านั้น ปรากฏการณ์ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมอิเล็กทรอนิกส์โดยรวม ปรากฏการณ์ในการสร้างความเข้าใจในเรื่องกติกาของสังคมอินเทอร์เน็ต ปรากฏการณ์ในการสร้างความรับผิดชอบจากทุกฝ่ายต่อสังคม ล้วนแล้วแต่เป็นปรากฏการณ์ที่ยังมองไม่เห็น และไม่มีใครให้ความสำคัญ
             วันนี้จึงควรเป็นวันที่กลับเข้ามากล่าวถึงการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มากกว่าการเน้นหนักไปที่กระบวนการในการลงโทษอันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งในที่สุดแล้ว สถานการณ์ของการประทุษร้ายต่อสังคมบนอินเทอร์เน็ตก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปอีกนานแสนนาน และการเกิดขึ้นของความรู้สึกระแวงแคลงใจ หรือหวาดกลัวของผู้ประกอบการบนอินเทอร์เน็ต


 

                                        โดย อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์[2] / พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร[3] 
             กองทุน ศาสตราจารย์ คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                                                               วันพฤหัสบดีที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

[1] มติชน วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๖๒๑

[2] อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล และนักวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนา TV4Kids ประจำมูลนิธิ ศ.คนึง ฦๅไชย
[3] อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28553เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2006 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2012 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท